วันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศไทยแทบจะลุกเป็นไฟกับความ ‘มงไม่ลง’ ในการแข่งขัน Miss Universe 2017 ที่เมืองลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมารีญา ตัวแทน ‘นางงามไทย’ เข้าถึงรอบ 5 คนสุดท้าย (ร่วมกับ แอฟริกาใต้, เวเนซูเอล่า, โคลอมเบีย และจาไมก้า) และทุกคนก็ต้องตอบคำถามต่างๆ กันไป คำถามที่มารีญาเจอนั้นก็คือ “อะไรคือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movements) ที่สำคัญที่สุดในยุค (generation) ของคุณ?” และคำตอบของนางก็คือ ‘สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society’[1] ซึ่งเอาจริงๆ ก็เป็นปัญหาใหญ่มากของยุคนี้แหละครับ แต่เป็น ‘ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือไม่’ นั่นคือจุดที่ก่อหวอดไปซะทั่ว
อาการก่อหวอดทั่วไปหมดตั้งแต่สารพัดสำนักข่าวยันโลกโซเชียลมีเดียนั้นก็หนีไม่พ้นคำตอบของแม่นางมารีญาเรื่อง Social movements นั่นแหละ ว่าง่ายๆ ก็คือ เกาะกระแสนางในการออกมาพูดเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกันแทบจะทั้งประเทศ (แน่นอน รวมถึงผมด้วย – ก็ชั้นเป็นเพียงคอลัมนิสต์ผู้เป็นทาสของระบอบทุนตัวเล็กๆ บางๆ คนหนึ่งนี่นะ) โดยเฉพาะสารพัดนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ ที่บางทีมักเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ช่วล’ (อันมาจาก ‘intellectual’ นั่นเอง) ที่อาจจะถึงค่อนประเทศนี้ได้ ที่พาเหรดกันออกมา ‘อธิบายถึงความผิดพลาดในการตอบคำถามของมารีญา’ ว่าตอบไม่ตรงคำถามอย่างไร, ตอบผิดอย่างไร, เตรียมตัวไม่พร้อมอย่างไร, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องพื้นๆ ที่ทุกคนควรจะรู้อย่างไร
ไอ้ผมไม่ใช่ผู้ชำนาญการเรื่อง Social movements อะไรหรอกนะครับ แต่เห็นแต่ละคนเขียน ‘แซะ’ แบบ So high and mighty เสียเหลือเกิน ปานลงมาโปรดสัตว์โลก ก็อดจะอยากเอาเก้าอี้บนหอคอยฟาดใส่หน้าเพื่อนบ้าน ‘ช่วล’ ร่วมหอคอยไม่ได้…เป็นอะไรกันนักหนาวะ? นี่ถามจริงๆ
เอาตรงๆ แบบแฟร์เลยนะ ผมคิดว่าคำถามที่ถามนั้นมันมีทั้งความง่ายและยากในตัวมันเองอยู่ แต่ไม่อยากแตะเรื่องความยากง่ายมากนัก เพราะสิ่งที่ง่ายๆ เบๆ ของคนหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องที่ไกลมากๆ ของอีกคนหนึ่งได้ เช่น ถ้าไปถามแอคทิวิสต์หรือ NGO หรือสารพัดช่วลด้วยคำถามที่ถามมารีญานี้ อาจจะง่ายเหลือเกิน แต่ถ้าถามเทคนิคการแต่งหน้าให้ดูดี ซึ่งสำหรับมารีญาอาจจะเบสิคเหลือเกิน ตอบได้ง่ายเพียงชั่ววูบหายใจ แต่สำหรับเหล่าพวกช่วลบางคนแล้ว อาจจะจนปัญญาตอบจนล้มกลิ้งได้ ฉะนั้นความยากง่ายมันเป็นเรื่องอัตวิสัย ผมจะไม่เข้าไปแตะมันมาก
แต่เนอะ ท่านช่วลที่เคารพรักทั้งหลายครับ ลูกศิษย์พวกท่านเอง รู้ว่าจะเข้าห้องสอบ บอกด้วยซ้ำว่าหัวข้ออะไรบ้าง ให้เวลา 3 ชั่วโมงเขียนคำตอบ บางทีให้ไปเขียนเป็นเปเปอร์ 1 เดือนมา มันยังตอบไม่ตรงคำถาม หรือตอบผิดกันอยู่ค่อนคลาสเลย ประสาอะไรกับนางงามที่มีเวลา 5 วินาทีเตรียมคำตอบ
ที่ผมอยากจะพูดก็คือ “การตอบผิดมันไม่ได้ดี ไม่ได้อยากให้ตอบผิดหรอก แต่การตอบผิดมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด หรือไม่ปกติอะไร” (โว้ย)
ทีนี้การที่มารีญา ‘ตอบพลาด ตอบผิด หรือตอบไม่ตรงคำถาม’ (แล้วแต่จะเลือกเรียก) นั้น ผมคิดว่ามันมีได้จาก 3 รูปการหลักๆ คือ (1) นางไม่รู้จริงๆ เกี่ยวกับเรื่อง Social movements เลยตอบผิด, (2) นางรู้เรื่องอยู่แต่ต้องเลือกคำตอบอย่างระมัดระวัง เพราะ ‘คำตอบที่ดี’ กับ ‘ผลพวงจากคำตอบที่ดีกับชีวิต’ นั้นอาจจะเป็นคนละเรื่องกัน โดยเฉพาะกรณีประเทศไทย, หรือ (3) นางรู้เรื่องอยู่บ้าง แต่แบบ ‘ผิวๆ’ เลยต้องตอบส่งๆ แบบคลำๆ ทางไป เลยพลาดอย่างที่เห็น
เน้นชัดๆ นะครับท่านช่วลทั้งหลาย “นางจะตอบผิดตอบพลาดจากสาเหตุไหน มันเรื่องปกติมากจร้า!”
อย่างแรกเลย อย่างที่หลายๆ คนออกมาอธิบายแล้ว โดยเฉพาะ อ.ก้าน เขียนดีมาก คือ แม้แต่คนที่ตามข่าว หรือแม้แต่คนตะวันตกเองก็ไม่ได้รู้จักคำนี้กันมากนัก เพราะเวลาสื่อนำเสนอข่าวมักใช้คำที่ ‘ชี้เฉพาะการเรียกร้อง’ ไปเลย อย่าง Environmental movement (ขบวนการเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม), Gender Equality Movement (ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ) เป็นต้น ไม่ได้มาใช้คำกลางๆ แบบ Social movements หรือไม่งั้นก็เรียกชื่อไปเลย ในไทยเองก็เช่นกัน เราก็ใช้ว่า ‘นปช.’ หรือ ‘กปปส.’ กันไปเลย ไม่ได้มีใครมาใช้คำว่า Social movements หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกันตรงๆ นัก หรือเอาจริงๆ ต่อให้สื่อมันใช้คำนี้โต้งๆ บ่อยจริงๆ (ซึ่งจริงๆ คือ ‘ไม่ใช่’) การจะไม่รู้จัก ก็ยังไม่ได้ผิดอะไรในตัวมันเองอยู่ดี
อย่างที่สอง เอาจริงๆ คำถามลักษณะนี้ไม่ได้มีปัญหาแค่กับคนที่ไม่รู้เรื่องนะ แต่กับคนที่รู้มากๆ มีข้อมูลมากๆ มันก็ยากอีกแบบของมัน ไหนจะต้องตีความกรอบว่า “ในยุคของคุณ” (in your generation) นี่มันควรจะนับช่วงไหนถึงช่วงไหนอย่างไรบ้าง, การคิดในเชิงนิยามว่าอะไรที่ ‘สามารถนับ และไม่สามารถนับ’ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้, และหนักที่สุด (ในกรณีที่รู้มากข้อมูลแน่น) เมื่อผ่าน 2 ด่านที่ว่ามาได้แล้ว ต้องมาเลือกเอาที่คิดว่า ‘สำคัญที่สุดเพียงหนึ่งเดียว’ เหยยย มันไม่ง่ายนะ เหมือนบอกให้ผมเลือกมังหงะที่ผมชอบที่สุดมา 1 เรื่อง ในหัวตรูนี่ตบกันตายแน่นอน ว่าจะเลือกอะไรเป็นเบอร์ 1 หรือถามคุณว่าอะไรคืออาหารที่คุณชอบที่สุดในชีวิตของคุณ อะไรแบบนี้ ข้อมูลแน่นเต็มหัว แต่ให้เลือกใน 5 วินาที มันก็ไม่ได้ง่ายนักหรอก
อยากจะท้าให้เอานักศึกษาสายสังคมศาสตร์-รัฐศาสตร์มาถามคำถามนี้ แล้วให้เวลาตอบ 5 วินาทีดูจริงๆ จะรอดสักกี่ราย (ไม่ได้ประชด)
อย่างที่สาม ในกรณีที่นางพอจะรู้คำตอบ แต่ต้องประเมินเรื่อง ‘ผลพวงของคำตอบ’ ด้วยเนี่ย ผมคิดว่ามันยิ่งต้องเข้าใจนะเว้ย! ถ้าตอบถูกต้องเป๊ะ งดงาม ตรงตามมาตรฐานสากล ฝรั่งฟังแล้วปลื้ม กลับถึงบ้านมา โดนจับยัดเข้าคุกนี่มันก็ไม่ไหวนะ และเราต้องไม่ลืมว่า “ประเทศกะลาล้าหลังของเรานี้ มันมีเงื่อนไขนี้เป็นชะนักอยู่” ฉะนั้นหากเธอตอบพลาดด้วยเคสนี้ ยิ่งไม่ควรถือเป็นอะไรที่ผิด หรืออะไรที่ต้องแซะเลย ที่เป็นอยู่นี่ก็เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดไม่ใช่หรือไง ก็ได้แต่ปากดีกันกับนางงามที่ตอบพลาดนี่แหละ … โถ ช่วลผู้ยิ่งใหญ่
อย่างสุดท้าย รู้แบบผิวๆ เลยตอบพลาด อันนี้อาจจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่เอาจริงๆ เถอะนะ ผมคิดว่าไอ้คำถามบนเวทีนางงามเนี่ย มันก็ต้องการพวก Mediocre knowledge หรือความรู้ระดับพื้นๆ ผิวๆ แบบนี้แหละ เพราะเฉพาะคนที่รู้แบบผิวๆ เผินๆ ถึงจะตอบคำถามลักษณะนี้ในเวลา 5 วินาที และตอบจบใน 30 วินาทีได้ เหมือนกับคนที่ทั้งชีวิตเคยกินอาหารอิตาเลียนแค่ 2 อย่างคือ พิซซ่ามาการีต้า กับสปาเก็ตตี้โบล็อกเนส แล้วเราไปถามเค้าว่า “หนูรูก หนูชอบอาหารอิตาเลียนอะไรที่สุดจ๊ะ” เออ แบบนี้มันไม่ต้องคิดไง ก็ตอบไปได้เลย เพราะฐานความรู้มันมีแค่ ‘ผิวๆ’ คือ ถ้ามึงไม่รู้เลย ก็เดาส่งๆ มาตอบ แต่ถ้ารู้เยอะจริงๆ มันก็ยากในการจะตอบในเงื่อนไขที่ว่าอีกอยู่ดี มันจึงเป็นคำถามที่ต้องการความรู้แบบผิวๆ นี่แหละครับ
แต่ผมคิดว่าถ้ามารีญารู้แค่แบบผิวๆ อย่างว่าจริงๆ (ซึ่งมีโอกาสมาก เพราะการตอบคำถามว่า ‘Aging society’ นั้น ไม่ใช่การตอบแบบคนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานอะไรเลยแน่ๆ) มันก็เป็นการรู้ผิวๆ ที่ถูกกำหนดทิศทางในการตอบด้วยเงื่อนไขอื่นๆ ผสมด้วยอยู่ดี เช่น ตอบอย่างไรให้กลับไทยไม่โดนเหยียบ หรือไม่แน่ใจว่าขนาดไหนจะเลือกนับเป็น ‘ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้แล้ว’ (What is counted?) ก็เลยเลือกประเด็นที่มองว่าท้าทายสังคมที่สุดและหาทางในการแก้ปัญหาอยู่อย่างหนักทั่วโลก อย่างเรื่อง Aging Society ไป
ไม่ว่าคำตอบของมารีญามันจะผิดมันจะพลาดจากสาเหตุใดก็ตาม “มันไม่ผิด และมันคือเรื่องปกติ!!!” ครับ ผมเลยอยากจะเอาเก้าอี้บนหอคอยฟาดหน้าเพื่อนบ้านช่วลบนหอคอยด้วยกันซะไม่มี ยิ่งใหญ่กันเสียจริงแซะกันทั่วเฟซบุ๊กจนตรูนี่เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกต้องรู้ทุกเรื่องที่พวกท่านต้องการจะให้รู้เลย
อย่างไรก็ตาม ขอเบรกตัวใหญ่ๆ ใส่ให้เหล่าสาวกมารีญาที่ปกป้องนางเหลือเกิน ปานว่าตอบดีชิบหายวายวอดด้วยว่า พวกคุณก็อวยเกิน (เอ๊ะ! นี่จะวอร์ทั้งสองฝั่งเลยเรอะ!) ไอ้ฝ่ายแซะก็แซะกันจังแบบ so high and mighty อีฝั่งอวยนี่ก็อวยแบบโอ๊ยยยย ไส้แตกแล้วแตกอีก
“ตอบดีมากแล้ว”, “ทำดีมากเลย”, “ทำดีที่สุดแล้ว”, ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
WHAT THE FUCK!!!
นางตอบผิด นางตอบพลาด แต่ตัวนางไม่ได้ผิด นี่คือเรื่องปกติ แต่พร้อมๆ กัน “ก็ไม่ได้แปลว่าคำตอบนางมันดีเว้ย!!!” ฝั่งจะอวยก็อวยกันหูดับตาบอดไปหมด มันเหมือนกับบอกนักศึกษาที่เขียนงานมาส่ง แล้วตอบไม่ตรงคำถามว่า “โอ้ววววว หนูตอบคำถามดีมากเลยลูก!” นี่ถามจริงๆ? นางตอบไม่ดีๆๆๆๆๆๆๆๆๆ (ย้ำๆๆๆๆ) เพียงแค่การตอบไม่ดีนี้ไม่ใช่อะไรที่ผิด ไม่ใช่อะไรที่ผิดปกติ และไม่ใช่อะไรที่ต้องมาแซะกัน จบ Full stop!
มันมีคนที่ตอบดี คนที่ตอบตรงคำถาม อย่างโคลอมเบีย หรือแอฟริกาใต้ เออ นั่นถ้าจะชมว่า “ตอบดีมากเลย” บลาๆๆ อะไรก็ชมไปเถิด อันนี้แห่กันชม mediocre answer ปานว่าเทพยาดาทั้งฟ้าร่วมกันประทานคำตอบมาให้
และว่ากันตรงๆ เลยนะครับ ฝั่งกองเชียร์นี่ก็ควรจะรับรู้ถึงความตลกแดกของพวกท่านเองบ้าง คือ สมมติว่า ‘คำตอบที่ว่านี้’ (Aging society ที่ไม่ตรงคำถามเนี่ย) ไม่ได้มาจากตัวแทนของไทย แต่มาจากคู่แข่งของไทยแทน แล้วเป็นฝั่งไทยที่ตอบถูกต้องเฉือนชนะมาได้อะไรแบบนี้ พวกท่านเองนี่แหละที่จะ “พากันหัวเราะคำตอบเดียวกันนี้จนหน้าหงาย” เผลอๆ อาจจะกระแนะกระแหนเค้าอีกต่างหาก ตามรอย ‘ช่วล’ ทั้งหลายที่ผมพยายามเอาเก้าอี้ฟาดใส่ข้างต้น
อีกจุดที่สำคัญมากๆ ที่ผมอยากจะพูดถึงนะครับ คือเรื่อง การเกาะกระแสมารีญาเพื่อพูดถึงเรื่อง Social movements ที่กำลังเกิดขึ้น (อย่างน้อยๆ ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ – 29/11/2017) ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร จริงๆ ผมเชียร์ให้เกาะกระแสด้วยซ้ำ ผมเองก็กำลังเกาะอยู่ด้วย เพราะไม่บ่อยครั้งที่จะมีประเด็นอะไรแบบนี้ที่ทำให้สังคมไทยยอมเงี่ยหูฟังเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้บ้าง ฉะนั้นการออกมาอธิบายให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับ Social Movements นั้นทำไปเถอะครับ ดีแล้ว เชียร์
ปัญหามันอยู่ที่ว่า พอแห่กันออกมาชูประเด็นเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือ Social movements เนี่ย พวกท่านช่วลทั้งหลายอีกแล้ว ก็เสือกจะพูดกันแบบน้ำหูน้ำตาไหลกับความดีงามของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเสียเหลือเกิน เคลื่อบน้ำตาลให้ Social movements ซะจนมันเป็นอะไรที่ดีแสนดี
โอ๊ยยยยย บอกตรงๆ นะ…หมั่นไส้
วันนี้เลยจะทำตัวเป็นคนเหี้ย คือ จริงๆ ก็ไม่ต้องทำอะนะ ก็เป็นอยู่แล้ว (ขนาดที่มีชายชราปากร้ายนิสัยเลวคนหนึ่งเรียกหนูว่า #คนเหี้ย2017 แต่เอาเถอะ I’m proud of it.) โดยจะยกเอา 5 อันดับ Social movements สายดาร์ก สายขม สายเหี้ยในใจผมมาให้ดูกัน จะได้เลิกฟอกความหวานใส่ Social movements กันบ้าง และๆๆๆๆ นี่ผมบอกแล้วนะครับ ว่า 5 อันดับ ‘ในใจผม’ คือ อันดับของผมเอง ถ้าไม่ตรงใจท่าน ไม่มีเหตุการณ์ที่ท่าน ‘อยากให้มี’ ไม่ต้องมาบอกนะครับว่า “ทำไมไม่มีตัวนั้นตัวนี้” เอ๊า ก็หนูชอบของหนูแบบนี้ “โอเคเนอะ?” ถ้าท่านอยากจะจัดลิสต์ของท่านเองด้วยมาเสนอ ก็เชิญเลย ไม่ว่ากัน ลิสต์ท่านอาจจะดีกว่าผมก็ได้
ก่อนจะถึงลำดับ ผมคิดว่าควรทำความเข้าใจพื้นฐานสักหน่อยเกี่ยวกับ Social movements คือ ก่อนอื่นผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำคำนี้โดยตัวมันเองมีสถานะเป็น neutral term หรือคำกลางๆ ไม่ได้มีความหมายในแง่ดี หรือลบในตัวมันเอง ฉะนั้นการที่บรรดาช่วลจำนวนมากแห่กันออกมาพูดถึงมันราวกับมันคือตัวแทนของความดีทั้งปวงนั้น ออกจะเป็นเรื่องที่ควรได้รับการตบหน้าฉาดใหญ่ๆ มันเป็นได้ทั้งดีและเหี้ยครับ หรือทั้งดีและเหี้ยในเวลาเดียวกัน แล้วแต่ว่า ‘ใครมอง’ แต่เมื่อขยันอวยกันไปเยอะแล้ว วันนี้ผมจะพูดถึงแต่สายดาร์ก
องค์ประกอบหลักๆ ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือ Social movements นั้นมี อ.ก้าน จิตเที่ยง หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน Social movements แห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin Medison ได้สรุปงานที่อธิบายเงื่อนไขของ ‘ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม’ โดยศาสตราจารย์ Doug McAdam และศาสตราจารย์ David A. Snow ไว้อย่างรวบรัดและน่าสนใจครับว่า องค์ประกอบหลักของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมี 4 ประการ ดังนี้ (1) มีการจัดการรวมกลุ่มระดับหนึ่ง, (2) มีความต่อเนื่องในการเคลื่อนไหวชั่วขณะหนึ่ง, (3) มีเป้าหมายหรือข้อเรียกร้องสำหรับการเปลี่ยนแปลง, และ (4) มีการใช้ปฏิบัติการที่อยู่นอกเหนือรูปแบบทางสถาบัน เช่น การประท้วงตามท้องถนน อะไรแบบนี้[2] บางคนอาจจะระบุเพิ่มไปด้วยซ้ำว่าในอาจจะต้องมีเงื่อนไขในการชักจูงให้เกิด ‘กระแสของการเรียกร้อง’ ตามๆ กันไปด้วย
เอาล่ะครับ ในเมื่อเรารู้แล้วว่าองค์ประกอบของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมันมีอะไรบ้าง ลองมาดู ‘การเคลื่อนไหวสายดาร์กๆ’ ที่ครบองค์ประกอบที่ว่าดูบ้าง
#5 ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านผู้อพยพ หรือ Anti-Immigrant Movement
คิดว่าคงไม่ต้องสาธยายให้มากความ กับความร้อนแรงของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ โดยเฉพาะที่แพร่กระจายไปทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา แน่นอนด้วยว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าเงื่อนไขในการเป็น ‘ขบวนการเคลื่อนไหว’ ทุกประการ และผมคิดว่าผลลัพธ์ที่มันก่อขึ้นนั้น หากมองด้วยจุดยืนสายมนุษยนิยม, ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนแล้ว ไม่ผิดนักที่จะบอกได้ว่ามันคือขบวนการเคลื่อนไหวที่ส่งผลเสียหรือเหี้ยอย่างมากทีเดียว ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในแง่การลดทอนสิทธิมนุษย์ชน หรือในแง่ความมั่นคงของมนุษย์ การเคลื่อนไหวนี้นำไปสู่สิ่งที่ว่าทั้งหมด และมีข่าวมาให้เห็นแทบไม่เว้นวันจากทั่วสารทิศถึงความร้อนแรงในการกระจายตัว รวมถึงการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพกับผู้อพยพด้วย[3]
#4 ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเกย์ หรือ Anti-Gay Movement
หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสุดคลาสสิก ที่มีมาต่อเนื่องยาวนาน และก็ยังคงมีต่อไป พวกเขาต่อต้านตัวตนของเกย์หรือการรักร่วมเพศ มองว่าคือสิ่งผิดปกติ คือโรคร้ายบ้าง คือการผิดบาปต่อพระผู้เป็นเจ้าบ้าง ต่างๆ นานา พวกเขาจึงคัดค้าน ‘การมีอยู่ของตัวตนของคนรักร่วมเพศ’ ไปจนถึงการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน และการแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศ หรือสิทธิอันพึงมีพึงได้ของคนกลุ่มนี้ ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังมีการรวมกลุ่มจัดตั้ง คิดแผนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวกันอย่างจริงจังต่อเนื่องด้วย รวมไปถึงมองหาสาเหตุที่ขบวนการของตนพ่ายแพ้อยู่เรื่อยๆ และหาหนทางในการจะพลิกสถานะการให้จงได้ คงไม่ต้องบอกว่าอิทธิพลอย่างน้อยๆ ในเชิงแนวคิดแบบนี้ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมแบบไหน อย่างในสังคมไทย สถานะของเกย์แม้ดูจะดูได้รับการยอมรับมากกว่าหลายๆ ที่ แต่เอาจริงๆ ก็เป็นพื้นที่ลักษณะเฉพาะตามที่สังคม “ตั้งเป้าอยากจะเห็นจากตุ๊ดเกย์เก้งกวางกระเทย ