The Adventures of Sherlock Holmes
ทำไมเราถึงสนุกกับ
ซีรีส์สืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ?
เพราะคนเราสงสัยใคร่รู้? เพราะทุกๆ การตายมันมีเงื่อนงำให้เราค้นหา? หรือลึกๆ แล้วซีรีส์สืบสวนสอบสวนทำให้เราได้เห็น ‘กระบวนการ’ ที่สามารถอธิบายเหตุและผลของการก่ออาชญากรรมจนนำไปสู่การจับกุม หรือลงโทษอาชญากรในท้ายที่สุดได้ การไขคดีทุกครั้งจึงเป็นการนำเรากลับมาสู่โลกที่ปกติและปลอดภัยอีกครั้ง อันเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นกันในชีวิตจริงซักเท่าไหร่
บทประพันธ์ชุดนักสืบ ‘เชอร์ล็อก โฮล์มส์’ เขียนโดย เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ตีพิมพ์คดีแรก ‘แรงพยาบาท’ (A Study in Scarlet) พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Beeton’s Christmas Annual ในปี ค.ศ. 1887 แนวทางการสืบสวนของเชอร์ล็อกในนิยายถือว่าใหม่และปฎิวัติวงการนิยายสืบสวนเป็นอย่างมาก ตัวเอกเป็น ‘นักสืบเชลยศักดิ์’ ก็คือเป็นนักสืบเอกชนที่รับจ้างไขคดีฆาตกรรม โดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อร้อยกว่าปีก่อนถือว่าเป็นแนวคิดยุคแรกเริ่มของการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเลยล่ะครับ ผสมผสานกับ ‘ศาสตร์แห่งการอนุมาน’ อันลือชื่อ คือแกโยงข้อมูลส่วนตัวของผู้ตาย ประวัติการเดินทาง ประวัติการเงิน ประวัติครอบครัว จนสามารถควานหาฆาตกรได้ในที่สุด ซึ่งถูกพัฒนามาเป็นหลักการสืบสวนสอบสวนในปัจจุบันเช่นกันครับ
การดัดแปลงเรื่องนี้มีมาหลายครั้งนับไม่ถ้วนนะครับ ผมเคยดูทั้งฉบับหนังยุคขาวดำปี ค.ศ.1939 (The Adventures of Sherlock Holmes) ที่แสดงโดย เบซิล รัธโบน (Basil Rathbone) ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ดั้งเดิมตรงๆ จนถึงฉบับหนังล่าสุด (Sherlock Holmes) ที่แสดงโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) ที่มีลักษณะของงานเลียนแบบ (pastiche) เพราะดัดแปลงจากฉบับการ์ตูนคอมิคส์ที่แต่งคดีขึ้นใหม่ หรือแม้แต่นิยายตอน ‘เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ตอน ผจญมัจจุราช’ (The Seven-Per-Cent Solution) ก็แต่งโดยนักเขียนอเมริกัน นิโคลาส เมเยอร์ (Nicholas Meyer) แล้วยังทำเป็นหนังด้วย แต่สิ่งที่ไม่เคยเห็นในงานดัดแปลง หรือเลียนแบบเหล่านี้เลย แต่มาได้เห็นในซีรีส์ Sherlock ก็คือการได้ ‘เข้าไปอยู่ในหัว’ ของเชอร์ล็อก รู้ว่าแกมองเห็นอะไร คิดอะไร และกำลังตามอะไรอยู่
ซีรีส์ Sherlock นี้ครีเอเตอร์ หรือตำแหน่งแบบไทยๆ เรียกว่าผู้สร้างมีสองคนครับ คือ มาร์ค เกติสส์ (Mark Gatiss) และสตีเว่น มอฟแฟต (Steven Moffat) ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษเมื่อ 25 กรกฎาคม ค.ศ.2010 ที่ตีความใหม่ให้เชอร์ล็อกอยู่ในยุคปัจจุบัน ใช้ไอโฟน, ใช้คอมพิวเตอร์, ดูกล้องวงจรปิด และตรวจหา DNA ฆาตกรจากเนื้อเยื่อ หรือคราบเลือดได้ อีกข้อคือ ด้วยเทคนิคการนำเสนอที่ใช้การขึ้นข้อความในหัวเชอร์ล็อก หรือตัดเข้า POV (มุมมองของเชอร์ล็อก) ทำให้เราได้ ‘รู้และเห็น’ หลักฐานต่างๆ ไปพร้อมๆ กับเชอร์ล็อก เราจึงสนุกกับการไล่ตามปริศนาไปพร้อมๆ กับนักสืบคนนี้ ไม่ใช่การคอยนั่งรอว่าแกจะเจออะไรแล้วมาอธิบายเราทีหลัง บ่อยครั้งที่คนดูเห็นเบาะแสก่อน หรืออนุมานได้ก่อนว่าผู้ตายตายอย่างไร บางครั้งที่คนดูยังจับต้นชนปลายไม่ถูก มีหลักฐานในมือและข้อมูลอยู่แล้ว เชอร์ล็อกก็จะเป็นคนทำหน้าที่คอยเชื่อมโยงให้เราเห็นภาพเดียวกันจนนำไปสู่การจับกุมคนร้ายได้สำเร็จ
Sherlock จึงอาจเป็นซีรีส์ที่ตีความเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ในเชิงสืบสวนได้เข้าถึงคนดูที่สุดเรื่องหนึ่ง และดึงให้คนดูมีส่วนร่วมสุดๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน พร้อมๆ กับยุคอินเทอร์เน็ตที่คนดูสามารถสร้างกลุ่มถกเถียงนำไปสู่การสร้างทฤษฎีตีความต่างๆ ซีรีส์นี้ก็เล่นสนุกกับความช่างคิดของคนดูอยู่หลายหน โดยเฉพาะในตอน ‘Many Happy Returns’ ตอนแรกของซีซั่น 3 ที่ทั้งตอนเล่นประเด็นว่า เชอร์ล็อก จะรอดชีวิตจากการตกตึกพร้อมๆ กับมอริอาตี้ได้อย่างไร โดยผูกเรื่องจากทฤษฎีที่แฟนๆ ในอินเทอร์เน็ตคิดวิเคราะห์กันขึ้นมาหลากหลายวิธี เล่นกับประเด็นอยากรู้และช่างคิดของคนดู จนในท้ายสุดพอเฉลยถึงกับตกเก้าอี้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามการเล่นกับคนดู
ก็ส่งผลต่อเชอร์ล็อก
ในอีกทางหนึ่งที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน
Sherlock: Asexuality Holmes
เสน่ห์เฉพาะตัวของเชอร์ล็อกในฉบับนี้ที่รับบทโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) โดดเด่นด้วยท่าทีไม่ยี่หระคนรอบข้าง ฉลาดเป็นกรด ที่สำคัญสุดคือแกมีลักษณะ Asexuality person หรือเป็นคน ‘ไม่ฝักใจทางเพศ’ อันเป็นประเด็นที่ทุกวันนี้ก็ยังถกเถียงไม่จบครับ บ้างก็ว่าการตีความนี้แสดงท่าทีต่อต้านการมีสัมพันธ์แบบชาย-หญิงตามขนบ เพราะคนเดียวที่เชอร์ล็อกสนใจตลอดทั้ง 4 ซีซั่นก็คือ ‘วัตสัน’ ที่รับบทโดน มาร์ติน ฟรีแมน (Martin Freeman) ต่างหาก! จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นความบังเอิญ? แรงจิ้นจากบรรดาแฟนคลับ? หรือมีความจงใจอยู่กันแน่?
ย้อนกลับไป 1 ปีก่อน Sherlock จะออกฉาย ในการดัดแปลงเป็นฉบับหนังฮอลลีวูดโดยผู้กำกับ กาย ริทชี่ (Guy Ritchie) นั้น Sherlock Holmes (ค.ศ.2009) มีความพยายามที่จะสร้างตัวละครไอรีน แอดเลอร์ รับบทโดย ราเชล แม็กอดัมส์ (Rachel McAdams) ให้เป็น ‘ผู้หญิงของเชอร์ล็อก’ หรือจะเรียกว่านางเอกของเรื่องก็ได้ ขณะเดียวกันฝั่งคุณหมอวัตสันนั้นก็มีคู่หมั้นหมายให้เห็นกันอยู่แล้ว เรียกได้ว่าสถานะของทั้งคู่เป็น ‘ชายแท้ที่มุ่งมั่นกับการงาน’ ตามขนบดั้งเดิม และหนังก็ย้ำให้เห็นตลอดว่าแรงขับทางเพศที่เชอร์ล็อกมีความสนใจในตัวไอรีน เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเข้าไปพัวพันกับการไขคดี ไม่ใช่แค่ปริศนาฆาตกรรมในเรื่องเท่านั้น
ตรงกันข้ามกับ Sherlock ที่มุ่งเน้นให้ผู้ชมสนใจความสัมพันธ์ระหว่างเชอร์ล็อกกับวัตสันเป็นหลัก ในลักษณะคู่ความสัมพันธ์แบบ Bromance แต่ก็กลายเป็นคู่จิ้นในเวลาต่อมา หลักฐานก็คือแฟนอาร์ต (งานภาพวาดหรือการ์ตูน) แฟนฟิค (นิยายหรือเรื่องสั้น) จากฝั่งเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไทย ที่ผลิตออกมาอย่างมากมายไม่รู้จบจนถึงทุกวันนี้ พยายามเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ของคู่นี้เขา ‘เกินเพื่อน’ กันนะ ไม่ใช่คู่หูร่วมสืบคดีกันธรรมดา
สตีเว่น มอฟแฟต ครีเอเตอร์ร่วมของ Sherlock ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “เชอร์ล็อกไม่ฝักใฝ่เรื่องเซ็กส์ เพราะเขาอยากเคลียร์สมองให้โล่งเพื่อหมกมุ่นกับคดีอย่างเดียว มันเป็นความเชื่อในยุควิคตอเรียนน่ะว่าการคิดเรื่องเซ็กส์จะทำให้สมองไม่แล่น แต่ตอนนี้ใครๆ ก็อยากให้เขาเป็นเกย์ คือผมบอกเลยนะว่า เขาน่ะไม่ใช่เกย์ แต่เขาก็ไม่ใช่ชายแท้เหมือนกัน” (เอ๊ะ ยังไง สตีเว่นใช้คำว่า He’s not gay. He’s not straight)
เบเนดิกต์ ตบท้ายว่า “ผมว่าเขาไม่ต้องการเซ็กส์นะ ผมคิดว่าเขาน่าจะมีประสบการณ์แย่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนในอดีต เขาเลยไม่อยากยุ่งกับมันอีก หรือไม่เขาก็รู้ตัวว่าการเอาชนะใจผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องของการใช้อารมณ์เหนือเหตุผลเกินไป ซึ่งเขาไม่ถนัดเอาซะเลย ดังนั้นเขาเลยเลี่ยงที่จะพาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ เพราะมันเสี่ยงเกินกว่าเขาจะรับมือได้”
ดังนั้นใน Sherlock เราจึงเห็นการใช้ประโยชน์ ‘จุดอ่อนเรื่องผู้หญิง’ ของเชอร์ล็อกในการตีความแบบ Asexual คือหลีกเลี่ยงเพราะไม่อยากรับมือ ในตอน A Scandal in Belgravia ซึ่งเป็นอีพีแรกของซีซั่น 2 เราจึงเห็นท่าทีกระอักกระอ่วนของเชอร์ล็อกเมื่อต้องเผชิญหน้ากับไอรีนตลอด ทั้งการวางตัวไม่ถูก การไม่รู้จะรับมือกับการยั่วยวนทางเพศของเธออย่างไร แต่ก็เป็นจุดแข็งของเขาเช่นกันเมื่อลูกไม้โปรยเสน่ห์ของเธอไม่ได้ผล ลักษณะอาการเช่นนี้เราอาจรู้สึกและไม่คุ้นชิน เพราะช่างดูต่างจากเจมส์ บอนด์ อีกหนึ่งตัวละครตามขนบสุภาพบุรุษอังกฤษที่มักกะล่อนจนเสียการเสียงานเสมอ (ฮา)
The Return of Sherlock Holmes
ช่วงทศวรรษ 2010 อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของซีรีส์โทรทัศน์อเมริกัน ที่มีทุนสูงกว่าใครเพื่อนและยังยกระดับมาตรฐานงานสร้างให้มีความใกล้เคียงกับภาพยนตร์มากขึ้น อาทิ Prison Break, 24 และ Lost ที่เอ่ยชื่อมาแค่บางส่วนนี่ ใช้ทุนสร้างหลักล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อตอน ส่วนใหญ่ผลิตกันซีซั่นละ 24 ตอนเพื่อให้ลง slot ของทางช่องโทรทัศน์ อาทิ Lost ที่มีเรทงบสร้างต่อตอนราว 3-4 ล้านเหรียญ รวมค่าตัวดาราแล้วว่ากันว่า บางเรื่องใช้ทุนสร้างสูงเกือบ 100 ล้านเหรียญ พอๆ กับหนังฟอร์มใหญ่ของสตูดิโอในฮอลลีวูดเลยทีเดียว
แต่การมาของ Sherlock เปลี่ยนระบบการคิดและสร้างซีรีส์ขนานใหญ่ จนส่งผลถึงยุคสตรีมมิ่งเลยครับ ประการสำคัญก็คือ การลดจำนวนตอนลงและขยายเพิ่มเวลามากขึ้น จากเดิมที่ซีรีส์นั้นผูกติดกับ Time slot หรือเวลาออกอากาศของช่องเป็นสำคัญ ซีรีส์อเมริกันจึงมักจะมีความยาวต่อตอนระหว่าง 40-43 นาที เมื่อบวกเวลาโฆษณาเข้าไปแล้วก็จะได้เวลาครบเวลาออกอากาศ 1 ชั่วโมงพอดี แต่ Sherlock มีเพียง 3 ตอนต่อซีซั่น และแต่ละตอนยาวชั่วโมงครึ่ง โดยในตอนนั้นๆ จะเป็นการหยิบเอาคดีในบทประพันธ์เดิมของโคนัน ดอยล์ มาดัดแปลงใหม่ เส้นเรื่องกลางคือ พัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างเชอร์ล็อกและวัตสัน
จุดเปลี่ยนอีกประการสำคัญคือการทำเงินมหาศาลให้แก่ BBC ลำพังซีซั่นแรกเองก็มีสถิติการขายสิทธิ์ฉายใน 224 ประเทศ ทำเอาตัวสถานีมียอดกำไรเพิ่มสูงขึ้นถึง 174 ล้านปอนด์ คิดเป็นผลกำไร 11% โตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ.2009 พอผลิตเป็นดีวีดีก็ทำยอดขายถล่มทลายในญี่ปุ่น แม้แต่ยอดคนดูออนไลน์ในจีนก็สูงถึง 70 ล้านวิว ทั้งหมดนี้เป็นแค่สถิติของซีซั่นแรกในรอบปี ค.ศ.2010-2014 นะครับ
ส่วนชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สุดของ Sherlock เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2014 เมื่อคว้า 7 รางวัลจากเวที Emmy Awards อันเปรียบเสมือนรางวัลออสการ์สำหรับวงการละครโทรทัศน์เลยล่ะครับ ได้รางวัลใหญ่ทั้งดารานำชาย (เบเนดิกต์) สมทบชาย (มาร์ติน) และเขียนบท (สตีเว่น) กล่าวได้ว่าการไปปักธงในอเมริกานี้กรุยทางให้ซีรี่ย์จากอังกฤษรุ่นถัดมาอย่าง The Crown หรือ Peaky Blinders สร้างความยิ่งใหญ่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
Elementary Miss Sherlock
