ถ่ายรูปทีไร หัวใจก็ตุ้มๆ ต่อมๆ ไหนขอเช็คก่อน หน้าเราเหวอรึเปล่า ผมเป๊ะมั้ย โอ๊ยม้าแตก จะทำยังไงดี ถ่ายมาร้อยรูปยังไม่มีสักรูปเลยที่รู้สึกชอบ แต่แต่งตัวออกมาเที่ยวขนาดนี้มันต้องได้รูปกลับไปบ้างสิ เครียดจัง
ทุกวันนี้งานอดิเรกของใครหลายคนก็เป็นการออกไปเที่ยวแล้วถ่ายรูปเก็บไว้เป็นความทรงจำกัน ชนิดที่ว่าออกจากบ้านหนึ่งทีต้องมีรูปกลับมาลงได้สองเดือน แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ หัวใจขอสารภาพ ก็คือต้องใช้ตัวช่วยเป็นแอปพลิเคชั่นแต่งรูปที่ทำให้เราดูเป๊ะปังในทุกมุมมอง หรือสำหรับบางคนอาจเป็นฟิลเตอร์ที่ช่วยทำให้ผิวสวยหน้าใสขึ้นมาในทันที จนตอนนี้เห็นตัวเองในกล้องสดไม่ได้แล้ว ตกใจ ใครกันเนี่ย
กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี
การที่เราไม่ชอบรูปที่ถูกคนอื่นถ่ายนั้นมีเหตุผลเบื้องหลังเป็น ‘กระจก’ เพราะเราเห็นตัวเองในกระจกอยู่บ่อยๆ เราคุ้นเคยกับตัวเองในกระจกที่เป็นเงาสะท้อนกลับด้าน แต่ในรูปที่ถูกถ่ายนั้นเราไม่ได้กลับด้าน ก็เลยรู้สึกว่า ‘นี่ไม่ใช่เรา’ และทำให้ไม่ชอบรูปนั้นไปเลยด้วยความไม่คุ้นเคย
เมื่อเรามองอะไรบ่อยๆ จนคุ้นเคยกับสิ่งนั้น จะทำให้สมองเกิดการกระตุ้นความชอบหรือหลงใหลขึ้นมา แต่เราก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการมองรูปตัวเองที่ถูกถ่ายโดยคนอื่นให้บ่อยขึ้น อาจจะใช้รูปตัวเองเป็นรูปหน้าจอมือถือ จะได้คุ้นชินมากขึ้น และยังมีงานวิจัยสนับสนุนว่า การมองรูปเป็นเวลาสั้นๆ จะได้ผลดีกว่าการมองเป็นเวลานานๆ หรือเราอาจจะใช้วิธีเซลฟี่ตัวเองแบบตั้งค่าให้เป็นภาพกลับด้านก็ได้เหมือนกัน
ไม่ได้อยากหน้าเหมือนใครเลย แค่หน้าเหมือนตอนใส่ฟิลเตอร์ก็ดีใจแล้ว
ถึงเราจะมีแนวโน้มจะไม่ค่อยชอบรูปที่ถูกถ่ายโดยคนอื่น แต่เรากลับชอบรูปเซลฟี่ และรูปที่ผ่านการใส่ฟิลเตอร์หรือแต่งรูป มีงานศึกษาขนาดเล็ก ที่ชี้ให้เห็นว่า 90% ของผู้หญิงและนอนไบนารี อายุระหว่าง 18-30 ปี จำนวน 175 คน มีการใช้ฟิลเตอร์หรือแต่งรูปตัวเองให้ดูดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขสีผิว ปรับรูปทรงจมูกและกราม ทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น และพวกเขายังมีความเห็นตรงกันว่ารูปภาพของคนดังบนโซเชียลมีเดียทำให้รู้สึกยากที่จะยอมรับรูปลักษณ์ของตัวเอง
Jessica January Behr นักจิตวิทยาได้ให้คำแนะนำว่า ในเวลาที่เราเปรียบเทียบรูปตัวเองกับรูปของคนอื่นที่ผ่านการแต่งรูปมาแล้ว ทำให้เราอาจด้อยค่าตัวเองได้ และการด้อยค่าตัวเองที่สะสมมาเป็นเวลานาน สามารถนำไปสู่การวิพากษ์ตัวเองในเชิงลบ การเกลียดรูปลักษณ์ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งการทำร้ายตัวเองด้วยในด้านอารมณ์
เธอยังแนะนำอีกว่า การใช้เวลาอยู่ในแอปพลิเคชั่นที่มีฟิลเตอร์ตกแต่งหน้าตาของเราให้สวยขึ้นได้นั้นอาจจะสนุกและดูไม่ได้มีพิษมีภัย แต่สมองของเราจะซึมซับรูปร่างหน้าตาของผู้คน (ที่ผ่านการตกแต่งมาแล้ว) บนแอปพลิเคชั่นและสร้างมาตรฐานหน้าตาที่ไม่สมจริงขึ้นมาในใจของเราเอง และร้ายไปกว่านั้นคือ เราจะคาดหวังให้ตัวเองมีหน้าตาตามมาตรฐานนั้น
แต่ก็มีความคิดเห็นจาก Saba Harouni Lurie นักบำบัดอีกคนที่เห็นต่างออกไปว่า ผลของการใช้ฟิลเตอร์หรือแต่งรูปนั้นอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เมื่อเราเห็นรูปแท้จริงของตัวเองที่มีจุดที่ไม่พอใจน้อยลง เมื่อเราไม่ได้เห็นริ้วรอยเหี่ยวย่น รอยแผลเป็น หรือจุดด่างดำ ที่เราลบทิ้งไปในตอนที่แต่งรูป เราก็จะมองข้ามพวกมันไปได้ง่ายขึ้นในเวลาที่เราส่องกระจก
โอบกอดตัวตนของเราด้วยความรัก
ถ้ากังวลว่าในรูปที่คนอื่นถ่ายให้เราจะไม่ได้ดูดี หรือทำท่าอะไรผิดแปลก ไม่เป็นไร มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าคนอื่นไม่ได้ตัดสินเราจากรูปหรอก เราต่างหากที่เป็นคนตัดสินตัวเอง และยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อคนอื่นก็เคยอยู่ในสถานการณ์แบบเรา การตัดสินจะยิ่งไม่เกิดขึ้น
หรือถ้ากังวลว่าใครจะเห็นว่ามุมปากสองข้างของเรายกไม่เท่ากัน เรามีกระบนจมูก วันนี้ขอบตาดำ หรืออะไรก็ตาม ให้ยกความกังวลออกจากใจไปได้เลย เพราะมีแค่เรารู้ความจริงพวกนี้อยู่คนเดียว เราเป็นคนเห็นตัวเองผ่านกระจกอยู่ทุกวัน ยิ่งส่องกระจกก็จะยิ่งเห็นว่าชั้นตาสองข้างของเราไม่เท่ากัน เรามีรอยด่างบนหน้าผาก แต่ในความเป็นจริง คนทั่วไปไม่ได้สังเกตเราละเอียดขนาดนั้น
สุดท้ายคือการปรับมุมมอง เราอาจจะชอบเซลฟี่ที่สุด ยิ่งใส่ฟิลเตอร์สวยๆ ยิ่งแล้วใหญ่ แต่ที่จริงแล้วเวลาผู้คนมองดูรูป พวกเขาจะชอบรูปที่ถูกถ่ายโดยคนอื่นมากกว่ารูปเซลฟี่ ดังนั้นให้เซลฟี่เป็นเครื่องมือในการเพิ่มความมั่นใจในยามที่เรารู้สึกแย่จะดีกว่า เปิดใจกับรูปที่คนอื่นถ่ายให้ให้มากขึ้น แล้วสักวันหนึ่งเราจะโอบกอดรูปเหล่านั้นด้วยความรักที่มีต่อตัวเองได้อย่างแท้จริง
การถ่ายรูปเป็นการเก็บความทรงจำ ถึงตอนนี้เราอาจจะไม่ได้ชอบรูปนี้สักเท่าไหร่ แต่รูปที่ถ่ายไว้จะมีคุณค่าเมื่อเวลาผ่านเลยไปอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan