“มูเตลู”
คำฮิตติดปากที่ใครๆ ก็พูดกัน มีความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปคือการนับถือความเชื่อเหนือธรรมชาติที่พิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ โดยนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องของเทพเจ้า วิญญาณ หรือการประกอบพิธีกรรมเพื่อให้ได้มายังอำนาจ เงินทอง ความรัก ไปจนถึงการเสริมดวงชะตา และการหยั่งรู้อนาคต
แม้จะเป็นคำนิยามที่ให้ความรู้สึกถึงความเชื่อเก่าคร่ำครึ และมีภาพจำว่ามูเตลูเป็นเรื่องของคนแก่หรือคนสูงวัย ข้อมูลที่น่าจับตามองคือผู้ที่อยู่ในวงการ ‘สายมู’ (มูเตลู) นั้น มีทุกอายุและทุกช่วงวัย ไม่ได้จำกัดวงสังคมผู้ศรัทธาอยู่เพียงแค่ ‘คนรุ่นเก่า’ เท่านั้น
จากการสืบค้นข้อมูลและทำการสำรวจเกี่ยวกับผู้ที่มีความเชื่อมั่นและเชื่อถือในเรื่องลี้ลับ มี ‘คนรุ่นใหม่’ จำนวนไม่น้อยที่หันหน้าเข้าหาเรื่องเหนือธรรมชาติเหล่านี้ โดยจุดประสงค์หลักคือการบูชาเพื่อเสริมโชคลาภ เรื่องการเรียน และความรัก
“มูฯ แล้วสบายใจค่ะ เคยขอเรื่องเรียน เกรดก็ดีขึ้นมาก ขอเรื่องเงิน งานที่ทำก็ได้สปอนเซอร์ วันนี้เลยมาขอเรื่องความรักค่ะ”
อันติกา นักศึกษาปริญญาตรี และ TikTok Influencer วัย 20 ปี พูดถึงการ ‘มูฯ’ ในวันที่เธอเดินทางมาขอพรเรื่องความรักจากพระตรีมูรติหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ในขณะเดียวกัน วัยรุ่นบางส่วนก็เดินทางมากราบไหว้พระพิฆเนศและพระตรีมูรติเพราะนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นทุนเดิม เป็นการบูชาเพื่อความสบายใจ ดังเช่น พัชรพร และ สาริน 2 นักศึกษาปริญญาตรี วัย 19 ปี พวกเธอเล่าว่าปกติเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสักการะบูชาเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเวลาไปไหว้ที่ไหนก็จะไปกันเป็นแพ็กคู่
“ปกติก็ไหว้อยู่แล้วค่ะ เวลาไปทางไหนถ้ามีโอกาสก็จะเข้าไปไหว้ ทั้งวัดมังกร (วัดมังกรกมลาวาส) พระพรหม พระตรี (พระตรีมูรติ) ผ่านอะไรก็ไหว้หมด ไปกับเพื่อนสองคนนี่แหละค่ะ”
จะเห็นได้ว่าเหตุผลส่วนตัวในการเข้าหาความเชื่อเหนือธรรมชาติของแต่ละบุคคลมีความเป็นปัจเจกที่แตกต่างกัน
หากจุดร่วมของคนรุ่นใหม่เหล่านี้คือการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นที่อยู่นอกเหนือจากศาสนากระแสหลัก โดยบางส่วนก็เลือกที่จะหันหลังให้กับศาสนาอย่างสิ้นเชิง และบางส่วนก็เลือกนำเพียงบางพิธีหรือว่าบางคำสอนของศาสนามาปรับใช้กับสิ่งที่ตนเองยึดถือ
แล้วการ ’มูเตลู’ ในปัจจุบันสามารถแสดงออกได้ผ่านรูปแบบใดบ้าง
ความเป็นมาของการเดินเข้าสู่เส้นทางความเชื่อนี้เป็นอย่างไร
ในสายตาของชาวมูเตลู การกระทำที่แสดงออกซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นเพียงความงมงายที่ไร้เหตุผลมารองรับ
..จริงหรือ?
มูเตลูคืออะไร
มูเตลู มาจากชื่อภาพยนตร์สยองขวัญอินโดนีเซียเรื่อง ‘Penangkal limu Teluh มูเตลู ศึกไสยศาสตร์’ มีการตัดทอนคำให้สั้นเข้ากับรูปปากคนไทยจึงเหลือเพียง limu Teluh (ลิมู เตลู) ซึ่งแปลว่าคำสาป มายา คาถา
ต่อมาคำว่ามูเตลูเริ่มใช้อย่างแพร่หลายจากกระแสสวมใส่กำไลหินนำโชค ตะกรุดแฟชั่นในวงดารานักแสดง มีการเรียกผ่านชื่อรายการวาไรตี้เกี่ยวกับความเชื่อสิ่งลี้ลับทางโทรทัศน์ ‘มูไนท์’ จากนั้นติดหูถึงขนาดมีเพลง ‘มูเตลู’ ของวงนักร้องวัยรุ่นอย่าง PiXXiE ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการภาวนาให้คนที่แอบชอบรู้สึกเหมือนกัน ผ่านการท่องคาถาเวทมนตร์ การใส่เสื้อสีเสริมดวงประจำวัน รวมถึงการใช้เบอร์โทรศัพท์มงคลด้วย
จะเห็นได้ว่าความนิยมในการ ‘มูฯ’ (มูเตลู) ของคนในยุคปัจจุบัน ขยายความจากความเชื่อเรื่องลี้ลับตามแบบฉบับชาวบ้านครอบคลุมไปยังการดูดวง การบูชาเทพเจ้าอินเดีย บูชาวัตถุมงคล หินสี รวมไปถึงพิธีกรรมเสริมดวงต่างๆ มากมาย
ดังนั้นความหมายของคำว่ามูเตลู อาจไม่ได้ถูกจำกัดความอยู่แค่ความเชื่อหรือการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงการประกอบพิธีกรรมหลายแขนงทั้งบนพื้นฐานศาสนาผี และการผสมผสานความเชื่อระหว่างศาสนาผีและศาสนาพราหมณ์-พุทธ เพื่อให้บรรลุซึ่งจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
แล้วทำไมคนในสังคม โดยเฉพาะ ‘กลุ่มคนรุ่นใหม่’ ที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล จึงเข้าสู่ความศรัทธาในวงการมูเตลู?
อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้คนในช่วงอายุ 18-35 ปี ในฐานะผู้เผชิญมรสุมความไม่แน่นอนของชีวิต รู้สึกว่าความมานะพากเพียรเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการไขว่คว้าสิ่งที่ปรารถนา พวกเขาจึงหันเข้าหาการมูฯ อำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อขอใช้ชีวิตสำเร็จสมหวังดังที่ตั้งใจไว้
มูฯ และไสยฯ เรื่องเดียวกันไหม
เมื่อบางส่วนของมูเตลูคือเรื่องการนับถือเทพบูชาผีและสักการะเครื่องรางของขลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็เป็นที่รู้จักในนามของ ‘ไสยศาสตร์’ มาอย่างยาวนาน แล้วการมูเตลูกับไสยศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกันหรือหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สามารถเริ่มต้นหาคำตอบได้จากคำนิยามและความหมายของคำว่าไสยศาสตร์
ไสยศาสตร์เป็นศาสตร์ว่าด้วยอำนาจมืดที่มองไม่เห็น ใช้เพื่อทำร้ายผู้อื่น แต่ถ้าเทียบเคียงกับคำแปลในภาษาบาลี คำว่า ‘ไสย’ มาจาก ‘เสยฺย’ ซึ่งแปลว่า ประเสริฐ ดังนั้น ‘ไสยศาสตร์’ จึงหมายถึง ศาสตร์อันประเสริฐ
นอกจากนี้ นพ.มโน เมตตานันโท เลาหวณิช ได้เขียนบทความไสยศาสตร์ความหมายและลักษณะพิเศษ มีใจความว่าในภาษาสันสกฤต คำว่าไสยศาสตร์ มาจากคำว่า ‘ศาสตร์’ ที่แปลว่าแขนงหนึ่งของความรู้ รวมกับคำว่า ‘ไสย’ ที่มาจาก ‘ไศวะ หรือ ศิวะ’ จึงรวมกันแล้วได้ความว่า ศาสตร์ที่มาจากพระศิวะ
ส่วน มานิต มานิตเจริญ ผู้เขียนพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้จำแนกประเภทของไสยศาสตร์เป็น 2 สายและให้ความหมายไว้ว่า สายแรกคือ ‘ไสยขาว’ หมายถึงวิชาลึกลับที่ใช้เวทมนตร์ไปในทางที่ดี เช่น การทำเครื่องรางป้องกันอันตราย และสายที่สองคือ ‘ไสยดำ’ หมายถึงวิชาลึกลับที่ใช้เวทมนตร์ไปในทางที่ชั่วร้าย เช่น การทำเสน่ห์ยาแฝด
จากข้อมูลข้างต้นสรุปรวมได้ว่า ไสยศาสตร์เป็นวิชาว่าความเชื่อในการใช้เวทมนตร์คาถา พิธีกรรม เครื่องรางของขลัง หรือวัตถุใดๆ ที่บูชาแล้วทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ให้ผู้อื่นเกิดความรักใคร่ ขับไล่สิ่งชั่วร้าย หรือแม้กระทั่งใช้ทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นการจะตีตราว่าไสยศาสตร์เป็นวิชาด้านดีหรือร้ายก็ควรดูที่วัตถุประสงค์ไปพร้อมกัน
จะเห็นได้ว่าทั้งวัตถุประสงค์และนิยามของไสยศาสตร์ใกล้เคียงกับคำว่ามูเตลูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะลักษณะโดดเด่นที่สังเกตได้จากทั้งสองคำคือ เป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา และการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพท์ที่ต้องการ
จนอาจสรุปโดยย่อได้ว่ามูเตลูเป็นเพียงการตั้งชื่อใหม่ให้กับคำว่าไสยศาสตร์ เพื่อให้เข้ากับสังคมในปัจจุบัน
ความหลากหลายของความเชื่อ
เอกลักษณ์ของการมูเตลูอีกอย่างที่จะมองข้ามไปไม่ได้ คือความหลากหลายในการปฏิบัติ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เดินทางสายมูฯ มีทั้งรูปแบบของการเลือกนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาหลักของประเทศ อย่างศาสนาพุทธ ไม่นับถือศาสนาแต่เลือกประกอบบางพิธีกรรมที่ทำแล้วเกิดความสบายใจ หรือนับถือรูปเคารพตามความสมัครใจ เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างความสุขในชีวิต
ท็อป ครูสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ วัยสามสิบต้นๆ เล่าว่าแม้ในบัตรประจำตัวประชาชนจะระบุว่านับถือศาสนาพุทธตามพ่อแม่ แต่ตอนนี้เขายืนยันว่านับถือศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาพหุเทวนิยม นับถือเทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระศิวะ พระวิษณุ พระนางลักษมี และพระพิฆเนศวร เป็นต้น โดยท็อปนับถือไวษณพนิกาย เป็นนิกายที่นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด ด้วยเหตุผลว่า ได้ศึกษาหลักคำสอนมาหลายศาสนาแล้ว และคิดว่าศาสนาพราหมณ์เหมาะกับตนเองมากที่สุด
“ที่ฉันไม่ได้นับถือพุทธ ไม่ใช่เหตุเพราะว่าฉันนับถือเทพ แต่ฉันเลือกแล้วว่าศาสนาไหนเหมาะกับฉัน ไม่ได้เพราะว่า ‘ชอบ’ เหมือนคนอื่น แต่ศึกษาแล้วว่าไปทางนี้ดีกว่า ฉันศึกษามาทุกศาสนาแล้วทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู”
หนึ่งในข้อปฏิบัติตามหลักศาสนาพราหมณ์ คือ ต้องบูชาเทพประจำครอบครัวด้วยบทสวดบูชาในเทวาลัย ท็อปจึงลงมือสร้างเทวสถานกึ่งสาธารณะในบ้านด้วยเงินทุนของตนเอง และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าวัยรุ่นที่เดินทางมาสักการะบูชาเทพเจ้าพราหมณ์ที่เทวสถานแห่งนี้ บางส่วนเป็นลูกศิษย์ที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย ที่เรียนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์กับท็อป สำหรับการไหว้บูชามักจะขอในเรื่องการเรียนและความรักเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยว้าวุ่นโดยตรง
เทวสถานกึ่งสาธารณะของท็อปยังไม่รับเงินบริจาคในทุกกรณี หากผู้เข้าร่วมพิธีแสดงความประสงค์ก็ขอให้บริจาคเป็นสิ่งของที่ใช้สำหรับประกอบพิธีอย่างธูป หรือของไหว้ที่ต้องการเอามาถวายเทพเพียงอย่างเดียว
เงื่อนไขเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งท็อปเคยเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่เทวสถานแห่งหนึ่ง แต่กลับพบว่าพื้นที่นั้นมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมพิธี คือผู้ที่บริจาคเงินจำนวนมากจะได้เข้าไปนั่งด้านหน้า หากบริจาคน้อยสามารถนั่งได้แค่พื้นที่ด้านหลัง
“วันหนึ่งที่เป็นวันของพระแม่ลักษมี ภาพที่เห็นคือ พี่จ่ายตังค์ใช่ไหม พี่ก็จะได้อยู่ในโซน VIP แต่มีคนเยอะเลยนะที่อยู่ข้างนอก”
ท็อปมองว่า ทุกคนที่มีจิตศรัทธาสามารถประกอบพิธีได้ ขอพรได้เท่ากัน ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าใครบริจาคเท่าไหร่
“มีเงิน 1,000,000 บาท 1,000 บาท หรือ 1 บาท หรือไม่มีเลยแค่มีมือ 2 มือเข้ามาไหว้ และมีความศรัทธา ท่านก็พร้อมจะให้พร”
ท็อปเชื่อว่าเราสามารถเลือกแนวปฏิบัติเฉพาะตนได้ แต่ต้องศึกษาหลักปฏิบัติให้ถูกจึงจะประสบผลสำเร็จ อย่างเรื่องของการขอพรเรื่อง ‘ความรัก’ จากเทพเจ้าอินเดียหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์อันเป็นหัวข้อยอดฮิตในหมู่คนรุ่นใหม่เมื่อช่วงต้นปี 2565 ที่ตามมาด้วยความพยายามในการหาข้อยุติว่ารูปปั้นนั้นเป็นรูปแทนขององค์เทพใดกันแน่ ระหว่างพระศิวะ 5 เศียร และ พระตรีมูรติ
“จะพระตรีมูรติ หรือพระศิวะ 5 เศียรก็ไม่ให้เรื่องความรักทั้งนั้น คนที่ให้เรื่องความรักในเทพอินเดียจะมี 3 องค์ หนึ่ง ‘พระกฤษณะ’ ให้ความรักแบบรักวัยรุ่น รักสนุกสนาน ถ้าอยากได้รักแท้ต้อง ‘พระแม่ลักษมี’ และคนมีครอบครัวต้องไหว้ ‘พระแม่อุมา’ เพราะฉะนั้นการไปขอความรักจากพระตรีมูรติ ซึ่งไม่มีแฟนจะได้คู่ไหม
“การบูชาเทพอินเดียไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องศึกษา ไม่ใช่เช่ามาตั้งทิ้งไว้ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เทพแต่ละองค์ก็ชอบไม่เหมือนกัน อย่างพระพิฆเนศโปรดนม แต่พระกฤษณะโปรดนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต ก็ต้องถวายไม่เหมือนกัน”
ก่อนหน้านี้ เคยมีภาพข่าวคนนำ ‘ชานมไข่มุก’ ไปขอพรจากเทพเจ้าอินเดีย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตามหลักปฏิบัติแล้วมาสามารถแทนกันได้ไหม
ท็อปให้คำตอบว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะหลักศาสนาพราหมณ์กำหนดไว้ว่าต้องเป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ แต่ก็ใช่ว่าจะถูกต้องเหมาะสมเสียทีเดียว
“อิงตามคัมภีร์พระไตรเวท ก็ไม่ผิด เพราะชามันไม่มีเนื้อสัตว์ มันมีนม ซึ่งเป็นรูปแบบที่เขาอาจไม่คุ้นเคย ถามว่ามันควรไหม เหมือนเขาต้องการนมจืดแต่ถวายนมเปรี้ยว เป็นมึงมึงชอบปะล่ะ ถ้ามึงชอบนมจืดแต่เขาให้นมเปรี้ยว ก็ไม่ได้ชอบ แต่ก็กินได้”
จากการพูดคุยกับท็อปจุดประเด็นเรื่องการนับถือศาสนาว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์บังคับตายตัวตามกรอบมาตรฐานของสังคม หรือจำเป็นจะต้องยึดโยงกับศาสนากระแสหลัก และยังสามารถยกระดับได้ถึงระดับที่เราต่างสามารถเลือกที่จะ ‘นับถือ’ หรือ ‘ไม่นับถือ’ ศาสนาก็ได้
คนรุ่นใหม่ลำดับต่อไปที่ใช้มูเตลูเป็นเครื่องชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตคือ ปั้น นักศึกษาปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์ อายุ 24 ปี ผู้มีงานอดิเรกคือการดูดวงด้วยไพ่ทาโรต์ เขานิยามตนเองว่าไม่นับถือศาสนา เพราะมองว่า ‘แก่นแท้’ ของศาสนาได้สูญสลายไปกับกาลเวลาหมดแล้ว บทบาทของศาสนามีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและวิถีสังคมในช่วงเวลานั้นๆ
“ปัจจุบันนี้ไม่มีศาสนาไหนที่คงไว้ซึ่งแก่นแท้ของศาสนาอีกแล้ว” ปั้นกล่าว
ปั้นย้อนความหลังถึงสาเหตุที่นำมาสู่จุดเปลี่ยนในเรื่องความเชื่อทางศาสนา เขาเล่าว่าตนเองมีนิสัยชอบตั้งคำถามถึงตรรกะและหลักเหตุผลของเรื่องต่างๆ แต่ไม่สามารถตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาที่นับถือตามพ่อแม่ได้เพราะถูกมองว่ากำลังลบหลู่ หรือบางครั้งคำตอบที่ได้รับก็ขัดกับจิตสำนึกทางชนชั้นและไม่ใช่สิ่งที่ใฝ่หาจริงๆ
เมื่อประกอบเข้ากับในช่วงเวลาหนึ่งปั้นสูญเสียสมาชิกในครอบครัวอันเป็นที่รักรวมถึงต้องเผชิญปัญหามากมายที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ปั้นรู้สึกว่าชีวิตวุ่นวาย ไม่มั่นคง จึงหันมาเสาะหาแนวทางการประโลมและยึดเหนี่ยวจิตใจที่ตอบโจทย์กับนิสัยส่วนตัว เขาจึงเริ่มลงมือทำการศึกษาศาสตร์การดูดวง และเก็บไพ่ทาโรต์เป็นของสะสมเพราะชอบศิลปะบนหน้าไพ่ในแต่ละสำรับที่มีสีสันลวดลายสวยงามแตกต่างกันไป
“ไม่ใช่ว่าเราลบหลู่ แต่เราอยากยืนอยู่ในจุดที่เชื่อ และไม่เชื่อทุกอย่างในเวลาเดียวกัน คำตอบของคำถามนั้นเราอยากเป็นคนหามันด้วยตัวเอง”
ไพ่ทาโรต์ คือไพ่ทำนายประเภทหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ไพ่ยิปซี’ เนื่องจากชาวยิปซีเป็นผู้วาดภาพบนหน้าไพ่เป็นครั้งแรก ในหนึ่งสำรับมีไพ่ทั้งหมด 78 ใบ
โดยการดูดวงด้วยไพ่นั้น ผู้ดูดวงควรอยู่ในสถานที่ที่รู้สึกสบายใจ จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานส่งพลังถึงไพ่ ตั้งคำถามในเรื่องที่อยากรู้ ต่อมาก็หยิบไพ่จากสำรับตามจำนวนที่กำหนดในศาสตร์นั้นๆ แล้วจึงอ่านไพ่และตีความหมาย
ปั้นคิดว่า ไพ่ทาโรต์เป็นเครื่องมือสำหรับอ่านดวง และการจะเปิดไพ่ให้แสดงความหมายก็เกิดจากพลังงานที่มาจากตัวผู้ดู คล้ายหลักการทำนายด้วยการอ่านลักษณะการเคลื่อนที่ของเพนดูลัม (pendulum) คือลูกดิ่งที่สามารถแกว่งไปแกว่งมาตามจิตใต้สำนึกที่ส่งผ่านเส้นประสาทร่างกายไปยังปลายนิ้วมือ
อย่างไรก็ตาม ปั้นมองว่าการดูดวงเป็นเพียง ‘แนวทาง’ ในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่ถูกลิขิตให้ต้องเป็นไปเช่นนั้นเพียงอย่างเดียว ถ้าเปิดหน้าไพ่แล้วความหมายออกมาในเชิงลบ ก็เพียงแค่ระวังตัวให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าหากไพ่แสดงความหมายว่าจะมีเรื่องอันตรายเกิดขึ้น แล้วจะไม่ออกจากบ้านเลย
“เราใช้คำทำนายหรือโหราศาสตร์ในการวางแผนชีวิต แต่ไม่ได้ใช้มันนำชีวิต ถ้าเปิดไพ่มาแล้วดวงเราไม่ดี ก็แค่ระวังตัวมากขึ้น ไม่ใช่ว่าห้ามออกไปใช้ชีวิตเลย เราเท่านั้นที่กำหนดการเดินทางของเราเอง อย่าให้คำทำนายนำทางเรา”
จากศาสนาสู่การบูชาวัตถุมงคล
ความเชื่ออีกด้านหนึ่งที่สายมูฯ จำนวนไม่น้อยศรัทธาตลอดมาคือ ‘การบูชาวัตถุมงคล’
วัตถุมงคล หมายถึง วัตถุที่ทำจากวัตถุดิบตามตำรา ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไม้มงคล ดิน 7 ป่าช้า กระดูกสัตว์ หรือกระทั่งกะโหลกศีรษะมนุษย์ ทำการผ่านพิธีปลุกเสกลงอาคมให้ขลัง และมีคุณแตกต่างกันไป ทั้งด้านการคุ้มครองให้ปลอดภัย ด้านเสน่หาหรือเมตตามหานิยมให้ผู้คนนิยมชมชอบ รวมถึงด้านมหาลาภ ที่บูชาเพื่อเรียกทรัพย์นำโชคมาให้
ในมิติความเชื่อด้านการบูชาวัตถุมงคล เจ๊ส้ม เจ้าของร้านวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลังที่เปิดมายาวนานกว่า 15 ปี ในตรอกสนามพระ ท่าพระจันทร์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมูเตลูว่า
“มูเตลูเป็นความเชื่อเหนือเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง เป็นอีกโลกที่วิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ไม่ได้มีความหมายแตกต่างจากคำว่าไสยศาสตร์ แค่เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกให้เข้ากับสมัยใหม่”
โดยความหมายคำว่ามูเตลูของเจ๊ส้มจะเน้นไปทางพิธีกรรมปลุกเสกเครื่องรางเพื่อนำมาบูชาตามสรรพคุณของเครื่องรางเหล่านั้น เช่น ด้านการค้าขาย ให้โชคลาภต้องบูชา ‘แม่เป๋อ’ เครื่องรางชนิดหนึ่งแกะสลักนูนต่ำเป็นลักษณะหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังคลอดลูก
ในขณะที่เครื่องรางด้านเสน่ห์จะเป็น ‘พรายน้ำ’ หรือน้ำมันพรายมหาเสน่ห์ ‘ผีตานี’ ‘ผีแม่นาค’ ตามตำนานผีไทย และ ‘ม้าเสพนาง’ ซึ่งอาจเป็นลายผ้ายันต์หรือโลหะหล่อขึ้นรูปหญิงสาวเสพกามกับม้า ให้สรรพคุณด้านตัณหากามารมณ์ และหากต้องการสรรพคุณด้านเมตตามหานิยม ผู้คนมักจะนิยมบูชา ‘สาลิกาลิ้นทอง’ รูปแกะสลักเป็นนกสาลิกา ทำจากต้นไม้มงคลที่มีเนื้อไม้อ่อน ใบสีเหลืองทอง
เจ๊ส้มยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงวัยของกลุ่มลูกค้าว่า จงลบภาพจำเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังว่าเป็นเรื่องของคนยุคเก่าหรือคนมีอายุเท่านั้น ส่วนคนรุ่นใหม่มองว่าความศรัทธาเหล่านี้เป็นเรื่องเหลวไหลไม่น่าเชื่อถือ เพราะในปัจจุบันลูกค้าหน้าใหม่จำนวนไม่น้อยคือวัยละอ่อน ที่ต้องการหา ‘วัตถุเสริมโชค’ ให้กับตัวเอง
และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ วงการเครื่องรางของขลังเองก็มีปรับลักษณะภายนอกของเครื่องรางให้เข้ากับค่านิยมของวัยรุ่นมากขึ้น คือเปลี่ยนเครื่องรางให้มีสีสันสดใส ดูเข้าถึงง่าย ย่อขนาดให้เล็กกะทัดรัดประมาณนิ้วโป้ง และนำมาใส่กรอบใสทำเป็นเครื่องประดับจำพวกจี้ห้อยคอ หรือร้อยเป็นกำไลข้อมือให้พกพาสะดวกยิ่งขึ้น รู้จักกันในชื่อ ‘เครื่องรางวัยโจ๋’ หรือ ‘เครื่องราง 5G’ และด้วยรูปร่างหน้าตาของเครื่องรางที่เข้ากับยุค ไม่เชยหรือล้าสมัย ทำให้บางคนโดยเฉพาะลูกค้าชาวจีนเลือกจะซื้อเก็บสะสมเป็นคอลเล็กชั่นส่วนตัวราวกับสะสมแสตมป์
นอกจากนี้กระแสความนิยมการผลิต บูชาเครื่องรางก็ยังขึ้นอยู่กับความเป็นไปของสังคมขณะนั้น เช่น ช่วงที่มีนักแสดงสาวประสบอุบัติเหตุตกเรือเสียชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีคนมากมายเข้ามาหาซื้อ ‘น้ำมันพรายมหาเสน่ห์’ ซึ่งเป็นน้ำมันที่ได้จากศพผู้หญิงหน้าตาสะสวยจมน้ำเสียชีวิต มีสรรพคุณโดดเด่นด้านเสน่ห์ ผู้คนหลงใหล นำโชคลาภมาให้
ไม่ใช่เพียงน้ำมันพรายที่ได้รับความนิยมขึ้นจากข่าวนี้แล้ว อีกประเด็น ‘มูเตลู’ ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุครั้งนี้ คงไม่พ้นเรื่อง ‘ร่างทรง’ ที่มีการกล่าวอ้างว่าสามารถนำวิญญาณของดาราสาวท่านนั้นมาลงทรงได้
จึงนำไปสู่คำถามต่อไป แล้วการลงทรงคืออะไร มีคนที่ติดต่อกับผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติได้จริงหรือ
เข้าทรงลงเจ้า สื่อกลางระหว่างผีกับคน
พิธีเข้าทรง หรือที่เรียกติดปากอย่าง ‘ผีเข้า’ เป็นพิธีกรรมท้องถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่มักพบในตามสังคมสังคมต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยมีความซับซ้อนอย่างตำบลและหมู่บ้าน
สำหรับคนที่เชื่อเรื่องเทพ วิญญาณ หรือผี ร่างทรงเหล่านี้คือคนที่ให้เทพหรือวิญญาณเข้ามาสิงร่างกาย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์และสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน อย่างการทำพิธีเข้าทรงเพื่อถามดวงวิญญาณเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตที่มนุษย์ทั่วไปไม่อาจหยั่งรู้ได้
ต.กระเสียว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เป็นชุมชนหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมร่างทรง โดยการเข้าทรงในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์บูชาผีบรรพบุรุษ เพื่อให้ผีอวยพรให้ทำเกษตรกรรมได้ดี ซึ่งแทบทุกบ้านต่างมีการบูชาผีร่างทรง สร้างศาลให้เป็นที่อยู่ของบรรพบุรุษและให้ลูกหลานกราบไหว้บูชา
นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายนของทุกปี แต่ละบ้านก็จะมีพิธีเซ่นไหว้ประจำปี ถวายอาหารเลี้ยงเทพประจำบ้านและผีบรรพบุรุษที่สมาชิกในครอบครัวนั้นเคารพบูชา เมื่อเป็นวันไหว้ของบ้านไหน ชาวบ้านในตำบลก็จะรวมตัวกันไปช่วยงานบ้านนั้นๆ นับว่าเป็นพิธีกรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตดั้งเดิม การกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นระหว่างคนในชุมชน
นอกจากการบูชาเพื่อให้ทำการเกษตรได้ดีแล้ว ยังมีคนเป็นร่างทรงเพื่อช่วยคลายทุกข์ และหาทางออกให้ผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นอีกด้วย เช่น หมอตั้ว วัย 27 ปี ผู้เป็นร่างทรงของพ่อปู่ฤาษีภุชงค์นาคราชหรือพญาภุชงค์นาคราช ตามตำนานเชื่อกันว่าเป็นพญานาคราชประจำองค์พระศิวะ ผู้ปกครองเมืองบาดาล จนเมื่อสละบัลลังก์ก็ได้บำเพ็ญตบะเป็นฤาษีผู้มีเมตตาและโปรดที่จะช่วยเหลือมนุษย์ผ่านการลงทรงติดต่อคนที่เดือดร้อน
สำหรับกลุ่มผู้คนที่เดินทางมาเข้าร่วมพิธีลงทรงกับหมอตั้วเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาด้านต่างๆ ในชีวิตมีทุกช่วงวัย ไม่ใช่เพียงแค่ผู้เฒ่าผู้แก่ อย่างวัยรุ่นก็เข้ามาปรึกษาเรื่องการเรียนและเกรด ผลการสอบเข้าราชการ ผลการแข่งกีฬา วัยทำงานมาปรึกษาเรื่องการเงิน คดีความ การฟ้องร้อง เป็นต้น
“พ่อปู่คะ หนูพอจะมีสิทธิได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งไหมคะ” นักศึกษาปริญญาตรี ปี 4 รายหนึ่ง ถามถึงบทสรุปของผลการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ระหว่างการเข้าร่วมพิธีร่างทรงพ่อปู่ภุชงค์นาคราช
หมอตั้วเกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีทวดเป็นร่างทรงเพื่อบูชาเทพและขอให้ผีบรรพบุรุษอวยพรให้ผลผลิตทางเกษตรผลิดอกออกผลได้ดี เมื่อทวดเสียชีวิต ย่าของหมอตั้วก็มารับช่วงต่อ หมอตั้วจึงศรัทธาในความเชื่อเรื่องร่างทรงมาตั้งแต่เด็กเพราะเห็นย่าเข้าทรงเป็นประจำ จนกระทั่งอายุ 13 ปี เมื่อรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการติดต่อกับพ่อปู่ฤาษีภุชงค์นาคราชจึงทำหน้าที่เข้าทรงแทนย่าตั้งแต่นั้นมา
ช่วงแรกพ่อและแม่ของหมอตั้วไม่ยอมรับที่ลูกของตนจะสานต่อความเชื่อเรื่องร่างทรงเพราะมองว่าเป็นอาชีพที่หลอกลวง หากินบนความเดือดร้อนคนอื่น จนวันหนึ่งผู้ปกครองพูดท้าทายในทำนองว่าถ้าหมอตั้วบอกเลขลอตเตอรี่ที่จะถูกรางวัลในงวดถัดไปได้ พวกเขาจะยอมเชื่อ
และผลลัพธ์คือตัวเลขนั้นถูกรางวัลที่ 4
จากนั้นทางบ้านจึงยอมรับหมอตั้วในบทบาทของร่างทรงและไม่กีดกันอีกเลย
หมอตั้วเล่าต่อไปว่าตั้งแต่เริ่มเป็นร่างทรง พอมีคนบอกเล่ากันปากต่อปาก ลูกศิษย์ลูกหาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งอาจารย์ในโรงเรียนที่สอนหมอตั้วเองก็ศรัทธาในร่างทรงพ่อปู่ภุชงค์นาคราช จนเขาพูดติดตลกว่า
“จำได้ว่าอายุสัก 12-13 ปี เราก็ยังโดดน้ำคลองเล่นอยู่เลย พ่อก็ขี่รถมาตามไปดูดวง บอกว่ามีคนจะมาดูดวงเต็มเลย ไอ้เราก็ต้องขึ้นจากน้ำไปดูดวงให้เขา สมัยก่อนรับแขกเยอะมากจริงๆ ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนคารวะกันหมดเลยนะ ตอนไปโรงเรียนเราก็ไหว้เขา พอมาถึงบ้านครูไหว้เรา ไหว้กันไปไหว้กันมา”
จากการสังเกตในระหว่างพิธีเข้าทรง หมอตั้วจะมีบุคลิกท่าทางและน้ำเสียงที่ความเคร่งขรึมขึ้น เสียงทุ้มต่ำ ภาษาคำพูดที่ใช้ค่อนข้างบ่งชี้ว่าเป็นคำที่คนเฒ่าคนแก่พูดในสมัยก่อน เช่น “ลูกช้างเอ้ย”
และสำเนียงสุพรรณของหมอตั้วก็หายไปตามบุคลิกของพ่อปู่ภุชงค์นาคราช
หากถามถึงการมูฯ ในสายตาของผู้รับบทบาทร่างทรงแล้ว หมอตั้วมองว่าพิธีร่างทรงก็นับว่าเป็นหนึ่งในการมูเตลูด้วยเช่นกัน เป็นการวิงวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อมีการบนบานศาลกล่าวก็ย่อมมีการแก้บนตามมา อย่างการบนให้ทำธุรกิจรุ่งเรือง ถ้าสำเร็จตามใจปรารถนาแล้ว ลูกศิษย์ที่สมหวังก็กลับมาแก้บนด้วยการสร้างรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ให้คุณทางด้านโชคลาภ ทรัพย์สมบัติ และการค้าขาย
“การมูเตลู คือการบูชาบวงสรวง มีเจตนาไหว้ไปให้ได้สิ่งที่ต้องการกลับมา ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ ให้ได้สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้ ร่างทรงเป็นมูฯ แน่นอน 100% ก็คือขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าที่นี่ส่วนใหญ่ก็จะมาขอพร บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรื่องการงาน ลูกศิษย์ที่กิจการรุ่งเรืองก็กลับมาสร้างท้าวเวสสุวรรณกับตำหนักให้” หมอตั้วกล่าวพลางชี้ให้เห็นรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณสูงใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าตำหนัก
หมอตั้วยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ร่างทรงควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเขาเล่าว่าแม้คนทรงเจ้าไม่จำเป็นต้องถือศีลเป็นร้อยข้อ เพราะตัวร่างทรงก็ยังมีความต้องการในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่การเข้าทรงลงเจ้าก็ต้องมีหลักการและจรรยาบรรณ ห้ามเรียกร้องกอบโกย ห้ามหาผลประโยชน์ ห้ามเอาดวงคนอื่นไปนินทาลับหลัง เล่าต่อให้เกิดความเสียหาย และต้องมีความซื่อสัตย์
“ที่เราต้องปฏิบัติเลยคือ ห้ามเรียกร้อง อันนี้สำคัญมาก ถ้าเขาจะให้เขาก็ให้เอง ส่วนศีลปฏิบัติ เราก็สามารถใช้ชีวิตถือศีล 5 ได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเคร่ง ถือศีลสูงขนาดพระ แล้วก็ซื่อสัตย์ สมมติว่าดูดวงเสร็จแล้วหันหลังกลับไป โอ้ยอีนั่นมันอย่างนี้ อีนี่ไปได้กับอีนี่ อีนี่มันเป็นเมียน้อยคนนั้นเนี่ย ห้าม อย่าเอาดวงไปไปพูด เสื่อมแน่ ห้ามเอาเรื่องความลับของลูกศิษย์มาพูด มันก็เป็นจรรยาบรรณที่ต้องยึด”
สิ่งสำคัญที่หมอตั้วทิ้งท้ายคือจะมาหวังว่าพิธีกรรมหรือคาถาจะพาไปสู่ความสำเร็จทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะพิธีลงเจ้าเข้าทรงและการดูดวง รวมทั้งการขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น
ร่างทรงแห่งตำบลกระเสียวเปรียบว่าถ้าชีวิตมี 100 ส่วน แบ่งเป็นดวงพื้นฐานของเราเอง 30 ส่วน หากต้องการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยที่เหลือ 70 ส่วนก็คงเป็นไปไม่ได้ จาก 70 ส่วนนั้นอาจช่วยได้เพียง 10 หรือ 20 ส่วน ที่เหลือต้องอาศัยการกระทำของตนเองประกอบด้วย
“ดูดวงก็เป็นแค่การให้แนวทางชีวิต ถามว่าพ่อปู่ท่านจะช่วยเราได้เต็มร้อยเลยไหม มันก็ไม่ใช่ สมมติว่าเต็มส่วนเรามีอยู่ 100 เนี่ย เรามีดวงแค่ 30 อีก 70 พ่อปู่จะช่วยเราได้ 70 เลยไหม ไม่เต็มนะ พ่อปู่อาจจะช่วยเราได้แค่ 10 หรือ 20 หรือ 30 เต็มที่เลยก็มีแค่ 50 50 ต้องมีดวงเราอยู่ ที่เหลือก็ต้องพึ่งตัวเองด้วย”
สักยันต์กับการบูชาที่ปราศจากวัตถุมงคล
เมื่อกล่าวถึงการมูเตลู ยังมีอีกหนึ่งความเชื่อที่เคียงคู่กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลคือการ ‘สักยันต์’
การสักยันต์ปรากฎในหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย หรือในช่วงยุคที่ยังมีสงครามบ้านเมือง โดยเอกลักษณ์คือไม่ต้องพกพาในลักษณะของวัตถุที่หิ้วห้อยคล้องคอ แต่เป็นลายน้ำหมึกที่มีการเสกคาถาลงอาคมอันเป็นสิริมงคลไว้บนผิวหนังคน มีอานุภาพให้แคล้วคลาดปลอดภัยและสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ชายที่ต้องออกไปรบ
อาจารย์สักยันต์ต้องไม่เพียงต้องมีความรู้ความสามารถด้านการลงเข็มเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรู้ด้านอักษรภาษาและคาถาอาคมด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เกิดผล หรือแม้ว่าจะสักผิดลายหรือสักพลาด สรรพคุณก็จะเปลี่ยน หรือเรียกว่า ‘อักษรวิบัติ’ ดังที่ อ.เทียม ซิวใจเอื้อ อาจารย์ผู้มีความรู้ด้านการสักยันต์ได้ยกตัวอย่าง
“พา มา นา อุ กะ สะ นะ ทุ เป็นคาถาหัวใจพาหุงทั้ง 8 บท บูชาเพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัย สามารถเอาชนะศัตรูได้ทั้งปวง ต้องรู้ที่มา วิธีเขียน จะได้เอาไปใช้ให้ถูกต้อง ไม่งั้นก็อักษรวิบัติ”
หลังจากที่ลงเข็มเสร็จแล้วก็จะมีการบริกรรมคาถาให้ลายสักศักดิ์สิทธิ์เป็นการสร้างขวัญกำลังให้ผู้ถูกสัก สรรพคุณก็แตกต่างกันไปตามลาย แบ่งเป็น 2 สายหลัก คือ สายคงกระพัน เพื่อให้แคล้วคลาด หนังเหนียว เช่น ยันต์มหาอุด ยันต์หนุมาน ยันต์ตะกร้อ และอีกสายหนึ่งคือการสักทางด้านเมตตา ซึ่งส่วนใหญ่เน้นทางการค้าขายให้เจริญรุ่งเรือง ความรักเสน่หา เช่น ยันต์สาลิกา ยันต์หงส์ทอง ยันต์ไก่ฟ้า ยันต์ไก่ป่าหากิน และยันต์จิ้งจก
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามต่อสู้แล้ว วัตถุประสงค์ของการสักยันต์ก็ได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเป็นวัตถุมงคลสำหรับป้องกันทหารที่ต้องออกรบให้แคล้วคลาด ก็กลายเป็นการสักเพื่อความคงกระพัน ตีรันฟันแทงไม่เข้าเวลายกพวกตีกัน หรือแม้กระทั่งสักเพื่อโอ้อวดแข่งขัน ‘ความเป็นชาย’ เมื่อค่านิยมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม ในปัจจุบันการสักยันต์ส่วนใหญ่ของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก จึงกลายเป็นการเสริมดวงชะตาในเรื่องหน้าที่การงาน เน้นไปทางการค้าให้ขายดิบขายดี ไปจนถึงสักเมตตามหานิยมให้ผู้ใหญ่เอ็นดูรักใคร่ งานจะได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น
การนับถือศาสนาพราหมณ์ ดูดวงด้วยไพ่ทาโรต์ บูชาเครื่องรางของขลัง การเข้าทรงลงเจ้า จนไปถึงการสักยันต์ จะเห็นได้ว่าวิถีปฏิบัติบนความเชื่อของแต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเชื่อได้ยังมีความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวส่วนบุคคลอีกมากมายกระจายตัวอยู่ในสังคมไทยในทุกมิติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความศรัทธาก็ย่อมหนีไม่พ้นการลบหลู่และการตั้งคำถามเกี่ยวกับความงมงาย
ตั้งคำถาม = ลบหลู่, เชื่ออย่างสนิทใจ = งมงาย ?
ในวันที่มนุษย์มองหาคำตอบสำหรับชีวิตผ่านเทคโนโลยีและวิทยาการความรู้ หน้าที่ของความเชื่อเหนือธรรมชาติก็ถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการเป็นที่พึ่งทางใจ ทว่าความเชื่อเหล่านี้ไม่เคยหายไปจากสังคม และมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อปฏิบัติตามในลักษณะที่ ‘ต้องเชื่อ’ โดยห้ามตั้งคำถาม จนกลายเป็นว่าหากมีใครสักคนยกมือขึ้นถามด้วยความสงสัยจะกลายเป็นการ ‘ลบหลู่’
ขณะเดียวกันกับที่หลายคนก็ชี้หน้าบอกกับเหล่าคนที่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างสนิทใจว่า ‘งมงาย’
ต่างคนต่างความคิด ต่างจิตต่างมุมมอง หากนิยามความงมงายหมายถึงการเชื่ออะไรสักอย่างแบบหัวปักหัวปำโดยไม่มีข้อพิสูจน์หรือเหตุผล สำหรับเหล่าผู้คนที่ศรัทธาใน ‘สายมูฯ’ จำนวนมาก มองว่าคำสบประมาทเหล่านี้ไม่มีผลกระทบกับตน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวสายมูฯ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ในแง่หนึ่งพวกเขาได้ลงมือพยายามกระทำการบางอย่างด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง และเสริมเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จด้วยการมูเตลู มีการนำชุดความคิดสมัยใหม่มาผสานเข้ากับความเชื่อ จนกลายเป็นเนื้อแท้แห่งความศรัทธา
พวกเขาไม่ได้เชื่ออย่างสนิทใจจากคำบอกเล่าหรือเรื่องราวจากปากต่อปากเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ทำการ ‘ทดลองและพิสูจน์’ ซึ่งเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ จนกลายเป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้เกิดเป็นความศรัทธาส่วนบุคคล
อาทิ คนรุ่นใหม่ที่ขอให้ประสบความสำเร็จในการเรียน แล้วได้คะแนนสอบและเกรดที่สูงขึ้น ขอเรื่องความรัก แล้วได้คู่รักตามที่หวัง หรือเรื่องของการเงิน ที่ได้รับโชคลาภหรือโอกาสในการทำงาน
และนอกจากวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่เบนเข็มชีวิตมาเชื่อเรื่องมูเตลูแล้ว สายมูฯ วัยทำงานก็เป็นอีกกลุ่มคนที่ได้ทำการพิสูจน์ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติก่อนจะเข้าสู่วงการลี้ลับนี้เต็มตัวเช่นกัน
“มันพิสูจน์ได้ จากคนที่ไม่เคยเชื่ออะไรเลย พระก็ไหว้นะ แต่ไม่เคยเชื่อ แต่มันมีช่วงหนึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ตั้งแต่สักมาชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็เกิดความศรัทธา”
ทราย อายุ 31 ปี เจ้าหน้าที่ตรวจค้นวินิจฉัยภาพเอ็กซ์เรย์ท่าอากาศยานที่เดินทางมาสักยันต์เล่าว่า เดิมทีเธอไม่เคยเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ หนำซ้ำยังมีมุมมองแง่ลบต่อเรื่องแบบนี้อีกด้วย กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสตามไปดูเพื่อนสักยันต์ ก็พูดท้าทายขึ้นมาว่า
“ขอเรื่องหน้าที่การงาน ถ้าเจริญในหน้าที่การงาน ได้เลื่อนตำแหน่งได้เลื่อนขั้น กูจะสัก กูจะเชื่อ”
ต่อมาไม่นานเธอก็ได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ไม่ได้กลับไปสักตามที่เคยลั่นวาจาเอาไว้ เวลาที่ล่วงเลยไปมาพร้อมกับข้อสังเกตว่าการจัดการภาระหน้าที่ที่มาพร้อมกับตำแหน่งใหม่ไม่ได้เป็นไปโดยราบรื่น รวมทั้งเวลาไปไหนมาไหนก็มีแต่คนทักว่าไปติดสินบนใครไว้หรือเปล่า ทำให้เธอกลับมาคิดถึงเรื่องมูเตลูและตัดสินใจสักยันต์ห้าแถวเป็นครั้งแรก เพื่อทำตามคำสัญญาของตัวเอง หลังจากนั้นปัญหาการงานทุกอย่างที่เคยรุมเร้าก็ได้รับการสะสางจนหมด
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเธอจึงเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ เพราะได้คำตอบที่ประสบพบเจอด้วยตนเอง
ในวันนี้เธอได้มาสักเพิ่มอีกครั้งด้วยเหตุผลว่าทำอาชีพที่ต้องเจอผู้คนมากหน้าหลายตา และมีหน้าที่คัดกรองสิ่งของของผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบิน ซึ่งอาจทำให้หลายคนไม่พอใจ จึงเลือกสักยันต์ที่มีสรรพคุณด้านเมตตามหานิยม เพื่อให้การงานราบรื่นมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทรายยังเปิดเผยความคิดที่มีต่อการมูเตลูว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยหาเหตุผลไม่ได้ แต่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเธอกล้าการยืนยันจากการพิสูจน์ด้วยตัวเอง จนนำไปสู่ ‘แรงศรัทธา’
จากประสบการณ์ตรงของทรายและเพื่อนในช่วงวัยเดียวกันของเธอ อาจกล่าวได้เบื้องต้นว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมองว่า ความเชื่อกับความงมงายมีความแตกต่างตรงความเข้าใจใน ‘แก่น’ ของเรื่องนั้นๆ เช่น การสวดมนต์โดยไม่รู้ความหมาย สวดอะระหังไล่ผี ทั้งที่เป็นบทบูชาพระรัตนตรัย ถือว่าเป็นการปฏิบัติโดยไม่เข้าใจหลักศาสนาอย่างแท้จริงก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ในทางกลับกัน สำหรับบางคนแล้ว ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติหรือการมูฯ อาจตอบสนองเพียงความอยากรู้ หรือเพื่อความสบายใจโดยไม่ต้องผูกโยงกับการพยายามที่จะเข้าใจแก่น เช่น การมูฯ เพื่อขอความรัก จากเทพเจ้าอินเดีย อย่างพระตรีมูรติ (พระศิวะ 5 เศียร) ในวันวาเลนไทน์ของศาสนาคริสต์
จะเห็นได้ว่า โดยเนื้อแท้ของกระแสมูเตลูที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจหรือสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตประสบความสำเร็จมากขึ้น ในยุคที่การเอื้อมคว้าบางอย่างเป็นเรื่องที่ยากเกินกำลัง โดยไม่จำเป็นต้องหันหาพึ่งพาศาสนาเสมอไป
ไม่ว่าการมูฯ เพื่อเป็นแนวทางสู่แก่นของความเชื่อนั้นๆ มูฯ เพื่อความสบายใจของตนเอง หรือด้วยเหตุผลต่างๆ ล้วนไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินได้ว่าเป็นเรื่องผิดหรือถูก เพราะความเชื่อและความศรัทธาไม่มีมาตรวัดที่แน่นอน แต่เป็นเรื่องของปัจเจกที่แต่ละคนเลือกทำ
แม้ว่าโลกหมุนไป วิถีชีวิตเปลี่ยนผันไปตามโลก แต่ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติไม่อาจจางหายไปกับกาลเวลา เพียงแค่เปลี่ยนไปตามบริสังคมสังคม เพราะความเชื่อเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ตลอดมา
อ้างอิง
เว็บไซต์
1.การวิเคราะห์ความเชื่อเหนือธรรมชาติในนวนิยายชุดผ้าของพงศกร
2.ความเชื่อเรื่องผีกับการก่อรูปของเรือนพื้นถิ่นอุษาคเนย์
3.ความเชื่อและความศรัทธา ที่พึ่งยามชีวิตเปราะบาง
4.คำว่ามูเตลูมาจากไหน แปลว่าอะไร
5.แนวคิดและการจัดประเภทของไสยศาสตร์
6.ตำนานปู่ภุชงค์นาคราชและพญานาคอื่นๆ
7.ร่างทรง : ผี เพศ และการเมืองบนพื้นที่ความเชื่อ
11.รู้จักสายมู ‘มูเตลู’ จิตวิญญาณแห่งความชอบส่วนบุคคล
12.สายมูเตลู คืออะไร ? มีที่มาจากไหน พร้อมพาคุณไปสำรวจ
13.ไสยศาสตร์ ความหมายและลักษณะพิเศษ
หนังสือ
- ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ? โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
- ศาสนาผี ใต้ชะเงื้อมเขาพระสุเมรุ โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
Photo and content by Nutwaree Titwattanasakul/PLUS SEVEN
Proofread by Pongpiphat Banchanont