เรามักได้ยินประโยคที่ว่า “ไม่มีใครตายเพราะทำงานหนัก” แต่ข่าวคนที่ตายเพราะโหมงานเกินกำลังก็มีมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ จากหลากหลายอาชีพ แต่ทำไมในแวดวงการทำงาน ถึงยังนิยมชมชอบหรือยกย่องการทำงานหนักกันอยู่? การทำงานหนักบอกอะไรกับเรา? บอกว่าคนนี้ขยัน บอกว่าคนนั้นมีน้ำใจ หรือกำลังบอกว่ามีบางอย่างบิดเบี้ยวอยู่ในที่ทำงานกันแน่?
ทำงานแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นคนทำงานหนักกันนะ ต้องนั่งทำงานเกินเวลา เพราะอยากให้ทุกอย่างเสร็จในวันนั้น จัดการงานทุกอย่างที่อยู่ในมือ ไม่ว่าจะงานตัวเองหรืองานส่วนรวม ทุ่มเทเวลาส่วนตัวให้กับงานอย่างเต็มที่ พร้อมทำงานแม้แต่ในวันหยุด ประมาณนี้หรือเปล่า?
ปัญหาของการทำงานหนัก ไม่ได้หยุดอยู่แค่สุขภาพที่เสียไปของคนทำงาน เมื่อคุณภาพชีวิตคนทำงาน ที่ต้องถูกผูกอยู่กับค่านิยมมอบกายถวายชีวิตให้กับงาน ถึงจะถูกมองว่าเป็นคนขยัน ทั้งที่สะท้อนถึงการจัดการที่ล้มเหลว ทั้งของคนทำงานเองและการบริหารด้วย
แค่ไหนที่เรียกว่าหนัก?
กว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน คือจำนวนงานล่วงเวลา (ที่ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทน) ในประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานที่สุดในโลก เมื่อปีค.ศ. 2017 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมอบของขวัญให้วัยทำงานด้วย ‘Premium Fridays’ คือ การอนุญาตให้เลิกงานตั้งแต่บ่ายสามโมง ในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อสนับสนุนให้ใช้เวลาในที่ทำงานน้อยลง (เสียบ้าง) แต่ของขวัญชิ้นนี้กลับไม่ถูกนำมาใช้ เพราะสุดท้ายแล้ว มีคนทำงานน้อยกว่า 4% ด้วยซ้ำ ที่ได้เลิกงานก่อนเวลาในวัน Premium Fridays จริงๆ
ช่างน่าเศร้าที่เรามักถูกมองว่าเป็นคนขยันก็ต่อเมื่อเราสละเวลาส่วนตัวให้กลายเป็นเวลาทำงาน การนั่งอยู่ที่โต๊ะประจำจนล่วงเลยเวลา ทำงานข้ามวันข้ามคืนไม่ได้พักผ่อน รันวงการงานหนักติดกันหลายๆ วัน พร้อมทำงานแม้แต่ในวันหยุด ยิ่งบวกคะแนนในสายตาเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่หัวหน้า จนเกิด ‘Hard-Work Culture’ ที่ส่งผลกับสุขภาพของคนทำงานตั้งแต่สุขภาพกาย สุขภาพใจ ไปจนจากไปในหน้าที่
งานหนักส่งผลเสียแค่ไหน?
สิ่งที่ชัดเจนเอามากๆ งานที่หนักเกินไป ส่งผลถึงความเครียดในที่ทำงาน และความเครียดนั้น นำพามาซึ่งความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ตัวเลขที่น่าสนใจจาก The American Institute of Stress บอกถึงสาเหตุของความเครียดในที่ทำงาน กว่า 46% ชาวออฟฟิศเครียดกับเรื่องงานที่เยอะเกินไปมากที่สุด แล้วความเครียดนี้มันส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาแตกต่างกันไป กว่า 44% มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็น 34% มีปัญหาในการนอน 12% มีอาการป่วยจากการทำงาน และอีก 2% เครียดจนไปวางมวยกับเพื่อนร่วมงานเข้าให้
งานหนักสะท้อนอะไร?
วัฒนธรรมทำงานหนัก ฝังรากลึกจนเราเชื่อว่า คนทำงานหนัก = คนขยัน และ คนขยัน = คนที่น่าส่งเสริม ทั้งที่การทำงานหนัก ทำงานล่วงเวลา เกิดจากหลายปัจจัยเอามากๆ ตั้งแต่การจัดการงานไม่ได้ทันเวลา จนต้องหยิบยืมเอาเวลาส่วนตัวมาจ่ายให้กับความยุ่งเหยิง ไปจนถึงการบริหารที่ผิดพลาด การแจกจ่ายงานที่อาจจะกระจุกอยู่ที่คนคนเดียว หรือแม้แต่จำนวนงานที่มากเกินไปสำหรับหน้าที่ของพนักงานหนึ่งคน (ซึ่งก็รวมอยู่ในการบริหารที่ผิดพลาดเช่นกัน)
แล้วคนที่เข้าออกงานตามเวลา แต่ก็ยังคงทำงานได้ดีเหมือนกัน เรียกว่าคนขยันได้ไหม? สามารถเป็นคนที่น่าส่งเสริมได้หรือเปล่า? หากคนนั้นสามารถรับผิดชอบงานของตัวเองได้ทันตามเวลาที่กำหนด ไม่ต้องอดหลับอดนอนเพื่อจัดการงานของตัวเอง หากเขาใช้วันลาพักร้อนตามปกติ ขาดการติดต่อในวันหยุด เราจะมองว่าเขาเป็นคนที่ไม่ทุ่มเท ไม่ขยันงั้นหรอ?
การผูกขาด KPI หรือป้ายพนักงานดีเด่นไว้ที่จำนวนชั่วโมงในการทำงาน ดูจะไม่ใช่ค่านิยมที่ดีสักเท่าไหร่ เมื่อสุดท้ายแล้ว หากต้องพิจารณาพนักงานสักคน ผลลัพธ์ของงาน ควรจะเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเช่นกัน อย่าให้การทำงานหนัก กลายเป็นความปกติในที่ทำงาน สุขภาพที่เสียไป ไม่สามารถจ่ายได้ด้วยเงินล่วงเวลา
อ้างอิงข้อมูลจาก