สรุปแล้วเราสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายมั้ย? แล้วทำไมยังต้องผลักดันให้แก้กฎหมายที่มีสถานพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย?
แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้แก้กฎหมายมาตรา 301 เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลายๆ คนก็คิดว่ากฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ แต่ว่าปัญหาก็คือ กฎหมายนี้ยังคงลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง มองว่าการทำแท้งนั้นเป็นเรื่องผิด เพียงแต่มีข้อยกเว้นว่าหากทำแท้งในเรื่องสุขภาพทั้งทางกายและทางใจก็สามารถร้องเรียนได้ในภายหลัง
เมื่อความเชื่อของคนในสังคมยังคงมองว่าการทำแท้งคือเรื่องผิดบาป แถมยังมีกฎหมายมาค้ำยันบอกว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดซ้ำอีก จนต้องมีการผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายเอาผิดการทำแท้ง เราจึงไปคุยกับ สุพีชา เบาทิพย์ และ นิศารัตน์ จงวิศาล แอดมินเพจ คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง ที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และออกมาเรียกร้องให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายและปลอดภัยสำหรับผู้หญิงด้วย
ปัญหากฎหมายการทำแท้งที่กำลังผลักดันในตอนนี้คืออะไร
สุพีชา : คือตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญเขามีการตัดสิน มีการวินิจฉัยแล้วว่า มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คนก็สงสัยว่าแล้วการทำแท้งยังผิดกฎหมายอยู่เหรอ เป็นสิ่งที่คนถามแย้งเข้ามาเยอะ แล้วแถมที่ผ่านมาเพจเราก็แนะนำ ให้คำปรึกษาเรื่องการทำแท้งปลอดภัย พออย่างนี้ปั๊บ เรามาต่อต้านจะให้การทำแท้งมันถูกกฎหมาย คนก็งงว่า แล้วที่บอกว่ามันมีถูกกฎหมายแล้วไม่ใช่เหรอ แล้วสรุปว่ามันถูกมั้ย โกหกรึเปล่า
นิศารัตน์ : ก็ต้องอธิบายก่อนว่ากฎหมายส่วนไหนผิด ส่วนไหนถูก กฏหมายเดิมที่มีอยู่ 301 มันเอาผิดผู้หญิงทำแท้ง และ 302 ก็เอาผิดคนที่ทำให้ผู้หญิงแท้ง ยกเว้นไว้แค่ 303 ที่ลงโทษคนที่บังคับให้ผู้อื่นทำแท้งที่ต้องคงไว้ แต่มาตราอื่นๆ มันลงโทษคนทำแท้งหมดเลยไม่ว่าในกรณีใด แล้วก็มีข้อยกเว้นที่ 305 ว่าทำแท้งได้ถ้าหมอทำให้ในเงื่อนไขสุขภาพ แล้วค่อยมาขยายต่อว่าเป็นสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตรง 305 เราใช้กันมาเป็นสิบปีแล้ว เพื่อจะได้ทำแท้งได้ แต่ก็จะมีความสับสนว่าจะแก้กฎหมายทำไม มี 305 อยู่แล้วที่ยกเว้นให้ ซึ่งตามหลักกฎหมาย มันจะยกเอา 301 มาใช้ก่อน ก่อนที่จะไปดู 305
ก็คือเมื่อมีการทำแท้งเกิดขึ้นหรือมีการทำให้เกิดการทำแท้งเกิดขึ้น
ก็จะบอกไว้ก่อนเลยว่าคุณผิดนะ แต่ไปต่อสู้กันในชั้นศาลเพื่อแก้ต่างทีหลังว่า
อ๋อ คุณหมอทำให้เพราะเราใช้ข้อยกเว้นตาม 305
ซึ่งก็จะส่งผลให้ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการเนี่ยเกิดความไม่แน่ใจ ลังเล สับสน ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ทำได้แต่ต้องไปแก้ต่างให้ทีหลังหรือ มันก็ไม่โอเคใช่มั้ย สมมติเราเป็นหมอ แล้วเราจะทำแท้งให้ใคร กลายเป็นเราอาจจะถูกดำเนินคดีก่อน แล้วค่อยไปบอกทีหลังว่าไม่ผิด แต่เรื่องของเรื่องคือเราถูกดำเนินคดีไปแล้วไงว่าผิด แล้วค่อยมาแก้ต่าง อันนี้คือเหตุผลในฝั่งหมอว่าทำไมต้องแก้ ส่วนในฝั่งผู้หญิงหรือคนที่อยากทำแท้ง อยากจะรับบริการทำแท้ง มันก็คล้ายๆ กันกับหมอ คือ ก็ถ้าไปทำแท้งแล้วกลายเป็นความผิดก่อน ก็จบ คนทั่วไปไม่ได้มีความเข้าใจว่ามันผิดแต่ไปขอยกเว้นได้ แต่เพราะกฎหมายมันเอาคำว่า ‘ผิด’ มานำหน้า
ทีนี้การแก้กฎหมาย ที่พี่ชมพู่พูดว่า 301 มันขัดต่อรัฐธรรมนูญนะ ต้องมีการยกเลิก หรือการแก้ไข จุดประสงค์สูงสุดของเราคือให้ยกออกไปเลย ให้การทำแท้งมันถูกกฎหมายทุกกรณี เพื่อให้เป็นการตั้งต้นที่ความ ‘ไม่ผิด’ พอมันตั้งต้นที่ความไม่ผิด ใดๆ ที่มันตามมาจากการกระทำนี้มันจะไม่ผิดทั้งหมด เว้นแต่กระทำโดยผู้หญิงไม่ยินยอม แล้วก็แทนที่เราจะบอกว่า “ทำแท้งผิดนะ จะถูกก็ต่อเมื่อ…” เปลี่ยนเป็น “การทำแท้งถูกนะ จะผิดก็ต่อเมื่อ…” แบบหลังเนี่ย มันน่าจะทำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ให้บริการสะดวกใจ และปลอดภัยกว่าที่จะไปรับบริการ
สุพีชา : พี่ขอเพิ่มเติมอีกนิด มันมีกฎหมายแค่สองตัวที่เกี่ยวข้อง คือกฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ที่มีมา 60 กว่าปี ซึ่ง 301 เอาผิดผู้หญิง และ 302 เอาผิดคนที่ทำแท้งให้ผู้หญิง แล้วค่อยมายกเว้นที่ 305 ที่บอกว่าคนทำเป็นหมอ แล้วผู้หญิงมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือเป็นผู้ถูกกระทำตามมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ก็จะทำได้ เขาไม่ได้พูดแม้กระทั่งบอกว่าตัวอ่อนพิการอะไรแบบนี้เลย
เมื่อเขาเขียนแบบนี้ มันก็มีปัญหาเรื่องการตีความมาก ไอ้ปัญหาสุขภาพที่ว่ามันคืออะไรบ้าง ซึ่งต่อมาก็มีระเบียบข้อบังคับขึ้นมาอีกอันนึงว่าด้วย สุขภาพกายและสุขภาพจิต ถ้าผู้หญิงมีความเครียดที่มาจากตัวอ่อนของผู้พิการ เขาก็จะเขียนแบบนี้ไว้ ก็จะทำให้การยุติการตั้งครรภ์มันเป็นสิ่งที่ทำได้ ทีนี้แม้กระทั้งมีแบบนี้ แต่นักกฎหมายพอได้เห็นข้อบังคับของแพทยสภาออกมา เขาก็รู้สึกว่ามันใช้ได้เหรอ กฎหมายอาญามันไม่ได้ให้อำนาจใครในการที่จะมาขยายความหรือตีความ พอแพทยสภามาทำแบบนี้ มันใช้ได้จริงมั้ย เขาก็ไม่แน่ใจ แต่แพทยสภาเขาก็บอกว่าตัวเองเป็นองค์กรวิชาชีพ ดังนั้นก็สามารถกำหนดแนวทางในส่วนของวิชาชีพตัวเองได้ ซึ่งในแง่ปฏิบัติที่มันปลอดภัยและถูกกฎหมาย เราก็ใช้ของแพทยสภามาใช้ เพราะคนที่ปฏิบัติจริงๆ คือหมอ กับระดับนโยบายที่เป็นกระทรวงสาธารณสุข สปสช. อย. เขาก็เอานิยามนี้มาใช้ อย่างเช่น มีการเอายาขึ้นทะเบียนกับอย. หมอก็สามารถใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย สาธารณสุขหรือกรมอนามัย มีการออกเอกสารให้ ก็ถูกต้องตามกฎหมาย กรมอนามัยก็เป็นคนนำเข้ายาได้ หรือสปสช.ก็สนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ 3000 บาท ต่อราย ในโรงพยาบาลที่รองรับ
ซึ่งแปลว่าการทำแท้งก็ถูกกฎหมายอยู่ในระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังต้องยกเลิก 301 อยู่ดีที่บอกว่าเราผิดแล้วค่อยไปแก้ความผิดนั้น เพราะถ้าแก้ได้ก็จะส่งผลในวงกว้างด้วย เพราะว่ากฎหมายเป็นเสาหลักนึงของสังคมนี้ กฎหมายเป็นตัวที่คนในสังคมยอมรับว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ดังนั้นถ้าเปลี่ยนแปลงในเสาหลักที่สำคัญแบบนี้ ทัศนคติของสังคมก็อาจจะค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง หรือแม้ว่าจะแก้กฎหมายแต่ทัศนคติของคนไม่เปลี่ยน แต่กฎหมายมันเป็นแลนด์มาร์กที่ทำให้หลายๆ หน่วยสามารถขยับได้ จะไปอบรมผู้พิพากษา อบรมอัยการ ตำรวจ คือมันจะช่วยให้ทำอะไรต่อได้อีกหลายอย่าง เนื่องจากเสาหลักมันเปลี่ยนแปลง
มองว่าหากกฎหมายเปลี่ยน แล้วความเชื่ออื่นๆ ก็จะเปลี่ยนไปด้วยใช่ไหม
สุพีชา : มันก็มีเสาหลักอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ มีความคิดเรื่องศาสนา ความเชื่อ เพศ คือสังคมเรามันก็เหยียดเพศนะ ผู้ชายผู้หญิงไม่ได้เท่ากัน แล้วคนที่เป็น heterosexual บางคนก็ชอบเหยียด homosexual สังคมนี้มันไม่เท่ากันเรื่องเพศด้วย ก็เลยส่งผลต่อการท้องไม่พร้อม ส่งผบต่ออคติที่มีต่อผู้หญิงเวลาผู้หญิงจะทำแท้ง เช่น คุณเป็นแม่ที่ฆ่าลูก อะไรแบบนี้มันก็เป็นอคติทางเพศ แล้วในอีกด้านหนึ่ง ศาสนาก็เข้ามาค้ำยันอีกว่า ใช่ นี่มันเป็นบาป
ปัญหานี้มันมีเสาที่ค้ำอยู่หลายเสา เราก็ค่อยๆ ทำลายทีละเสาไป
เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจึงเป็นหมุดหมายสำคัญมากๆ สำหรับเรื่องนี้หรือเปล่า
นิศารัตน์ : กฎหมายมันนำมาซึ่งนโยบายและทัศนคติ ถ้ากฎหมายบอกว่าทำได้ นั่นหมายความว่ารัฐรับรองการกระทำนี้ว่ามันถูกต้อง ก็จะไม่มีใครมาบอกได้ว่าการกระทำนี้มันทำไม่ได้ เพราะรัฐรับรองแล้ว แล้วกฎหมายก็นำมาซึ่งนโยบายด้วย อย่างกฎหมายทำแท้ง มันก็นำมาซึ่งทัศนคติในการออกพรบ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.อนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งสิ่งทีไ่ด้รับอิทธิพลมาแน่ๆ จากกฎหมายเดิมก็คือการยุติการตั้งครรภ์ ที่ในพรบ.นี้ให้สิทธิวัยรุ่นไว้เยอะมาก ยกเว้นการยุติการตั้งครรภ์สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ไม่ให้วัยรุ่นตัดสินใจเอง เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญาที่มีการเอาผิด ก็จะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้มันส่งผลต่อพรบ.ที่อยู่ภายใต้ มันเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนกฎหมายให้ได้ก่อน
สุพีชา : แล้วอย่างตอนนี้ในเรื่องการทำแท้ง ทำไมเราต้องตั้งกลุ่มหมอขึ้นมา ก็เพราะว่าทัศนคติที่ไม่ยอมรับการทำแท้งมันก็อยู่ในบุคลากรเยอะด้วย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญ หมอบางคนก็จะบอกว่ายังไม่ทำหรอก เพราะมันก้ำกึ่งอยู่ว่าถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย แต่สมมติว่ากฎหมายมันถูกแล้ว วงหมอก็จะมองเห็นตัวเองได้ชัดว่าที่ไม่ทำมันเป็นเพราะว่ากฎหมายหรือทัศนคติของคุณ แล้วจะได้มาทำงานกันต่อ ถ้าเป็นเรื่องทัศนคติก็จะได้มาตกลงกันว่าจะเอายังไง ให้หมอเลือกปฏิเสธได้มั้ย หรือให้ข้อมูลหมอเรื่องการทำแท้งเพิ่มขึ้นดีมั้ย มีการอบรมมากขึ้นมั้ย มันก็จะไปสเต็ปข้างหน้าได้ อันนี้คือแก้ไขเชิงโครงสร้าง อีกอย่างคือจะได้ช่วยแก้ทัศนคติของสังคม
แล้วอะไรคืออุปสรรคของการแก้กฎหมายการทำแท้ง
สุพีชา : เพราะเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย อันนี้เป็นโครงสร้างใหญ่ที่มันครอบเราอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาคิดอะไรก็จะกลับมาที่เรื่องนี้ อย่างเช่นตอนนี้มี พรก.ฉุกเฉิน แล้วเราอยากไปประท้วงที่กฤษฎีกา เราก็ต้องคิดแล้วว่า ไม่ใช่แค่เราที่ถูกขัดขวางจากกฤษฎีกาเองที่เขาอาจไม่พอใจ เรายังต้องมากลัวตำรวจจับอีกว่าเราเกาะกลุ่มกันมากเกินไป ทำให้ติด COVID-19 รึเปล่า ซึ่งเขาอ้างเพื่อใช้พรก.ฉุกเฉินใช่มะ กลายเป็นว่าเราต้องมานั่งกังวลเรื่องนี้ มันเลยไม่ง่ายที่เราจะส่งเสียงออกไป แล้วก็รู้สึกว่ารัฐบาลทหารไม่ได้มาสนใจประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เขา แต่ว่าถึงเขาจะไม่ได้สนใจ ไม่ได้เพ่งเล็ง คือต่อให้วันนี้ไม่ พรุ่งนี้อาจจะหันมาทำอะไรเราก็ได้ อันนี้คือเรื่องที่หนึ่งเลย เราอยู่ในสังคมที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัยในการส่งเสียงความคิดเห็นของประชาชน มันไม่ได้รับการคุ้มครอง ตรงข้าม เรากลับเห็นการข่มขู่คุกคามมาก
อันที่สอง คนที่เข้ามาแล้วมีอำนาจในการตัดสินใจ พี่ไม่แน่ใจว่ารุ่นของเขา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มาก เขามีความเ้ขาใจมั้ยกับสังคมที่มันเปลี่ยนไป คือไม่แน่ใจหรอกว่าเกี่ยวกับรุ่นมั้ย แต่เขาดูไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของผู้หญิง ความทุกข์ของผู้หญิง เรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันจะกลายเป็นไปเถียงกันว่า สิทธิของเด็กอยู่ที่ไหน คุณทำแท้งคุณก็ทำร้ายเด็ก แต่คุณเอาไว้คุณก็ทำร้ายเด็กเหมือนกัน เขามองว่าการทำแท้งคือการฆ่าเด็กเลยไง แต่ถ้าเกิดคุณเอาไว้ คุณก็ไม่รับผิดชอบ แย่ทั้งขึ้นทั้งล่อง มันไม่ค่อยมีบทสนทนาที่เห็นว่าผู้หญิงมีความจำเป็นแบบไหน แล้วการตั้งครรภ์ครั้งนึง การมีลูกครั้งนึงมันจะกำหนดชีวิตของเขาไปอีกนานแค่ไหน พี่คิดว่า บทสนทนาแบบนี้ไม่ค่อยได้ยินเลย
นิศารัตน์ : ด้วยสังคมประชาธิปไตยมันก็ไม่ให้คุณค่ากับเสียงเล็กๆ ที่เกิดขึ้นของคนตัวเล็กๆ จริงๆ เพราะว่าสังคมแบบนี้มันไม่ให้พื้นที่ในการพูด ไม่ให้ความปลอดภัย ไม่มีอะไรมาการันตีว่าเมื่อเราพูดหรือแสดงออก มันจะเป็นยังไง ต่อให้จะไม่มีพรก.ฉุกเฉินก็ตาม แล้วเราก็ไม่รู้ว่าคนที่มีอำนาจในการแก้ไขจริงๆ ที่ถือเครื่องมือทางกฎหมาย เครื่องมือทางความรู้ เขามีทัศนคติที่เข้าใจปัญหามากแค่ไหน ซึ่งเราก็พยายามเข้าไปทำความเข้าใจ พยายามแชร์ประสบกาณณ์พูดคุย เพื่อที่ว่าจะได้ลดอุปสรรคทางทัศนคติของผู้ที่มีอำนาจให้เข้าใจบ้าง และอุปสรรคใหญ่เลยก็คือการที่บอกว่าไทยเป็นรัฐฆราวาส เราอยู่ภายใต้กฎหมายฆราวาสนะ ไม่ใช่ศาสนา แต่ในทางปฏิบัติ เอาแค่โรงเรียนนะ ทำไมต้องสวดมนต์ ในเมื่อเราเป็นรัฐฆราวาสไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมกฎนั่นกฎนี่มันดันมีศาสนามาเกี่ยวข้องตลอดเวลาเลย อันนี้ไม่ใช่แค่ทำแท้งนะ แม้แต่เซ็กส์ทอยที่สังคมก็ชอบพูดว่าเราเป็นเมืองพุทธ คือเราเป็นเมืองพุทธ แต่กฎหมายก็ไม่ใช่กฎศาสนา
สังคมต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือกฎหมาย อะไรคือความเชื่อ
ก็คือสังคมแยกไม่ออกระหว่างศาสนากับกฎหมาย
ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะต้องเอามายุ่มย่าม
สุพีชา : เราอยู่ในยุคที่ประชาชนสามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงความคิดเห็นเนอะ ดังนั้นเราก็จะเห็นว่า คนที่เห็นด้วยมากๆ ก็มีจำนวนหนึ่ง คนที่ไม่เห็นด้วยมากๆ ก็จะมีอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดา แต่คนที่อยู่ตรงกลางมันคือจำนวนที่มากที่สุด ซึ่งคนที่อยู่กลางๆ ไม่ค่อยส่งเสียงเท่าไหร่ เพราะเขาเป็นคนกลางๆ ถึงแม้เราจะมีพื้นที่ส่งเสียงบ้าง และรัฐก็พยายามปราบในหลายๆ ทาง เสียงก็เลยยังไม่แรงพอในการที่จะเคลื่อนคนที่มีอำนาจ เพราะคนมีอำนาจข้างบนเขาก็คิดจากความเชื่อของเขา จนกว่าเขาจะยอมรับว่ามีคนจำนวนมากที่คิดไม่เหมือนเขา และพี่คิดว่ากระบวนการส่งเสียง อย่างในทวิตเตอร์ ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจประชาธิปไตย มีอีกกลุ่มเล็กๆ ที่พูดเรื่องผู้หญิง เรื่องเฟมินิสต์ แต่คนเหล่านี้ก็ยังไม่เห็นด้วยกับเรื่องทำแท้ง
การไม่ยกเลิกกฎหมายนี้จะส่งผลอะไรต่อผู้หญิง
นิศารัตน์ : มันทำให้คนกลัว ยกตัวอย่าง เด็กท้องไม่พร้อม ไปปรึกษาครู ครูพูดคำแรกเลย ทำแท้งผิดกฎหมายนะ ตำรวจจับนะ ทั้งๆ ที่จริงๆ มีช่องให้ทำได้ ก็เป็นปราการความกลัวอันแรกเลย หรือผู้หญิงที่เข้ามาปรึกษา มันมีคนที่ถามเยอะมากว่ามีที่ให้ไปทำเถื่อนมั้ยคะ ตำรวจจับมั้ย มันสร้างความกลัวเนอะ
สุพีชา : คือการบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดเนี่ย แล้วมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติของสังคมที่บอกว่าผิด ทีนี้มันก็ส่งผลในทุกระดับเลย ทั้งนโยบายที่เราขอให้กระทรวงช่วยประชาสัมพันธ์หน่อยว่าบริการที่ถูกต้องและปลอดภัยมันอยู่ที่ไหน เขาก็ไม่กล้าประชาสัมพันธ์เพราะกลัวมีคนต่อต้านองค์กร หรือต่อต้านตำแหน่งของเขา ผู้ใหญ่จะมาว่า คนในที่ทำงานจะตั้งคำถามกับเขา รวมไปถึงครอบครัวด้วยที่กลัวว่าถ้าประชาสัมพันธ์แล้วเดี๋ยวคนแห่กันมาทำจนรับไม่ไหว คือในเรื่องทำแท้งมันเป็นการต่อสู้กันของอำนาจในหลายเรื่องมาก เช่น อำนาจระหว่างหมอกับผู้หญิง คือหมอมีอำนาจเหนือตลอดเวลา หมอให้ผ่าตัดคุณก็ต้องผ่าตัด หมอให้ทำคีโม คุณก็ต้องทำคีโม หมอบอกอะไรเราก็ต้องทำ แล้วในเรื่องทำแท้ง ถ้าหมอให้ทำก็ทำได้ แต่ถ้าหมอไม่ให้ทำก็จบ ซึ่งบางทีหมอบางคนอาจจะยังคิดว่ามันอันตราย แต่มันมีงานวิจัยมาทั่วโลกแล้วว่าไม่อันตราย เรื่องการทำแท้งเราเลยต้องต่อสู้หลายระดับ
แล้วพูดถึงตัวผู้หญิงเอง พอไม่ได้ยกเลิกกฎหมายตัวนี้ เขาก็จะเซนเซอร์ตัวเอง หรือยอมไปทำเถื่อน หรือส่งผลต่อทัศนคติของเขาเลยว่าอย่าไปทำเลย ถึงแม้ในความเป็นจริงคลอดมาจะยากลำบากขนาดไหน แต่ก็อย่าทำเลย เพราะมันไม่ดี คนอื่นบอกว่าผิด ศาสนาบอกว่าผิด กฎหมายยังบอกว่าผิด แล้วเราจะทำแบบนั้นยังไง ก็ยอมรับและท้องต่อ อย่างเพื่อนที่ทำงานกับเยาวชน
เด็กอายุ 12-13 นี่ยิ่งเต็มไปด้วยความคิดที่ว่าถ้าท้องก็ต้องเอาไว้
เพราะทำแท้งมันบาป มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี
คือเขาซึบซับความคิดนี้เข้าไปในเนื้อในตัวแล้ว
มันกลายเป็นคำตอบสูตรสำเร็จแบบนั้นเลย บอกว่าไม่ไปทำเพราะมันไม่ดี คือเราไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาควรจะตัดสินใจยังไงนะ แต่มองเข้าไปว่าเด็กคนนึง อยู่ม.2 ม.3 แล้วคุณตั้งใจจะให้ท้องไว้เนี่ย คุณจะเจออุปสรรคเยอะมาก แม้กระทั่งการคลอด เพราะอุ้งเชิงกรานคุณขยายไม่พอ คุณคลอดเองไม่ได้ ต้องผ่าคลอด ในข้อเท็จจริงเราเจอพ่อแม่จำนวนมากที่มาปรึกษาให้ลูก บอกว่าจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ เพราะพ่อแม่ก็เลี้ยงลูกไม่ไหว ต้องมาเลี้ยงหลานอีกก็ไม่ไหว หรือบางคนมองว่าจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงเด็กก็ยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งผู้หญิงซึบซับเข้าไปมันก็มาจากทัศนคติของสังคมแหละ ไม่ใช่จากกฎหมายโดยตรง แต่กฎหมายก็เป็นตัวค้ำยันทัศนคตินี้ไว้
การมีอยู่ของกฎหมายนี้เลยแสดงให้เห็นว่าสังคมจำกัดสิทธิผู้หญิงมาก
พี่ชมพู่ : ใช่ ด้วยการเอาศาสนา เอาความดีมาบังหน้า คือการเป็นคนดีมันไประรานหลายเรื่องมากไม่ใช่แค่การเมือง คือจริงๆ มันคิดได้ง่ายมากเลย แค่ถ้าคุณท้องขึ้นมาแล้วไม่อยากทำแท้งก็ไม่ต้องทำ ไม่เป็นไร ไม่มีใครว่า แต่คุณไม่มีสิทธิไปตัดสินคนอื่น เพราะว่าอันนี้คุณนั่นแหละกำลังทำบาป
ส่วนใหญ่เหตุที่ผู้หญิงต้องการทำแท้งคืออะไร
นิศารัตน์ : เท่าที่เจอบ่อยๆ จะเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ คือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเขาไม่พร้อม เรามักจะนึกว่าเด็กๆ วัยรุ่นอยากจะทำแท้งเยอะกว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ จริงๆ แล้วที่เจอเยอะๆ เลยคืออายุยี่สิบปีขึ้นไป และส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องการเงินทั้งนั้นเลย บางคนมักจะบอกว่าผู้หญิงทำแท้งคือผู้หญิงวัยรุ่นใจแตก แต่มันไม่ใช่เลย มันเกิดจากเรื่องเศรษฐกิจหรือการที่เขามีลูกหลายคนแล้ว ไม่ไหวแล้ว
ดังนั้นเราจะเห็นว่าคนที่ต้องการทำแท้งไม่ใช่คนที่ไม่เข้าใจความเป็นแม่
แต่เข้าใจว่ามันยากที่จะเป็นแม่ และไม่พร้อมจะเป็นแม่ เขาจึงต้องการทำแท้ง
สุพีชา : มีงานวิจัยที่บอกว่าผู้หญิงทำแท้งมาจากเรื่องเศรษฐกิจและสังคม มากกว่าเรื่องสุขภาพ คือมากกว่า 60% เป็นเรื่องเศรษฐกิจ แล้วก็ถ้าเป็นรายละเอียดลงไป มันมีกรณีที่เราหงุดหงิดบ่อยๆ เกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่ผิดพลาด และเป็นการผิดพลาดแม้กระทั่งว่าเขาได้ผ่านกระบวนการทางการแพทย์มาแล้ว อย่างเช่น ฉีดยาคุมแล้วท้อง ซึ่งยาคุมมันมีความผิดพลาดในตัวมันเองด้วย แต่ไม่เยอะ แค่ 1-2% แต่ว่าการไปพบหมอเพื่อฉีด มันก็ยังมีผู้หญิงที่ไปฉีดต่อเนื่องแต่ก็ยังท้อง ซึ่งผู้หญิงเขาไม่เคยกังวลเลยว่าเขาจะท้องไงเพราะเขาไปให้แพทย์ทำให้แล้ว แต่พอมารู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นว่าท้องหลายเดือน แถมบางทีหมอเองเวลามาฉีดก็แค่มาฉีดไป แต่ไม่ได้ให้ความรู้เช่น มันอาจมีข้อผิดพลาดนะ เพราะฉะนั้นถ้าถึงรอบที่ควรจะตรวจก็ต้องลองตรวจการตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าจะฉีดยาแล้วก็ตาม เพื่อให้เราไม่พลาด มาเจอตอนท้องอายุครรภ์เยอะๆ แล้วก็อีกอย่าง ผู้หญิงที่ทำหมัน แล้วหมันฝ่อ เรื่องนี้ก็มีการร้องเรียนในสปสช.กันเยอะว่าจะเยียวยาเขายังไง กรณีแบบนี้มันเกิดได้ไง ซึ่งคนที่มาต่อว่าบางทีก็คิดง่ายๆ ไปด่าเขาแรงว่าไปอ้าขาให้เขาเอง สนุกกัน แล้วพอต้องรับผิดชอบก็ไม่รับผิดชอบ หมามันยังรักลูกเลย ด่ากันอะไรแบบนี้ ซึ่งแรงมาก โดยที่เอาเข้าจริงๆ เขาก็ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
อีกอย่างที่สำคัญคือ มีผู้หญิงหลายคนที่อยากยุติการตั้งครรภ์เพราะมีลูกอ่อน มีลูกยังไม่ถึงขวบ ซึ่งพี่แปลกใจ เพราะคนเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงติดตามหลังคลอดอยู่เลย คนเหล่านี้ต้องไปเจอสถานบริการเป็นประจำ ไปหาหมอประจำ ก็เลยแปลกใจว่าในขณะที่คนเป็นแม่อาจจะคุมกำเนิดได้ไม่เก่งเท่าไหร่ หมอก็ควรดูแลว่าเขามีปัญหาอะไรมั้ย เพื่อป้องกันไม่ให้เหนื่อยท้องอีก เพราะฉะนั้นเราไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นของวัยรุ่น เพราะมีจำนวนน้อย แต่ส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งทางนโยบายมันก็มีข้อผิดพลาดคือพอเป็นพรบ.อนามัยเจริญพันธ์ ที่ไปดูแลวัยรุ่นให้ยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย แต่ละเลยคนอีกส่วนใหญ่ที่เขาต้องเผชิญปัญหานี้ เวลาออกนโยบายมันเลยส่งผลต่อการปฏิบัติ เช่น สปสช.ก็บอกว่าถ้าคุณอายุต่ำกว่า 20 ปี คุณฝังยาคุมได้เลยไม่ว่าจะผ่านการทำแท้งมามั้ย คุณไปขอได้ แต่ถ้าเกิดคุณอายุ 20 ปีขึ้นไป คุณต้องทำแท้งในโรงพยาบาลของรัฐมาก่อน คุณถึงจะได้รับการบริการฟรี ไม่งั้นก็ต้องเสียเงิน 2,400 บาท คุณคิดดูว่าบางคนต้องมาจ่ายขนาดนี้ มันเดือดร้อน เขาทำไม่ได้ ซึ่งนี้ทำให้เห็นว่าปัญหาบางอย่างมันถูกละเลยไป
แล้วคนมักเข้าใจการทำแท้งผิดๆ ยังไงบ้าง
สุพีชา : ข้อหนึ่งเลย คนเข้าใจผิดว่าการทำแท้งอันตรายมากๆ แต่จริงๆ การทำแท้งปลอดภัยกว่าการคลอด มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าอัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้งเป็น 1 : 100,000 งานวิจัยในไทยเนี่ยแหละ แต่เพราะหนังพวกศพเด็กทั้งหลายมันมีเยอะ เต็มไปด้วยเลือด คนส่วนใหญ่เลยเข้าใจว่าการทำแท้งต้องเลือดสาดกระจาย ต้องตัดมดลูกทิ้ง
นิศารัตน์ : อีกสิ่งหนึ่งคือ ผู้หญิงที่มาทำแท้งส่วนใหญ่รู้สึกโดดเดี่ยว เวลาคนมาคุยกับเพจก็จะมีคำถามว่า มีใครเคยทำแบบหนูมั้ยคะ ซึ่งคำตอบมันคือ มีค่ะ มีเป็นล้านเลยค่ะ คือเขารู้สึกโดดเดี่ยวมากแล้วก็ไม่เห็นสถิติความเป็นจริงว่าผู้หญิงที่มีประสบการณ์การทำแท้งมันเยอะมาก การทำแท้งเป็นการให้บริการทางการแพทย์ที่เยอะที่สุด ถ้าเทียบกับการให้บริการอื่น
เพราะฉะนั้นการทำแท้งควรเป็นทางเลือกของผู้หญิงด้วย
นิศารัตน์ : ควรมากๆ ต้องเป็น choice ด้วย แล้วยิ่งไปกว่านั้น จะต้องเป็น choice ที่ได้รับการเสนอจากหน่วยงานรัฐด้วยในอนาคต โดยไม่ต้องยากลำบากในการเข้าถึง เหมือนกับหลายๆ ประเทศเวลาไปตรวจครรภ์ เขาก็ยื่นข้อเสนอว่าคุณมีทางเลือกอะไรบ้าง จะท้องต่อไปหรือจะทำแท้ง
สุพีชา : คือมันต้องเป็น choice และคนอื่นมาขัดขวางไม่ได้ สิ่งที่พิสูจน์คือ 301 ใช้มาตั้งนาน จับใครได้มั้ย คือคุณออกกฎหมายเพื่อหยุดการกระทำ จับคน แล้วคุณทำได้มั้ย ดังนั้นในหลักการเราเรียกร้องให้มันเป็นสิทธิ เพราะในความเป็นจริงคุณหยุดเขาไม่ได้หรอก ตอนนี้สิ่งที่กฎหมายหยุดยั้งมันไม่ใช่หยุดผู้หญิงทำแท้ง แต่คือการหยุดการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ซึ่งมันผลักผู้หญิงเข้าไปสู่การบริการที่ไม่ปลอดภัย คือถ้าคิดตามตรรกะนี้
กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันคือการทำร้ายผู้หญิง
แล้วทางเพจจะทำอะไรต่อไปหลังจากนี้
สุพีชา : ในแง่นโยบายเราก็จะตามติด อย่างตอนนี้มันอยู่ที่กฤษฎีกา แล้วก็ไปครม. ไปสภา เราก็จะตามไปเรื่อยๆ แล้วก็ดูว่าจะส่งเสียงยังไงได้บ้าง เรามีแผนจะเข้าไปคุยกับกลุ่มต่างๆ ตอนนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนก็สนใจเรื่องนี้ มีตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อทำวิจัย รายงาน เพราะเขามองเรื่องนี้เป็นสิทธิมนุษยชน เราก็จะคอยติดตาม ชี้แจงกับหน่วยงานต่างๆ
อันที่สองก็เป็นการทำงานกับสังคม เช่น เราไปคุยกับส.ส. มันไม่ใช่แค่ทำให้ส.ส. เข้าใจ แต่จะมูฟตัวประชาชนที่ลงเสียงให้เขาด้วย ว่าเขาเห็นยังไง เสียงในสังคมเป็นยังไง เราไม่ได้อยากให้ส.ส.เห็นด้วยกับเราโดยที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ซึ่งมันก็แตกไปได้หลายอย่าง
แล้วผู้หญิงที่เคยทำแท้ง เขาออกมาช่วยผลักดันเรื่องนี้ด้วยมั้ย
นิศารัตน์ : การจะออกมาพูดเรื่องที่ว่าการทำแท้งว่าเป็นสิทธิ เป็นเรื่องที่ทำได้ มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก เพราะพอเราพูดออกไปเนี่ย ถ้าเทียบหนึ่งคำด่าเท่ากับการตบหนึ่งครั้ง คือเราไม่เหลืออะไรแล้วนะคะ คือมันมีราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก แล้วผู้หญิงรู้ว่าพอพูดประสบการณ์ตัวเองออกไป เราจะถูกโจมตีจากคนที่เสียงดังกว่า นั่นคือเหตุว่าทำไมบางคนก็ไม่อยากพูด และเราเข้าใจมากๆ เพราะสังคมตอนนี้ใจร้ายกับผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งมากๆ
สุพีชา : มันเลยสะท้อนว่า เสียงของคนที่บอกว่าเป็นกลางมันสำคัญ เพราะถ้าเสียงของคนกลุ่มนี้มาให้กำลังใจผู้หญิง มาช่วยสนับสนุน มาช่วยปกป้อง มันก็จะทำให้ผู้หญิงเองรู้สึกมีพลัง เพราะปกติก็จะมีแต่โดนด่า เอามาตรฐานตัวเองมาตัดสินคนอื่น โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องศาสนา คือศาสนาให้เรามองตัวเอง ไม่ใช่เอาไปตัดสินคนอื่น
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทางเพจพยายามจะผลักดันคืออะไร
สุพีชา : คืออยากจะทำให้สังคมเข้าใจว่า การทำแท้งไม่ควรมีความผิดเลย เพราะเวลาเรายกเลิกความผิด มันจะไม่ได้หมายถึงว่าผู้หญิงจะไปเที่ยวหาซื้อยานู่นนี่นั่นมาใช้เอง แล้วมีปัญหากว่าเดิม มันไม่ใช่ มันจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้น เพราะเวลาเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้แล้วเนี่ย หน่วยงานที่เกี่ยวเขาก็จำเป็นต้องมีโครงสร้างมารองรับ แล้วมันจะเปิดทางด้วย เช่น สมมติแก้กฎหมายทำแท้งไม่ผิดแล้ว งั้นเราก็ประชาสัมพันธ์วิธีการเข้าถึงที่ถูกต้องได้แล้ว มันก็ง่ายขึ้น และทำให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการได้ นอกจากนี้การทำแท้งเสรีในปัจจุบันมันมีอยู่ คือตอนนี้มันมีการขายยาทำแท้งออนไลน์ ที่ไม่ได้มาจากหมอ ยาก็ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งอันตราย แต่ถ้าเรายกเลิกกฎหมาย ผู้หญิงเข้าถึงได้ มันจะเป็นการทำแท้งที่ปลอดภัย
สิ่งที่เราต้องการคือการทำแท้งที่ปลอดภัย
และเป็นการตัดสินใจจากผู้หญิงกับหมอ
โดยไม่ต้องมีกฎหมายมาให้กังวลใจว่า
ขาข้างหนึ่งเข้าไปอยู่ในตารางรึเปล่า
แล้วเราก็อยากเสนอต่อไปอีกว่าผู้หญิงจะสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้จนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ คือเริ่มมีขนาดใหญ่ที่คนทั่วไปฟังแล้วอาจจะคิดว่า โอ๊ย น่ากลัว ทำไปได้ไง นี่มันเห็นชัดๆ เลยว่าคืออะไร แล้วคุณทำลงไปได้ยังไง แต่ที่เราขอเพราะกรมอนามัยเองก็นิยามว่าช่วงเวลานี้เป็นจุดสิ้นสุดของการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเราขอไว้สำหรับผู้หญิงที่มีความจำเป็นต้องทำแท้งในตอนที่มีอายุครรภ์มากๆ เขาจะได้ไม่ต้องไปแสวงหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
คือยิ่งอายุครรภ์มากยิ่งอันตราย และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมันก็จะกำหนดอะไรใหม่หลายอย่าง หนึ่งในข้อเสนอเราเลยขออายุครรภ์ที่จะยุติไว้ที่ 24 สัปดาห์ คือผู้หญิงเขาคิดเสมอเรื่องการทำแท้ง และเขาเจ็บปวดนะ มันมีผลต่อความรู้สึกของผู้หญิง และยิ่งอายุครรภ์มากแต่ต้องทำแท้งแปลว่าเขามีความจำเป็นมากๆ แล้ว เราเลยอยากให้ปลอดภัย
นิศารัตน์ : อยากย้ำอีกทีเรื่องการทำแท้งควรเป็นเรื่องระหว่างผู้หญิงกับหมอ คือมันจะมีคนแย้งว่าแล้วผู้ชายที่เป็นเจ้าของอสุจิล่ะ คือเรามองว่าต่อให้เป็นเจ้าของอสุจิ แต่ก็ไม่มีสิทธิ์มาบังคับบนเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง ถ้าผู้หญิงอยากทำแท้ง ไม่อยากมีลูก ไม่อยากคลอด ก็เป็นสิทธิ์ของผู้หญิง ผู้ชายไม่สามารถห้ามได้ กับอีกเคสที่มีคนบอกว่าถ้าให้การทำแท้งมันถูกกฎหมาย จะมีคนหลอกให้ผู้หญิงไปทำแท้งเยอะ คือผู้หญิงไม่ได้โง่นะ ผู้หญิงรู้ว่าต้องทำอะไร ไม่ต้องกังวลแทน เพราะฉะนั้นมันคือสิทธิของผู้หญิง
หากใครต้องการปรึกษาเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย สามารถสอบถามไปทางเพจ คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง ได้