‘อยากไปเที่ยว…’ เป็นความคิดที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ เฝ้าคิดถึงอยู่ทุกวัน ว่างๆ เราก็นั่งดูบันทึกท่องเที่ยว ส่องตั๋วเครื่องบินราคาถูก วาดฝันตั้งแผนการว่าปีนี้ ปีหน้าเราจะได้เดินทางท่องเที่ยวไปที่ไหนบ้างดี ใช้เงินเท่าไหร่
การได้ฝันถึงการไปเที่ยวก็เป็นเรื่องที่ดีเนอะ ดูเป็นกิจกรรมที่เราลงทุนลงแรงเพื่อไปสนุกสนาน ไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ในขณะเดียวกันการลงทุนทั้งเวลาและเงินเพื่อไปในที่ที่เราไม่คุ้ยเคยก็มีความเสี่ยงให้เรากังวลเหมือนกัน เวลาที่เราจะเดินทางจริงๆ มันก็เลยมีหวาดๆ บ้าง การไปเป็นแขก เป็น ‘ผู้มาเยือน’ เราจะต้องระวังอะไรบ้าง ทำตัวยังไงดี จะลงไปแถวๆ บ่อที่หน้าตาธรรมดาๆ ได้มั้ยนะ ถ้าโดนถ่ายคลิปจะพูดอะไรกับกล้องดี
‘การเดินทางท่องเที่ยว’ จึงเป็นกิจกรรมการหาประสบการณ์ชีวิตที่มี ‘ความเสี่ยง’ การออกไปเที่ยวบางครั้งความสนุกอยู่ที่การได้เผชิญกับความยากลำบากที่แอบแฝงอยู่ ในมิติทางประวัติศาสตร์และความคิด การออกไปท่องเที่ยวในฐานะการใช้เวลาว่างและการพักผ่อนเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับโลกสมัยใหม่
การเดินทางที่แสนยาวไกล
ก่อนที่เราจะเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ก่อนที่เราจะมีวิทยาการอย่างรถไฟเครื่องบิน ก่อนที่เราจะมีระบบการทำงาน จะมีชนชั้นกลางที่พอจะมีเงินและมีเวลาว่างไม่รู้จะเอาไปทำอะไร การเดินทางสมัยก่อนไม่ใช่กิจกรรมที่น่าพิสมัยเท่าไหร่ การเดินทางไม่ใช่เรื่องสนุกสนานรื่นรมย์ที่แบบ ว่างแล้วเดินทางกันเถอะ แต่มักจะเกิดจากความจำเป็น จากการทำงาน นัยของการเดินทางจึงมักเกี่ยวข้องกับความเศร้า การพลัดพราก ความลำบากและความเสี่ยงสารพัดที่ต้องไปเจอ
คำว่า Travel เองก็มีข้อสันนิษฐานที่บอกว่ารากศัพท์เกี่ยวข้องกับการทำงาน ความยากลำบากมากกว่าที่จะสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวเชิงสันทนาการ เช่น คาดว่าคำว่า travel อาจจะมาจากคำว่า tavail ภาษาฝรั่งเศสโบราณแปลว่าการทำงาน ในภาษาอังกฤษยุคกลางเอง คำว่า travelen ที่นอกจากจะแปลว่าการเดินทางแล้วยังหมายถึงการทรมาน การลงแรงด้วย
การเดินทางในสมัยก่อนมักไม่ใช่เรื่องเล่นๆ คนโบราณเดินทางด้วยเหตุจำเป็น เช่น เดินทางจากบ้านจากเมืองไปสนามรบ หรือเป็นการเดินทางเพื่อไปจาริกแสวงบุญ อย่างหลังถือเป็นการเดินทางโดยความสมัครใจที่แน่ล่ะ การไปจาริกแสวงบุญคือการฝ่าความยากลำบากและฝึกตนเพื่อไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บ้านเราเองก็มีงานวรรณกรรมประเภทนิราศที่เป็นเหมือนบันทึกการเดินทาง ซึ่งองค์ประกอบหลักๆ ของงานแนวนิราศก็คือการคร่ำครวญถึงคนรัก ถึงบ้านเกิดเมืองนอน
การเดินทางในโลกสมัยใหม่ กับการเรียนรู้ผ่านความลุ่มๆ ดอนๆ
พอโลกก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ การเดินทางสะดวกขึ้น โลกเชื่อมต่อกันมากขึ้น การไปยังอีกดินแดนไม่ใช่เรื่องยากเย็นและซับซ้อนอะไรขนาดนั้นอีกแล้ว แถมมีรูปแบบการทำงานแบบใหม่ การเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง เราเริ่มมีงาน มีเวลาว่าง เราจึงเริ่มเดินทางเพื่อออกจากชีวิตประจำวันและไปแสวงหาอะไรใหม่ๆ ใส่ตัว
ลึกๆ แล้วเหตุผลของการเดินทางท่องเที่ยวในยุคใหม่ก็ยังมีนัยแบบการเดินทางในยุคก่อนอยู่ คือการไปเผชิญหน้ากับความลำบาก เราเดินทางเพื่อทิ้งอะไรที่คุ้นเคย ไปโง่งมกับดินแดนแปลกประหลาด นักปรัชญาทั้งหลายก็ขบคิดว่าเราเดินทางกันไปทำไม
George Santayana นักปรัชญาจากฮาร์วาร์ดพูดไว้ใน ‘The Philosophy of Travel’ บอกว่า พวกเรานานๆ ทีก็ต้องหนีจากโลกประจำวันไปสู่ความสงบ เราต้องการวันหยุดที่บางทีคือการไปสู่ความเสี่ยงบางอย่างเพื่อลับคมชีวิต เพื่อลิ้มรสความยากลำบากบ้าง นานๆ ที
การเดินทางท่องเที่ยวเลยมีแง่มุมคล้ายการลิ้มรสรสชาติชีวิต การเอาตัวเองไปสู่เหตุการณ์ไม่คุ้นเคย ไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ไปเป็นแขก เป็นผู้มาเยือน การไปสู่อะไรใหม่ๆ จึงดูเป็นแกนสำคัญของการลงทุนเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ดังนั้นการได้ไปเรียนรู้เงื่อนไขใหม่ๆ ธรรมเนียม กฏเกณฑ์บางอย่างใหม่ๆ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการ ‘ลับคม’ ชีวิต
ถ้าเราเดินทางไปที่ใหม่ๆ แต่หอบเอานิสัยเดิมๆ มุมมองเดิมๆ ไป สุดท้ายแล้ว เราอาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการเดินทางที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงไป แถมยังเอาตัวเองไปสู่อันตรายเกินจำเป็นไปอีก