นาคีจบไปแล้ว อินกันแค่ไหนก็ดูเอาจากไทม์ไลน์ ดูๆ ไปก็อึดอัดใจที่ ทำไมเจ้าแม่นาคีโดนเล่นงานบ่อยจัง ทั้งๆ ที่ออกจะพาวเวอร์ฟูล แต่เดี๋ยวๆ ก็โดนจับ เดี๋ยวๆ ก็โดนมัด สุดท้ายก็ดูเหมือนต้องสละสูญเสียอะไรอยู่เรื่อยเลย
ทำไมผู้หญิงถึงมักถูกโยงเข้ากับงู เมื่องูก็เป็นตัวแทนของอำนาจ ผู้หญิงที่มีอำนาจนี้จึงมักเป็นเผ่าพันธุ์ที่ทรงอำนาจแต่ดั้นนนน มักมาพ่ายแพ้กับหัวใจของตัวเอง ไปมีรักกับพวกเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่อ่อนแอ ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ คล้ายๆ เจ้าแม่นาคีของเรานี่แหละ แหม่ เป็นถึงนางนาคมีพลังมากมาย แต่ด้วยความรักสุดท้ายก็ชักนำมาซึ่งจุดจบโศกนาฏกรรม ความรักข้ามสายพันธุ์แบบนี้ก็มักจบลงไม่ค่อยดีเสมอ เพราะมันเป็นความรักต้องห้าม
อาจจะเป็นเพราะด้วยลักษณะของงู สัตว์มีพิษที่อันตรายต่อมนุษย์ พิษของมันทรงอำนาจ แล้วรูปร่างและการเคลื่อนไหวของมันก็ดูเข้าใจยากและเหนือธรรมชาติ ในหลายๆ วัฒนธรรมจึงมองงูโดยมีลักษณะร่วมกันคือเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจอันลึกลับ และที่คล้ายกันอีกก็คือ ด้วยความลึกลับและอันตราย ในหลายๆ ที่ผู้หญิงเลยมักถูกเชื่อมโยงเข้ากับงู
ผู้หญิง งู ในนามของธรรมชาติ
แถบบ้านเรา กลุ่มดินแดนลุ่มน้ำก็มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับนาค หรือ งู เยอะแยะไปหมด ในกัมพูชามีตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์ที่เสพสมกับนางนาคเพื่อความรุ่งเรืองของอาณาจักร ในตำนานฝั่งตะวันตกเราก็มี ‘เมดูซ่า’ ปีศาจสตรีครึ่งงูผู้ทรงพลังที่สามารถเปลี่ยนใครก็ตามที่สบตานางให้กลายเป็นหินได้ ลักษณะความอันตรายของผู้หญิงนี้ (โดยเฉพาะต่อผู้ชาย) คล้ายๆ กับที่ในวัน พีซ เอามาขยายต่อ ที่โบ อาร์ แฮนค๊อก ก็มีความเกี่ยวข้องกับงู แล้วก็มีพลังและความงามที่สามารถเอาชนะผู้ชายทั้งหลายได้
หลักฐานเก่าแก่เกี่ยวกับงูในความรับรู้มีอยู่ตั้งแต่สมัยสัมฤทธิ์ เป็นภาพเขียนสีบนหินที่เป็นรูปงูเหมือนกับกำลังเข้ามาหามนุษย์ (ผู้ชายด้วยมั้ง เหมือนวาดจู๋ไว้ด้วย) ลองจินตนาการถึงงูสิ สิ่งมีชีวิตที่เหมือนไม่มีกระดูก เคลื่อนไหวตัวบนพื้นเป็นรูปตัว S มันรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยปลายลิ้น เหมือนกับมันกำลังรับรู้และลิ้มรสชาติความหวาดกลัวของเหยื่อที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ
งูกับนาค ในเรื่องเล่าแถบเอเชีย
สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านอุษาคเนย์พูดถึงนาคในแถบบ้านเรากับแถบอินเดีย ว่านาคก็มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เป็นตัวแทนของน้ำและความอุดมสมบูรณ์ นาคในอินเดียเป็นพญานาค เป็นสัญลักษณ์ของน้ำฝนจากบนฟ้า ส่วนนาคในความเชื่อแถบบ้านเราเป็นตัวแทนของน้ำและดิน มักมีร่างเป็นสาวงาม ถ้าเรามองความคดเคี้ยวและการไหลของน้ำก็จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับงูเหมือนกัน และแน่ล่ะแม่น้ำในชีวิตของคนย่านเราคือต้นกำเนิดของชีวิต เป็นต้นตอของความอุดมสมบูรณ์และการเพาะปลูก รวมไปถึงเป็นตัวแทนของการทำลายด้วยเช่นกัน ในกรณีที่น้ำแห้งเหือดหรือไหลบ่ามากกว่าปกติ
งู กับ ผู้หญิง จึงเป็นสิ่งที่ถูกโยงเข้าหากัน คือเป็นตัวแทนของธรรมชาติ อำนาจ ความลึกลับ การให้กำเนิด
เสียงหัวเราะของเมดูซ่า มีอำนาจแล้วมันดีตรงไหน
Hélène Cixous นักทฤษฎีเฟมินิสเขียนหนังสือชื่อ ‘เสียงหัวเราะของเมดูซ่า’ แน่ล่ะเมดูซ่าถูกวาดให้เป็นผู้หญิงที่มีอำนาจ และเป็นปีศาจร้ายที่สุดท้ายก็ต้องถูกฮีโร่ของเราไปกำจัด แต่เสียงหัวเราะของนางก็ทำให้เหล่าชายชาตรีต้องขาสั่นได้เหมือนกัน
ผู้หญิงในเรื่องเล่าต่างๆ ก็มักเป็นแบบนี้ ถ้ามีอำนาจก็ต้องอันตรายเสมอ เหมือนงูพิษไง ต้องถูกกำจัดหรือถูกทำให้เชื่อง
เจ้าแม่นาคีของเรา ในบริบทแบบละครไทยก็ดูเหมือนว่าเธอจะยังตกอยู่ในห้วงรักกับพระเอกอยู่ แต่ก็ด้วยสถานะ เผ่าพันธุ์ และโดยนัยคือพลังอำนาจของนางนาคนั้น ก็ย่อมไม่สามารถที่จะก้าวข้ามเส้นแบ่งมาเป็นคนรักของมนุษย์ไปได้
ดูเหมือนผู้หญิงมักถูกวาดให้ไม่ควรคู่กับอำนาจ เจ้าแม่นาคีเองด้วยความที่มีอำนาจแต่ด้วยความรักก็ทำให้เธอต้องพบกับความยากลำบาก ถูกตามล่า และจบเรื่องลงด้วยความเจ็บปวดไม่สมหวัง
ต่อให้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแล้ว แต่ความคิดเรื่องอำนาจและผู้หญิงก็ดูเหมือนว่าจะไม่ต่างไปจากเดิม จากเมดูซ่าถึงคำแก้ว ผู้หญิงก็ยังถูกคาดหวังให้สยบยอมและไม่ควรมีอำนาจนักอยู่ดี