Northern style chili dip
Spicy minced chicken salad
Stir-fried pork and basil
ลองทายกันเล่นๆ เดาออกไหมว่าเมนูอาหารไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษนี้คืออะไรบ้าง
อันแรก Northern Style พอเข้าใจอยู่ว่าน่าจะเป็นอาหารเหนือแน่ๆ ส่วน Chili dip น่าจะเป็นน้ำพริกสำหรับจิ้มอะไรสักอย่าง แต่น้ำพริกของภาคเหนือมีตั้งหลายแบบ แล้วอันนี้มันคือแบบไหนกันนะ ต่อมา ไก่สับเผ็ดๆ คลุกกับเครื่องปรุงเหมือนสลัด ก็มีความเป็นไปได้หลายเมนู แต่ก็ยังนึกไม่ออกอยู่ดี ส่วนอันสุดท้ายผัดกะเพราหมูแน่ๆ แต่ basil เหมือนจะแปลว่าโหระพาด้วยนี่นา มันแทนกันได้ใช่ไหมนะ
ก่อนจะพูดถึงเรื่องต่อไป เราขอเฉลยของอาหารไทยทั้ง 3 เมนูนี้คือ น้ำพริกอ่อง ลาบไก่ และผัดกะเพราหมู ไหน มีใครตอบถูกบ้าง
เป็นอีกเรื่องที่คนไทยหลายคนต้องกุมขมับกับการแปลชื่ออาหารไทยเป็นภาษาต่างประเทศ บางครั้งหลายเมนูก็มักถูกแปลโดยใช้คำศัพท์วัตถุดิบ หรือหยิบยืมเมนูต่างชาติมาก็อาจทำให้คนนึกภาพตามได้ง่ายขึ้น แต่บางทีก็เป็นการลดทอนวัฒนธรรมต้นทางไป แม้ดูเผินๆ จะใกล้เคียงกัน แต่ลึกลงไปชื่อของอาหารก็มีเรื่องราวและวัฒนธรรมของชนชาติซ่อนอยู่ไม่น้อย
เมื่อไม่นานมานี้ก็มีประเด็นถกเถียงบนอินเทอร์เน็ตว่าด้วยเรื่อง การแปลชื่อเมนูอาหารไทยอย่างไรดี เช่น การแปลขนมผิงว่า ‘Thai Scone’ เป็นการแปลที่ถูกต้องไหม แม้ว่าจะมีกระบวนการทำ รสชาติ หรือวิธีการกินต่างกันก็ตาม นอกจากนี้ยังมีกรณีคล้ายๆ กัน เช่น โอโคโนมิยากิ ของญี่ปุ่นว่า ‘Japanese pancake’ ถึงแม้จะแปลได้ไม่ผิดนัก แต่หากคนไม่คุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่นก็อาจนึกถึงหน้าตาของเมนูนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะขาดเซนส์ของอาหารซึ่งมีส่วนผสมของที่ใส่ตามใจชอบหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ปลาหมึก หมู ไก่ เบคอน ชีส กิมจิ แล้วราดซอสสูตรเฉพาะและมายองเนสลงไป
วิธีการแปลชื่อเมนูอาหารที่ดีควรเป็นแบบไหน การทับศัพท์ไปเลยจะเป็นทางออกให้กับเรื่องนี้จริงหรือเปล่า แล้วเราจะส่งออกวัฒนธรรมผ่านเมนูอาหารอย่างไรได้บ้าง The MATTER ชวน ดร.วิชยา ปิดชามุก หรืออาจารย์น้ำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ และผู้รับผิดชอบหลักสูตรการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาตอบปัญหาเหล่านี้กัน
ผิดไหมถ้าแปลชื่ออาหารด้วยการหยิบยืมวัฒนธรรมอื่น?
หากอยู่ต่างประเทศแล้วอยากทานอาหารไทยขึ้นมา ร้านอาหารไทยก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่พอหยิบเมนูขึ้นมาเท่านั้นแหละ จำไม่ได้เลยว่าเคยเป็นคนไทยมาก่อน เพราะเมนูอาหารไม่ใช่ชื่อที่เราคุ้นเคย แต่เป็นชื่อที่ถูกแปลเพื่อให้คนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมไทยสามารถนึกภาพตามได้ง่ายมากกว่า
หลายคนจึงตั้งคำถามขึ้นมาว่าการแปลเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจด้วยการหยิบยืมวัฒนธรรมอาหารอื่น หรือใช้วิธีการทำและวัตถุดิบมาช่วยแปล บางทีก็เป็นทำให้รากเหง้าของอาหารขาดหายไปหรือเปล่านะ และคงไม่ดีต่ออาหารชนิดนั้นแน่ๆ เพราะอาจเกิดความสับสนและเข้าใจผิดได้
ประเด็นนี้อาจารย์น้ำอธิบายจากมุมมองของผู้สนใจศึกษาเรื่องการแปลและผู้สอนแปล ว่า “การแปลด้วยวิธีการที่ว่าไปข้างต้นเป็นวิธีการปรับบทแปลที่พบเห็นได้ทั่วไป และนับเป็นปัญหาหนึ่งของการแปลงาน จากตำราของโมนา เบเกอร์ (Mona Baker) ศาสตราจารย์ด้านการแปลภาษา บอกว่าข้อดีของวิธีแปลแบบนี้คือช่วยให้ผู้อ่าน ‘เข้าใจ’ ง่ายเพราะเป็นสิ่งที่เขาคุ้นชินมากกว่า
“ในกรณีของ ‘Thai Scone’ ที่พูดถึงบนอินเทอร์เน็ต ก็เป็นไปได้ว่าผู้แปลอาจจงใจที่จะแปลแบบเอื้อให้ผู้รับสารเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าต้องการที่จะนำเสนออัตลักษณ์ของอาหารหรือขนมไทย การเลือกปรับบทแปลโดยใช้สิ่งทดแทนทางวัฒนธรรมจึงไม่ใช่เรื่องผิดในตัวมันเอง
“การที่ขนมผิงถูกแปลเป็น Thai scone มีหลายคนมองว่า ขนมผิงไม่ได้เหมือนสโคนขนาดนั้น สโคนจึงไม่ใช่คู่เทียบที่ดีที่สุด มีบางคนเสนอด้วยว่าถ้าใช้ว่าเมอแร็งก์ยังจะเหมือนกว่า (แน่นอนว่า มีหลายคนคิดว่ายังไม่ใกล้เคียงอยู่ดี) จะเห็นได้ว่า เขาไม่ได้มีปัญหาว่าการปรับบทแปลโดยการใช้สิ่งเทียบเคียงหรือทดแทนทางวัฒนธรรมนั้นทำไม่ได้ แต่เขาติดตรงที่ว่าเทียบได้ไม่ใกล้เคียงกับที่เขาคิดมากกว่า
ส่วนบางคน ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ใช้สิ่งเทียบเคียงแล้ว เพราะมองว่าการแปลด้วยวิธีนี้ทำให้วัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในชื่อเรียกอาหารหายไป
“ดังนั้นเราจึงอาจพูดได้ว่า การแปลแบบนี้อาจมีปัญหาในกรณีที่ทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไป” อาจารย์น้ำอธิบาย
นอกจากนี้อาจารย์ด้านการแปลยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้แปลเลือกใช้วิธีนี้ เช่น ผู้ว่าจ้างอนุญาตให้ผู้แปลปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมแค่ไหน หรือเป้าหมายของการแปลชิ้นนั้นคืออะไร หากเพียงแค่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจได้รวดเร็วก็อาจเลือกใช้วิธีนี้ รวมไปถึงการยอมรับของคนในสังคมว่าคิดอย่างไรกับการแปลที่ไม่ ‘ตรง’ กับต้นฉบับแบบนี้ หากยอมรับได้ก็ถือว่าวิธีการแปลนี้ไม่ผิดนัก
วัฒนธรรมหล่นหายเพราะการแปลจริงหรือ?
สำหรับข้อกังวลที่ว่าวัฒนธรรมที่ติดอยู่ในชื่ออาหารหายไปเมื่อถูกแปลเป็นภาษาอื่นจริงไหม เสียงจากอาจารย์ด้านการแปลก็บอกว่ามีทั้งกรณีที่จริงและไม่จริง
“ถ้ายกกรณีของขนมผิง ก็ต้องยอมรับว่านัยของคำกริยา ‘ผิง’ ที่หลายคนมองว่าเป็นจุดเด่นของขนมชนิดนี้หายไปจริง เพราะผู้อ่านป้ายชื่อภาษาอังกฤษจะตีความว่าเป็นขนมอบจำพวกสโคนไป (แม้ว่าในปัจจุบัน ขนมผิงบางเจ้าก็ไม่ได้ใช้เตาถ่านและกรรมวิธีแบบโบราณแล้ว แต่ใช้อบในเตาอบแทนก็มี) พอแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai scone ปุ๊บ กรรมวิธี ‘ผิง’ หายไปจากชื่อในภาษาอังกฤษทันที”
อาจารย์น้ำยกตัวอย่างการแปลชื่ออาหารภาษาอื่นมาเป็นภาษาไทยด้วยเทคนิคเดียวกัน ก็พบว่าทั้งกรณีที่สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน และไม่ได้สร้างความเข้าใจแตกต่างจากต้นฉบับเท่าไหร่
ในกรณีการแปลเมนูอาหารที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น ‘paella’ อาหารชนิดหนึ่งของสเปน ซึ่งเมื่อมาอยู่ที่ไทยก็ถูกแปลว่าข้าวผัดสเปน สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยอาหารสเปนก็คงนึกว่าอาหารจานนี้คือการนำข้าวสวยไปผัดในกระทะเหมือนข้าวผัดสไตล์ไทยที่คุ้นเคย แต่ความจริงแล้วเมนูนี้เป็นการหุงในน้ำสต็อกด้วยไฟอ่อนๆ เป็นเวลานาน
อีกหนึ่งตัวอย่างที่แม้มีการแปลภาษาไทยก็ไม่ได้ทำให้ความเข้าใจแตกต่างไปจากเดิมมากนัก เช่น การแปล ‘bibimbap’ ว่าข้าวยำเกาหลี ซึ่งภาษาเกาหลีก็หมายถึงการนำข้าวมายำหรือคลุกเคล้าเช่นเดียวกัน
“ที่น่าสนใจคือทั้งกรณีของ paella และ bibimbap เราจะพบอีกหนึ่งกลวิธีการแปลที่ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน คือทับศัพท์ไปเลยว่า ปาเอญ่าและบิบิมบับ และดูเหมือนว่าบิบิมบับจะเป็นชื่อที่ติดปากคนไทยมากกว่าข้าวยำเกาหลีเสียอีก” อาจารย์น้ำกล่าว
นอกจากนี้การแปลเมนูอาหารด้วยการทับศัพท์นี้ยังเกิดขึ้นในอาหารไทยที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติด้วย อย่าง Pad Thai หรือ Tom Yum Kung ซึ่งตอนนี้ผัดไทยก็ถูกบรรจุในพจนานุกรมของ Oxford และ Cambridge ไปแล้วเรียบร้อย อีกคำที่อาจารย์น้ำทำนายว่ามีแววจะเป็นเมนูติดปากของชาวต่างชาติตามรุ่นพี่ไปได้คือ ‘Moo Krata’ นั่นเอง
แล้วต้องแปลอย่างไรให้เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
จนถึงตอนนี้การแปลชื่ออาหารก็ยังเป็นปัญหาที่ชวนหัวปวดอยู่ไม่น้อย ถ้าใช้คำทับศัพท์ไปเลย ชาวต่างชาติก็คงไม่เข้าใจว่าเมนูนี้คืออะไร เดารสชาติไม่ถูก หรือคงนึกไม่ออกว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง ส่วนจะให้แปลโดยหยิบยืมวัฒนธรรมอื่นมาให้เข้าใจเร็วๆ ก็กลายเป็นว่าคลาดเคลื่อนกับอาหารนั้นอีก
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลขอสงบศึกนี้ และเสนอทางออกของเรื่องนี้ไว้ว่า การใช้คำทับศัพท์ พร้อมคำอธิบายสั้นๆ อาจเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน วิธีนี้ช่วยให้คนต่างชาติเข้าใจ แถมวัฒนธรรมไทยยังคงอยู่ในชื่ออาหาร วินวินกันทั้ง 2 ฝ่าย
“เราได้ลองถามนักศึกษาในชั้นเรียนวิชาแปลระดับปริญญาตรีว่าควรแปลอย่างไร ส่วนใหญ่เห็นว่าควรทับศัพท์แล้วตามด้วยคำอธิบายสั้นๆ อย่างกรณีขนมผิงเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นว่าขนมไทยทำไมต้องเอาขนมฝรั่งมาเป็นตัวเทียบด้วย ก็อาจจะเขียนว่า ‘Kanom Ping’ แทน แล้วเขียนคำอธิบายสั้นๆ ห้อยไว้ข้างล่างเอาน่าจะดีกว่า แต่อธิบายยาวมากก็ไม่ได้ด้วยนะ เพราะพื้นที่มีจำกัด”
อย่างไรก็ตามอาจารย์น้ำก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อันที่จริงการแปลชื่อเมนูอาหารก็ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว มีเพียงบางวิธีที่นิยมมากกว่า มีงานการวิจัยในไทยจำนวนมากพบว่าการทับศัพท์ชื่ออาหารไปเลย แล้วตามด้วยการแปลชื่ออาหาร รวมถึงใส่คำอธิบายสั้นๆ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลาย โดยคำอธิบายมักจะกล่าวถึงวัตถุดิบหรือส่วนผสมหลัก (เนื้อสัตว์ ผัก เครื่องปรุงที่สำคัญ) และวิธีการปรุง ซึ่งตรงกับสิ่งที่นักศึกษาในชั้นเรียนได้เสนออย่างที่บอกไปข้างต้น
นอกจากนี้อาจารย์น้ำยังเสริมด้วยว่าการแปลอาหารจึงไม่ใช่แค่การถอดความจากภาษาใดไปภาษาหนึ่งเท่านั้น แต่เพราะอาหารยึดโยงกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจสังคม ศาสนา ศีลธรรม อุดมการณ์ ฯลฯ ทำให้ตอนนี้การศึกษาเรื่องการแปลกับอาหารออกไปอย่างกว้างขวางหลายมิติ เพื่อให้รักษาวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับอาหารนั้น การทับศัพท์ พร้อมคำอธิบายก็เป็นวิธีหนึ่งที่ลบอคติจากผู้แปลด้วยเช่นกัน
“การแปลภาษาไม่ใช่แค่การเทียบคำ และในทำนองเดียวกัน อาหารก็ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์เราบริโภคในฐานะปัจจัย 4 อาหารมีฟังก์ชั่นทางสังคม ส่วนตัวมองว่าวิธีทับศัพท์ ตามด้วยคำอธิบายสั้นๆ เป็นทางที่ ‘เซฟ’ กว่าสำหรับผู้แปล ในแง่ที่ว่ามันเป็นกลาง (objective) กว่า ในขณะที่วิธีใช้สิ่งทดแทนทางวัฒนธรรมหรือหาตัวเทียบเคียงนั้นเป็นความคิดส่วนตัว (subjective) กว่า โดยเฉพาะในแง่ของอาหาร เพราะ ‘ลิ้น’ ของเราไม่เหมือนกัน ถูกหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมและบริบททางสังคมที่ต่างกัน อย่าว่าแต่คนจากต่างวัฒนธรรม คนไทยเองก็ยังตีความรสชาติ รสสัมผัส และกลิ่นอาหารไม่เหมือนกันเลย”
ทั้งนี้อาจารย์น้ำก็ได้ทิ้งท้ายถึงข้อควรระวังสำหรับการทับศัพท์ไว้ว่า “ ผู้แปลอาจระวังนิดนึงว่า พอถอดจากชื่อไทยเป็นตัวอักษรภาษาปลายทางแล้ว ถ้าเลี่ยงได้ ก็อย่าให้ตัวสะกดไปตรงกับคำที่ก่อให้เกิดนัยประหวัดที่ไม่น่าอภิรมย์ในภาษานั้นๆ เพราะคนอ่านแค่ชื่ออาจจะรู้สึกว่าอาหารอะไร ทำไมชื่อไม่น่ากินเอาเสียเลย”
แม้ว่าการคงภาษาเดิมไว้จะเป็นวิธีให้เกียรติวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ก็ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยให้เข้าใจที่มาของอาหารชนิดนั้นด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ชื่ออาหารเป็นเพียงข้อมูลที่ฟังแล้วผ่านเลยไป การให้ความสำคัญกับชื่อและที่มาของอาหารก็เป็นอีกทางหนึ่งช่วยให้เรารู้จักวัฒนธรรมอื่นๆ ได้ดีขึ้นด้วย
อ้างอิงจาก
The localization of food- and drink-related items in video games: The case of The Witcher 3 in Arabic Mohammed Al-Batineh Digital Translation 10:1 (2023), pp. 37–57.
อาหารไทยในฝรั่งเศส: การศึกษาการแปลชื่ออาหารไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส. ธีระ รุ่งธีระ. มนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 25 ฉบับที่ 1
“Editor’s Introduction.” Desjardins, Renée. 2019. CuiZine: the Journal of Canadian Food Cultures/la revue des cultures culinaires au Canada 9 (2). https://doi.org/10.7202/1055214ar
Intelligibility of English in Thai Street Food Menus Perceived by East Asian Tourists. Naridtiphol Srisongka & Vimolchaya Yanasugondha. LEARN Journal: Language Education and Acquisition Research Network Journal, Volume 12, Issue 2, July 2019