วันศุกร์ สิ้นเดือน เงินเดือนออกมาสองสามวัน สุขภาพทางการเงินของพวกท่านเป็นยังไงกันบ้าง วันนี้เราอาจจะกำลังเตรียมพังแผนการทางการเงิน ด้วยการไปจ่ายค่าบุฟเฟต์ ค่ากระเป๋า ไปจนถึงการดื่มเหล้าที่เกินจำเป็นกันตั้งแต่ต้นเดือนกันเล้ย
เรื่องการจัดการการเงินนี่เป็นเรื่องลึกลับ และดูจะเกี่ยวข้องกับจริยธรรมอยู่มากพอสมควร การหาเงิน การใช้เงิน เป็นสิ่งที่เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ผ่านวิธีคิดแบบทุนนิยม เราเรียนเรื่องการเก็บออมจากเจ้ามดและจิ้งหรีด ไปจนถึงวิชาทางการเงินที่ทำให้อินโฟกราฟิกรูปแก้วกาแฟกับรถ หรืออิสรภาพทางการเงินในตอนปั้นปลายกลายเป็นสิ่งที่เราทุกคนพยายามเข้าใจและปฏิบัติตาม
แต่ครับแต่ เรื่องกิจกรรมทางการเงิน ยิ่งถ้าเรามองว่าเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์กับจริยธรรมต่างๆ เช่นความขยันหมั่นเพียร ความอดกลั้นอดออม ไอ้เจ้ากิจกรรมการใช้และหาเงินของเราเนี่ย ก็ดูจะเป็นสิ่งที่เราทั้งทำผิดพลาดกันน่าจะบ่อยและง่ายที่สุดอย่างหนึ่งแล้วมั้ง ซึ่งนอกจากเรามักจะผิดพลาดกันทางเงินกันจนเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ไอ้เรื่องการใช้เงินก็เลยดูจะเป็นสิ่งที่เราชอบไปยุ่ง ไปตัดสินการใช้เงินของคนอื่นด้วยซะอย่างนั้น
ความผิดพลาดเรื่องการเงินในฐานะความผิดพลาดของปุถุชน ประกอบกับการที่อยู่ในโลกแห่งความเสี่ยง ต้องดำรงตนอยู่ในโลกที่ทุกคนแสวงหาความมั่นคงทางการเงินอย่างยากลำบาก ในทางหนึ่งไอ่ความไม่มั่นคงนี้เองก็เลยส่งผลให้เกิดการตัดสินการใช้เงินของคนอื่นด้วย พูดอย่างเจาะจงคือ ถ้าเรามีความมั่นคงทางการเงินแล้วนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจการใช้เงินของคนอื่น อันนำไปสู่ความจำเป็นที่จะไปตัดสินการใช้เงินไปจนถึงความผิดพลาดของใครเพื่อกลับมาให้ความรู้สึกมั่นคงกับตัวเองในท้ายที่สุด
เราล้วนทำพลาดกับการใช้เงิน
‘to err is human’ แน่นอนครับ เรามันก็แค่มนุษย์ ความผิดพลาดมันเป็นเรื่องของพวกเรา และแน่นอนว่า 7 วันในการใช้ชีวิตของเราๆ นั้นก็คือการโลดแล่นดิ้นรนอยู่ในโลกทุนนิยม ทำตัวเป็นฟันเฟือง และไล่ตามความฝันของระบบ ทำมาหากิน หาเงิน และพยายามใช้เงินให้ได้อย่างชาญฉลาด รวมถึงรักษาความสุขสวัสดิ์ไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง
ถ้าเรามองว่าทุนนิยมคือเกม กระบวนการเล่นเกมหนึ่งในโลกทุนนิยมนี้คือการสะสมทุน คือการเติบโตไปเรื่อยๆ มีเงินมากพอที่จะใช้พอให้ตัวเองมีสุขไปตามอัตภาพ ซึ่งแน่นอนว่าในการเล่นเกมสะสมทุนนี้ โลกทุนนิยมเองก็มีหลุมพรางไว้ล่อลวงเรามากมายผ่านการบริโภค ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ด้วยพลังของโลกบริโภคนิยมละมั้งที่ในที่สุดแล้ว เราทุกคนต้องบริโภคอะไรบางอย่างเสมอ และด้วยความที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตนักให้เหตุผล เราทุกคนต่างก็มีเหตุผลในการบริโภค มีการจัดลำดับความสำคัญในชีวิต มีการสร้างความสมเหตุสมผล (rationalize) ให้กับการใช้เงินของตัวเองเสมอ
บางครั้งความไร้เหตุผลในการซื้อของนั่นแหละคือเหตุผลหนึ่ง และแกนของเหตุผลนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ เป็นสิ่งที่เราทุกคนมีระนาบ มีตรรกะเงื่อนไขของตัวเอง ถ้าเรามองด้วยกรอบเช่น habitus ของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นั้น บูร์ดิเยอจะบอกว่าในที่สุดคนที่มีทุนต่างกัน จะมองโลกและมีการปฏิบัติต่างๆ รสนิยมและการใช้เงิน ต่างกันจนเป็นเรื่องยากที่คนในระดับชั้นอื่นนั้นจะสามารถเข้าใจแรงจูงใจนั้นได้ อะไรคือแรงจูงใจในการซื้อกระเป๋าใบละแสนของคุณผู้หญิง หรืออะไรคือความหมายของการซื้อรองเท้าผ้าใบคู่ละหลายหมื่นของสนีกเกอร์เฮด ไปจนถีงการซื้อของเล่น โมเดลที่ต้องต่อคิวแย่งซื้อสั่งจองของที่ดูไร้สาระนั้นที่หลายชิ้นราคาแตะแสนเช่นเดียวกัน
นักคิดเช่น มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) บอกว่าทุนนิยมเป็นเรื่องของจริยธรรม ในขณะที่นักคิดรุ่นหลังมองว่ามันคือเกม การใช้เงินนั้นก็ดูจะเป็นทั้งการเล่นเกมการสะสมทุนและการใช้เงินในรูปแบบของตัวเอง และในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นความสุขลึกๆ ที่เราได้ละเมิดจริยธรรม เช่นวินัยทางการเงินที่โลกบอกว่าคุณต้องประหยัด และต้องทำตามแผนนะ ไปจนถึงว่าจริงๆ แล้วโลกทุนนิยมนั้นเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่จะขัดขวางวินัยและอิสรภาพทางการเงินที่เป็นเหมือนภาพลวงตาในทะเลทราย ตั้งแต่ของเซล ความคุ้ม ความของมันต้องมี ไปจนถึงอุบัติเหตุในชีวิตแห่งความเสี่ยงอีกสารพัด
ตัดสิน เพราะไม่มั่นคง
ดังนั้นด้วยความที่ว่าเราทุกคนต่างก็อยู่ในโลกของความเสี่ยงทางการเงิน และเราทุกคนนั้นลึกๆ ก็รู้และกลัวว่าวันหนึ่งเราอาจจะป่วย โดนรถชน ตกงาน โลกแตก COVID-19 กินแล้วทำให้ภาพฝันความมั่งคั่งที่ระบบทุนนิยมมอบไว้ให้พังทลายลงได้ง่ายๆ เหมือนสารพัดนิทานฟ้ามีตาและเรื่องเล่าชีวิตรันทดสู้ชีวิตเล่าให้เราฟังทุกวัน
นักจิตวิทยาบอกว่าการตัดสินและการตำหนิคนอื่นนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึกไม่มั่นคงนี้แหละ เราชี้นิ้วว่า แกทำไมใช้เงินไม่ได้เรื่องเลย อายุเท่านี้ยังไม่มีอะไร ทำไมซื้อของราคาตั้งเท่านั้น ส่วนหนึ่งคือ พร้อมกับที่เราชี้นิ้วแนะนำตัดสินคนอื่นอยู่นั้น เราก็กำลังบอกตัวเองว่า เราทำดีแล้ว เราตัดสินได้ดีกว่า เราไม่ใช้เงินไปกับอะไรแบบนั้นหรอก
และในทางกลับกัน ลึกๆ นั้นในที่สุดแล้ว เราเองก็ต่างรู้ดีว่า เราต่างเดินอยู่บนเส้นด้ายและหลุมพรางของการกินมาม่าปลายเดือน เราทุกคนมีความบ้าคลั่งของการใช้เงินเสมอ และเมื่อใช้แล้วเราทุกคนก็ต่างบอกกับตัวเองว่า เอาน่า เดี๋ยวเดือนหน้าเอาใหม่ หาใหม่ เก็บใหม่ไม่ให้พลาดอีกต่อไป
โลกทุนนิยมมันก็แบบนี้นะครับ สร้างวินัย สร้างจริยธรรมบางอย่างให้เรารักษา วางอุบายให้เราตัดสินกันเอง แถมยังขุดหลุมพรางให้เราตก วาดฝันแสนไกลถึงความสุขสบายที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราถึงจะไม่ผิดพลาด และสามารถสะสมทุนได้อย่างที่วาดฝันไว้อย่างแท้จริง
สำหรับต้นเดือนแบบนี้ สุดท้ายเรามันก็แค่มนุษย์ (เงินเดือน) คนหนึ่ง ที่ขอใช้เงินซื้อความสุข ทบไปกับการเป็นฟันเฟือง หัวเราะให้กับบิลบัตรเครดิต และก้มหน้าทำงานพร้อมเกลียดวันจันทร์กันต่อไป
เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์
อ้างอิงข้อมูลจาก