ใครที่ยังรอข่าวคืบหน้าของซีซั่น 5 อยู่ก็รอต่อไปละกันนะครับ ผมไม่รอแล้ว (ฮา) เพราะว่าหลังจาก Sherlock ได้รับความนิยมก็มีซีรีส์ที่ตีความบทประพันธ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ในแนวทางใหม่ออกมาให้ได้ดูกันเด่นๆ ถึง 2 เรื่องเลยทีเดียว และน่าสนใจทั้งคู่ตรงที่ต่างมีความพยายาม ‘ตีโต้’ การตีความในแบบ Sherlock ตามแนวทางของตน
Elementary เป็นซีรีส์อเมริกันที่เอาบทประพันธ์มาทำเช่นกันครับ ออกฉายซีซั่นแรกทางช่อง CBS ในปี ค.ศ.2012 และเพิ่งจบซีซั่นที่ 7 ลงไปในปี ค.ศ.2019 นี่เอง มีจำนวนตอนทั้งสิ้น 154 ตอน จอห์นนี่ ลี มิลเลอร์ (Jonathan Lee Miller) รับบทเชอร์ล็อก โฮล์มส์ สิ่งที่น่าสนใจของ Elementary นอกจากการปรับให้เรื่องเกิดขึ้นในอเมริกายุคปัจจุบัน ผนวกศาสตร์แห่งการอนุมานเข้ากับการหาหลักฐานสืบสวนคดีประหนึ่งซีรีส์ CSI ตามสไตล์อเมริกัน ตัววัตสันในฉบับนี้ก็จะคอยประเมินสภาพจิตของโฮล์มส์ไปด้วย และจุดที่ถือเป็นการตีโต้เวอร์ชั่น Sherlock อย่างสนุกก็เห็นจะเป็นการปรับให้คุณหมอวัตสันในฉบับนี้เป็นผู้หญิง รับบทโดย ลูซี่ ลิว (Lucy Liu) ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นเรื่องโรแมนติคแบบชาย-หญิงไปด้วย
อีกฟากหนึ่งของโลกนั้น ประเทศญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่ารับอิทธิพลจากนิยายชุดนักสืบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ไปเต็มๆ ก็ได้ทำซีรีส์ดัดแปลงจากบทประพันธ์นี้ด้วยกับเรื่อง Miss Sherlock ความสนุกของการดัดแปลงครั้งนี้อยู่ตรงปรับให้ตัวเอกทั้งเชอร์ล็อกและวัตสันนั้นเป็นผู้หญิงทั้งคู่ ซาร่า ‘เชอร์ล็อก’ เชลลี่ ฟูตาบะ ที่รับบทโดย ยูโกะ ทาเคอูจิ (Yuko Takeuchi) ต้องจับคู่กับแพทย์อาสาสาว ดร. วาโตะ ทาชิบาน่า รับบทโดย ชิโฮริ คันจิยะ (Shihori Kanjiya) ร่วมกันไขคดีฆาตกรรมปริศนาในโตเกียว ตัวละครขาประจำของต้นเรื่องเดิมล้วนถูกนำมาดัดแปลงเช่นกัน อาทิ นักสืบเลอเสตรด ที่มักขอร้องให้เชอร์ล็อกมาช่วยไขคดี, มายครอฟท์ พี่ชายของเชอร์ล็อก จนถึง แม่บ้านฮัดสัน และที่ขาดไม่ได้เลยคือคู่ปรับตลอดกาลอย่าง มอริอาตี้ ก็มีบทบาทในเรื่องนี้ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ที่คาดไม่ถึงกันอีกด้วย
เชียร์ให้ชม Miss Sherlock เพราะนอกจากจะดัดแปลงให้ตัวละครเป็นผู้หญิงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างโชอร์ล็อกกับวัตสันในฉบับนี้ก็มีความเป็นเพื่อนหญิง พลังหญิง ที่ให้เคมีคู่ตัวละครนี้น่าสนใจกว่าฉบับอื่นๆ และการตีความเป็นเชอร์ล็อกของยูโกะ ทาเกะอุชิก็แพรวพราว ตลก และน่ารัก มีความปากร้าย ตรงไปตรงมา หากก็จริงใจและเข้าอกเข้าใจคนอื่นพอสมควร ขณะที่วัตสัน หรือคุณหมอวัตโตะนั้นจะไม่ใช่คนเก่งกาจ แต่จะเป็นคนคอยสังเกตและพยายามเรียนรู้การสืบสวนของเชอร์ล็อกไปเรื่อยๆ ทำให้คนดูได้รู้จักเชอร์ล็อกมากขึ้นว่าเธอรอบรู้กว้างขวาง ทั้งประวัติศาสตร์ศิลปะ, ดนตรี, สังคม, การเมือง และแม้แต่การกิน!