เกมมันแย่! บางวิธีคิดก็มองว่ามนุษย์เราเกิดมาแย่ มีลูกมีหลานก็ต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด กั้นคอก ใส่ถุงเพื่อให้เด็กน้อยบริสุทธิ์และไปสู่ทิศทางที่ดี ไอ้พวกเกม การ์ตูน ไลฟ์สไตล์ หรือสิ่งบันเทิงทั้งหลาย ย่อมจะชักนำไปสู่ทางเลวร้าย ขณะที่ความเคร่งขรึม การบังคับตัวเองตามแนวทางการบำเพ็ญพรตสิจะนำไปสู่ทางที่ดี
ช้าก่อน อย่าเพิ่งแน่ใจอะไรขนาดนั้น มนุษย์เราไม่ได้ถูกไปทั้งหมดหรือผิดไปทั้งหมด ทางสายกลางและการทบทวนตัวเองเป็นเรื่องสำคัญเนอะ เช่นว่า เราไม่อาจแยกระหว่างโลกของ ‘เรื่องจริงจัง’ ออกจาก ‘เรื่องสนุกสนาน’ ได้โดยสัมบูรณ์ เช่น การบอกว่าการนั่งอ่านหนังสือเป็นเรื่องดี หรือการดูโทรทัศน์ เล่นเกมเป็นเรื่องแสนแย่ ทำแต่อย่างแรกก็พอ ส่วนอย่างหลังต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด การมองโลกแบนๆ แบบนี้ก็ถือว่าเป็นความคิดที่ตื้นเขินอยู่บ้าง เพราะทำให้เราเสียโอกาสที่จะมองสิ่งต่างๆ หรือได้ประโยชน์ในแง่มุมอื่นๆ จากสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป
‘เกม’ ในที่นี้ที่กำลังมีกระแสอาจต้องเลิกกับสามีเพราะเอาวิดีโอเกมเข้าบ้าน การมองว่าเกมหรือเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของปีศาจร้ายทำลายเด็กๆ คำพูดพวกนี้ค่อนข้างพ้นสมัย เหมือนเป็นคำพูดในยุคที่เพิ่งเข้าสู่โลกดิจิทัลใหม่ๆ ยังคงกลัวเทคโนโลยีเหมือนมนุษย์ถ้ำที่กลัวไฟจากความไม่เข้าใจ สำหรับเกมเองระยะหลังนักวิจัยทั้งหลายก็พยายามทำความเข้าใจว่ามีประโยชน์หรือมีโทษยังไงบ้าง ผลก็มีมากมายจากหลายสาขา เช่นว่าเกมก็มีผลช่วยเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาการ เป็นกิจกรรมที่สานสัมพันธ์ในครอบครัว ไปจนถึงเป็นเครื่องมือพิเศษในการบำบัดคนที่มีภาวะพิเศษ
โดยสรุปแล้วเกมไม่ได้เป็นปีศาจหรือเทวดาไปทางใดทางหนึ่ง
ถ้าเรามองว่าวิดีโอเกม ในฐานะ ‘เกม’ ที่ไม่ใช่แค่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่รวมถึงตัวระบบ กฏเกณฑ์ และการเล่นเพื่อความสนุกสนานและเพื่อเอาชนะ ดังนั้นเกมจากวิดีโอเกมก็มีลักษณะที่พ้องกับเกมอื่นๆ ที่เราเล่นอยู่ในชีวิตอย่าง ‘กีฬา’ หรือแม้แต่ ‘การใช้ชีวิต’ ที่เราเองก็ทำตัวเหมือนกับกำลังเล่นเกมอยู่
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบสนุก
ชีวิตจะไปเครียดอะไรนักหนา นอกจากคำพูดที่บอกว่าใช้ชีวิตให้สบายๆ แบ่งเวลาไปสนุกๆ บ้าง นักสังคมวิทยายังบอกว่ามนุษย์และวัฒนธรรมของเรามี ‘การเล่น’ เป็นแกนที่ทำให้อารยธรรมของเราเฟื่องฟูได้
Johan Huizinga นักวัฒนธรรมและนักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์พูดถึงคำว่า ‘Homo ludens’ ซึ่งเป็นคำอธิบายว่ามนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเล่น แถมเราเล่นกันมาตั้งแต่ก่อนกาล คือการเล่นหรือเกมเป็นสิ่งที่ ‘เก่าแก่’ ก่อนอารยธรรมของเราซะอีก เราเล่นกันก่อนจะมีวัฒนธรรม เล่นไปเล่นมาเลยจริงจังจนกลายเป็นวัฒนธรรมในที่สุด
นักคิดนักทฤษฎีพวกนี้ก็ชอบที่จะอธิบายว่ามนุษย์เราเป็นยังไงนะ เรามี ‘Homo economicus มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ’ ‘Homo socialis มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’ จนมาถึงคำพูดที่ว่าเฮ้ยมนุษย์เราต้องเล่น และกลับไปมองว่าวัฒนธรรมความเฟื่องฟูของเรามันมีการเล่นสนุกเป็นแกน
ฮุยซิงกาบอกว่าจริงๆ เกมและการเล่นค่อนข้างนิยามยาก แต่องค์ประกอบสำคัญที่เราเล่นก็เพราะมนุษย์ต้องการ ‘ความสนุก (fun)’
ฟังแล้วก็เออ นั่นสิ เราเองจะมีชีวิตอยู่ยังไงถ้ามันไม่สนุก เราต่างมีความสนุกเป็นที่ตั้งในการทำเรื่องต่างๆ ตั้งแต่รากฐานของกีฬา ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการใช้ชีวิต ถ้าลองดูดีๆ ต่างมีลักษณะของการ ‘เล่นเกม’ เพื่อความสนุกหรือเพื่อเอาชนะเป็นแกนกลางอยู่เสมอ คือถึงมันจะเครียด แต่นึกภาพการลงเลือกตั้งแล้วปลายทางคือชัยชนะ ในการได้ชัยนั้นมันก็มีความสนุกแฝงอยู่
โลกคือเกมขนาดใหญ่ ทฤษฎีสนามประลอง
แนวคิดเรื่องการเล่นในเชิงวิชาการนำไปสู่ ‘การศึกษาเรื่องเกม (game studies)’ เป็นรากฐานที่กลับมาให้ความสนใจเรื่องการเล่นอย่างจริงจัง นักทฤษฎียุคต่อๆ มาเลยเอาแนวคิดนี้มาต่อยอดเรื่องความซับซ้อนของเกมกับโลก
สำหรับเราในโลกทุนนิยมแล้ว เราก็เหมือนอยู่ในเกมแห่งความมั่งคั่งที่เราต่างกำลังเล่นอยู่ใน ‘สนามประลอง (field)’
ปิแอร์ บูร์ดิเยอ เสนอคำว่า field เพื่ออธิบายถึงโลกของสังคมมนุษย์ นักวิชาการบ้านเราก็พยายามแปลคำว่า field ของอีตานี่ว่าจะแปลเป็นอะไรดี เพราะคำว่า field มันไม่ได้หมายถึงแค่สนามเฉยๆ แต่เป็นสนามที่เรากำลังลงเล่นและแข่งขันกันอยู่ในที ในสนามของโลกทุนนิยมเราต่างก็มองตัวเองว่าเป็นผู้เล่นที่ใช้สิ่งต่างๆ ที่ตัวเองมีเพื่อแลกเปลี่ยนและสะสมทุนและอำนาจต่างๆ ตามระบบครรลองของโลกทุนนิยมใบนี้
ดังนั้น ลึกๆ แล้วโลกทุนนิยมที่เรากำลังดิ้นรนอยู่นี้มันก็มี ‘ความสนุก’ และ ‘การเป็นเกม’ แอบแฝงอยู่ เรามองว่าเราจะเล่นเกมนี้ทางไหน เราจะค่อยๆ เก่งขึ้น ร่ำรวยขึ้น มั่งคั่งขึ้น มีสายสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เยอะขึ้น เราจะเก่งกาจไปทางไหน ทำมาหากินอย่างไร จะแลกเปลี่ยนเวลา ความสามารถ ความสัมพันธ์ หรือทรัพย์สิน กลับไปกลับมายังไงดีน้า ซึ่งถ้าลองถอยกลับมาแล้วดูการวางแผนชีวิตของเรา มันก็มีลักษณะไม่ต่างกับการที่เรากำลังเล่นเกม มีการวางแผนเส้นทางชีวิต วิเคราะห์สนามหรือคู่แข่งที่กำลังมุ่งหน้าไป หาลู่ทางเพื่อปรับแต่งทักษะความสามารถไปจนถึงจัดการการกระทำของเราว่าจะไปทางไหน
ขนาดในโลกวิชาการยังเริ่มมอง ‘ความสนุก’ อย่างจริงจัง และเริ่มมองเห็นว่าในความจริงจังเช่นอารยธรรมรวมถึงการใช้ชีวิตร่วมสมัยก็มีเกมและความสนุกเป็นแกนได้อย่างน่าประหลาดใจ ถ้าเรามองการคิดการทบทวนแบบนักคิดไม่ปล่อย หรือไม่เชื่อเรื่องต่างๆ แบบง่ายๆ และตื้นเขิน การขบคิดอย่างสนุกสนานก็นำไปสู่การค้นพบและความเข้าใจ ดังนั้นปัญหาของการเป็นเผด็จการทางความคิด การไปชี้ว่าสิ่งนี้เลว สิ่งนี้ดี ต้องทำแบบนี้แบบนั้นย่อมเป็นกรอบคิดที่แข็งกระด้างและเขลาในตัวเอง ซึ่งตื้นเขินและแข็งกระด้างอย่างเดียวไม่พอ…
ยังจะทำให้โลกนี้แห้งแล้งด้วยการเอาความสนุกออกไปจากโลกอีก