ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ก็ได้รับการพูดถึงว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง โดยมี ‘กลุ่มทำทาง’ ที่เป็นผู้ผลักดันให้การแก้ไขกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อสิทธิของผู้หญิงเป็นสำคัญ
ปัญหาของ ‘มาตรา 301 แห่งประมวลกฎหมายอาญา’ คือการระบุว่า หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งเป็นการลงโทษผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย หรือกระทั่งเกิดบริการทำแท้งเถื่อนที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิงเอง
นอกจากนี้แม้จะมีการยกเว้นในมาตรา 305 ที่ระบุว่า ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทําของนายแพทย์ และ (1) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทําไม่มีความผิด แต่ก็เป็นการยกเว้นที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับสิทธิในร่างกายของตัวเองอย่างแท้จริง
กลับมาดูสถานการณ์การยุติการตั้งครรภ์ในไทยนั้นมีงานสำรวจพบว่าผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจส่วนใหญ่ ‘มีการคุมกำเนิด’ และถึงแม้มีการคุมกำเนิดในช่วงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็ตาม เช่น ทานยาคุม หรือ ใช้ถุงยางอนามัย ก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ แต่การตั้งครรภ์ในกรณีนี้ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือ การคุมกำเนิดล้มเหลว
ดังนั้นความต้องการยุติการตั้งครรภ์จึงไม่ใช่เรื่องของความไม่รับผิดชอบต่อชีวิต แต่คือการแก้ไขปัญหาในทางหนึ่งของสังคม ในขณะที่กฎหมายที่มีอยู่ ทำให้หลายคนยังคงกลัวว่าหากตนไปทำแท้งแล้วจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำความผิดตามกฎหมาย เพราะเหตุผลของการเข้ารับการยุติการตั้งครรภ์ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 305
ใน ‘ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติความผิดฐานทําแท้ง) นั้น มีการเปิดรับฟังความเห็นไปเมื่อวันที่ 13 – 28 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการปรับแก้เนื้อหาเพิ่มเติมเป็น “มาตรา ๓๐๑ หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
และ “มาตรา ๓๐๕ ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา ๓๐๑ หรือมาตรา ๓๐๒ นั้น เป็นการกระทําของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
(๒) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมาก ที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(๓) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือ
(๔) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ผู้กระทําไม่มีความผิด”
นอกจากนี้ได้ปรับลดโทษของการทำแท้งลง (จากจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) เป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุปคือ ร่างแก้ไขฉบับนี้ ได้เพิ่มเติมในกรณีที่ผู้หญิงร้องขอ
ต้องการยุติการตั้งครรภ์โดยมีการกำหนดอายุครรภ์ไว้ว่า
ต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ และมีการปรับลดโทษในกรณีที่มีความผิด
แต่สิ่งที่ทำให้เป็นประเด็นขึ้นมาคือ ในร่างที่เปิดรับฟังความเห็นนี้ ทางกลุ่มทำทางแจ้งว่าไม่ได้รับการแจ้งข่าวเมื่อมีการเกิดทำประชาพิจารณ์จนทำให้ในร่างฉบับรับฟังความเห็นนี้มีผู้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นเพียง 6 คนเท่านั้น นำไปสู่การเรียกร้องให้เปิดรับฟังความเห็นกันอีกครั้ง
โดยมีข้อถกเถียงกันในส่วนที่กำหนดอายุครรภ์ในการทำแท้ง ซึ่งในร่างกฎหมายแก้ไขนี้ ระบุว่า “การกำหนดในการทำแท้งโดยหญิงที่มีอายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ยังเป็นความผิดอยู่นั้น เพื่อคุ้มครองคุณธรรมทางกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตของทารกในครรภ์ รวมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัยต่อหญิงมีครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายจากการทำแท้งในอายุครรภ์ที่เกินกว่า 12 สัปดาห์ นอกจากนี้ การกำหนดให้การกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดต่อไปเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้มีการทำแท้งโดยเสรีไร้ขอบเขตอันจะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีของสังคมอย่างร้ายแรง”
ซึ่งข้อเสนอจากกลุ่มทำทางคือ ควรให้ผู้หญิงมีสิทธิทำแท้งจนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ และจากที่ The MATTER เคยคุยกับทางตัวแทนกลุ่มทำทางถึงเหตุผลในข้อเสนอนี้ คือ 1.กรมอนามัยนิยามว่าช่วงเวลา 24 สัปดาห์นับเป็นจุดสิ้นสุดของการยุติการตั้งครรภ์ 2. การที่หญิงที่มีอายุครรภ์มากแต่ต้องทำแท้งแปลว่าเขามีความจำเป็นมากๆ การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยจะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้หญิง
นอกจากนี้ยังได้บอกเล่าให้ฟังว่าอาจมีกรณีที่ในช่วงอายุครรภ์ยังไม่ถึง 12 สัปดาห์นั้นไม่เกิดปัญหา แต่พอเลยช่วงอายุไปแล้วเพิ่งพบ และอาจทำให้เข้ารับการบริการยุติการตั้งครรภ์ไม่ทัน เพราะแม้แต่สถานบริการทางการแพทย์เองก็ไม่แน่ใจว่าจะทำแท้งได้หรือไม่เพราะกลัวผิดกฎหมาย (ตามมาตรา 302)
อย่างไรก็ตาม กว่าจะออกมาเป็นกฎหมายเพื่อแก้ไข ป.อาญา มาตรา 301 และมาตราที่เกี่ยวข้องได้จริงๆ จะต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณาอีกที ซึ่งอาจใช้เวลาอีกหลายเดือน เนื้อหาจึงอาจยังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อีก จึงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านบทสัมภาษณ์ของกลุ่มทำทางได้ที่ : https://thematter.co/social/why-we-should-stop-abortion-laws/115393
อ่านเรื่องกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในไทยได้ที่ : https://thematter.co/social/abortionlaws/103225
สำรวจกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในเอเชียได้ที่ : https://thematter.co/quick-bite/abortion-laws-in-asia/116338
อ้างอิงข้อมูลจาก