เชื่อว่านักอ่านหลายคนก็คงมีกองดองเป็นของตัวเอง บางเล่มซื้อมายังไม่ได้จับ หรือบางเล่มซื้ออ่านไปนิดๆ หน่อยก็มีเหตุให้ไม่ได้อ่านต่อจนลืมไปแล้วว่าซื้อมา บางคนอาจรู้สึกผิดที่เล่มที่บ้านก็ยังวางคาเอาไว้ บางคนอาจตั้งปณิธานในใจจะไม่ซื้อใหม่จนกว่าจะอ่านที่มีให้หมด แต่จริงๆ การซื้อหนังสือมาดองไว้ อาจไม่ได้แย่ขนาดนั้นก็ได้นะ
การซื้อหนังสือมาดองนั้น ในญี่ปุ่นก็มีการเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า ซึนโดคุ (tsundoku) ที่หมายถึงคนที่ชอบซื้อหนังสือเอามาไว้มากๆ แล้วไม่ได้อ่าน อีกคำที่น่าจะคุ้นหูกันคือ bibliomania ที่เป็นอาการของคนชอบเก็บสะสมหนังสือแต่ไม่เอามาอ่าน คลั่งหนังสือเอามากๆ เลยมาซื้อมาเก็บสะสมไว้ ซึ่งการมีคำเรียกเหล่านี้ก็อาจจะแปลว่าได้ว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวกับการซื้อหนังสือมากองไว้ที่บ้านอยู่คนเดียวนั่นเอง
แต่ถึงอย่างนั้น การซื้อหนังสือมาดอง กองเอาไว้ ก็จะมีใครบางคนมักจะพูดให้ฟังว่า ซื้อหนังสืออีกแล้วเหรอ กองที่ดองไว้อะ อ่านจบยัง? หรือบางครั้งก็มีหลายคนที่บอกว่าอย่าไปซื้อหนังสือใหม่ถ้ายังอ่านที่ไม่อยู่ไม่หมด
ทำไมการไม่อ่านหนังสือที่ซื้อมากลายเป็นพฤติกรรมที่ดูไม่ดี หรือบางทีก็ทำให้กลายเป็นผู้ร้ายสำหรับวัฒนธรรมการอ่านกันไปได้นะ?
ฉันอยากซื้อ แต่ฉันยังไม่มีเวลาอ่าน
เคยมั้ย ที่ชอบเผลอแวบไปเข้าร้านหนังสือ แค่กะจะเข้าไปดูเฉยๆ ว่ามีหนังสือเล่มไหนออกใหม่บ้าง แล้วไปๆ มาๆ ก็ออกมาจากร้านด้วยหนังสือติดมือมาเล่มสองเล่ม
ก็ช่วยไม่ได้ หนังสือมันน่าอ่านขนาดนี้
จริงๆ เหตุผลส่วนหนึ่งที่เรามักซื้อหนังสือคือบางครั้งก็รู้สึกว่ามันจำเป็นที่จะต้องมีติดบ้านไว้ หรือบางทีเราแค่รู้สึกสนใจในเรื่องย่อ คำโปรย ปกหนังสือ และคิดว่า ‘น่าอ่าน’ แต่พอถึงเวลาจริงๆ เราก็อาจจะอ่านเล่มอื่นก่อน หรือสลับไปหยิบเล่มนู้น เล่มนั้น เล่มนี้ เมื่อความ ‘อยาก’ เกิดขึ้น บางทีเราจึงไม่ได้คิดว่าเราจะอ่านมันในทันทีรึเปล่า แค่คิดว่าซื้อมาไว้ก่อน เดี๋ยวอ่านตอนไหนค่อยว่ากัน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เหมือนกับเราซื้อของเอาไว้ให้อุ่นใจ มีไว้ดีกว่าไม่มี เพราะบางทีเราก็กลัวว่าจะไม่ได้เจอเล่มนี้อีก หรือบางครั้งเราก็กลัวว่ามันจะขายหมดก่อน แล้วไม่ได้ตีพิมพ์อีก การซื้อไว้ก่อนมันก็ทำให้เราสบายใจ
นอกจากนี้นักจิตวิทยา Karen Anne Hope Andrews อธิบายว่า เพราะคนเรานั้นให้คุณค่ากับความรู้ ซึ่งหนังสือก็คือหนึ่งในตัวแทนนั้น ทำให้การซื้อหนังสือเข้าบ้านก็เป็นเหมือนกับการสะสมความรู้บางอย่างมาไว้กับตัว แม้จะยังไม่ได้เปิดอ่าน แต่เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งของเหล่านี้จะมีประโยชน์ หรือมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เราได้
