ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2017 ไม่ว่าจะเป็นกระแสการเมืองขวา ผู้นำอายุน้อยก้าวขึ้นมา ผู้ลี้ภัยข้ามประเทศ หรือสงครามนิวเคลียร์ ที่ทำให้การเมืองโลกมีเรื่องราวดุเดือด ให้เราได้ตามติดขอบจอกันตลอดปี
และในปีนี้ เรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นคงมีขึ้นไม่น้อยกว่าปีก่อน ทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก สงครามกลางเมืองที่ยังไม่จบ การเจรจาร่วมมือ รวมถึงความบาดหมางระหว่างประเทศ ก็ยังคงเป็นเรื่องราวภาคต่อให้เราได้ติดตามกันอีกในปีนี้
แต่กระแสการเมืองโลกในปีนี้จะเป็นอย่างไร สันติภาพ หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นจริงไหม ? กระแสขวาจะยังคงมาแรงต่อไปหรือไม่ ? จะมีผู้นำรุ่นใหม่จากการเลือกตั้งทั่วโลกหรือไม่ ? The MATTER ขอพาไปกางแผนที่ ติดตามกระแสการเมืองที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2018 นี้กัน
เอเชีย
ความดุเดือดในการยิงขีปนาวุธเกาหลีเหนือ
เริ่มต้นกับเอเชีย ทวีปที่มีเรื่องราวร้อนแรงให้ติดตามตลอด จนหลายๆ คนหวั่นๆ ว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ในปีนี้ กลับเริ่มต้นด้วยข่าวดี จากการจัดเจรจาระดับสูงระหว่างเกาหลีเหนือ – ใต้ ที่จัดขึ้นหลังห่างหายไปตั้งแต่ปี 2015 และยังเห็นผลลัพธ์ที่ดีตามมา ทั้งการต้อนรับนักกีฬาเกาหลีเหนือเข้าแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ, การเตรียมจัดงานรวมญาติของ 2 ประเทศ, ตกลงเริ่มการเจรจาทางทหาร รวมถึงมุน แจอิน ปธน.เกาหลีใต้ยังพร้อมเปิดเจรจากับคิม จองอึนด้วย นอกจากนี้ด้านสหรัฐฯ ยังยอมพักซ้อมรบกับเกาหลีใต้ ในช่วงโอลิมปิก ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอย่างน้อยก็จะเกิดสันติภาพชั่วคราวระหว่างความสัมพันธ์ที่ร้อนแรงนี้
แต่ถึงอย่างนั้น เกาหลีเหนือก็ยังยืนยันว่าไม่มีการเจรจาเรื่องยุติโครงการนิวเคลียร์ ทั้งปีใหม่นี้ ท่านคิมยังตั้งปณิธานเตรียมสร้างขีปนาวุธที่ยิ่งใหญ่ อลังการกว่าเดิม เพื่อยิงขึ้นสู่อวกาศด้วย จึงไม่แน่ใจว่าสันติภาพ และการเจรจาที่เกิดขึ้น อาจเป็นข่าวดีชั่วคราว ก่อนข่าวร้ายใหญ่จะมาเยือนหรือไม่
อิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่
จีน อีกประเทศหนึ่งที่โดดเด่นในเอเชีย และในเวทีโลก ในปีนี้ปธน.สี จิ้นผิง ได้เตรียมต่ออายุเป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 2 ซึ่งคาดว่า ท่านสีจะสานต่อนโยบายเชิงรุก ผลักดันความเป็นผู้นำในระดับโลก และยังคงให้ประเด็นเกาหลีเหนือ ทะเลจีนใต้ และไต้หวันเป็นวาระสำคัญของนโยบาย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ความสัมพันธ์ของจีน-ไต้หวันอาจตึงเครียดมากกว่าเดิม เพราะแม้ว่าจะต้องการเปิดเจรจากับไต้หวัน แต่ก็ประกาศกร้าวคัดค้านทุกรูปแบบใน ‘การประกาศตนเป็นอิสระของไต้หวัน’ ด้วย
ยุโรป
การเลือกตั้งรัสเซีย
วลาดิเมียร์ ปูติน หนึ่งในผู้นำทรงอิทธิพลของรัสเซียและของโลก เตรียมขอท้าลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งรัสเซีย เดือนมีนาคมนี้อีกครั้ง แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะไม่ท้าทาย หรือเห็นการแข่งขันที่ดุเดือด สูสี เพราะจากโพลการเลือกตั้งคะแนนนิยมของปูตินนั้นมีมากถึง 58% ทิ้งห่างผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ได้คะแนนเพียงแค่เลขหลักเดียวเท่านั้น และยังมีแนวโน้มว่าปูตินจะได้รับการโหวตจากประชาชนถึง 80% ทั้งยังมีกรณีการตัดสิทธ์คู่แข่งที่ลงสมัครอย่าง อเล็กเซย์ นาวาลนี ผู้ต่อต้านคอร์รัปชั่น และมักจัดประท้วงปูตินอยู่เรื่อยๆ ด้วย
รัฐบาลเยอรมนีที่ยังไม่พร้อมเดบิวต์
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว เยอรมนี ที่เลือกตั้งกันไปตั้งแต่ปีก่อน ก็ยังคงไม่สามารถเจรจาจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะพรรคแนวร่วมขอถอนตัว ทำให้พรรคของอังเกลา แมร์เคิล ต้องไปเริ่มเจรจากับพรรคอื่นๆ ใหม่ ซึ่งอาจทำให้ทิศทางนโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป และยิ่งการเจรจาล้าช้าออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลสั่นคลอนต่อการเมืองทั้งในประเทศเยอรมัน และ EU เราจึงอาจเห็นเมมเบอร์ BNK48 รุ่น 2 เปิดตัวเร็วกว่ารัฐบาลเยอรมนีที่เลือกตั้งมากว่าครึ่งปีก็เป็นได้
Brexit is still not exit
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตาในยุโรป คือกรณี ‘Brexit’ ที่ผ่านการลงมติมากว่า 2 ปี และมีแนวโน้มว่าในปีนี้สหราชอาณาจักรก็ยังจะไม่ได้ออกจาก EU แต่ทางรัฐบาลก็ยืนยันแน่วแน่ ว่าเราจะออกจาก EU แน่นอนภายในเดือนมีนาคม ปี 2019 ! โดยคาดว่าในปีนี้ การเมืองอังกฤษก็จะยังคงวนเวียนกับการเจรจา จัดทำข้อตกลงเพื่อเปลี่ยนผ่าน และการทำสัญญาต่างๆ ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าจับตาคือ การเลือกตั้งในฮังการี ที่จะมีคิวเข้าคูหาในช่วงเมษา – พฤษภานี้ และมีแนวโน้มฝ่ายขวาจะได้รับชัยชนะ ยืนหยัดในนโยบายไม่รับผู้อพยพ และขอเดินหน้าสวนทางกับของ EU และประเด็นของคาตาลูญญา ที่รัฐบาลกลางสเปนอนุญาตให้มีการเลือกตั้งในระดับแคว้น รวมถึงเศรษฐกิจ และปัญหาผู้อพยพในภูมิภาคนี้ด้วย
อเมริกาใต้
การเลือกตั้งหันขวา ?
แซงหน้าประเทศไทยกันไปรัวๆ เพราะปีนี้ถือเป็นปีทองของการเลือกตั้งในอเมริกาใต้ ที่จะมีคิวเข้าคูหาเลือกผู้นำกันถึง 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลัมเบีย เม็กซิโก เวเนซุเอลา คอสตาริกา และปารากวัย เฉลี่ยแล้วเท่ากับประชาชนกว่า 350 ล้านคนที่จะมีสิทธิ์กาบัตรเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองในภูมิภาคนี้ได้เลย
ในอดีต จะเห็นได้ว่าผู้นำส่วนใหญ่ที่มีอิทธิพลในแถบลาตินนี้ ล้วนแต่เป็นผู้นำจากฝั่งซ้ายทั้งนั้น แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ผู้นำจากฝ่ายขวาและอนุรักษนิยม กลับมีอำนาจมากขึ้น เห็นได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในชิลี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่ผู้นำจากฝ่ายขวาชนะการเลือกตั้ง ทำให้มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งของภูมิภาคลาตินในปีนี้ จะเปลี่ยนมาหากระแสฝ่ายขวา
ถึงอย่างนั้น การเลือกตั้งสำหรับเวนาซุเอลา คงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพราะถึงแม้ประเทศจะถังแตกไม่มีเงินจ่ายหนี้ ประชาชนออกมาประท้วง ปะทะกันรุนแรงตลอดปี แต่ นิโคลัส มาดูโร ปธน.คนปัจจุบัน ก็ยังคงจะหาช่องทางต่ออำนาจตัวเอง ลงเลือกตั้งอีกครั้ง หลังเลือกตั้งสมาชิกสภารัฐธรรมนูญที่มีแต่ฝ่ายสนับสนุนตัวเอง และตัดช่องทางคู่แข่งพรรคฝ่ายค้านบางพรรคจากการเลือกตั้งปีนี้ด้วย หลายฝ่ายจึงคาดว่ามาดูโรจะชนะการเลือกตั้ง และความวุ่นวายในเวเนฯ จะเกิดขึ้นต่อไป
อเมริกา
เลือกตั้งกลางสมัยทรัมป์ ศึกชิงเสียงข้างมากในสภาคองเกรส
เป็นธรรมเนียมของสหรัฐฯ ที่จะมีการเลือกตั้งทุกๆ 2 ปี แต่ในปีนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่เป็นการเลือกตั้ง ‘Midterm Elections’ หรือการเลือกตั้งกลางสมัยการบริหารงานของประธานาธิบดี (ครบสองปี) ว่าพรรคใดจะได้อำนาจควบคุมสภาคองเกรส ที่ส่วนหนึ่งมีหน้าที่บัญญัติกฎหมาย และตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ 36 รัฐทั่วประเทศ
แต่โพลของเว็ปไซต์ The Crosstab ที่รวบรวมข้อมูลและสถิติทางการเมืองในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า พรรครีพับลิกันของโดนัลด์ ทรัมป์มีโอกาสชนะเพียงแค่ 33.4% เท่านั้น ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างเดโมแครตมีโอกาสชนะถึงกว่า 66.6% ทั้งผลโพลของบริษัทสำรวจ และสำนักข่าวต่างๆ เองก็ยังชี้ให้เห็นว่าพรรครีพับลิกันมีโอกาสคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้น้อยกว่า ซึ่งเมื่อผลออกมาเช่นนี้ อาจทำให้การทำงาน ออกกฎหมาย บัญญัติต่างๆ ของทรัมป์ไม่ง่ายอย่างที่คาดคิดแม้จะเป็นผู้นำ
Canada Rising
พูดถึงผู้นำที่มาแรง ได้ฐานแฟนคลับ และเสียงชื่นชมจากทั่วโลก คงต้องยกให้ ‘จัสติน ทรูโด’ นายกฯ แคนาดา ที่ไม่ได้มีดีแค่ความหล่อเหลา แต่ด้วยนโยบายต่างๆ และความใกล้ชิดประชาชน สวนทางกับผู้นำประเทศใกล้เคียง ซึ่งในปีนี้ Heather Timmons ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาวของสำนักข่าว Quartz ให้ความเห็นไว้ว่า ขณะที่ทรัมป์ โชว์ความเป็นผู้นำหัวร้อนให้ทั่วโลกเห็น แต่จัสติน ทรูโด กลับได้รับความนิยมด้านบวก และเสียงชื่นชมมากขึ้น ทั้งในปีที่ผ่านมา GDP ของแคนาดายังเพิ่มขึ้นถึง 3% ซึ่งถือว่าเติบโตกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ และทรูโดเอง ยังให้คำมั่นสัญญายึดถือประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ , ความร่วมมือเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสันติภาพของโลก เป็นวาระสำคัญในปี 2018 นี้ นอกจากนี้แคนาดายังเซ็นสัญญารับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ (Tech Brain Drain) ทำให้นักลงทุนคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูในแคนาดา
ตะวันออกกลาง
ตะวันออกกลางที่ร้อนระอุ ทั้งการเมือง ความสัมพันธ์ และการก่อการร้าย ในปีนี้ก็ยังคงมีประเด็นให้เราได้จับตารอดูกันอีกมากมายหลายเรื่อง
ศึกชิงเยรูซาเล็ม to be continued
แน่นอนว่าการประกาศรองรับเยรูซาเล็มว่าเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล จะยังคงเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องในปีนี้ และอาจทำให้มิตรภาพของเพื่อนเก่าอย่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียแตกหักลงได้ เพราะถึงแม้ว่าทั้งสองจะผนึกกำลังกันต่อต้านอิหร่าน แต่ซาอุฯ เองก็ต่อต้านการยอมรับอิสราเอลด้วย และจะเป็นตัวหลักในการกดดันสหรัฐฯ ถ้าเกิดความรุนแรงในปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้น ความสัมพันธ์หลายเส้าของโลกอาหรับนี้จะเป็นอย่างไร จะนำสู่สงครามไหม เราคงต้องติดตามกันต่อไป
ซาอุดิอาระเบียโฉมใหม่
นอกจากความสัมพันธ์กับต่างประเทศของซาอุฯ ที่อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว สังคมในประเทศเอง ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเริ่มต้นปีนี้ ผู้หญิงในซาอุฯ จะสามารถเข้าสนามกีฬาได้ และในกลางปี จะสามารถขับรถได้อย่างถูกกฎหมาย รวมถึงเปิดโรงหนังสาธารณะให้ประชาชน จึงคาดว่าในปีนี้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า มีความไม่เท่าเทียมและกฎระเบียบสูง ทั้งอาจจะมีการออกกฎหมายใหม่ๆ ที่อนุญาตประชาชนอย่างเสรีขึ้นด้วย
IS คืนสังเวียน ?
แม้จะประกาศทวงคืนพื้นที่ และปราบกลุ่มก่อการร้าย IS ได้ในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงเป็นที่กังวลอยู่ว่า IS จะคัมแบ็คกลับมาไหม ? เพราะถึงแม้จะไม่มีรัฐหรือพื้นที่ในการปฏิบัติการที่ชัดเจน และกลายเป็นกลุ่มก่อการร้ายใต้ดิน ทั้งก็มีแนวโน้มว่า IS อาจร่วมมือกับกลุ่ม al-Qaeda และถ้าการเมืองในซีเรีย อิรัก และลิเบียยังไม่มั่นคง ก็ยิ่งทำให้ IS ยังสามารถออกปฏิบัติการและกลับมาอีกด้วยความแข่งแกร่งอีกครั้งนึงได้
แอฟริกา
ฤดูกาลเลือกตั้งเปลี่ยนตัวผู้นำ
ปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ในแอฟริกา ภูมิภาคที่มีผู้นำอยู่ในตำแหน่งเฉลี่ยยืนยาวที่สุดในโลก จากการลงจากตำแหน่งของปธน.ของซิมบับเว แองโกลา และแกมเบีย (รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งของ 3 คนเกือบ 90 ปี) และในปีนี้ ภูมิภาคนี้ก็จะมีคิวจัดเลือกตั้งมากถึง 8 ประเทศ
ประเทศที่จะมีคูหาในปีนี้ได้แก่ อียิปต์ เซียร์ราลีโอน ซูดานใต้ มาลี ซิมบับเว คาเมรูน คองโกและลิเบีย แต่ประเทศที่น่าสนใจคืออียิปต์ และลิเบีย 2 ประเทศที่ผ่านเหตุการณ์อาหรับสปริง คลื่นปฏิวัติประท้วงขับไล่ผู้นำในปี 2012 ซึ่งการเลือกตั้งในอียิปต์ครั้งนี้จะขบเคี่ยว ฟาดฟันกันแน่นอน เพราะมีการคาดการณ์ว่าแคนดิเดทจะมีทั้ง อัลเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซิ ปธน.คนปัจจุบัน, อดีตปธน., ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดัง และหลานชายอดีตปธน. เข้าร่วมลงศึกในครั้งนี้
ลิเบีย อีกหนึ่งประเทศที่โค่นล้มผู้นำเผด็จการอาหรับสปริง และหวังเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นประชาธิปไตย ก็ยังประสบปัญหา ความขัดแย้ง และสงครามต่างๆ แต่ด้วยการสนับสนุนจาก UN ปีนี้ลิเบียจึงมีคิวเลือกตั้งด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่า ซาอีฟ อัล-อิสลาม กัดดาฟี ลูกชายของมูอัมมาร์ กัดดาฟีอดีตผู้นำที่ถูกโค่น อาจลงชิงตำแหน่ง หลังได้รับอภัยโทษ และถูกปล่อยตัวเมื่อปีก่อน ทั้งก่อนหน้านี้เขายังเคยถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งถ้าเขาคว้าตำแหน่งผู้นำได้ ไม่แน่ว่าการสร้างประชาธิปไตยในประเทศนี้อาจยิ่งเป็นไปได้ยาก
นอกจาก 2 ประเทศนี้แล้ว ซิมบับเวก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะจะได้ผู้นำคนใหม่ หลังโรเบิร์ต มูกาเบ ผู้ครองตำแหน่งยาวนานถึง 37 ปีประกาศลาออก (เห็นไหม ของเรา 3 ปีกว่านี่ขอเวลาอีกไม่นานจริงๆ) การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ อาจเห็นความเปลี่ยนแปลง และความโปร่งใสมากขึ้นในประเทศนี้ก็เป็นได้
ไทย
การเลือกตั้งและทหารที่กลายเป็นนักการเมือง
“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เห้ย ไม่นานหรอกแก แค่ 4 ปีกว่าเอง ในที่สุดเดือน พฤศจิกายน เราก็จะมีเลือกตั้งกับเค้าแล้ว (ถ้าไม่ถูกเลื่อนอีก) ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้กล่าวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ ในครั้นไปเยือนทำเนียบขาวว่าจะจัดเลือกตั้งปี 2561 ตามโรดแมปโดยไม่มีการเลื่อนใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังมีสัญญาณจากท่านนายกฯ ที่ประกาศตัวว่าเป็นนักการเมือง และการพูดเป็นนัยยะให้หลายคนสงสัยว่าประยุทธ์อาจเตรียมตัวลงเล่นการเมืองในระยะยาว จึงอาจมองได้ว่าการเลือกตั้งนั้น ใกล้เข้ามาแล้วจริงๆ
แม้จะเห็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ประยุทธ์ก็ได้ลั่นวาจารับปีใหม่ว่า “..ผมประกาศไว้เลยสถานการณ์ถ้ายังมีความขัดแย้งสูง การเลือกตั้งได้หรือเปล่า ผมไม่รู้” อีกทั้งสถานการณ์ขยายเวลาการปลดล็อกพรรคการเมืองถึงเดือนเมษา ทำให้หลายฝ่ายต่างก็ยังหวาดหวั่น ว่าเลือกตั้งครั้งนี้ที่สัญญาไว้ อาจมีการเลื่อนอีกเหมือนที่แล้วๆ มา
อนาคตประเทศไทยฝากไว้กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
หลังจากเหตุหน้าตาฉบับร่างพิมพ์เขียว ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ กันมาตั้งแต่ปีก่อน ปีนี้เราจะได้เห็นฉบับจริงกันแล้วว่าอนาคตของประเทศอีก 2 ทศวรรษนี้จะถูกออกแบบอย่างไร แต่จากที่ The MATTER เคยรวบรวมข้อมูล ‘กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ’ เห็นได้ว่า ผู้ร่างเอกสารชุดนี้ล้วนแต่เป็นชายวัยเกษียณ ที่ส่วนใหญ่เป็นทหารและนายทุน จึงเป็นที่หน้าหวาดหวั่นว่าอนาคตของประเทศไทยในระยะยาว จะถูกร่างและผูกติดอยู่เพียงแค่ในกำมือของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และแม้จะได้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังต้องคงนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นี้ ที่ยังเกี่ยวข้องไปถึงการทำแผนปฏิรูปประเทศด้วย
หน้าตาและประเทศไทยอีก 20 ปีต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร แค่คุกกี้เสี่ยงทาย ก็คงยังไม่สามารถทำนายอนาคตประเทศเราได้ คนไทยคงต้องรอดูยุทธศาสตร์ชาติฉบับเต็มในปีนี้กัน
อ้างอิงจาก
Illustration by Namsai Supavong