ที่บอกว่าเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ หลายคนเถียงว่ามันอาจไม่จริงเสมอไป อย่างปีเกิดก็กำหนดให้เราได้ตัวอักษร X Y Z ต่อท้ายเจเนอเรชั่นของตัวเองแบบไม่ได้เลือก แถมยังโดนติดป้ายว่าต้องคิดอย่างนั้นทำอย่างนี้ ตาม Stereotype ของเจเนอเรชั่นอีก
เลยมีคนขอแหวกกฎเกณฑ์ สร้างนิยามใหม่อย่าง Xennials และ Perennials เพื่อบอกเป็นนัยๆ ว่า แม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่ก็ขอเลือกเป็นได้ละกัน
วัดอายุกันหน่อย ไหนใครอยู่ในกลุ่ม 30 นิดๆ 40 หย่อนๆ (เกิดช่วงปลายปี 70 จนถึงต้นปี 80) บ้าง? ถ้าตามการจัดแบ่งของนักสังคมวิทยา คนกลุ่มนี้จะอยู่ในช่วงปลาย Generation X เชื่อมต่อกับ Millenials (Gen Y) แต่มีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่คาบเกี่ยว บางคนเลยรู้สึกไม่อยากเข้าร่วมกับเจนใดเจนหนึ่ง บางครั้งก็ชิงชังและจริงจังกับโลกแบบ Gen X แต่บางคราวก็มองโลกในแง่ดีและมีความมั่นใจในตัวเองมากๆ แบบ Millennials ในเมื่อจัดตัวเองเข้าพวกไม่ได้ ก็เลยประกาศวิถีของตัวเองว่าข้าคือ ‘Xennials’ เสียเลย
จริงๆ คำว่า ‘Xennials’ เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 เมื่อ Sarah Stankorb และ Jed Oelbaum ใช้คำนี้นิยามคนที่ถูกบีบอัดระหว่าง Generation X เชื่อมต่อกับ Millenials ใน Good magazine และ ‘Xennials’ ก็เพิ่งกลับมาเป็นกระแสของโลกออนไลน์ในหลายประเทศอีกครั้งเมื่อเว็บ Mamamia ยกขึ้นมาทำคลิปตลกๆ
‘Xennials’ อาจเรียกได้ว่าเป็นคนยุค pre-social media มีชีวิตวัยเด็กแบบอนาล็อก แต่เติบโตมาแบบดิจิทัล อธิบายให้เห็นภาพคือ เป็นคนรุ่นที่โทรหาคนที่แอบชอบด้วยโทรศัพท์บ้าน แล้วก็กังวลว่าพ่อแม่จะเป็นคนรับ แล้วต่อมาไม่นาน ก็เปลี่ยนมาใช้ ICQ แชทหรือ PCT โทรหากันแทน
บางที ‘Xennials’ ก็มีชื่อเรียกอื่นอย่าง ‘Generation Catalano’ เป็นการอ้างอิงจากหนังดราม่ายุคนั้นที่ดังมากๆ คือเรื่อง My So-Called Life หรือไม่ก็ถูกเรียกว่า ‘Oregon Trail Generation’ ซึ่งเป็นชื่อวิดีโอเกมที่ฮิตในสมัยนั้น แต่ว่าถ้าเป็นเมืองไทย ก็น่าอาจจะได้ชื่อเล่นอย่างรุ่น ‘ยูเอชที ยังยินดีครับเพื่อน’ หรือรุ่น ‘เทปคาสเซ็ต ตลับเกมแฟมิลี่’ อะไรทำนองนั้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น The Guardian ได้ทำควิซตลกๆ สำหรับชาว ‘Xennials’ เอาไว้ ไปลองเล่นกันได้ (แต่อาจจะมีบริบทของชาติตะวันตกอยู่เยอะหน่อย) : www.theguardian.com/culture/2017/jun/27/are-you-a-xennial-take-the-quiz
‘Xennials’ อาจดูเหมือนเป็นกลุ่มที่พยายามปลดปล่อยตัวเองออกจากการบีบอัดระหว่างเจเนอเรชั่น แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ประกาศกร้าวกว่านั้นว่า ฉันไม่เอานะ การติดป้ายว่าเป็นเจนไหน ฉันไม่มีเจนอะไรทั้งนั้น ฉันจะเรียกตัวเองว่า ‘Perennials’
ชาว ‘Perennials’ นิยามตัวเองว่า “พวกเราคือวัยหนุ่มสาวของปัจจุบัน ที่ไม่สำคัญว่าตัวเลขบอกอายุจริงหรือปีเกิดจะเป็นเท่าไหร่ แต่เราก้าวไปกับกระแสโลก ใช้เทคโนโลยีทันสมัย และแฮงก์เอาท์กับเพื่อนได้ทุกเพศทุกวัย พวกเรามีส่วนร่วมกับทุกสิ่ง เต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ ดูแลซึ่งกันและกัน มีความคิดสร้างสรรค์และแพชชั่น มั่นใจและกล้าเสี่ยง และพวกเราเชื่อในทัศนคติและความคิดอันเปิดกว้าง มากกว่าการนิยามเบ็ดเสร็จของหลักประชากรศาสตร์” (ที่มา: fastcompany)
ถ้าจะยกตัวแทนชาว ‘Perennials’ มาให้เห็นภาพก็อย่างเช่น Bob Dylan, Pharrell Williams, Justin Trudeau, Emma Watson, Elon Musk, Ai Weiwei, John Oliver, the little girl on Stranger Things และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงอาจจะเป็นเราคนใดคนหนึ่งก็ได้
ในโลกที่คนเริ่มไม่ค่อยชอบการติดป้าย (Labelisation) ไม่มีเจเนอเรชั่นไหนชอบสูตรสำเร็จ ที่ขีดเส้นแบ่งด้วยปีเกิดแล้วบอกมาเลยว่าเราจะมีบุคลิกภาพและทัศนคติอย่างใดอย่างหนึ่ง (แม้บางทีมันจะเป็นข้อดีก็ตาม) Xennials และ Perennials เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการขยับออกจากความอึดอัดของแนวคิดและการตีกรอบแบบเดิมๆ เป็นการเริ่มตั้งคำถามกับนิยามที่กำหนดไว้
และชวนให้ทบทวนว่าแต่ละคนมีความ individual มีความคิดและความสนใจที่ซับซ้อนและส่วนตัวเกินกว่าที่ถูกติดป้ายจัดกลุ่ม จริงอยู่ที่เราอาจจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราก็อาจควรเลือกที่จะเป็นได้ รึเปล่า?
ปล. บทความนี้เหมาะสำหรับผู้อ่านทุกเจน
อ่านเรื่องการเกิดขึ้นของเจเนอเรชั่นได้ที่
thematter.co/pulse/where-does-generation-come-from/26074
อ้างอิงข้อมูลจาก
theconversation.com
mashable.com
fastcompany.com