การดองหนังสือ หรือซื้อมาแต่ไม่เปิดอ่านจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายอย่างที่หลายคนพยายามผลักดันให้เลิกพฤติกรรมเหล่านี้
ยังมีเหตุผลอีกข้อสำหรับบางคนที่ในวัยเด็ก หรือกำลังเรียนอยู่ เราอาจมีเวลาหยิบจับหนังสือมาอ่าน ละเลียดเรื่องราวไปกับหน้ากระดาษ จนกลายเป็นนิสัยที่ชอบซื้อหนังสือเรื่อยมา ชอบแวะเข้าไปร้านหนังสือทุกครั้งที่มีโอกาส แต่พอเข้าสู่ช่วงทำงาน ด้วยหน้าที่การงานที่เริ่มรัดตัว ด้วยความเหนื่อยล้าจากการใช้ชีวิตให้ผ่านไปในแต่ละวัน การเดินทางที่มีแต่ทำให้อ่อนล้า การกลับมาถึงบ้านแล้วเอนกายลงพักแป๊บเดียวก็หมดเวลาไปเสียแล้ว เวลาในการอ่านหนังสือจะไม่อยู่ตรงไหนได้บ้าง?
พอถึงเวลา เราจะเรียกหาหนังสือเล่มนั้นเอง
ถ้าในชั่วขณะนั้น หนังสือบางเล่มที่เราเลือกหยิบขึ้นมาจะไม่ได้ดึงดูดเราเท่าตอนซื้อ พออ่านๆ ไปก็รูู้สึกฝืนไปต่อไม่ไหวแล้ว ก็อยากบอกไว้ว่านั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย หนังสือบางเล่มอาจต้องมาในเวลาที่ถูกต้อง บางเล่มอาจทำให้เราเข้าใจโลกในแต่ละแบบตามแต่ละช่วงเวลา
ถ้าใครเคยอ่าน เจ้าชายน้อย วรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิก ก็จะเห็นว่าในทุกช่วงวัยที่ผ่านพ้นไป เรามองเห็นเรื่องราวเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่เราเติบโต หนังสือเองจึงมีเวลาของมัน การซื้อมาเก็บไว้ อ่านไม่จบ แล้วทิ้งไว้เป็นกองดองจึงไม่ใช่เรื่องน่าเสียดาย แค่รอวันเวลา รอจังหวะชีวิตให้เราได้หยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อจะตรวจสอบอีกครั้งว่าสุดท้ายเราอินกับมันแค่ไหน
แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วเราไม่อินกับหนังสือบางเล่มก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่เราได้เรียนรู้คือการตรวจสอบความคิดหรือกลับมาคุยกับตัวเองว่าอะไรทำให้เราเฉยๆ กับเล่มนี้ อะไรทำให้เราไม่ชอบเล่มนั้น แม้ตอนแรกมันจะดึงดูดเรามากก็ตาม หรืออะไรทำให้เรารักหนังสือสักเล่มอย่างหมดหัวใจ
หากอยากซื้อหนังสือมาไว้ก็ซื้อเถิด บนโลกนี้ยังมีหนังสือมากมายให้เราเข้าไปหยิบจับ เก็บเอาไว้ รอวันเวลาเพื่อให้ได้ลองอ่าน และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะออกมาเป็นยังไง นั่นคือการเรียนรู้ผ่านหนังสือหนึ่งเล่มที่เราหยิบติดมือซื้อมาแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก