ไม่ว่าประเทศจะอยู่ในสถานการณ์วิกฤตหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่รัฐต้องมี ต้องทำ และต้องมอบให้ประชาชน คือ ‘ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data : OGD)’ เพราะนั่นหมายถึงความเปิดเผยโปร่งใส การตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและเหตุผล รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและภาคเอกชน นำข้อมูลไปเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาสังคมได้
ยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศต้องการข้อมูลที่อัพเดททันเวลา (timely) และมีคุณภาพมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายที่รวดเร็ว ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อการสื่อสารที่ชัดเจนและตรวจสอบได้กับประชาชน รวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อใจ เข้าใจ และจูงใจให้เดินไปสู่ทางแก้ปัญหาด้วยกัน
ตัวอย่างมีให้ดู! รูปแบบการใช้ OGD ในช่วง COVID-19
รายงาน Open Data in Action ที่ GovLab ร่วมกับ OECD สำรวจการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสร้างเครื่องมือและตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลประเทศต่างๆ พบว่ามีการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อจุดประสงค์หลักคือ ‘การเปิดเผยข้อมูลด้านสาธารณสุข’ ทั้งเพื่อวางแผนการออกมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและเพื่อสื่อสารสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้ชัดเจน โดยพอจะแบ่งเป็น 6 รูปแบบหลักๆ คือ
- Data Repository : ในช่วงแรกๆ ของการระบาด พบว่าข้อมูลเปิดของภาครัฐเกี่ยวกับ COVID-19 จะอยู่ในรูปแบบพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ แสดงข้อมูลแบบตรงไปตรงมา มีการอัพเดทข้อมูลรายวันสม่ำเสมอ และสามารถดาวน์โหลดไปใช้ต่อได้ โดยข้อมูลที่อัพเดทไว้มักเป็นจำนวนที่ตรวจหาเชื้อ (Detection Rate) จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ที่ตรวจไม่พบติด และจำนวนผู้เสียชีวิต ฯลฯรายงานนี้ชื่นชมการเปิดข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในสก็อตแลนด์ ที่แม้จะเริ่มจาก Spredsheet ง่ายๆ ในวันแรก แต่ปัจจุบันก็พัฒนามาจนเป็น Dashboard ที่ข้อมูลถูกเก็บและนำเสนออย่างละเอียดครบถ้วน มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ นำไปใช้ต่อได้ง่าย (Machine-readable Format) รวมถึงนำเสนอทั้งในระดับที่ละเอียดมากไปจนถึงสรุปมาให้อ่านง่าย
- Data Dashboard : อีกรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศนิยมทำกันคือ Dashboard หรือการนำข้อมูลต่างๆ มาสรุปให้สามารถเห็นภาพได้ในหน้าจอเดียว พร้อม Interactive Function ให้เลือกกดดูบางชุดข้อมูลหรือดูในบางเงื่อนไข เพื่อประกอบการตัดสินใจออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ รวมไปถึงให้ประชาชนสามารถกดดาวน์โหลดข้อมูลไปใช้หากต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐก็ไม่ได้ทำคนเดียวหรอก แต่มักร่วมมือกับภาคประชาชน ภาคเอกชน หรือหน่วยงานวิชาการ มีทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ช่วยให้รัฐทำงานหรือขยับขับเคลื่อนการตัดสินใจต่างๆ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลตัวอย่างดีๆ มีให้ดูในหลายประเทศเช่น Ireland’s COVID-19 Data Hub หรือ COVID-19 in Canada ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่คนติดคนตาย ข้อมูลเตียงและ ICU ในโรงพยาบาลต่างๆ และข้อมูลวัคซีนในระดับละเอียดและชัดเจน ซึ่งมีทั้งระดับประเทศและระดับมณฑล (County) ด้วย
- Data Visualisation : สำหรับข้อมูลที่ซับซ้อนมากขึ้นหรือต้องการสื่อสารให้เข้าใจง่ายมากขึ้น บางรัฐบาลก็เลือกออกแบบให้อยู่ในรูปแบบแผนที่หรือชาร์ตบางอย่าง ส่วนใหญ่ก็จะใช้กับข้อมูลในเชิงพื้นที่ ความหนาแน่น หรือสมรรถภาพต่างๆ (capacity) เพื่อให้เห็นปริมาณหรือการเข้าถึงที่ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แผนที่ของไต้หวันที่รัฐทำขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าสามารถซื้อหน้ากากได้ หรือเมือง Issy-les-Moulineaux ในฝรั่งเศสที่ทำแผนที่ขึ้นมาเพื่อช่วยธุรกิจท้องถิ่น ว่ามีร้านไหนบ้างที่มีบริการส่งถึงบ้าน
- Hybrid Data Product : เมื่อโลกอยู่กับ COVID-19 มาสักระยะ และดูท่าทางจะไม่ได้จบลงง่ายๆ รัฐบาลหลายประเทศจึงพัฒนาวิธีการใช้และนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้เราได้เห็นตัวอย่างของเว็บไซต์ที่อาจจะดู “ล้ำๆ” แต่จริงๆ ก็คือมีเพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้รอบด้านมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Corona Virus Media Watch ที่อัพเดทข้อมูลหลายมิติจากทั่วโลกแบบ Real-Time ไม่ว่าจะเป็นข่าวต่างๆ ที่ออกในแต่ละประเทศ งานวิจัยเกี่ยวกับ COVID-19 จากประเทศต่างๆ รูปแบบการเคลื่อนที่/เดินทาง (Mobility) หรือลักษณะการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของผู้คน
- Website and Report : อีกรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศทำเพื่อใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐให้เป็นประโยชน์ คือการสร้างเว็บไซต์หรือรายงานเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จัดการความคาดหวัง รวมถึงสื่อสารกลยุทธ์ต่างๆ ที่รัฐตัดสินใจ ให้ประชาชนเข้าใจบนพื้นฐานของข้อมูล ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ What Will We Do in August? ของสโลวิเนีย
- Hackathon : นอกเหนือจากเครื่องมือรูปแบบต่างๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์ Open Government Data ยังสามารถใช้จัด Hackathon เพื่อหาทางออกหรือการใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ ได้ (รัฐคิดไม่ออกก็ให้ประชาชนช่วยคิดสิ!) เช่นในโคลัมเบีย ที่มีการจัด MOVID19 Hackathon เพื่อช่วยรัฐวิเคราะห์การแพร่เชื้อในระบบขนส่งมวลชนและหาทางออกในการจัดการปัญหาดังกล่าว
นอกจากข้อมูลเปิดภาครัฐด้านสาธารณสุขแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรเปิดเผย รายงาน และให้ความสำคัญก็คือข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐด้านเศรษฐกิจ เช่น Brazil’s Public Expenditure Tracker เว็บไซต์ที่รัฐเปิดข้อมูลการใช้จ่ายฉุกเฉินในช่วง COVID-10 ให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่ารัฐนำเงินไปช่วยเยียวยาแรงงานและธุรกิจต่างๆ อย่างไรบ้าง หรือ Where Low-Income Jobs Are Being Lost to COVID-19 เว็บไซต์ที่ Urban Institute ใช้ข้อมูลอัตราว่างงานจากรัฐเพื่อคาดการณ์ว่าธุรกิจไหน ในพื้นที่ใด ที่เสี่ยงต่อการปิดกิจการบ้าง
ถ้าเป็นด้านสังคมก็เช่น US Census Bureau ที่พยายามสำรวจความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดกับธุรกิจขนาดเล็ก (เช่น มีการเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ ปรับคนออก หรือปรับวิธีการทำงานไหม?) หรือความเปลี่ยนแปลงในครัวเรือน (เช่น การเรียนออนไลน์ หรือทำงานที่บ้านส่งผลกระทบกับชีวิตอย่างไร) เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปประเมินมาตรการหรือทางออกในการช่วยกันแก้ปัญหาสังคมได้
อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากรายงานฉบับนี้คือ ข้อมูลเปิดภาครัฐยังถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความเข้าใจและรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ แต่ GovLab และ OECD ก็ชวนคิดว่า จริงๆ รัฐบาลควรมองไปถึงการใช้ข้อมูลเพื่อการคาดการณ์ด้วย เช่นที่เอสโตเนีย มีการทำโมเดลจากข้อมูลเปิดอย่างง่ายๆ ว่าเมื่อรัฐประกาศมาตรการล็อคดาวน์แล้ว จะมีผู้คนที่สามารถทำงานที่บ้านได้จริงๆ มากน้อยแค่ไหน
OGD กับการมีส่วนร่วมของประชาชน
ที่เล่ามาข้างบน อาจจะเป็นรัฐที่เจนจัดด้านข้อมูลและเทคโนโลยีแล้ว แต่อย่าลืมว่ารัฐไม่จำเป็นต้องทำเองคนเดียว ในโลกนี้มีคอนเซ็ปต์ของการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคประชาชนอยู่ (อ่านเพิ่มเติมใน https://elect.in.th/civictech/chapter02.html#part2) อย่าง GovLab เองก็มีโปรเจกต์ #Data4COVID19 ที่ร่วมมือกับหลายๆ องค์กร สร้างและใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อรับมือกับ COVID-19
ตัวอย่างโปรเจกต์ที่น่าสนใจเช่น Data Stewards Network ที่ระดมสมองผู้นำจากภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยกันคิดไปทีละประเด็นว่า ปัญหานี้จะแก้ด้วยข้อมูลเปิดชุดไหน หรือกลับกันคือข้อมูลเปิดชุดนี้น่าจะเอาไปใช้อะไรได้บ้าง (จะได้หมดคำถามว่าเปิดไปทำไม?) หรือ #Data4COVID19 Repository ที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและน่าจะเป็นประโยชน์จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
OGD กับการใช้เพื่อรับมือกับปัญหาหรือตัดสินใจเชิงนโยบาย
นอกจากรวบรวมตัวอย่างมาให้ดูแล้ว รายงานฉบับนี้ยังแนะนำว่ารัฐต่างๆ ควรทำอะไรเพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ลงทุนกับแนวคิดและกระบวนการสำหรับการจัดการข้อมูล (Data Governance) อธิบายง่ายๆ คือต้องเตรียมพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้พร้อม ทั้งบุคลากร เครื่องมือ และวิธีการปฏิบัติงาน ถ้าทำทุกอย่างมีมาตรฐานอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตก็สามารถดึงมาใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย
- ระบุปัญหาและความต้องการให้ได้ รัฐบาลต้องสามารถระบุให้ได้ว่าแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ควรเปิดเผยหรือสื่อสารข้อมูลชุดไหนให้กับใครบ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจ ลดความเข้าใจผิด และสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาได้
- สร้างความร่วมมือและเครือข่าย อย่างที่บอกว่ารัฐไม่จำเป็นต้องจัดการเพียงลำพัง สามารถสร้างความร่วมมือทั้งในและระหว่างประเทศได้ และรัฐก็อาจต้องทบทวนบทบาทตัวเองใหม่ จาก ‘เจ้าของ’ ข้อมูลแต่เพียงผู้เดียว กลายเป็น ‘ผู้สนับสนุนข้อมูล’ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเทศไทยอยู่ตรงไหน กับ OGD และ COVID-19 ครั้งนี้
ลองมองดูที่ประเทศไทย การเปิดเผยข้อมูลในภาวะปกติ เราได้คะแนนจาก Open Data Inventory (ODIN) เมื่อปี ค.ศ.2020 อยู่ที่ 44 จาก 100 คะแนนเต็ม หรืออยู่ในอันดับที่ 116 จาก 187 อาจจะไม่ใช่อันดับท้ายๆ แต่ไม่! เราไม่ควรที่จะพอใจกับอันดับนี้ เพราะอย่าลืมว่าหลายๆ อย่างก็กระทบกับชีวิตเรา ยิ่งในช่วงวิกฤตแบบนี้
การผลักดันการปรับปรุง พรบ. ข้อมูลข่าวสาร ของไทยก็ยังคงค้างอยู่ ‘ระหว่างดำเนินการ’ (อ่านเพิ่มได้ที่ https://thematter.co/tag/พ-ร-บ-ข้อมูลข่าวสาร) แม้หลักใหญ่หัวใจสำคัญคือ การที่รัฐต้อง ‘เปิดเป็นปกติ ปกปิดเป็นข้อยกเว้น’ (Open by Default) และเปิดในรูปแบบ Machine-readable Format ที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ (Data not Document) จะเป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า
และถ้าลองมองสิ่งที่เราเจอกันอยู่ทุกวันนี้ ทำไมเราจึงไม่รู้เหตุผลเมื่อเปิดเข้าแอปฯ ไปเช็คคิวนัดวัคซีนแล้วขึ้นว่า ‘รอจัดสรรเป็นกลุ่มแรก’ กับ ‘‘รอจัดสรรเป็นกลุ่มต่อไป’? ทำไมคนไทยถึงไม่สามารถตรวจสอบสถานที่ตรวจ COVID-19 ล่วงหน้าได้ แต่ต้องไปตากแดดตากฝนนอนข้างถนน รอคิวตรวจกันอย่างน่าหดหู่ขนาดนั้น? ทำไมเราจึงไม่สามารถเสิร์ชหาเตียงให้เพื่อนหรือญาติของเราที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อได้? ทำไมเราถึงวางแผนอนาคตการเรียนและการทำงานของเราในอีก 1 เดือนข้างหน้าได้เลย? ทั้งหมดนี้.. เราอาจตอบคำถามตัวเองได้ ถ้ารัฐเปิดเผยและสื่อสารข้อมูลได้ดีพอ
แม้แต่ตอนนี้.. เรายังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยยังอยู่หรือพังลงไปแล้ว ..เพราะเราไม่มีข้อมูล
อ้างอิงจากข้อมูลจาก