‘เจ้าฆ่าพ่อข้า’ เรามีมีภาพของยุทธภพที่แบ่งออกเป็นก๊กเป็นเหล่า แต่ละพรรคแต่ละฝ่ายก็มีวิชาเก๋ไก๋และทรงพลังไปคนละแบบ ในเรื่องมักว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรม ไม่ก็เป็นเรื่องการเติบโต ฝึกฝนวิชาของตัวละครเอกเพื่อเอาชนะอะไรบางอย่าง นิยายจีนกำลังภายในเป็นอีกหนึ่งประเภทวรรณกรรมที่แข็งแรง – มีสไตล์และเรื่องราวที่โดดเด่น มีการตกภูเขา เจอคัมภีร์ มีการแก้แค้น เดินทางไกล เรียกได้ว่าทุกวันนี้เรายังคงได้รับอิทธิพลจากบู๊ลิ้ม จากยุทธภพที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย
นิยายจีนกำลังภายใน เผินๆ แล้วอาจจะเป็นเหมือนเรื่องแนวแอ็กชั่น อ่านเอามันเป็นสำคัญ แต่จริงๆ นิยายจีนกำลังภายในนอกจากความสนุกจากการต่อสู้แล้ว ตัวประเภทวรรณกรรมนี้ยังมีนัยพิเศษแอบแฝงอยู่ ต้นกำเนิดของนิยายจีนกำลังภายในในประเทศจีนเกิดขึ้นราวต้นศตวรรษที่ 20 จีนเริ่มเกิดการปฏิวัติและพยายามลบล้างอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนโบราณ – แนวคิดของขงจื๊อ จากความเชื่อที่เน้นการทำหน้าที่ตามสถานะ แนวคิดจีนแบบใหม่ (ที่เล่าด้วยฉากและวิชาโบราณ) เรื่องราวในนิยายจีนกำลังภายในจึงมักพูดเรื่องอิสรภาพ การแสวงหาตัวตน
ช่วงปี 2500 ถือเป็นช่วงที่นิยายจีนและหนังกำลังภายในจากเกาะฮ่องกงกำลังเฟื่องฟู นิยายจีนกำลังภายในเกี่ยวข้องกับสำนวนแปลและนักแปลพอๆ กับนักเขียน สไตล์และจินตนาการเกี่ยวกับยุทธภพถือว่าถูกสร้างโดยนักแปลระดับตำนาน เช่น จำลอง พิศนาคะ, ว.ณ เมืองลุง และ น.นพรัตน์ ในช่วงปี 2470 บ้านเราก็พอจะมีนิยายที่ใช้กำลังภายในแปลเป็นตอนๆ บ้าง เช่นเรื่อง ซินเพ็กเอี้ย ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในวารสารหลักเมือง แต่สไตล์การแปลไปติดกับสำนวนแบบสามก๊ก จนกระทั่งช่วงปี 2500 จำลอง พิศนาคะ แปลเรื่อง ‘มังกรหยก’ หลังจากนั้นนิยายจีนกำลังภายในจึงเฟื่องฟูและเป็นที่นิยมในสังคมไทยเรื่อยมา
ทศวรรษ 2500 ความนิยมนิยายจีนของบ้านเราก็มีบริบทสำคัญ ในสมัยนั้นรัฐบาลทหารค่อนข้างปราบปรามและเซ็นเซอร์วรรณกรรมการเมืองที่ต่อต้านการปกครอง ในยุคนั้นนิยายจีนถูกมองว่าเป็นงานประโลมโลก อ่านเพื่อความบันเทิง นิยายจีนกำลังภายในจึงเป็นงานอีกประเภทที่เฟื่องฟูคู่กับนิยายแนวพาฝัน แต่นัยในนิยายจีนมักมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ พูดเรื่องการปกครองที่ไม่เป็นธรรม ขุนนางทรราช รวมถึงในสมัยนั้นบ้านเราเองมีทัศนคดิแง่ลบต่อคนจีน ความนิยมในนิยายจีนกำลังภายในที่พูดถึงคุณธรรมสำคัญของคนจีนเช่น ความอุตสาหะ ความกตัญญู การพัฒนาตนเอง จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒธรรมของบ้านเรา
นิยายจีนกำลังภายในนอกจากจะหวือหวาและสนุกนานไปกับเคล็ดวิชาและอาวุธอันประหลาดพิสดารแล้ว ตัวเรื่องยังมีความยอกย้อนและแปลกประหลาดในตัวเอง ในนิยายจีนเรามักจะได้เจอตัวละครแปลกประหลาดมากมาย บ้างก็พิกลพิการ บ้างก็มีจิตใจความคิดที่เฉพาะตัว บางเรื่องพูดถึงตัวละครเอกที่โง่ทึ่ม บ้างก็ลึกลับเข้าใจได้ยาก พูดถึงผู้หญิงที่มีอำนาจ นิยายจีนกำลังภายในจึงไม่ใช่แค่พูดเรื่องธรรมะชนะอธรรม แต่พาเรากลับไปทบทวนถึงประเด็นเรื่องความดีความชั่ว ศีลธรรม ความผิดปกติ และความเป็นมนุษย์ที่แสนจะซับซ้อน
มังกรหยก, กิมย้ง
มังกรหยก แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของนิยายจีนกำลังภายใน ใครอยากลองท่องยุทธภาพลองจับมังกรหยกก็เป็นไปได้ที่จะหลงรักโลกบู๊ลิ้มได้ทันที มังกรหยกเป็นชื่อนวนิยายชุดของกิมย้ง เจ้าพ่อนิยายจีนกำลังภายใน หลักๆ แล้วพิจารณาว่ามีทั้งหมดสี่ภาคที่อยู่ในจักรวาลนี้ คือ มังกรหยกภาค 1 เล่าเรื่องก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้ง ภาค 2 เป็นรุ่นลูก – เอี้ยก้วยกับเซียวเหล่งนึ่ง และภาค 3 ดาบมังกรหยก เล่าถึงเตียบ่อกี้ ภาคนี้ทำให้เรารู้จัก ‘กระบี่อิงฟ้า ดาบฆ่ามังกร’ และยังมีแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ที่เป็นเรื่องราวก่อนยุคก๊วยเจ๋งอีกหนึ่งเรื่อง
หลักๆ แล้ว มังกรหยกเป็นนิยายกำลังภายในที่อ่านไม่ยาก เน้นเนื้อเรื่องกระชับสนุกสนาน กิมย้งมักพูดถึงการรุกรานของมองโกล พูดเรื่องชนกลุ่มน้อย ถ้าจะเริ่มอ่านนิยายจีน มังกรหยกถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
กระบี่เย้ยยุทธจักร, กิมย้ง
ที่มาของคัมภีร์เทวดา ตงฟางปุ๊ป้าย (บูรพาไม่แพ้) กระบี่เย้ยยุทธจักรเป็นนวนิยายกำลังภายในที่มีความยอกย้อนมากไปกว่าการแบ่งความดีออกจากความชั่ว แบ่งธรรมะออกจากอธรรม คำว่า ‘เย้ย’ ในชื่อเรื่อง หมายถึงการเย้ยหยันถากถางความเป็นไปของสังคม กิมย้งเขียนกระบี่เย้ยยุทธจักรโดยมีนัยเสียดสีสังคมจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ช่วงที่มีแบ่งแยกว่านี่คือฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย และมองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นสีดำหรือขาวไปเลย กิมย้งสร้างเล่งฮู้ชง ชายหนุ่มที่ไม่ยึดติดกับเกณฑ์ทางสังคม คบหากับผู้คนโดยมองข้ามสังกัดแต่ให้ความสำคัญกับตัวตนจนถูกขับออกจากฝ่ายธรรมะ สุดท้ายเราพบว่าในธรรมะย่อมมีอธรรม ในอธรรมก็มีธรรมะ วิญญูชนที่กล่าวอ้างหลายครั้งจึงเป็นเพียง ‘วิญญูชนจอมปลอม’
ฤทธิ์มีดสั้น, โกวเล้ง
ต่อจากกิมย้งก็ต้องเป็นมังกรโบราณ หรือ โกวเล้ง ฤทธิ์มีดสั้นถือเป็นนวนิยายชุดชิ้นเอกของโกวเล้ง งานเขียนชิ้นนี้อาจจะไม่ใช่ยุทธภพที่หวือหวา แต่ฤทธิ์มีดสั้นเน้นการเข้าไปสู่ความรู้สึก ไปสู่ความคิด ปรัชญาและวิถีปฏิบัติที่ซับซ้อนของตัวละคร เป็นนิยายจีนกำลังภายที่โดดเด่น มีความนิ่ง สุขุม และนำเราไปสู่การต่อสู้และความขัดแย้งที่เต็มไปด้วยความหมาย – มีดบินของลี้คิมฮวงก็ถือว่าเด็ดขาดและเท่เป็นอย่างยิ่ง
ชอลิ้วเฮียง, โกวเล้ง
ตามลำดับการเขียนแล้ว โกวเล้งเขียนชอลิ้วเฮียงขึ้นก่อนฤทธิ์มีดสั้น ชอลิ้วเฮียงเป็นนิยายจีนที่ผสมกับนิยายแนวสืบสวนที่ค่อยๆ คลี่คลายปริศนาไปทีละเปลาะ โดยรวมแล้วชอลิ้วเฮียงโดดเด่นในแง่ความหวือหวาและความน่าสนใจของวีรบุรุษเจ้าสำราญ มีการเดินเรื่องและผูกเรื่องน่าติดตาม กระชับ ฉับไว
นางพญาผมขาว, เนี่ยอู้เซ็ง
ตำนานความรักความแค้น ไอคอนแห่ง ‘โลกบังคับให้เราร้าย’ คลับฟรายเดย์ที่แท้จริง เมื่อหญิงสาวต้องเจอกับโศกนาฏกรรมแห่งความรัก ความแค้นทำให้เธอได้รับพลังอำนาจแต่ความเป็นหญิงหายไปพร้อมกับผมที่กลายเป็นสีขาวโพลน เท่เป็นบ้า คิดได้ไง นางพญาผมขาวเป็นผลงานของเนี่ยอู้เช็ง นำเอาตำนานรักต้องห้ามข้ามธรรมะ-อธรรมทำนองโรเมโอกับจูเลียตผสานเข้ากับงานเขียนแนวกำลังภายใน สุดท้ายแล้วปีศาจสาวไร้หัวใจ เป็นตัวเองหรือตัวร้ายกันแน่ คุณธรรม ความดี ความชั่ว และความรัก เกี่ยวพันซับซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก
วาตะ-เมฆา (ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า), หม่าหย่งเฉิง
ยุคหนึ่งด้วยหนังเรื่อง ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า ทำให้ความสนใจงานแนวกำลังภายในกลับมาคึกคักอีกครั้ง ฟงอวิ๋นถือเป็นซีรีส์กำลังภายในยุคหลังจากเกาะฮ่องกง แต่เดิมหม่าหย่งเฉิงเขียนไว้เป็นฉบับการ์ตูน ก่อนจะกลายเป็นหนัง และค่อยกลับมาเขียนฉบับนิยายในภายหลัง เรื่องนี้โดดเด่นในแง่การใช้ตำนานเรื่องเล่าและมิติทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของจีนกลับมาร้อยเรียงใหม่ หนึ่งในนั้นคือตำนานนางพญางูขาว
เจาะเวลาหาจิ๋นซี, หวงอี้
หวงอี้ถือเป็นนักเขียนกำลังภายในเลือดใหม่ที่มีฝีมือและสร้างผลงานโดดเด่นไม่แพ้นักเขียนยุคก่อนหน้า งานสำคัญของหวงอี้ที่ได้รับการยกย่องได้แก่เจาะเวลาหาจิ๋นซี และมังกรคู่สู้สิบทิศ เจาะเวลาหาจิ๋นซีเป็นแนวเรื่องแบบทะลุมิติจากยุคปัจจุบันไปสู่จีนในสมัยจิ๋นซี ในขณะที่มังกรคู่สู้สิบทิศเล่าถึงเด็กกำพร้านิสัยต่างกันสองคน จากเด็กในตลาดค่อยๆ ต่อสู้ ฝึกฝนและไต่เต้าจนกระทั่งไปเป็นตัวแปรสำคัญของความขัดแย้งและการปกครองในสมัยนั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก