เมื่อเราคิดถึง ‘ละคร’ สักเรื่อง ภาพของละครที่มีความแซ่บชวนให้ตามดูกันแบบติดจอก็มักจะมีเรื่องราววุ่นวายใน ‘ครอบครัว’ และมันจะยิ่งดูร้อนแรงมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวถ้าละครเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ ‘คดีอาชญากรรมที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง’
ละครเรื่อง ‘เลือดข้นคนจาง’ เองก็ดูจะมีปัจจัยที่กล่าวไปอยู่ครบถ้วน แถมยังอุดมไปด้วยดารารุ่นใหญ่มากฝีมือ และดารารุ่นใหม่ที่ฝีมือไม่เล็ก ทำให้กระแสของละครออกมาดีตั้งแต่ยังไม่ฉาย และเมื่อออกอากาศแล้วก็ไม่ทำให้คนดูผิดหวัง แถมยังเปลี่ยนโหมดจากแค่คนดูไปเป็นยอดนักสืบเพื่อหาทางไขปริศนาของละครไปด้วย
ในระหว่างที่หลายคนกำลังอินกับเรื่องราวคาวๆ เดือดๆ ในครอบครัว The MATTER ขอแนะนำซีรีส์ต่างประเทศที่ใช้ลูกสูตรเดียวกันจนเรียกได้ว่าเป็นสากลคือ เป็นเรื่องครอบครัวและมีคดีอาชญากรรมที่เอาเค้าโครงมาจากเรื่องจริง แต่ใช้วิธีเล่าแบบละครฝรั่งที่ให้อรรถรสชวนลุ้นชวนติดตามไม่ต่างกัน เผื่อใครจะไปหาดูระหว่างรอเลือดข้นคนจางตอนใหม่
Narcos
ซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและคดีอาชญากรรมที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงซึ่งฉายเฉพาะบน Netflix เรื่องนี้ เล่าถึงกลุ่มนักค้ายาในโคลอมเบีย โดยเฉพาะเรื่องราวของ ปาโบล เอสโกบาร์ (Pablo Escobar) นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เขาได้รู้จักแหล่งผลิตยาเสพย์ติด และใช้ทักษะส่วนตัวของเขาในการทำการค้าผิดกฎหมาย จากผู้ค้าหน้าใหม่ พลิกผันกลายเป็นเจ้าพ่อยาเสพติดที่ถือว่ามีทรัพย์สินติดระดับโลก ก่อนจะกลายเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้รับการนับถือจากประชาชนชาวโคลอมเบีย ด้วยเหตุที่ว่าเขาคนนี้นำเงินจากการค้ายามาใช้กระทำการ บรรษัทบริบาลหรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ทั้งเพื่อให้สังคมสนับสนุนเขา แล้วก็เป็นการฟอกเงินไปในตัว
จริงๆ แล้วตัวซีรีส์เล่าผ่านมุมมองของสมาชิกของสำนักงานปราบปรามยาเสพติด แต่เราก็ไม่ได้เห็นว่า ปาโบล เอสโกบาร์ เป็นคนร้ายเสียทีเดียว ผู้สร้างซีรีส์ได้ดัดแปลงเรื่องราวให้เราเข้าใจถึงเสน่ห์ในความเป็นเจ้าพ่อกับความฉลาดเฉลียวของปาโบลได้ดี และที่สำคัญคือตัวซีรี่ส์เล่าถึงจุดกำเนิดพลังของปาโบลที่มาจากครอบครัวซึ่งคอยสนับสนุนการทำงานและเป็นคนคู่คิดในการขยายอิทธิผล ทั้งแม่ที่คอยสนับสนุนในการทำงาน ภรรยาที่อาจจะไม่ได้ช่วยงานมากแต่เป็นคนมั่นคงในความรักจวบจนนาทีสุดท้าย ญาติที่ร่วมกันรันวงการยาเสพย์ติด ในขณะเดียวกันเมื่อเรื่องราวดำเนินไปก็มีการขยายครอบครัวเพิ่มขึ้น และญาติของปาโบลก็ไปมีสัมพันธ์กับคู่แข่งการค้าที่กลายเป็นชนวนสงครามแย่งชิงความเป็นเจ้าตลาดยาเสพติด ถ้าพูดอีกแง่ก็พอบอกได้ว่าสมาชิกครอบครัวของปาโบล เอสโกบาร์นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่และเป็นจุดเริ่มต้นของจุดสิ้นลายของเขา
ซีรีส์ Narcos มีทั้งหมด 3 ซีซั่น และตัวปาโบล เอสโกบาร์ ก็จบฃีวิตไปในซีซั่นที่ 2 ทำให้ช่วงซีซั่นที่ 3 จะข้ามไปเล่าเรื่องของกลุ่มค้ายาเสพติดกาลี การ์เตล (Cali Cartel) ที่ขึ้นมาเรืองอำนาจต่อ แม้ทางทีมผู้สร้างก็พอจะรู้ตัวว่าเสน่ห์ของเรื่องตกไปพอสมควร แต่ก็สานต่อเรื่องราวของนักค้ายาเจ้าใหญ่ในประเทศโคลอมเบียจนจบ และตอนนี้ก็ได้ทำการ ‘รีเซ็ต’ ด้วยการประกาศว่าภาคต่อไปมีเรื่องราวในประเทศเม็กซิโก และจะไปโฟกัสการจับกุมตัว เฟลิกซ์ กัลญาร์โด (Félix Gallardo) ซึ่งคาดว่าจะมีฉากชีวิตที่เข้มข้นไม่แพ้กับฉบับแรก แต่ถ้ามองในมุมที่ว่าขนาดปรับเรื่องให้เป็นเรื่องแต่งแล้ว ซีซั่นแรกยังมีความละเอียดในการสร้างอยู่ไม่น้อย ภาคต่อก็คงจะทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน
American Crime Story: The People v. O. J. Simpson
นอกจากที่ซีรีส์เรื่องนี้จะมีดาราใหญ่ๆ ทั้งจากฟากฝั่งภาพยนตร์และฝั่งโทรทัศน์มารวมตัวกัน ตัวซีรีส์ยังหยิบเอาคดีอาชญากรรมที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงที่น่าจะเป็นคดีซึ่งดังที่สุดในอเมริกายุค 1990 มาบอกเล่าใหม่อีกครั้ง
คดีดังกล่าวคือ คดีฆาตกรรม นิโคล บราวน์ ซิมป์สันส์ (Nicole Brown Simpson) กับ รอน โกลด์แมน (Ron Goldman) และผู้ต้องสงสัยหลักของคดีนี้ก็มีเพียงคนเดียว นั่นก็คือ โอเจ ซิมป์สัน (O. J. Simpson) อดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักแสดง ความเป็นคนดังของผู้ต้องสงสัยกับผู้ตายและความที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งเชื่อกันว่าไม่น่ามีเหตุร้ายแรงระดับนี้ ส่งผลให้คดีกลายเป็นข่าวใหญ่แทบจะทันที และหลักฐานวัตถุกับหลักฐานแวดล้อมก็บ่งชี้ว่า โอเจอาจจะเกิดความไม่พอใจอดีตภรรยาที่ตอนนี้เหมือนจะคบหากับเด็กหนุ่มหน้าตาดีจนพลั้งมือก่อคดีอุกอาจได้ และเหตุการณ์หลังจากเกิดคดีก็ดูใหญ่โตจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง
ตัวซีรีส์นำเสนอคดีใหญ่นี้ด้วยความเป็นละครมากกว่าที่จะเป็นสารคดี จึงมีเนื้อเรื่องส่วนหนึ่งถูกนำเสนอแบบ ‘เล่นใหญ่’ กับแทรกมุกตลกเชิงวัฒนธรรมป๊อปอยู่เนืองๆ แต่ซีรีส์ก็ยังนำเสนอมุมที่น่าสนใจ อย่างภาวะภายในครอบครัวของโอเจหลังจากตกเป็นผู้ต้องสงสัย พวกเขาเจอกับความสติแตกอะไรบ้าง อีกส่วนที่ซีรีส์นำเสนอคือความเป็นครอบครัวในรูปแบบอื่นๆ ทั้งฝั่งอัยการที่มาร่วมหัวจมท้ายกันเพราะเชื่อมั่นในการปกป้องทุกครอบครัวตามตัวบทกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็มีมุมมองของ ‘ครอบครัวของคนอเมริกาเชื้อสายแอฟริกา’ ที่ในช่วงปี 1994 ซึ่งเป็นช่วงเกิดคดีของโอเจ ซิมป์สัน ครอบครัวใหญ่กลุ่มนี้เชื่อว่าบุคลากรรัฐของอเมริกายังเลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีคนผิวสี
แม้โอเจ ซิมป์ซันจะพ้นผิดจากการเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมอดีตภรรยา แต่ในสุดท้ายเขาก็ได้รับความผิดฐานลักพาตัวและพยายามบุกเข้าปล้นร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับกีฬาในกรุงลาสเวกัส ซึ่งเขาได้รับโทษจำคุก 9 ถึง 33 ปี และได้ถูกปล่อยตัวในปี 2017 ซึ่งคาดว่าจะกลับไปอยู่กับลูกๆ ของเขาที่เจ้าตัวพยายามปกป้องไว้ตั้งแต่อดีต
Aquarius
คอซีรีส์หลายคนเห็นดารานำของเรื่องอย่าง เดวิด ดูคอฟนี (David Duchovny) อาจจะตีความไปล่วงหน้าว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับคดีเหนือธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่ใช่นะ เรื่องนี้เป็นซีรีส์ดราม่าสืบสวนสไตล์ Hard-Boiled หรือสไตล์สืบสวนที่ตัวเอกไปลุยภาคสนาม และมีความหน่วงๆ ตามวิสัยการสืบคดีในยุค 1960 ยุคที่นิติวิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้า ตัวเอกของเรื่องคือ แซม โฮดิแอค นักสืบสมมติที่ถูกตบแต่งว่าเขาต้องไปสืบสวนคดีเด็กหญิงคนหนึ่งที่หายตัวไป ก่อนจะพบว่าคนที่พาเด็กหญิงไปนั้นคือ ชาร์ลส แมนสัน (Charles Manson) ชายหนุ่มที่ภายนอกดูเหมือนจะเป็นแค่ฮิปปี้ติดกัญชาและมีคดีติดตัวระดับหนึ่ง ซึ่งก็ดูไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก แต่ทุกคนที่เคยพบชายคนนี้กลับบอกว่าเขามีอันตรายดุจพิษร้ายแต่ก็มีเสน่ห์เย้ายวนจนยากจะหลีกเลี่ยง
ซีรีส์ค่อยๆ เล่าเรื่องว่าชาร์ลสได้ทำการสร้าง ครอบครัวแมนสัน (Manson Family) ที่ตัวชาร์ลสถือว่าเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว คอยเปลี่ยนชื่อให้เหล่าผู้ติดตามทั้งชายหญิง ก่อนจะสั่งการให้ ‘ครอบครัว’ ของเขาทำตามความเชื่อจากการตีความเพลง Helter Skelter ว่าเป็นสงครามวันสิ้นโลกระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ความหนืดหน่วงของซีรีส์ทำให้เราค่อยๆ เห็นถึงการสร้างครอบครัวอาชญากรที่น่ากลัวของชายหนุ่มผู้เป็นปีศาจทรงเสน่ห์ น่าเสียดายเบาๆ ที่เรื่องราวถูกตัดจบไปก่อนที่เราจะได้เห็นว่าในเรื่องจะตีความการจับกุมครอบครัวแมนสันได้อย่างไร
สำหรับท่านที่สงสัยว่าชื่อเรื่องนั้นมีที่มาจากอะไรนั้น ทางทีมงานสร้างเคยอธิบายไว้ว่า ชื่อเรื่องถูกนำมาจากประโยค “Age Of Aquarius” ที่หมายถึงกลุ่มวัยรุ่นที่เคลื่อนไหวในช่วงยุค 1960-1970 ซึ่งเป็นกลุ่มคนร้ายหลักของซีรีส์นั่นเอง
Law & Order True Crime: The Menendez Murders
Law & Order เป็นซีรีส์เชิงกกฎหมายที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน และมีภาคแยกออกมาหลายภาค ซึ่งแทบทุกภาคมักจะหยิบข่าวดังในกระแสสังคมมาบิดเรื่องเล็กน้อยและเพิ่มอรรถรสให้สอดคล้องกับตัวละครหลักในเรื่องนิดหน่อย เพื่อให้ตัวซีรีส์สามารถเดินเรื่องได้แบบไม่ติดขัด พอมาในภาคแยก True Crime ทีมงานสร้างได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการนำเสนอเล็กน้อย ด้วยการหยิบข่าวของคดีตัดสินถึงที่สิ้นสุดแล้วมาบอกเล่าใหม่ในรูปแบบละคร
คดีแรกที่ Law & Order True Crime เลือกที่จะนำมาบอกเล่าก็คือคดีฆาตกรรมสมาชิกในครอบครัวเมเนนเดซ (Menendez) ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1989 เป็นข่าวที่ชาวอเมริกาสนใจอย่างมาก เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อคู่สามีภรรยาถูกยิงด้วยปืนลูกซองจนเสียชีวิต ทั้งคู่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์หรูกลางย่านเบเวอร์ลีฮิลส์ที่เต็มไปด้วยคนฐานะดีจำนวนมาก คดีนี้จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ของช่วงเวลาดังกล่าว และทิศทางของคดีก็ตีไปในทางว่า ผู้เป็นพ่อของบ้านอาจจะทำธุรกิจกับกลุ่มคนอันตรายแล้วโดนกลุ่มคนเหล่านั้นเอาคืนจนถึงชีวิต แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ลูกชายทั้งสองคนที่เป็นผู้แจ้งความก็เริ่มใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่ายจนผิดสังเกต การตรวจหลักฐานอีกครั้งจึงเกิดขึ้น ซึ่งทุกอย่างบ่งชี้ว่า คนในครอบครัวอย่างลูกชายทั้งสองคนนั่นล่ะ…ที่เป็นฆาตกรตัวจริง
ความจริงนี้สร้างความตกใจให้กับคนตามข่าว เพราะสภาพภายนอกของครอบครัวนี้คือครอบครัวในฝัน พ่อแม่อาศัยอยู่กับลูกหน้าตาหล่อเหลาสองคนที่ดูสนิทสนมกัน คนจึงไม่คาดคิดว่าลูกๆ จะทำร้ายพ่อแม่ได้ แต่คดีก็ยังมีจุดน่าตกใจเพิ่มขึ้นมา เมื่อมีการสืบสวนสองพี่น้อง ไลล์ กับ เอริก เมเนนเดซ (Lyle and Erik Menendez) ได้ให้การในชั้นศาลว่าพวกเขากระทำการฆาตกรรมเพราะพ่อแม่แท้ๆ ของเขานั้นเคยทารุณกรรมพวกเขาตั้งแต่วัยเด็กทั้งการใช้วาจา กำลัง และขืนใจร่วมเพศ ประเด็นนี้ทำให้ข่าวเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง และสะเทือนใจคณะกรรมการลูกขุนจนมีภาวะไม่สามารถพิจารณาคดีต่อถึงสองครั้ง ก่อนจะมีการพิจรณาคดีใหม่ ซึ่งสุดท้ายสองพี่น้องก็ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ให้ทั้งสองคนได้มีโอกาสรับทัณฑ์บน
ตัวซีรีส์ Law & Order True Crime เล่าเรื่องตามลำดับ แต่หยิบยกเอามุมมองของ เลสลี่ อับรามสัน (Leslie Abramson) อัยการฝ่ายจำเลยที่มาว่าความให้สองพี่น้องในชีวิตจริง พร้อมกับโฟกัสถึงเหตุผลว่าอะไรทำให้เด็กสองคนสังหารพ่อแม่บังเกิดเกล้าได้ลงคอ อาจจะเพราะเรื่องราวเล่าในมุมที่เพิ่มเติมจากข่าวไปไม่มากทำให้กระแสความนิยมไม่ได้สูงมากนัก และตัวซีรีส์ Law & Order True Crime ก็ถูกแช่แข็งชั่วคราว อาจจะเพราะซีรีส์แนวเดียวกันมีในตลาดเยอะแล้ว หรือเพราะในปี 2017 ที่ซีรีส์เรื่องนี้ออกฉายมีสำนักข่าวในอเมริกาหลายแห่งทำสารคดีข่าวเรื่องนี้ออกมาเช่นกัน ตัวซีรีส์เลยได้รับผลไปด้วย
แต่อย่างไรเสีย คดีนี้ก็ทำให้เห็นว่า ‘ครอบครัว’ นั้นเป็นได้ทั้งความหวังเหลือคณา หรือความสิ้นหวังไร้ขอบเขต ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกในครอบครัวอยากจะเลือกทิศทางไหนให้กันและกัน
Boardwalk Empire
หากเทียบกับเรื่องอื่นๆ ซีรีส์เรื่องที่กล่าวถึงก่อนหน้าจะพยายามเฟ้นตัวดาราคนที่จะต้องรับบทตัวละครเด่นที่มีอยู่จริงให้มีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่ตรงกันข้ามกับซีรีส์เรื่องนี้ เพราะทีมผู้ผลิตซีรีส์ตั้งใจคัดตัวแสดงละครให้สวนทางกับตัวจริงไปเลย แต่การเลือกแบบนั้นเพราะเขาต้องการให้ นักกี ทอมป์สัน (Nucky Thompson) ตัวละครเอกในซีรีส์สามารถออกตัวออกแรงทำอะไรมากกว่า นักกี จอห์นสัน (Nucky Johnson) ที่เป็นตัวจริง อย่างที่ เทอร์เรนซ์ วินเทอร์ (Terrence Winter) ผู้สร้างออกตัวไว้ว่า เขาอยากให้นักกีในหนังสามารถเดินออกไปฆ่าคนด้วยตัวเอง ซึ่งตัวจริงนั้นอาจจะไม่ใช่ขาลุยขนาดนั้น
ถึงจะดัดแปลงตัวเอกไปจากประวัติศาสตร์จริงเล็กน้อย แต่เรื่องราวอื่นๆ ที่เล่าในซีรีส์นี้ยังมีความถูกต้องอยู่มาก อาทิ การที่นักกีเป็นผู้ดูแลการคลัง (treasury) ของเมืองแอตแลนติกในยุค 1920 ช่วงเวลาที่อเมริกามีความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งกฎหมายข้อห้ามมากมายอย่างการห้ามค้าสุรา ผู้หญิงเริ่มพยายามเคลื่อนไหวรักษาสิทธิ์แต่ก็ยังโดนกดขี่อย่างชัดเจน อีกมุมหนึ่งที่เรื่องแสดงให้เห็นอยู่เสมอคือความเป็นพ่อพระมอบความหวังให้ประชาชนทั่วไป ควบคู่กับการเดินหมากเป็นเจ้าพ่อในโลกการเมืองเพื่อสร้างกำไรจาการทำการผิดกฎหมาย เรื่องค่อยๆ เล่าเรื่องการพยายามรักษาอำนาจกับกำไรของนักกีไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่เขารู้สึกว่ามันไกลเกินจะกู่กลับ
นอกจากปมความสัมพันธ์ครอบครัวของนักกีเองที่มาคลายในช่วงท้ายว่าเป็นแรงผลักดันให้เขาเดินทางมาไกลขนาดนี้ ตัวครอบครัวผู้ร่วมประกอบการอาชญากรรมที่ถูกอ้างอิงมาจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์อย่าง อัล คาโปน หรือลัคกี ลูเซียโน ก็มีสีสันน่าค้นหา
ทั้งนี้ต้องขอเตือนสักหน่อยว่า ซีรีส์แต่ละตอนของเรื่องนี้มีความยาวระดับ 1-2 ชั่วโมงเลยทีเดียว การจะตะลุย binge-watch อาจจะทำให้ล้าได้มากกว่าที่คาดไว้นะ
The Sopranos
เรื่องราวของ โทนี โซพราโน (Tony Soprano) หัวหน้ากลุ่มดิเมโอแฟมิลี่ (DiMeo Family) มาเฟียในโลกสมมติที่ประสบพบเจอเรื่องราวชวนปวดเศียรเวียนเกล้าจากงานฉากหน้าและงานเบื้องหลังที่เขาร่วมกับ ‘ครอบครัวมาเฟีย’ เพื่อสร้างความสุขให้กับครอบครัวของเขาเองตามคอนเซ็ปต์อเมริกันดรีม แม้ว่าการก้าวสู่ฝันนั้นอาจจะเป็นการละเลงเลือดศัตรูกับมิตรสหายก็ตามที ด้วยจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องของตัวซีรีส์ที่ดูตลกร้ายจนไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง กระนั้นมาเฟียดิเมโอแฟมิลี่ก็มีต้นแบบมาจากมาเฟีย เดคาวาลแคนทิแฟมิลี่ (DeCavalcante Family) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในกรุงนิวเจอร์ซีย์เช่นเดียวกับดิเมโอแฟมิลี่ใน The Sopranos
ความใกล้เคียงของสองแฟมิลี่มีอยู่หลายประการ อาทิ โครงสร้างของตระกูลมาเฟียที่ดูใกล้เคียงกัน มีคลับเปลื้องผ้าสำหรับการฟอกเงิน ร้านประจำของตัวละครในซีรีส์อยู่ห่างจากร้านประจำของแก๊งมาเฟียของจริงไม่มากนัก รายละเอียดของสมาชิกบางคน รวมถึงรายละเอียดการกระทำของคนในแก๊งจากเรื่องแต่งก็ไปสอดคล้องกับมาเฟียตัวจริงบางคน จนน่าสงสัยว่าคนเขียนบทของตัวซีรีส์อาจจะไปเป็นสมาชิกของเดคาวาลแคนทิแฟมิลี่จริงๆ ก็ได้
ส่วนที่น่าจะแตกต่างกันระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งก็คงจะเป็นการทีเรื่องราวสติแตกของโทนีได้ถึงจุดสิ้นสุดไปพักใหญ่แล้ว และเรื่องราวของมาเฟียตัวจริงคงมีความตลกร้ายน้อยกว่าตัวซีรีส์ The Sopranos เยอะ กระนั้นก็มีคำพูดของผู้สร้างซีรีส์ว่า สุดท้ายแล้วคนที่อยู่ในวงการมาเฟียก็มีจุดจบที่ละม้ายคล้ายกัน อาจจะได้เกษียน (ไม่ว่าเป็นหรือตายเร็ว) หรือรอวันพรุ่งที่จะถูกคนที่ตัวเองคิดว่ารู้จักสนิทสนมมาคร่าชีวิตไปในที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก