เมื่อเวลา 00.23 วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1997 ปารีส ประเทศฝรั่งเศส รถเมอร์ซีเดส S-280 ซึ่งมีผู้โดยสารบนรถ 4 คนขับออกจากโรงแรมริทซ์ เสียหลักพุ่งชนเสากั้นเลนส์ในอุโมงค์ใต้สะพานเอลม่าก่อนแฉลบไปชนเข้ากับกำแพงฝั่งขวามืออย่างรุนแรง จุดเกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากหอไอเฟล โดยมีรถจักรยานยนต์ที่ขับตามมาเป็นช่างภาพปาปารัสซี่ได้เห็นภาพสุดสะพรึงดังกล่าว
มันกลายเป็นอุบัติเหตุที่จะกลายเป็นข่าวใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา เพราะผู้โดยสารบนรถคันนั้น ประกอบด้วยโดดี่ ฟาเยด (Dodi Fayed) เศรษฐีหนุ่ม เฮนรี่ พอล (Henry Paul) คนขับรถของโรงแรม ทั้งสองเสียชีวิตคาจุดเกิดเหตุ ส่วนเทรเวอร์ รีส์ โจนส์ (Trevor Rees Jones) บอดี้การ์ดได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะแต่รอดชีวิตมาได้
ผู้โดยสารคนที่ 4 คือ เจ้าหญิงไดอาน่า อดีตคนรักของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (The Prince Charles) มงกุฎราชกุมารลำดับที่ 1 ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) แห่งราชวงศ์วินเซอร์ สหราชอาณาจักร หลังเกิดอุบัติเหตุเจ้าหญิงไดอาน่าบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่เร่งนำส่งโรงพยาบาล ใช้เวลายื้อชีวิตหลายชั่วโมง แต่เพราะมีเลือดออกภายในอกและปอดอย่างมาก ในที่สุดเจ้าหญิงก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในเวลาตี 4 ด้วยวัยเพียง 36 ปีเท่านั้น
พลันที่ข่าวปรากฏออกโลกทั้งใบก็อยู่ในความเศร้าสร้อย คนในสหราชอาณาจักรแห่กันออกมาไว้อาลัยที่พระราชวังเคนซิงทัน อดีตที่ประทับของเจ้าหญิง โทนี่ แบลร์ (Tony Blair) นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานซึ่งพึ่งดำรงตำแหน่งมาด ๆ ได้ออกแถลงการณ์เรียกเจ้าหญิงไดอาน่าว่า ‘เจ้าหญิงของปวงชน’
ในวันที่ร่างเธอถูกฝังในวันที่ 6 กันยายน ดาราบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากทั่วทุกมุมโลกต่างเดินทางมาที่มหาวิหารเวสมินเตอร์ ด้านนอกมีคนแห่มาร่วมงานอีกเป็นจำนวนมาก คาดการณ์ว่ามีคนทั่วโลกร่วมชมพิธีดังกล่าวถึง 2.5 พันล้านคน
ทั้งโลกร่วมร้องไห้อาลัย
กับการจากไปของเจ้าหญิงองค์นี้
ใครคือเจ้าหญิงไดอาน่า
ไดอาน่า ฟรานซิส สเปนเซอร์ (Diana Frances Spencer) เกิดที่เมืองนอร์ฟอล์ก พ่อกับแม่ล้วนมีเชื้อสายขุนนางรับใช้ราชวงศ์มาหลายชั่วคน มีฐานะมั่นคง แต่ชีวิตของไดอาน่าต้องเจอกับการหย่าร้างของพ่อแม่ในวัยเยาว์ ถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อแย่งตัวลูก ไดอาน่าและพี่น้องมีปัญหากับภรรยาใหม่ของพ่อมาก ปัญหาเหล่านี้มีผลต่อเธอเป็นอย่างยิ่ง ไดอาน่าเคยทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กในลอนดอน และเป็นผู้ช่วยพยาบาล มีชีวิตไม่วุ่นวายหรูหรา มีเพื่อนสนิทไม่กี่คน ใช้ชีวิตเหมือนเด็กสาวทั่วๆ ไป
หญิงสาวได้พบกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1977 ที่บ้านของตระกูลสเปนเซอร์ ขณะนั้นเจ้าชายทรงมาร่วมปาร์ตี้ที่พี่สาวคนโตของไดอาน่าจัดขึ้น ตอนพบกันครั้งแรก เธอบอกกับเพื่อนว่าจะแต่งงานกับเจ้าชายในสักวัน เพราะคาดว่าถ้าแต่งกันแล้วเจ้าชายจะไม่มีวันยอมหย่าร้างอย่างแน่นอน แต่กว่าทั้งคู่จะมาพบหน้ากันก็ใช้เวลาอีกถึง 2 ปี และพบหน้ากันเพียง 13 ครั้งเท่านั้น จึงตกลงหมั้นหมาย โดยเจ้าชายมีพระชนม์มายุมากกว่าไดอาน่า 13 ปี
พิธีอภิเษกสมรสเกิดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1981 เลดี้ไดอาน่า สเปนเซอร์ วัย 20 ปีสวมชุดเจ้าสาวสีขาวราวกับเจ้าหญิงในเทพนิยาย สื่อโทรทัศน์จับภาพเหตุการณ์สุดอลังการ ประเมินกันว่ามีคนรับชมพิธีนี้ทั่วโลกกว่า 750 ล้านคน หลายปีต่อมาเจ้าชายและเจ้าหญิงมีโอรส 2 พระองค์คือเจ้าชายวิลเลี่ยม (Prince William) และเจ้าชายแฮร์รี่ (Prince Harry)
ระหว่างนั้นเจ้าหญิงไดอาน่าทรงงานการกุศลหลายอย่าง ทั้งเรื่องวิกฤตโรคเอดส์ พระองค์ทรงจับมือกับผู้ป่วยโรคเอดส์ และพยายามอย่างหนักในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ผู้ป่วยโรคนี้ในสายตาของสังคม หรือการจัดการทุ่นระเบิดในแองโกลา การวางตัวที่ดูเป็นกันเองกับประชาชน โดยเฉพาะกับเด็กๆ การทรงงานอย่างจริงจัง นั่นทำให้เจ้าหญิงไดอาน่ากลายเป็นขวัญใจไม่เพียงแต่ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ยังเป็นขวัญใจของคนทั้งโลกอีกด้วย
ความจริงที่ไม่เป็นดั่งเทพนิยาย
อย่างไรก็ดีชีวิตสมรสของเจ้าชายเจ้าหญิงกลับไม่ได้เหมือนดั่งในเทพนิยายที่หลายคนใฝ่ฝัน ความงามของเจ้าหญิงไดอาน่าบดบังรัศมีของเจ้าชายเสียหมด การเปิดตัวแสดงความรู้สึกเป็นกันเองนำมาสู่ความแปลกแยกในหมู่เชื้อพระวงศ์ที่มักวางตัวนิ่งไม่แสดงอารมณ์
หลายฝ่ายชี้ว่าทั้งสองพระองค์ไม่น่าจะครองคู่กันได้เลย เพราะต่างก็มีปัญหาในวัยเด็กทั้งคู่ เจ้าหญิงไดอาน่ามีวัยเด็กที่จมอยู่กับการหย่าร้าง ขณะที่มงกุฎราชกุมารอันดับ 1 หว่าเหว่กับชีวิตที่มีแม่เป็นประมุขของประเทศ และพ่อที่ไม่เคยพอใจเขาไปแทบทุกเรื่อง ความเจ็บปวดในวัยเด็กทำให้ทั้งสองต่างต้องการได้รับการยอมรับนับถือจากสาธารณชน เพียงแค่ว่าเจ้าหญิงไดอาน่าทำได้ดีกว่ามาก ประชาชนสนใจมากกว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งทรงต้องการให้สาธารณชนสนใจต่อตัวเองเช่นกัน นั่นทำให้ทั้งสองครองคู่และต้องแข่งขันกันเองอยู่ตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความตึงเครียดที่เริ่มมีมากขึ้น เจ้าหญิงไดอาน่าป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและไม่ค่อยอยากอาหาร การตกอยู่ใต้ความสนใจของสังคมและสื่อ นำมาซึ่งความเหนื่อยล้า
ยิ่งความสัมพันธ์ความรักเริ่มจืดจาง
ทุกอย่างก็คล้ายภูเขาไฟที่รอวันปะทุ
ในที่สุดวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1992 จอห์น เมเจอร์ (John Major) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในขณะนั้นได้แถลงข่าวว่าเจ้าชายกับเจ้าหญิงทรงแยกกันอยู่ พลันที่ประกาศออกไปมันได้สร้างความตกตะลึงให้กับสังคมและโลกใบนี้อย่างมาก
สื่อมวลชนพยายามแคะหาเหตุผลข่าววงในจนพบว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีความสัมพันธ์กับคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ (Camilla Parker Bowles) อดีตคนรักเก่า ซึ่งในหมู่ราชวงศ์ต่างรู้ดีว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่เคยหยุดรักคามิลลาเลย แม้กระทั่งจะแต่งงานกับเจ้าหญิงไดอาน่าแล้วก็ตาม
“ข้าพเจ้าคิดว่าการแต่งงานนั้น มันจะต้องพิเศษสุดเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งเมื่อคุณมาจากครอบครัวที่หย่าร่างกันเหมือนข้าพเจ้า ดังนั้นข้าพเจ้าจึงต้องทุ่มเทอย่างมากเพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดียวกับที่เกิดในครอบครัวของข้าพเจ้าอีก”
การแยกกันอยู่ ทำให้เจ้าชายและเจ้าหญิงต่างมีรักใหม่กลายเป็นประเด็นข่าวที่ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเจ้าหญิงไดอาน่ายังคงทรงงานอย่างต่อเนื่องและปรากฏตัวเป็นที่จับจ้องของสื่อมวลชนตลอดเวลา รัศมีแห่งการเป็นเซเลบผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น ทำให้เธอตัดสินใจให้สัมภาษณ์กับบีบีซี และนำไปสู่การเปิดเปลือยตัวตน โจมตีราชวงศ์ แสดงความเห็นว่าพระสวามีไม่เหมาะจะเป็นกษัตริย์ รวมถึงการพูดถึงความสัมพันธ์ที่เจ็บปวด
“เมื่อมีคน 3 คนอยู่ในชีวิตแต่งงาน
มันจึงอึดอัดมาก”
การสัมภาษณ์ครั้งนั้นกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำริให้ทั้งสองหย่าขาดกันทันที ในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1996 เหลือคงสถานะไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ แต่สูญเสียอิสริยยศอื่น ๆ ไป อย่างไรก็ดีความศรัทธาความรักที่ประชาชนมอบให้เจ้าหญิงยังคงอยู่ต่อไป พระองค์ยังคงทรงงานสาธารณะประโยชน์ตามปกติ ทรงสานต่องานที่ทำมาตั้งแต่ยังทรงครองรัก โดยก็มีความสัมพันธ์กับชายอื่นอันเป็นเรื่องปกติ (ก่อนเกิดอุบัติเหตุเจ้าหญิงคบหาอยู่กับโดดี้ ฟาเยด) และด้วยความเป็นผู้หญิงที่หน้าตาสะสวย แต่งกายทันสมัย เป็นคนเข้าถึงง่าย พระองค์จึงอยู่ในความสนใจของสังคม ซึ่งนั่นทำให้สื่อมวลชนต่างนำเสนอข่าวพระองค์อยู่เป็นประจำ
จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต
เหยื่ออันโอชะของสื่อมวลชน
วันที่เจ้าหญิงไดอาน่าเข้าร่วมพิธีอภิเษกสมรสนั้น สื่อมวลชนต่างพบว่าพระองค์มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ นั่นก็คือการมีพระสิริโฉมงดงาม แถมขณะทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ยังมีความสามารถในการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้ดีกว่าเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ ด้วยออร่าและความเฉิดฉายของเจ้าหญิง ทำให้สื่อและสังคมตระหนักว่าผู้หญิงคนนี้มีอะไรมากไปกว่าจะเป็นเพียงแค่พระมเหสีของกษัตริย์องค์ต่อไป ใบหน้าที่ทรงขึ้นกล้อง ทำให้สาธารณชนต่างติดตามเป็นแฟนคลับของเจ้าหญิงเป็นอย่างมาก นั่นทำให้เจ้าหญิงไดอาน่าถือเป็นบุคคลที่โด่งดังที่สุดในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีนั่นก็เหมือนดาบสองคม พอสังคมสนใจมากจนเข้าข่ายหมกมุ่น ทำให้สื่อมวลชนต้องตามติดเจ้าหญิงตลอดเวลา หลังการหย่าร้าง ภาพถ่ายของเจ้าหญิงไดอาน่ามีราคาถึง 5 แสนปอนด์ โดยในช่วงที่มีปาปารัสซี่ถ่ายภาพพระองค์กับโดดี ฟาเยดได้ ภาพดังกล่าวถูกซื้อไปในราคาถึง 1 ล้านปอนด์เลยทีเดียว
ช่วงนั้นวงการปาปารัสซี่จึงมีคำเรียกเจ้าหญิงไดอาน่าว่า ‘เจ้าหญิงแห่งการขาย’ เพราะมีภาพเธอเมื่อไหร่ หนังสือพิมพ์ขายดีเป็นอย่างยิ่ง จนถึงขั้นล่วงล้ำการใช้ชีวิตส่วนตัว จนต้องฟ้องสื่ออยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่อาจฉุดรั้งสื่อมวลชนจากการถ่ายภาพเจ้าหญิงได้จนถึงวันที่เสียชีวิต
การสิ้นพระชนม์ ความเจ็บปวดและการปรับตัวของสถาบัน
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่านั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังสาธารณชนเห็นว่าพระองค์ไม่ยอมแสดงอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับประชาชนคนในชาติ ทั้งที่พระองค์ต้องการให้โอรสทั้งสองของเจ้าหญิงไดอาน่าหลบไปอยู่ต่างเมือง เพื่อบรรเทาความโศกเศร้าของการจากไปของพระมารดา และทรงคิดว่าการเป็นประมุขของรัฐนั้นไม่ควรแสดงอารมณ์ความรู้สึกพร่ำเพรื่อ แต่ต้องแสดงความมั่นคงเรียบเฉยในฐานะเสาหลักของแผ่นดิน
สิ่งเหล่านี้กลับทำให้สังคมไม่พอใจ นับเป็นการเผชิญกับวิกฤติความเปลี่ยนแปลง ถือเป็นครั้งหนึ่งที่ประมุขของรัฐประเมินอารมณ์ของประชาชนผิดพลาดจนต้องทำการปรับตัวเองกันครั้งใหญ่ ทั้งการแสดงพระราชดำรัสแสดงความเสียใจ ยอมลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัย ยอมพาเชื้อพระวงศ์กลับมาที่เมืองหลวง เพื่อรับรู้อารมณ์ของมวลชน และเข้าร่วมพิธีฝังพระศพท่ามกลางเหล่าคนดังนักร้องศิลปินเซเลบจำนวนมาก
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่านั้นเป็นอะไรที่น่าเศร้า แต่ก็เป็นอีกครั้งที่เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรสามารถปรับตัวไปตามกระแสสังคมได้อย่างลงตัวด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้บาดแผลในความทรงจำของเชื้อพระวงศ์ยังคงได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุวันนั้นอยู่เสมอ เพียงแต่อาจจะมีการพูดกล่าวถึงน้อยมาก มีเพียงเจ้าชายแฮร์รี่ โอรสคนเล็กของเจ้าหญิง ซึ่งขณะเกิดเรื่องมีพระชนมายุ 12 ปีได้เล่าว่าการสิ้นพระชนม์ของพระมารดานั้น ส่งผลต่อสภาพจิตใจตัวเองอย่างมาก จนต้องปิดกั้นตัวเองกับเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี แม้เจ้าชายวิลเลี่ยมพระเชษฐาพยายามจะช่วยเหลือร้องขอให้เข้ารับการรักษา แต่ความเจ็บปวดยังคงอยู่ทำให้พระองค์มีความกังวลเสมอยามเข้าร่วมพระราชพิธีสำคัญอยู่ตลอดเวลา
“ในช่วงที่พระมารดาสิ้นพระชนม์ ข้าพเจ้าต้องเดินไปบนทางทอดยาวใกล้กับร่างของพระมารดา ล้อมรอบไปด้วยคนนับพันที่จ้องมองข้าพเจ้า แถมยังมีคนอีกนับล้านจ้องข้าพเจ้าเช่นกันผ่านโทรทัศน์ ไม่คิดเลยว่าจะมีเด็กคนไหนควรโดนแบบนี้”
“ข้าพเจ้าหวังว่าสิ่งแบบนี้
จะไม่เกิดขึ้นอีกในปัจจุบัน”
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิง สหราชอาณาจักรปรับปรุงกฎหมาย ห้ามถ่ายภาพบุคคลในที่พักส่วนตัว หรือสถานที่ส่วนบุคคล แม้จะไม่อาจปกป้องคนมีชื่อเสียงจากความเป็นส่วนตัวได้ทั้งหมด แต่เราก็แทบไม่เห็นกรณีไล่ล่าถ่ายภาพอย่างเป็นเอาตายแบบเจ้าหญิงไดอาน่าอีกแล้วในปัจจุบันนี้
บทสรุป
ผ่านไป 20 กว่าปีแล้วกับการสิ้นพระชนม์อย่างน่าเศร้า ชีวิตของเจ้าหญิงผู้เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ภาพฝันอันงดงามในหน้าฉาก กลับลงท้ายเป็นฝันร้ายในชีวิตจริง แต่แม้จะมีชีวิตที่ยากลำบาก พระองค์ก็พยายามอย่างเต็มที่กับภาระสำคัญควบคู่ไปกับการใช้ชีวิต จนเป็นเจ้าหญิงตราตรึงในใจคนทั้งโลก