คริสต์มาสไม่ใช่แค่เทศกาล แต่เป็นความรู้สึก
ขนาดบ้านเรา วันคริสต์มาสยังเต็มไปด้วยความรู้สึกพิเศษๆ เราต่างอยู่ในห้วงเวลาแห่งความสุข รายล้อมไปด้วยการความสนุกสนาน การให้ และความอบอุ่น ยิ่งในวัฒนธรรมตะวันตก วันคริสต์มาสถือเป็นอีกหนึ่งวันที่พิเศษและสำคัญสุดๆ แห่งปี เป็นวันที่มนุษย์ร่วมกันสร้างความอบอุ่นท่ามกลางบรรยากาศส่งท้ายปี
อากาศเย็นๆ เคล้าบรรยากาศคริสต์มาสแบบนี้ ใครที่อาจจะฉลองเสร็จแล้ว รับของขวัญ อาจจะอยากนั่งหรือซุกตัวในผ้าห่ม อ่านเรื่องราวที่เสริมสร้างบรรยากาศ The MATTER จึงอยากแนะนำเรื่องสั้นที่ว่าด้วยวันคริสต์มาสเพื่อดูว่า วันสำคัญนี้นำเราไปสู่อะไรได้บ้างและมีความหมายอย่างไร งานเขียนเช่น The Gift of the Magi ถือเป็นเรื่องสั้นระดับไอคอนที่คริสต์มาสทีไรก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ หรือนิทานทั้งหลายที่เหมาะอ่านในคืนวันหนาวเหน็บ การฆาตกรรมในวันคริสต์มาสของโคนัน ดอยล์ ไปจนถึงเรื่อง Rudolph the Red-Nosed Reindeer เรื่องสั้นของ Robert L. May ที่มาของเจ้ากวางรูดอล์ฟ
The Gift of the Magi – O. Henry
เวลาพูดถึงคริสต์มาส The Gift of the Magi เป็นเรื่องสั้นลำดับต้นๆ ที่จะชวนเราไปคิดถึงบรรยากาศอบอุ่นของวันเทศกาล The Gift of the Magi อ้างอิงตำนานมาไจ (Magi) ของวันคริสต์มาส ในตำนานบอกว่าวันที่พระเยซูมีพระประสูติกาล มีมาไจ 3 คน เดินทางมาเพื่อมอบของขวัญล้ำค่าสามชิ้น ในเรื่องสั้นของ O. Henry จึงเล่าเรื่องความต้องการในการให้ ที่แม้ว่าจะยากจน แต่เจตนาและการเสียสละเป็นสิ่งสำคัญที่เรามอบให้กัน
The Little Match Girl – Hans Christian Andersen
ท่ามกลางบรรยากาศสุขสันต์ของเด็กๆ The Little Match Girl ของแอนเดอร์สันเล่าเรื่องราวระดับตำนานของเด็กหญิงยากจนที่ต้องยืนขายไม้ขีด ยืนเฝ้ามองความอบอุ่นสุขสันต์ของคนอื่น สุดท้ายน้องก็ตายลงอย่างสงบ เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟเป็นนิทานที่ให้ความรู้สึกที่ผสมกันระหว่างความสวยอบอุ่น และความเหน็บหนาวซึมเซาจากความตาย เป็นนิทานที่ถึงแม้จะมีความตายเป็นปลายทาง แต่ก็ไม่ได้โศกเศร้าฟูมฟาย
The Elves and the Shoemaker – The Brothers Grimm
คริสต์มาสมันก็ต้องมีความแฟนตาซี มีความเมจิกบางอย่าง The Elves and the Shoemaker เลยเป็นนิทานที่เหมาะกับบรรยากาศพิเศษๆ ช่วงนี้ นิทานเรื่องนี้ก็อย่างที่เราจำได้ ว่าด้วยคนทำรองเท้ายากจนที่มีเจ้าเอลฟ์ หนึ่งในสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ที่อยู่คู่วันคริสต์มาส
The Adventure of the Blue Carbuncle – Arthur Conan Doyle
ถ้าเป็นเชอร์ล็อค โฮมส์ คริสต์มาสของโฮมส์นั้นต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง The Adventure of the Blue Carbuncle หนึ่งใน 56 เรื่องสั้นของเชอร์ล็อค โฮมส์ โดยเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ เป็นบรรยากาศช่วงเข้าคริสต์มาสของลอนดอน ตอนนั้นวัตสันไปเยี่ยมโฮมส์แล้วก็ดันมีคดี blue carbuncle อัญมณีล้ำค่าหายไป เสร็จแล้วโฮมส์และวัตสันก็ไปเจอกับช่างทำหมวกที่ไปได้ห่านและกล่องจากเหตุการณ์ปล้น ในห่านนั้นก็ดันมี blue carbuncle ที่ทางการกำลังค้นหาอยู่ โฮล์มเลยสนใจว่า เจ้าห่านตัวนี้ไปมีอัญมณีในตัวได้ยังไง
A Kidnapped Santa Claus – L. Frank Baum
Frank Baum คือใคร แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนเขียน The Wonderful Wizard of Oz เราคงพอนึกสไตล์งานได้ว่า ซานต้าที่ถูกลักพาตัวย่อมต้องมีกลิ่นอายของความมหัศจรรย์ ในเรื่อง A Kidnapped Santa Claus ว่าด้วยปีศาจ 5 ตนที่ไม่พอใจลุงซานต้า เพราะพอเด็กๆ ได้ของขวัญแล้ว ก็จะไม่ค่อยหลงกลมาที่ถ้ำของพวกมัน ปีศาจทั้งห้าจึงหาทางลักพาตัวลุงซานต้าและขโมยวันคริสต์มาสไป
A Letter from Santa Claus – Mark Twain
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสั้น แต่เป็นจดหมายที่ Mark Twain นักเขียนยิ่งใหญ่แห่งยุคที่นอกจากจะเป็นนักเขียนแล้วยังเป็นพ่อคนด้วย เมื่อลูกสาวยังคงหวังและเขียนจดหมายหาซานต้า งานนี้คุณพ่อนักเขียนก็เลยจัดการสวมรอยสานฝันลูกสาว ‘เขียนจดหมายจากซานต้า’ ในจดหมายก็พูดเรื่องคนโน้นคนนี้แบบทั่วๆ ไป ก่อนจะลงท้ายว่า ‘จากซานต้าที่รักของหนู หรือที่บางคนเรียกว่าเป็นคนบนพระจันทร์’ ลองนึกภาพวินาทีที่สาวน้อยวัยสามขวบได้รับจดหมายจากซานต้า – ไม่ว่าจะซานต้าหรือคุณพ่อเขียน ก็น่ารักทั้งนั้นเนอะ
Rudolph the Red-Nosed Reindeer – Robert L. May
เรามีเพลงรูดอล์ฟ เดอะเรนเดียร์ กวางน้อยจมูกแดง กวางลากเลื่อนตัวที่เก้าของซานต้า ที่มาของเรื่องเล่านี้มาจากนิทานเรื่อง Rudolph the Red-Nosed Reindeer เขียนโดย Robert Lewis May เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1939 งานเขียนนี้เกิดจากการที่บริษัท Montgomery Ward มีธรรมเนียมแจกสมุดภาพระบายสีทุกปีจึงมอบหมายให้โรเบิร์ตคิด พี่แกเลยสร้างตัวละครรูดอล์ฟ กวางน้อยที่มีจมูกเรืองแสง ในปีแรกของการแจก บริษัทแจกจ่ายสมุดภาพไปกว่าสองล้านเล่ม หลังจากนั้นเรื่องราวนี้ก็กลายเป็นเพลงร้องเล่น กลายเป็นสัญลักษณ์ระดับโลกของคริสต์มาส แต่เออ จริงๆ แล้วมาจากนิทานที่เพิ่งแต่งขึ้นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง