ผ่านพ้นฤดูจับใบดำใบแดงสุดระทึกสำหรับชายไทยมาได้ 2 เดือนเศษแล้ว พลทหารใหม่ผลัดที่ 1 ก็ตบเท้าเข้ากรมกองพอให้ปรับตัวได้ แต่ในขณะเดียวกันความตึงเครียดในการฝึกของทหารเกณฑ์ก็ยังคุกรุ่นจนทหารหลายนายยากจะรับมือไหว ล่าสุดเมื่อวานนี้พลทหารนายหนึ่งตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงหลังจากบ่นคิดถึงบ้าน (The MATTER ขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้ด้วย)
วันที่โลกหมุนวงโคจรเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว ทหารเกณฑ์ยังจำเป็นอยู่แค่ไหน? เราเปลี่ยนไปเป็นแบบระบบสมัครใจดีหรือเปล่า? วันนี้ The MATTER พาดำดิ่งลงสู่หัวข้อเสี่ยงดราม่า (แต่ถ้าเปิดใจ ก็ตั้งสติอ่านให้จบก่อนแล้วค่อยถกเถียงอย่างมีเหตุผลเนอะ) ขอเชิญพบ กับ กับ กับ ความดีงามของการเป็นนายพล เอ้ย พลทหาร
รบราฆ่าฟัน ป้องกันประเทศ เริ่มต้นได้ที่บ้านนายทหาร
เกณฑ์ทหารแล้วไปไหน? ยังคงเป็นเรื่องราวลึกลับดำมืดที่คนไม่ได้เกณฑ์ฯคงไม่มีวันได้สัมผัส ปาระเบิด ยิงปืน ฝึกการฆ่าด้วยมือเปล่าตลอด 2 ปีเต็มกันหรือเปล่า? มาลองฟังเสียงของ ‘อาร์ม’ (จากฝีมือการสัมภาษณ์ดี๊ดีของประชาไทกัน)
“ส่วนใหญ่ไม่อยากอยู่กองร้อยกันหรอกครับ เพราะว่าอยู่กองร้อยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มันจะมีระบบอาวุโสกับรุ่นพี่สูง มีการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย อยู่บ้านนายมันมีอิสระ คุณไม่ต้องทำตามระบบแบบในกอง อยู่ที่บ้าน นายสั่งอะไรก็ทำน่ะครับ พูดง่ายๆ ก็เป็นคนรับใช้น่ะครับ ไปตลาดกับเมียนาย ไปล้างรถ ไปซักผ้า”
นี่จึงเป็นโอกาสดีที่สุดในสามโลกของพลทหารที่เมื่ออยู่บ้านไม่เคยได้ช่วยแม่ล้างจาน ไม่เคยช่วยเมียจ่ายตลาด ไม่เคยช่วยพ่อล้างรถ ความดีงามของการเป็นทหารเกณฑ์จะทำให้ได้ฝึกความละเอียดรอบคอบกับนายทหารระดับสูง หรือถ้ายังไม่มีเมียก็จะได้ลองสัมผัสความต้องการของแม่บ้านจากการได้รับใช้ภรรยาท่านนายพลไปพลางๆ
นี่ยังไม่รวมการตัดหญ้าหน้ากองร้อย ยืนเฝ้ายามหน้ากรม ทำตามคำสั่งบรรดานายทหารแบบไม่ต้องตั้งคำถาม สุดยอดแทคติกเหล่านี้จะทำให้เราเข้าถึงความรอบคอบขั้นสูงสุด
ถ้าอยู่ในสนามรบรายละเอียดเล็กน้อยประเภทหญ้าตรงหน้าคือชนิดไหน ยืนเฝ้าอย่างไรให้ถูกต้องจะไม่มีพลาดแน่นอน เห็นไหมว่าประสบการณ์สุดเอกซ์คลูซีฟขนาดนี้ พวกไม่ได้เกณฑ์ทหารไม่มีวันได้สัมผัสแน่ บอกเลย
และแม้ภัยความมั่นคงของโลกจะเปลี่ยนไปตั้งแต่ยุคสงครามเย็น จนไม่มีสงครามขนาดใหญ่ที่ต้องเน้นกำลังพลมากมายมาหลาย 10 ปีแล้ว แต่ทหารเกณฑ์ชาวไทยก็โนสน โนแคร์ เพราะสงครามการก่อการร้าย สงครามขนาดเล็ก วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาโรคระบาด เราพร้อมลุยแน่ๆ ฝึกกับบ้านนายทหารจนรอดมาได้ สงครามที่ไหนก็ไม่กลัว!
กินคลีนขั้นสุด ฮิปสเตอร์ก็ทำไม่ได้ สายชีวจิตก็ทำไม่ได้ พระเหรออย่าหวังเลย!
ถึงงบประมาณกลาโหมจะเพิ่มขึ้นทุกปีๆ นับจากปี 2549 ถึงปี 2559 งบประมาณเพิ่มขึ้นแทบ 100% แต่นายทหารก็ช่างห่วงใยสุขภาพของเหล่าทหารเกณฑ์ (เอาเงินไปซื้อรถถัง เรือดำน้ำ เครื่องบินรบแทน) เพราะฉะนั้นจงบอกลาคาร์บ บอกลาไขมัน โอกาสทองของมนุษย์ที่วันๆ ไม่เคยได้กินอาหารคลีนๆ กับเขามาถึงแล้ว
นอกจากจะได้ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้ออย่างหน่วงหนัก ทันทีที่เข้าฝึกอาหารประเภทแกงมีแต่มะเขือ ผัดบวบเป็นบวบ ต้มจับฉ่ายปราศจากเนื้อสัตว์ โบกมือทักทายอยู่ สายกินคลีนทุกประเภทต้องร้องไห้โบกมือยอมแพ้ ก็แหม เป็นทหารมันต้องอดทนนี่เนอะ อย่าบ่นสิแก เดี๋ยวโดนหาว่าไม่รักชาติหรอก ไม่เอาๆ
‘สิทธิมนุษยชน’ อะไรไร้สาระ รบกันมันกว่า
รูปแบบสงครามทั่วโลกเปลี่ยนไป (สงครามขนาดใหญ่เหลือแค่ในหนังแล้วนะแก) ภัยก่อการร้ายกำลังเปลี่ยนรูปแบบเป็นองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actors) ทำให้มีความก้าวหน้ามากกว่ากองทัพเปลี่ยนแปลงวิธีในการบริหาร มีการบริหารจัดการองค์กรในรูปแบบของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การมี CEO ของตัวเอง มีฝ่ายกำลังพล โดยให้การศึกษาอย่างดี รวมถึงดูแลครอบครัวของผู้ยอมสละชีวิตเพื่อปฏิบัติการพลีชีพ
ตัดภาพมาที่ทหารเกณฑ์ชาวไทย ไฉไลกว่านั้นเยอะ รูปแบบสงครามจะเปลี่ยนไปก็ช่าง ผู้ก่อการร้ายจะโมเดิร์นกว่าก็ไม่สน เราเป็นแนวอนุรักษ์จารีตประเพณี สิทธิมนุษยชนอะไรตัดออกไปก่อน เพราะฉะนั้นภาพพลทหารโดนซ้อมบ้าง โดนจับแก้ผ้าทำท่าทางเหมือนร่วมเพศบ้าง ไปรับใช้นายทหารแล้วโดนล่ามโซ่บ้าง ก็ขำๆ อ่ะเนอะ ในสงครามจริงยิ่งกว่านี้อีกนี่นา
สละชีพเพื่อชาติ ฝึกแล้วตายผิดธรรมชาติก็จงอดทน
นี่คงเป็นการฝึกสกิลความอดทนที่สูงส่งที่สุดในชีวิตของทั้งพลทหารไปจนกระทั่งบรรดาญาติ และครอบครัว ว่ากันว่าการออกรบคือการสละชีพเพื่อชาติ การฝึกทหารแล้วเสียชีวิตก็คงไม่พ้นคำว่า ‘เพื่อชาติ’ เช่นกัน
กี่ศพของพลทหารที่สูญเสียไป นอกจากเพื่อชาติแล้ว ญาติๆ ยังต้องก้มหน้ายอมรับ ทั้งกรณีพลทหาร วุฒิปริญญาโท นายวิเชียร เผือกสม ที่เสียชีวิตโดยพบสภาพร่างกายเขียวม่วงไปทั้งตัว มีแผลฟกช้ำ มีรอยไหม้ ตัวบวม จากการชันสูตรพลิกศพ แพทย์ลงความเห็นว่า ถูกกระแทกด้วยของแข็งจน ฟันหัก ซี่โครงเดาะ ร่างกายมีบาดแผลฟกช้ำ เหมือนถูกกดทับ เหมือนถูกทุบตีด้วยของแข็ง จนทำให้มีอาการไตวายเฉียบพลัน ตั้งแต่ปี 2554 ญาติอดทนรอ รวมถึงดำเนินการทางกฎหมาย ยื่นเรื่องไปทั้งกระทรวงกลาโหม และกองทัพบก
เวลาผ่านมา 5 ปี มีเพียงการดำเนินคดีทางแพ่ง ส่วนทางอาญายังเงียบหาย บทลงโทษต่อทหารทั้ง 10 นายที่ลงมือทำร้าย เป็นเพียงการพักราชการเท่านั้น
พลทหารสมชาย สีเอื้องดอย เสียชีวิตระหว่างประจำการที่ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนมกราคมปี 2557 เวลาผ่านไป 2 ปี มีเพียงการดำเนินคดีทางแพ่ง และศาลยกฟ้อง
และอีกสารพัดการสละชีพเพื่อชาติ ที่แม้ตายผิดธรรมชาติก็ห้ามบ่น นี่สินะการฝึกความอดทนขั้นสูงของประชาชนผู้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร…
โอเค พลทหารไทยก็ดีนะ แต่ลองดูความดีงาม (ที่ไม่เท่าไทย) ของพลทหารที่อื่นดูบ้าง
เห็นความดีงามของทหารเกณฑ์ชาติไทยมาระดับหนึ่งแล้ว อยากรู้ไหมทหารเกณฑ์ที่อื่นๆ เขาเป็นยังไงบ้าง?
บนโลกกลม ๆ ใบนี้มีประเทศที่นานาชาติให้การยอมรับ 196 ประเทศ ในจำนวนนี้มี 42 ประเทศที่ประชากรไม่ต้องเกณฑ์ทหาร เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ สเปน อินเดีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศที่ประชากรมีมวลความสุขล้นจนคนไทยจำนวนมากอิจฉาอย่าง ภูฏาน
อ่ะ เดี๋ยวๆ แม้หลายประเทศจะไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่ทำไมยังมีทหารมาประจำการล่ะ? ถึงเลเวลการฝึกจะไม่พีคเท่าที่ไทย แต่พลทหารของเขาใช้วิธีการรับสมัครตามความเต็มใจ
พาบินข้ามโลกไปดูตัวอย่างพลทหารของสหรัฐอเมริกา ที่นั่น ไม่มีการเกณฑ์ทหาร ไม่ต้องจับใบดำใบแดงให้ลุ้นจนหัวใจวาย หรือผูกคอตายทันทีที่รู้ว่าต้องไปเกณฑ์ทหารอย่างที่มีข่าวในไทยอีกต่อไป
แต่ก็มีคนวัยหนุ่มสาว (ใช่ ผู้หญิงก็เข้าร่วมกองทัพได้) ที่เต็มใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแบบเริงร่าจำนวนมาก ยอดทหารประจำการสูงถึง 1,429,995 นาย ซึ่งเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรแล้วยอดทหารประจำการที่เข้าไปด้วยความเต็มใจมีมากกว่าการบังคับจับใบดำใบแดงเสียอีก
การเป็นพลทหารที่สหรัฐอเมริกามีอะไรดีเหรอ?
กองทัพสหรัฐอเมริกามีระบบสวัสดิการและทุนการศึกษาที่รองรับคุณภาพชีวิต รวมถึงอนาคตที่ดีให้แก่พลทหาร โดยพลทหารที่เข้าไปจะได้เรียนในวิทยาลัยทหารกองหนุน แถมมีโอกาสได้ทุนการศึกษา เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของพลเรือน
อ่ะ เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าเราสมัครเข้าไปเป็นพลทหาร ขั้นแรกเราจะได้เรียนในวิทยาลัยทหารแบบฟรีๆ เท่านั้นไม่พอ เรียนๆ อยู่เราอาจได้ทุนการศึกษาให้เรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกสารพัดสารพันมหาวิทยาลัยอีกด้วย ดีใช่ไหมล่ะ
หลังจากเรียนจบ พลทหารสหรัฐอเมริกาต้องใช้ทุนอีก 8 ปี พอใช้ทุนเสร็จก็สามารถลาออกไปทำงานเอกชนตามปกติ และหากอยากกลับมาเป็นทหารก็สามารถสมัครเข้ากองทัพใหม่ได้ หรือหากพอใจจะเป็นทหารตั้งแต่แรกก็สามารถอยู่ในกองทัพต่อไป ภายในกองทัพเต็มไปด้วยสวัสดิการ ทั้งการรักษาพยาบาล ทั้งสวัสดิการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อบ้าน สวัสดิการบำนาญ โอ๊ย ดี๊ดีอ่ะ ดีขนาดนี้ (แต่ไม่ดีเท่าไทยนะ) คนถึงแห่สมัครกันเพียบเลยไง
“ทหารเกณฑ์มีไว้ทำไม?” ไม่ดราม่าแต่มาว่ากันด้วยข้อมูลหน่อยไหม
- มีทหารเกณฑ์ไว้ฝึกรบกันในสงครามไง : ข้อเท็จจริงกำลังชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่สงครามเย็นเป็นต้นมา สงครามไม่ได้วัดกันที่กำลังพลอย่างในหนังอีกต่อไป แต่รูปแบบสงครามทั่วโลกกำลังเปลี่ยนเป็นสงครามขนาดเล็ก สู้รบกันด้วยยุทธศาสตร์ เทคโนโลยี หรือแม้แต่สงครามข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การฝึกทหารที่เน้นแต่การใช้กำลัง ละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ทำตามคำสั่งโดยไม่ตั้งคำถามและปราศจากการคิดการใช้ปัญญาจะยังสามารถต่อกรกับสงครามแบบใหม่ได้อยู่หรือเปล่านะ…
- มีทหารเกณฑ์ไว้สู้กับภัยก่อการร้ายไง : นับตั้งแต่เหตุเครื่องบินชนตึกเวิล์ดเทรดที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 15 ปีก่อน กลุ่มผู้ก่อการร้ายมีวิธีบริหารจัดการกองกำลังที่เปลี่ยนไป เต็มไปด้วยรูปแบบบริหารแบบ CEO มีสวัสดิการสำหรับผู้เข้าร่วมและตอบแทนครอบครัวพวกเขาอย่างเต็มที่ ก็น่าคิดอีกว่าแม้แต่ผู้ก่อการร้ายยังปรับตัวให้ทันโลก ถ้ากองทัพไม่ปรับตัวให้ทันโลกเราจะรับมือกับภัยการก่อการร้ายอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?
- มีทหารเกณฑ์ไว้จะได้ให้ผู้ชายฝึกกันอย่างเท่าเทียมไง : รู้หรือไม่ว่าระบบการเกณฑ์ทหารเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูงให้ไม่ต้องเป็นทหารหรือเป็นในระยะเวลาสั้นกว่า ทั้งสิทธิลดวันรับราชการทหารจากวุฒิการศึกษา ทั้งการเรียนรด. ระบบทหารเกณฑ์จึงเป็นการกวาดต้อนลูกหลานชนชั้นล่าง ผู้ที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือไม่มีโอกาสเรียน รด. มากกว่าที่จะเป็นการเกณฑ์ทหารอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม
- มีทหารเกณฑ์ไว้เพื่อความมั่นคงของประเทศไง : ภัยความมั่นคงไม่ได้มีแค่การสู้รบแย่งชิงดินแดนกันอีกต่อไป แต่มาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งภัยจากโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของชาติจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกำลังพลเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมาก
- ทหารเกณฑ์กับเรื่องราวทางเศรษฐกิจของชาติ : ว่าด้วยความมั่นคงของชาติมาแบบจัดเต็ม แล้วความมั่นคงทางเศรษฐกิจล่ะไม่สำคัญหรอ? ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปีที่ผ่านมาจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 กำลังพลทหารกว่า 2 แสนราย ในแต่ละปีที่ต้องหายเข้ากรมกองไป หมายถึงการสูญเสียกำลังการผลิตทางเศรษฐกิจไปจำนวนมาก ทำให้ส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจอย่างน่าตกใจ
ระบบทหารเกณฑ์ไทยก็ดี๊ดีอยู่แล้ว แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าเราทุกคนร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามและเสนอแนวทางในการพัฒนาให้ดีงามยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
ยิ่งวันที่ภัยความมั่นคงของโลกเดินทางมาถึงจุดที่ต้องอาศัยสติปัญญาด้วยแล้ว จะดีกว่าไหมถ้าพลทหารจะเปิดรับจากความสมัครใจ และมุ่งพัฒนาการคิด ตั้งคำถาม รวมถึงการให้ค่ากับความเป็นมนุษย์ของทั้งผู้ฝึกและผู้ถูกฝึก มากกว่าการมุ่งแต่หากำลังพลที่เน้นเพียงปริมาณและใช้เพียงกำลังในการฝึก คงต้องดราม่ากันให้มากว่าตกลงเราต้องการปริมาณหรือคุณภาพในการปกป้องประเทศกันแน่?
อ้างอิงข้อมูลจาก
ปนินาท ธวัชโชคทวี และ อรรคเดช ประทีปอุษานนท์ . ความท้าทายของการบริหารจัดการภาคส่วนความ มั่นคงในไทย = Challenges of security sector reform in Thailand. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, 2554.
สุรชาติ บำรุงสุข. นวัตกรรมทหาร : กองทัพในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ : อนิเมทกรุ๊ป, 2546.
________. “สงคราม: จากยุคบุพกาลสู่ศตวรรษที่ 21”. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,
2541.
prachatai.com
news.voicetv.co.th
เทียบความเหลื่อมล้ำ’ทหารเกณฑ์-รด.’ เผชิญอคติ ฝึกหนัก ยศต่ำ ออกรบก่อน