ก่อนที่ สนามหลวง จะถูกล้อมรั้ว เคยมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้างนะ?
สนามหญ้าขนาด 74 ไร่ 63 วา ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล รอบข้างมีต้นมะขามเรียงราย มีมาตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมทีคนทั่วไปรู้จักกันในนาม ‘ทุ่งพระเมรุ’ แต่ปัจจุบันมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘สนามหลวง’
ภาพจำของสนามหลวงที่แต่ละคนจดจำกันได้นั้น อาจแตกต่างกันออกไป บ้างก็จดจำได้ในฐานะพื้นที่แสดงงานพิธีการต่างๆ บ้างก็เคยไปเดินชมการแสดงปาหี่ บ้างก็นึกถึงภาพคนเล่นว่าว เตะตะกร้อ ปั่นจักรยาน หรือยามค่ำคืน หลายคนก็อาจคุ้นชินกับภาพที่คนขายบริการทางเพศยืนรอรับลูกค้าอยู่ริมทาง
แต่แล้ว แผงเหล็กก็มาปรากฏอยู่รอบขอบสนาม สนามหลวงกลับกลายเป็นสถานที่ที่ไร้ผู้คน แปลกแยกจากชีวิตของประชาชนไป
และเมื่อเร็วๆ มานี้ กระแสการทวงคืนสนามหลวงก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล นำปัญหานี้มาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง พร้อมระบุถึง ปัญหาของการนำรั้วมาปิดกั้นจนประชาชนไม่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก
“คำว่าหลวง หมายถึงเป็นของประชาชน ใช้เงินภาษีประชาชน เช่น ถนนหลวง ไฟหลวง สนามหลวงจึงเป็นสนามของประชาชน ต้องให้ประชาชนได้ใช้อย่างสะดวกไม่ปิดกั้น” วิโรจน์กล่าว
แล้วในอดีต เมื่อครั้งที่สนามหลวงยังไม่มีรั้วกั้นนั้น เคยมีกิจกรรมอะไรกันขึ้น ณ ที่แห่งนี้บ้าง? The MATTER ขอพามาย้อนดูกัน
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สนามหลวงเคยเป็นสถานที่สำหรับที่ตั้งพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง ทั้งยังเคยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ และเป็นพื้นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมาอยู่เสมอ
แล้วในปี 2425 สนามหลวงยังเป็นพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก หรือ ‘นาเชนแนล เอกซฮิบิเชน’ (National Exhibition) ที่มีคนนำสินค้าหลากหลายเข้ามาจัดแสดง
นอกจากงานจัดแสดงสินค้าแล้ว เมื่อ 70 กว่าปีก่อน สนามหลวงเคยเป็นตลาดนัดที่มีของขายอยู่หลากหลาย ทั้งอาหารสด เสื้อผ้า ต้นไม้ โดยในตลาดนัดนี้ยังมีการแสดงปาหี่ต่างๆ อีกมาก เช่น โชว์อับดุลสุดเลื่องชื่อ โชว์หมองู โชว์กุมารทอง เป็นต้น
อีกทั้ง ยังเคยเป็นตลาดนัดหนังสือแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่รวมหนังสือทุกประเภทเอาไว้ในลานกว้างแห่งนี้ มีหนังสือหลากหลายรูปแบบ ทั้งตำราเรียน หนังสือต่างประเทศ หนังสืองานศพ กระทั่ง หนังสือปกขาวที่มีเนื้อหาเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งและผิดกฎหมาย ก็ขายรวมอยู่ในที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน
สนามหลวงเคยเป็นสนามแข่งกีฬาต่างๆ เช่น การจัดแข่งม้า ในปี พ.ศ.2440 ที่นับเป็นการแข่งม้าครั้งแรกในสยาม และยังมีการจัดกีฬาอื่นๆ อีกมาก ทั้งเป็นสนามกอล์ฟ สนามแข่งรถยนต์ เป็นสถานที่ที่เคยมีการจัดแข่งตะกร้อลอดห่วงครั้งใหญ่ประจำปี รวมถึง การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ก็จัดครั้งแรกที่สนามหลวงนี่แหละ
ขณะเดียวกัน หลายคนก็คงจดจำภาพของสนามหลวงที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกก็จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงแห่งนี้ และฉลองสันติภาพ ที่จัดขึ้นหลังสงครามโลกยุติลง เมื่อสมรภูมิรบที่เคยอยู่ในประเทศก็หายไป ผู้คนก็ได้ดื่มด่ำไปกับกิจกรรมความบันเทิง แข่งกีฬา และมหรสพต่างๆ มากมาย
แต่ถ้าพูดถึงคำว่าการเมืองกับสนามหลวง ก็ต้องบอกว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการไฮด์ปาร์คในไทย ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 เป็นการพูดถึงปัญหาตำราเรียนพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และกลายเป็นว่า สนามหลวงคือพื้นที่ให้ผู้คนมาร่วมกันไฮด์ปาร์คอยู่สม่ำเสมอทุกสุดสัปดาห์
ไม่เพียงเท่านั้น สนามหลวงยังเป็นพื้นที่จัดชุมนุมประท้วงอีกนับครั้งไม่ถ้วน เช่น เป็นพื้นที่ชุมนุมในเหตุการณ์สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ หรือ 6 ตุลาฯ และเคยเป็นพื้นที่ที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหญ่ในนามพรรคไทยรักไทย เมื่อปี พ.ศ. 2548 รวมถึงเป็นพื้นที่ชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2553 อีกด้วย
ความมีชีวิตของสนามหลวงทำให้ผู้คนขนของมาค้าขายอยู่ในสถานที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก บ้างก็เปิดนวดแผนไทยให้คนได้ไปคลายเส้นกันอยู่กลางลานแจ้ง แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สนามหลวงก็เป็นสถานที่ทำมาหากินของคนขายบริการทางเพศ ซึ่งมักถูกเรียกว่า ‘ผีมะขาม’ ตามชนิดของต้นไม้ที่รายล้อมสนามหลวงอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ ในช่วงค่ำ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นสถานที่ที่เหล่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศใช้นัดพบปะสังสรรค์พับเพื่อนฝูง เข้าสังคมกับเพศสภาพเพศวิถีเดียวกัน และเป็นพื้นที่ให้คนเหล่านี้มาตอบสนองเพศสภาพเพศวิถีกันด้วย
ลานเอกประสงค์แห่งนี้นับเป็นสถานที่ที่คนมากหน้าหลายตามาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเด็กๆ ที่พากันมาเล่นว่าว ครอบครัวพากันมาปิกนิก คู่รักที่พากันมาเดท และกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก
เรียกได้ว่า ครั้งหนึ่ง สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่เปิดกว้าง มีชีวิตของประชาชนจำนวนมากปะปนอยู่ในลานกว้างกลางเมืองแห่งนี้
อ้างอิงจาก