28 กันยายน นับเป็นวันยุติการตั้งครรภ์สากล ซึ่งในตอนนี้ประเทศไทยของเราเองก็กำลังมีประเด็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีการวินิจฉัยให้ปรับปรุงแก้ไขไปเมื่อเดือนมีนาคม แต่จนถึงวันนี้ประเด็นการแก้ไขกฎหมายยังคงมีแรงต้าน รวมไปถึงวาระสำคัญที่เป็นที่พูดคุยกันคือเรื่องการกำหนดอายุครรภ์ที่จะอนุญาตให้ทำแท้งได้
โดยในร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นปรับให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ก่อน 12 สัปดาห์ แต่สำหรับทางภาคประชาชนทั้งจากเพจคุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง หรือกลุ่ม RSA Thai ที่เป็นกลุ่มบุคลาทางการแพทย์ ต้องการให้กำหนดอายุครรภ์ไว้ไม่เกิน 20-24 สัปดาห์
โดยทางเว็บไซต์ RSA Thai ได้แสดงข้อมูลของผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ว่า จากการสำรวจผ่านสายด่วน 1663 พบว่า แม้กลุ่มอายุครรภ์ที่ไม่เกิน 12 สัปดาห์นั้นจะเป็นผู้โทรมาเข้ามาขอรับบริการมากสุด แต่รองลงมาคือผู้หญิงกว่า 8,201 คนที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 13 – 24 สัปดาห์ ที่ต้องการเข้ารับบริการเช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ไม่ควรทิ้งพวกเธอไว้ลำพังกับปัญหาการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้น
The MATTER ไปคุยกับ นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ จากกลุ่มแพทย์ RSA Thai ที่เป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนให้การทำยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยกระจายไปอยู่ในหลายๆ จังหวัด และผลักดันให้ผู้หญิงทุกคนได้มีสิทธิตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ซึ่งคำยืนยันจากทางกลุ่มแพทย์นี้มองว่า อายุครรภ์ที่ไม่เกิน 24 สัปดาห์ เป็นการบาลานซ์สิทธิระหว่างแม่กับลูกที่ถูกต้องตามหลักทางการแพทย์แล้ว
เราจึงไปชวนคุณหมอคุยถึงที่มาที่ไปของกลุ่ม RSA Thai และสิ่งที่ทางกลุ่มพยายามผลักดันคือการให้ทุกคนนั้นสามารถเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง
กลุ่ม RSA Thai เริ่มต้นมาจากไหน
กลุ่ม RSA Thai เริ่มต้นมาจากกลุ่มแพทย์ที่เมื่อก่อนแพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์จะค่อนข้างมีน้อย เพราะว่าจะมีแรงต้านในสังคมค่อนข้างเยอะ จุดเริ่มต้นของแพทย์อาสาจริงๆ มันจะอยู่ทางเขต 9 แถว โคราช ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นี่แหละครับ เขามีกลุ่มที่เรียกว่า teen up care อยู่ก่อนที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน เป็นกลุ่มแพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยนี่แหละครับ ช่วงนั้นผมทำงานอยู่ที่สำนักอนามัยการเจริญพันธ์ุ กรมอนามัย ก็ได้ไปร่วมประชุมแลกเปลี่ยความคิดเห็น เลยคุยกันว่าเราน่าจะขยายโมเดลแบบนี้ไปทั้งประเทศ เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราพยายามรวมกลุ่มแพทย์ที่มีทัศนคติที่ดีในด้านนี้ ให้เป็นกลุ่มก้อน จะได้เป็นเครือข่ายมีคนช่วยเสริมการทำงานกัน
ต่อมาเราก็พบว่าแพทย์ก็ทำคนเดียวไม่ได้ ก็เลยมีการขยายไปทางพยาบาล แล้วก็สหวิชาชีพ ในปัจจุบันกลุ่ม RSA Thai ก็เลยมีทั้งแพทย์ พยาบาล แล้วก็สหวิชาชีพครับ
สถานการณ์การทำแท้งในไทยเป็นยังไงบ้าง
จริงๆ สถานการณ์การทำแท้งในบ้านเรา เราก็ไม่เคยทราบว่าแท้จริงในแต่ละปีมันเท่าไหร่ เท่าที่รู้ก็จะเป็นการรับบริการตามระบบ แล้วก็กลุ่มที่มีภาวะแทรกซ้อนแล้วก็เลยเข้ามารักษา ซึ่งกลุ่มหลังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แต่ว่าจำนวนที่แท้จริง กลุ่มที่ไปทำกับคลินิกเถื่อน กลุ่มที่ไปซื้อยาทางอินเทอร์เน็ตมาใช้เอง รัฐก็ไม่เคยมีข้อมูลที่ถูกต้อง เราก็ไม่รู้ว่าจำนวนในแต่ละปีมันเท่าไหร่กันแน่
กฎหมายมีส่วนผลักให้ผู้หญิงไปทำแท้งเถื่อนมากขึ้นด้วยใช่มั้ย
ก็มีส่วนครับ คือพอมันถูกจำกัดด้วยกฎหมายเนี่ย ก็เลยทำให้คนที่เขาจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ ก็ไม่ได้เข้ามาใช้ช่องทางที่ถูกต้องทั้งหมด มันก็จะมีส่วนหนึ่งที่เขาต้องไปใช้บริการคลินิกเถื่อนบ้าง ไปซื้อยาเองบ้าง ก็เลยทำให้เราดูแลได้เท่าที่เขามารักษากับเราเท่านั้นเอง
คนที่มารักษากับทาง RSA Thai เขารู้ได้ยังไงว่ามีบริการนี้อยู่
ตอนนี้เราพยายามประชาสัมพันธ์หลายช่องทาง หลักๆ ก็โทร 1663 ก็ได้ ส่วนนี้ 1663 เขาก็จะมีลิสต์เครือข่ายของเราอยู่ว่า คนที่โทรมาอยู่ที่ไหน เงื่อนไขเป็นยังไง สะดวกที่จะไปรับบริการที่ไหน อันนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่ง หรือไม่ก็อาจจะเป็นช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ของทั้งทางกลุ่ม RSA Thai ที่มีเว็บไซต์ด้วย แล้วก็ทาง 1663 นี้ก็มีเฟซบุ๊กของเขาที่คอยให้คำปรึกษาอยู่ อีกส่วนหนึ่งก็คือเขาสามารถไปรับบริการที่สถานบริการโดยตรงก็ได้ ถ้าเขารู้จักหรือทราบจากคนที่แนะนำไป
แปลว่าไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่รองรับการยุติการตั้งครรภ์
ไม่ใช่ทุกโรงพยายาลครับ มีแค่ไม่กี่โรงพยาบาล ในเว็บ RSA Thai ก็จะมีข้อมูลเบื้องต้นให้อยู่แล้ว ถ้าใครสนใจจะได้ข้อมูลเบื้องต้น ก็ไปดูในเว็บไซต์ แต่ถ้าจะได้เข้ามารับบริการจริงๆ ก็ต้องดูเงื่อนไขของผู้รับบริการด้วย เพราะว่าหน่วยบริการของแต่ละที่ก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันไป อาจจะต้องติดต่อพูดคุยในรายละเอียดกันอีกที
เท่ากับว่าตอนนี้ยังคงใช้เกณฑ์ตามกฎหมายแบบเก่าที่ยังไม่ได้ระบุอายครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ใช่ไหม
ใช่ครับ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะอยู่ในกระบวนการปรับแก้ไขร่าง แต่ว่ากฎหมายเก่าก็ยังไม่ได้ยกเลิก เราก็ต้องปฏิบัติตามจนกว่ากฎหมายใหม่จะบังคับใช้
กฎหมายฉบับร่างที่กำลังมีการปรับแก้กันอยู่กำหนดอายุครรภ์ในการทำแท้ง 12 สัปดาห์ คุณหมอมีความเห็นยังไง
ฉบับร่างนี้ก็คือบอกไว้ว่าถ้าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์มารับบริการยุติการตั้งครรภ์ก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งก็ถือว่าดีกว่าของเดิม เพราะของเดิมคือผิดทุกกรณี แล้วถึงมีการยกเว้นในมาตรา 305 แต่ว่าประเด็นเรื่องอายุครรภ์มันก็ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่บ้าง อย่างตอนที่เราพิจารณาร่าง พอพูดถึงอายุครรภ์มันเหมือนเป็นการบาลานซ์สิทธิของแม่กับสิทธิของลูก
ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม่ต้องมีสิทธิที่จะตัดสินใจในเนื้อตัวของตัวเอง แต่ว่าในทางปฏิบัติก็จะมีเรื่องอายุครรภ์เข้ามาเกี่ยว เพราะว่าพออายุครรภ์ถึงจุดที่รอดมาแล้วมีชีวิตแล้ว เราก็คงจะไปอนุญาตให้ยุติในทุกอายุครรภ์ไม่ได้ มันก็เลยเป็นประเด็นว่าแล้วอายุครรภ์เท่าไหร่ที่จะบาลานซ์ระหว่างสิทธิของแม่กับสิทธิของลูกตรงนี้
ตอนนั้นที่เครือข่ายอาสาของเราเสนอไป เราเสนอที่ประมาณ 20 – 24 สัปดาห์ ซึ่งสูงกว่า 12 สัปดาห์ที่คณะกฤษฎีกายกร่างมา เพราะว่าที่เราเสนอที่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากก่อน 20 สัปดาห์ ถ้าเด็กคลอดออกมาก็ไม่มีโอกาสรอดชีวิต ในความเห็นของเรา 20 สัปดาห์ควรเป็นสิทธิการตัดสินใจของแม่น่ะครับ แต่ว่าตามร่างของคณะกฤษฎีการที่เขียนไว้ว่า 12 สัปดาห์ เราก็ยังรู้สึกว่าควรให้สิทธิแม่มากกว่า 12 สัปดาห์ อันนี้ก็เป็นจุดที่กำลังรับฟังความคิดเห็นกันอยู่
ซึ่งการให้มีการกำหนดอายุครรภ์มันสำคัญมากๆ
และจะทำให้คนกล้าเข้ามาใช้บริการโดยเล่าถึงเหตุผลจริงๆ ได้
ไม่ต้องปกปิด
เพราะในปัจจุบันนี้ตามกฎหมายเดิมที่ใช้อยู่ เวลาเคสที่มารับบริการ เขาต้องตอบข้อบ่งชี้ให้ตรงตามกฎหมาย ซึ่งบางทีมันก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง ก็ไม่มีใครกล้าใช้เหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ยกตัวอย่าง ผู้หญิงท้องแล้วไม่มีเงินเลี้ยงลูก เขามาขอให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์เนี่ย เขาจะบอกเหตุผลว่าเขาไม่มีเงินไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่ยอมให้ใช้เหตุผลนี้ เราก็ต้องเลี่ยงไปว่าการตั้งครรภ์นี้อาจทำให้แม่เกิดความเครียด แล้วอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของมารดา แล้วก็ต้องมีแพทย์เซ็น 2 คนเพื่อให้ตรงตามเงื่อนไขกฎหมาย ก็ต้องเลี่ยงไปใช้ตรงนั้นแทนเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นความลำบากในการปฏิบัติงานจริง
เหตุผลของคนที่มาเข้ารับบริการคืออะไรบ้าง
ก็มีเยอะมากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ก็คือเลี้ยงไม่ไหว ที่เจอบ่อย อีกเหตุผลก็คือทางด้านสังคม เช่น พอท้องแล้วสามีทิ้ง หรือหย่ากัน ไม่มีคนช่วยเลี้ยง หรือบางคนตั้งครรภ์แล้วกระทบกับหน้าที่การงาน เหมือนว่าท้องแล้วอาจจะไม่ได้ทำงานต่อ ก็เลยไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อได้
ก็จะมีบางคนบอกว่าถ้าเปิดให้ทำแท้งเสรีจะมีคนมาทำแท้งเยอะขึ้นแล้วไม่ป้องกันหรือเปล่า คุณหมอในฐานะคนที่ใกล้ชิดกับผู้รับบริการมีความเห็นยังไง
คือการทำแท้ง ต่อให้เป็นเรื่องการรับบริการที่ปลอดภัย ก็ไม่ได้แปลว่าใครก็อยากจะมาทำนะครับ คือผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่มาขอให้ยุติการตั้งครรภ์ ถ้าเลือกได้ก็ไม่มีใครเลือกอยากจะทำแท้ง แม้แต่กลุ่มของเราที่ให้บริการก็ไม่ได้มีใครอยากจะทำแท้งนะครับ แต่ว่าเราก็เห็นว่าเมื่อผู้หญิงมีปัญหา ก็จำเป็นต้องมีคนช่วย ไม่งั้นเขาก็จะต้องไปทำเถื่อน ไปเสียเงินเสียทอง โดนหลอก ไปเสี่ยงชีวิต ซึ่งไม่ควรหรือเปล่า
และจริงๆ แล้วคนที่ท้องหลายคนเขาก็ป้องกัน
แต่ว่าวิธีคุมกำเนิดในปัจจุบัน มันไม่มีวิธีไหนป้องกันได้ 100%
เคสที่มายุติการตั้งครรภ์กับเครือข่ายเราเนี่ย มีจำนวนมากที่เขาก็ป้องกันแล้ว บางคนก็ป้องกันด้วยวิธีที่ดีมากด้วยซ้ำ อย่างทำหมันแล้วแต่ก็ยังท้อง หรือการคุมกำเนิดด้วยการฉีดยาที่นิยมใช้ในบ้านเรา มันก็มีโอการผิดพลาดล้มเหลวอยู่แล้ว ก็คือจะบอกว่าคนที่มาทำแท้งทุกคนเกิดจากการไม่ป้องกันก็คงไม่ถูก บางคนเขาก็ป้องกันดีแล้ว หรือกับบางกลุ่มที่ตอนแรกตั้งใจท้องนั่นแหละ แต่ต่อมามีปัญหากัน ผู้ชายหายไป ผู้หญิงก็ต้องหาทางออก เหตุการณ์แบบนี้ก็มีเหมือนกัน จะมาเหมารวมว่าคนที่มาทำแท้งนี่ไม่ได้ป้องกันมันก็ไม่ถูก
อายุของคนที่มารับบริการมีตั้งแต่เท่าไหร่
ก็มีตั้งแต่เด็กสุดประมาณ 10 กว่าปีไปจนถึง 40-50 ปี โดยหลักๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุประมาณ 20 – 30 ปี รองลงมาก็เป็นกลุ่มวัยรุ่น 15 – 19 ปี
แปลว่าการที่คนมักโจมตีว่าคนที่มาทำแท้งส่วนใหญ่คือวัยรุ่นก็ไม่ใช่เรื่องจริง
ผู้ใหญ่ก็ท้องไม่พร้อมได้ครับ อย่าไปเหมาว่าคนที่มาทำแท้งเป็นวัยรุ่นใจแตก มันไม่จริง บางทีผู้ใหญ่เองเขาก็มีปัญหาคุมกำเนิดล้มเหลว ปัญหาครอบครัว ก็มาใช้บริการยุติการตั้งครรภ์ ไม่ได้มีเฉพาะวัยรุ่นอย่างเดียว
ในสื่อต่างๆ เราก็จะเห็นภาพการทำแท้งที่น่ากลัวมากๆ กับความเป็นจริงมันเป็นแบบนั้นรึเปล่า
ถ้าทำอย่างถูกต้อง ทำในระบบ ปัจจุบันเทคโนโลยีการยุติการตั้งครรภ์ถือว่าก้าวหน้ามากๆ โดยจะมีวิธีหลักๆ 2 อย่างคือ ใช้ยายุติการตั้งครรภ์ หรือใช้เครื่องดูดสุญญากาศซึ่งปลอดภัยมาก โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก แค่ 1-2% เท่านั้นเอง แต่วิธีน่ากลัวๆ ในอดีต มันก็จะมีเช่น ใส่สารบางอย่างในช่องคลอด บีบท้อง ทำให้เกิดอุบัติเหตุ อันนั้นคือน้อยลงแต่ก็มีในคลินิกเถื่อนเท่าที่เราเก็บข้อมูลจากคนที่มีภาวะแทรกซ้อนแล้วมาที่โรงพยาบาล ซึ่งก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย เข้าถึงง่าย เขาจะจะไม่ไปเลือกใช้วิธีพวกนี้
เพราะเมื่อก่อนก็มีปัญหาว่าถ้าท้องไม่พร้อมขึ้นมา
จะไปรับบริการได้ที่ไหนบ้าง บางทีเขาก็เลย
ยอมเอาชีวิตไปเสี่ยงกับบริการที่ไม่ปลอดภัยพวกนี้
ค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์อยู่ที่เท่าไหร่บ้าง
ในปัจจุบันทางเครือข่ายของเรามีสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นโรงพยาบาลหรือสถานบริการของภาครัฐที่อยู่ในเครื่องข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันนี้ก็คือมารับบริการได้ฟรีเลย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ให้ คือผู้มารับบริการก็ไม่ต้องจ่ายเงิน ส่วนคลินิกเอกชนก็เสียเงินเองโดยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ ถ้าอายุครรภ์น้อยๆ ก็ประมาณ 3,000 -4,000 บาท แต่ถ้าอายุครรภ์เยอะขึ้น สูงสุดจะประมาณหมื่นกว่าบาท ซึ่งก็มีอยู่ประมาณ 70 – 80 แห่ง แต่ยังไม่ได้มีทุกจังหวัด
แต่แม้จะมีสถานบริการที่ปลอดภัย และอย่างของรัฐก็ฟรี แต่ก็ติดอยู่ที่มันมีไม่เยอะ บางทีคนที่มารับบริการอาจจะต้องดูเรื่องการเดินทาง ดูเรื่องความสะดวกว่าลางานได้มั้ย อายุครรภ์เท่าไหร่ เงื่อนไขของเขาเหมาะกับที่ไหน
แล้วในวงการสาธารณสุขเองมีคนไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งเยอะไหม
เยอะเลยครับ คนที่เห็นด้วยมีนิดเดียว ส่วนมากเราก็จะโตมากับการถูกปลูกฝังว่าทำแท้งมันเป็นเรื่องบาป เป็นเรื่องไม่ดี ซึ่งก็เป็นปกติในสังคมที่เมื่อเราไม่ได้ประสบปัญหาโดยตรงหรือว่ามาทำงานด้านนี้ ก็อาจจะมีความคิดตั้งต้นเป็นแบบนี้ แม้แต่หน่วยบริการที่เปิดให้มีบริการของเราก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย เราก็ต้องพยายามปรับความคิด อธิบายเหตุผลกันไปว่าเราทำไปเพราะความจำเป็น ไม่ได้มีผลประโยชน์ ก็น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น หลังๆ กลุ่มที่เห็นด้วยอาจจะเพิ่มขึ้นไม่เยอะ แต่กลุ่มที่กลางๆ ก็ไม่ได้เห็นด้วยเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ออกมาว่าแล้ว ก็ดูเยอะขึ้น ส่วนกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน รับไม่ได้ ก็ดูมีแนวโน้มน้อยลง
แปลว่าคุณหมอเองก็มองว่าการทำแท้งไม่ได้เป็นบาป
เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนมา แต่ในเว็บ RSA Thai ก็เขียนถึงเรื่องนี้เยอะพอสมควรว่ากรรมใดๆ อยู่ที่เจตนา ก็ลองไปศึกษาดูได้ ต้องแล้วแต่ความเข้าใจแต่ละคนว่าบาปไม่บาป
สามารถติดตามหรือสอบถามข้อมูลสถานบริการบริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยได้ที่ https://www.rsathai.org หรือสายด่วน 1663
อ่านบทความเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์เพิ่มเติมได้ที่
เมื่อ ‘การทำแท้ง’ เป็นสิทธิมนุษยชน ทำความเข้าใจการแก้ไขกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในไทย
มองกฎหมายทำแท้ง และร่างฉบับใหม่ : สิทธิผู้หญิงอยู่ตรงไหนในวันที่อยากยุติการตั้งครรภ์
ทำแท้งได้ไหม แค่ไหนถึงมีสิทธิ ชวนสำรวจกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในเอเชีย
ทำแท้งไม่ใช่ความผิด : คุยเรื่องกฎหมายจำกัดสิทธิผู้หญิงกับเพจ ‘คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง’