ในวัยเด็กหลังจากเลิกเรียน หลายคนต้องเคยมีประสบการณ์การได้รับขวดนมเปรี้ยวเจาะหลอด พร้อมคำทักทายว่า “รับยาคูลท์หน่อยไหมคะ?” จากผู้หญิงที่แม้ไม่คุ้นหน้าแต่ก็รู้สึกคุ้นเคย ด้วยเครื่องแบบที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมรอยยิ้มแสนใจดี จะเป็นใครไปได้ล่ะ ถ้าไม่ใช่ ‘สาวยาคูลท์’
จากรู่นสู่รุ่น พวกเธอคือหน้าตาของยาคูลท์ที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 50 ปี ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานขนาดนี้ ภาพของพวกเธอก็ยังไม่เคยเปลี่ยน ชุดเครื่องแบบตัวเดิม กระเป๋าสะพายแบบเดิม กล่องสเตนเลสพ่วงท้ายรถ รสชาตินมเปรี้ยวที่คุ้นเคย ชวนให้คิดถึง
พวกเธอเป็นเหมือนอีกหนึ่งเคล็ดลับความอร่อยของยาคูลท์ แต่การจะเป็นสาวยาคูลท์ก็ไม่ง่ายเอาเสียเลย พวกเธอจะต้องแข็งแกร่ง และในขณะเดียวกันก็ต้องนุ่มนวล โดยผ่านการฝึกและอบรมมาอย่างเข้มงวด เพื่อไปบริการส่งนมเปรี้ยวพร้อมความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของแลคโตบาซิลัส ผ่านอาวุธลับต่างๆ เหล่านี้
หัวใจแห่งมิตรภาพ
ในประเทศเกาหลีใต้ที่ความเหงาถือเป็นวาระระดับชาติ สาวยาคูลท์ไม่เพียงเป็นแม่ค้าส่งนมเปรี้ยว แต่ยังเป็นเพื่อนคลายเหงาให้คนชราที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว สาวยาคูลท์หลาย 1,000 คนคอยเป็นเพื่อนคุยให้กับหญิงชราที่อยู่เพียงลำพังตามบ้าน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเหมือนว่าเป็นคนในครอบครัว สร้างความสุขให้กับหญิงชราไม่น้อย
ในประเทศญี่ปุ่นสายาคูลท์เป็นเหมือนเพื่อนบ้านที่จะคอยแวะเวียนมาส่งนมเปรี้ยวและสินค้าอื่นๆ สัปดาห์ละครั้ง และทุกๆ ครั้งพวกเธอเหล่านั้นก็จะจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของลูกค้าที่เปรียบเสมือนเพื่อนของเธอ การกล่าวทักทาย การเอ่ยคำแซว หรือการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับลูกค้าด้วยเหมือนกัน
พลังขาแข็งแรงดั่งม้า
ในหนึ่งวันสาวยาคูลท์ทำงานโดยเฉลี่ย 8 ชั่วโมง โดยประมาณ ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. (อาจมีสาวยาคูลท์ที่ทำงานแต่เช้าตรู่ เพราะว่าลูกค้าเป็นแม่ค้าที่ตลาด ตารางเวลาก็จะแตกต่างกันไป) ซึ่งสาวยาคูลท์แต่ละคนแต่ละประเทศก็จะออกไปส่งนมเปรี้ยวด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ทั้งการเดิน ปั่นจักรยาน และการขับรถจักรยานยนต์ แล้วแต่ละวันสาวยาคูลท์จะต้องเดินทางกันไกลขนาดไหน?
หากเป็นสาวยาคูลท์ที่เดินส่ง วัดจากความเร็วที่เดินชิลๆ ไม่รีบร้อนนัก โดยตั้งความเร็วเฉลี่ยที่ 4 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำงาน 8 ชั่วโมง ระยะทางการเดินจะเท่ากับวันละ 32 กิโลเมตร ถ้านึกไม่ภาพไม่ออก จะเทียบได้กับระยะทางการเดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจนถึงห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต
หากเป็นสาวยาคูลท์ที่ปั่นจักรยาน โดยมีความเร็วเฉลี่ยการปั่นที่ 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางการปั่นจะเท่ากับวันละ วันละ 80 กิโลเมตร เทียบได้กับระยะทางจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงตัวเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุทธยาเลยทีเดียว
จากการประมาณจะให้เห็นว่า ในแต่ละวันสาวยาคูลท์จะต้องใช้กำลังขามากเลยทีเดียว ยังไม่นับการขึ้นบันไดตึกสูง หรือการขับขึ้นเนินต่างๆ โดยมีกระเป๋าแคร์รี่แบ็ห และถังชิปเปอร์บรรจุนมเปรี้ยวพ่วงไปด้วย
สุดยอดรองเท้า
ที่นมเปรี้ยวยาคูลท์ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อได้ เพราะสินค้ามีอายุน้อยมาก (อยู่ได้ 10 วัน) เราเลยต้องซื้อผ่านสาวยาคูลท์ หรือร้านที่โชว์ห่วยที่รับซื้อจากสาวยาคูลท์อีกทีเท่านั้น และการส่งนมเปรี้ยวให้ถึงมือของลูกค้านั้น สาวยาคูลท์ก็จะไปส่งได้ในทุกๆ ที่(ที่เป็นไปได้) ไม่ว่าจะนำไปวางให้บนโต๊ะทำงานทุกเช้า หรือเดินเข้าไปส่งบนอพาร์ตเมนต์ตึกสูงๆ จากความจริงข้อนี้ รองเท้าของสาวยาคูลท์จึงต้องมีความแข็งแรงทนทาน พร้อมลุยน้ำ ลุยไฟ ลุยฝน ลุยโคลน ลุยทุกพื้นพี่ที่สาวยาคูลท์จะเดินทางไปได้
Super strength
ในหนึ่งวันสาวยาคูลท์มีสิ่งที่ต้องทำมากมาย ตั้งแต่เริ่มเข้ามาที่ศูนย์ประจำการ จัดของเช็กสต๊อกก่อนที่จะออกไปส่งนมเปรี้ยวในแต่ละวัน การยกของขึ้นของลงก็เป็นงานที่จะต้องทำเป็นประจำ ซึ่งแต่ละอย่างก็หนักไม่น้อย จำเป็นต้องอาศัยแรงและความแข็งแรงพอสมควรเลย
หนึ่งในนั้น คือ กระเป๋าแคร์รี่แบ็ก ที่สาวยาคูลท์จะต้องพกติดตัวไปทุกครั้ง กระเป๋าแคร์รี่แบ็ก 1 ใบสามารถบรรจุยาคูลท์ได้ 50 ขวด ยาคูลท์ 1 ขวด มีปริมาณ 80 มิลลิลิตร คิดเป็นน้ำหนักเท่ากับ 80 กรัม เท่ากับว่ากระเป๋าที่บรรจุยาคูลท์จะมีน้ำหนักถึง 4 กิโลกรัม เทียบได้กับการแบกน้ำดื่มขวดลิตร (ใหญ่) ถึง 4 ขวด
สำหรับกล่องที่พ่วงกับท้ายจักรยานและรถจักรยานยนต์เรียกว่า ชิปเปอร์ เจ้ากล่องนี้บรรจุยาคูลท์ได้ถึง 600 ขวด รวมน้ำหนักถึง 40 กิโลกรัม หนักประมาณเด็กอายุ 12 ปี (โดยเฉลี่ย) 1 คน
แน่นอนว่า สาวยาคูลท์จะต้องแบกสัมภาระเหล่านี้ทั้งวัน บ้างก็แบกขึ้นอาคาร บ้างก็แบกขึ้นเนิน และถึงแม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีการออกแบบภาชนะ หรืออุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่สาวยาคูลท์ แต่ในข้อจำกัดต่างๆ ก็จำเป็นต้องใช้แรงของคนแทน ซึ่งนับว่าหนักเอาเรื่อง
ในสมัยแรกเริ่มขวดยาคูลท์ที่ส่งตามบ้านใช้ขวดคล้ายๆ ขวดนมคือเป็นขวดแก้วที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ด้วยน้ำหนักที่หนักจนเกินไป ในภายหลังจึงต้องเปลี่ยนมาเป็นขวดพลาสติกอย่างในปัจจุบัน
รอยยิ้ม
จะพูดว่ารอยยิ้มเป็นอาวุธประจำตัวของสาวยาคูลท์ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่หากพูดในอีกหนึ่ง รอยยิ้มของสาวยาคูลท์มักจะอยู่ในภาพจำของใครหลายๆ คน รอยยิ้มเป็นสิ่งที่ให้และรับได้โดยง่าย เซลล์ประสาทของมนุษย์จะตอบสนองการยิ้มด้วยการยิ้มตอบ และเป็นที่รู้กันดีว่า ภายหลังจากการยิ้ม ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอย่างเอ็นดอร์ฟินที่สร้างความรู้สึกสุขใจ และโดพามีนที่กระตุ้นให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและสดชื่น ซึ่งมีผลดีต่อร่างกาย
นอกจากนี้รอยยิ้มยังมีผลในระดับเซลล์ Sondra Barrett ผู้เขียนหนังสือ Secret of your cell บอกว่า เซลล์ในร่างกายมีส่วนสร้างสมดุลความรู้สึกทั้งหมดในร่างกาย และเมื่อความรู้สึกของเราส่งผลต่อเซลล์ การยิ้มก็ช่วยลดความตึงเครียดของเซลล์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ได้
จะเห็นได้ว่าการเดินแจกรอยยิ้มก็ของสาวยาคูลท์ก็มีส่วนช่วยสร้างสิ่งๆ ดีให้กับคนรอบข้างได้อีกทาง ภาพรอยยิ้มที่มาพร้อมเสียงกริ่งจักรยานของสาวยาคูลท์จึงเป็นภาพที่เราจำได้ติดตาไปแล้ว
ความจำเป็นเลิศ
ในประเทศญี่ปุ่น ยาคูลท์มีหลายผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย (มากกว่า10 รายการ) ผ่านสาวยาคูลท์ เป็นเรื่องสำคัญที่สาวยาคูลท์จะต้องจำรายละเอียดสินค้า และจำได้ว่าลูกค้าแต่ละคนบริโภคอะไร (อาจมีบันทึกหรืออุปกรณ์ในการช่วยจำอื่นๆ) รวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อย เช่น หากลูกค้ามีอาการท้องผูก ควรแนะนำสินค้าตัวไหน รวมถึงต้องมีความรู้เรื่องสินค้าที่ขายอย่างครบถ้วน หรือหากมาส่งนมเปรี้ยวหรือสินค้าอื่นๆ ที่บ้านหลังต้องวางไว้ในตะกร้า หากไม่มีตะกร้าก็เท่ากับว่าวันนั้นไม่รับสินค้า
ในกรณีที่ไทยเราเองก็ไม่ต่างกัน แม้จะมีชนิดของสินค้าน้อยกว่า แต่สาวยาคูลท์ทุกคนก็จำเป็นที่จะต้องมีความรู้เรื่องยาคูลท์เป็นอย่างดี ชนิดที่ว่า สโลแกน “ถามสาวยาคูลท์ดูสิคะ” ไม่ได้ตั้งมาเล่นๆ
มองการณ์ไกล
หน้าที่ที่แท้จริงของสาวยาคูลท์ ถ้าพูดให้เห็นภาพก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นการ ’ส่งจุลินทรีย์ที่มีชีวิตให้ถึงมือลูกค้า’ ไม่ว่าจะใกล้จะไกลขนาดไหน สาวยาคูลท์ต้องไปส่งให้ถึง และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเธอถึงมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ลองสังเกตละแวกบ้าน หรือแม้แต่ที่ทำงานของเราเอง อย่างน้อยก็น่าจะมีสาวยาคูลท์สักคนหนึ่งผ่านมาให้เห็นบ้างล่ะ
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ของตัวบริษัทเองที่ว่า “Bring a good health to all” และในประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศบ้านเกิดของยาคูลท์ ผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของอาหารในโรงเรียน หรือแม้แต่อาหารในโรงพยาบาล โดยนักโภชนาการของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Tokyo Medical and Dental Universoty ให้เหตุผลที่เลือกยาคูลท์ “เพราะว่ามันอร่อย สินค้ามีประวัติศาสตร์ยาวนานแต่ก็เป็นแบบเดิมมาตลอดไม่เคยเปลี่ยน และยังมีส่วนช่วยดูแลสุขภาพลำไส้ได้อีกด้วย”
ซึ่งในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2562) อุดมการณ์ “Bring a good health to all” ไปไกลกว่าเดิมมาก โดยที่ในปี พ.ศ. 2561 ยาคูลท์ได้จับมือกับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA – Japan Aerospace eXploration Agency) วิจัยปฏิบัติการส่งจุลทรีย์ Probiotic ขึ้นไปในอวกาศ โดยจุดประสงค์ของโครงการมีความเชื่อว่า จุลินทรีย์ probiotic Lactobacillus casei strain Shirota (LcS) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของยาคูลท์จะสามารถไปช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของนักบินอวกาศของ JAXA ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในอวกาศ
โครงการนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ และยังไม่ได้ผลสรุป แต่ก็เป็นอีกก้าวที่น่าประทับใจต่ออุดมการณ์
คอมมูนิตี้เพื่อนสาวรอบโลก
สาวยาคูลท์มีเพื่อนมากมายกว่า 12 ประเทศ (ไม่รวมไทย) รวมกว่า 80,000 คนทั่วโลก ที่คอยทำหน้าที่ส่งนมเปรี้ยวให้เราดื่ม แบบ door-to-door ตามมุมต่างๆ รอบโลก ดังนี้
- สาวยาคูลท์ญี่ปุ่นเป็นสาวยาคูลท์ชาติแรก (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2506/ค.ศ. 1963) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์ญี่ปุ่น 33,848 คน
- สาวยาคูลท์ไต้หวัน (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2507) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์ไต้หวัน 1,203 คน
- สาวยาคูลท์บราซิล (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2511) ปัจจุบัน มีสมาชิกสาวยาคูลท์บราซิล 4,933 คน ซึ่งสาวยาคูลท์บราซิลจะไม่ใส่ยูนิฟอร์ม แต่จะมีรถเข็นยาคูลท์ขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์
- สาวยาคูลท์ไทย (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2514) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์ไทย 3,383 คน
- สาวยาคูลท์เกาหลีใต้ (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ.2514) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์เกาหลีใต้ 10,887 คน จุดเด่นอยู่ที่รถตู้ขายยาคูลท์เคลื่อนที่ (เริ่มใช้ปี พ.ศ. 2557) มีหมวกนิรภัยและเสื้อกันหนาวสีสดใส
- สาวยาคูลท์ฟิลิปปินส์ (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2521) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์ฟิลิปปินส์ 3,623 คน
- สาวยาคูลท์สิงคโปร์ (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2522) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์สิงคโปร์ 354 คน จุดที่โดดเด่นที่สุดคือกระเป๋าแคร์รี่แบ็กสีเขียวตัดกับแดง ไม่เหมือนกับชาติอื่นๆ ที่จะเป็นโทนขาว แดง ฟ้า ซะส่วนใหญ่
- สาวยาคูลท์เม็กซิโก (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2524) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์เมกซิโก 9,496 คน สาวยาคูลท์เม็กซิโกจะไม่มียูนิฟอร์มตายตัวเช่นเดียวกับสาวยาคูลท์บราซิล แต่จะมีหมวก และผ้ากันเปือนสีน้ำเงินตัดขอบแดงเป็นสัญลักษณ์
- สาวยาคูลท์อินโดนีเซีย (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2534) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์อินโดนีเซีย 9,252 คน
- สาวยาคูลท์จีน (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2545) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์จีน 2,781 คน
- สาวยาคูลท์มาเลเซีย (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2547) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์มาเลเซีย 477 คน
- สาวยาคูลท์เวียดนาม (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2550) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์เวียดนาม 606 คน จุดเด่นอยู่ที่สาวยาคูลท์เวียดนามจะนิยมใช้รถเข็นยาคูลท์มากกว่าการขับยานพาหนะ (คล้ายกับแอร์โฮสเตส)
- สาวยาคูลท์อินเดีย (เริ่มปฏิบัติการ ปี พ.ศ. 2551) ปัจจุบันมีสมาชิกสาวยาคูลท์อินเดีย 274 คน เป็นสาวยาคูลท์ที่มีเอกลักษณ์กว่าชาติอื่นๆ คือจะมีผ้าเหมือนเนคไทสีม่วงมีลายผูกตรงคอ สวมเสื้อเชิตสีขาวกางเกงสีน้ำเงินเข้ม คล้ายๆ พนักงานออฟฟิศ
*ยาคูลท์มีวางจำหน่ายจริงๆ ทั้งหมด 38 ประเทศจากทั่วโลก แต่มีเพียงแค่ 13 ประเทศ (รวมไทย) ที่มีบริการสาวยาคูลท์ส่งตรงถึงบ้าน
(ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
ความจริงแล้วตั้งแต่เริ่มเดิมที บริการส่งยาคูลท์ก็มีผู้ชายอยู่เหมือนกัน แต่ในสังคมญี่ปุ่น (ผู้ที่เริ่มระบบนี้) ระหว่างวันที่ผู้ชายออกไปทำงาน มีหญิงชราและผู้หญิงอยู่บ้านเพียงลำพังเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยจึงเปลี่ยนมาเป็นผู้หญิงแทน ในอีกแง่มุมนึง ยาคูลท์ก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสสร้างอาชีพให้กับผู้หญิงในสมัยนั้น (ค.ศ. 2506) และในปัจจุบัน ระบบสาวยาคูลท์ได้สร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้หญิงทั่วโลกไปแล้วกว่า 81,117 คน
อีกทั้งในญี่ปุ่นผู้หญิงยังเป็นสัญลักษณ์ของการดูแล แม่ และภรรยาที่คอยดูแลครอบครัว ยาคูลท์จึงมองว่า สาวๆ ยาคูลท์ที่ทำหน้าที่เป็นหน้าตาของยาคูลท์ก็จะทำหน้าที่และเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพลำไส้ของทุกคน เช่นเดียวกับที่ยาคูลท์เชื่อว่าจะ “Bring a good health to all”
ขอขอบคุณ บริษัท Yakult Honsha และ Yakult Thailand
อ้างอิงข้อมูลจาก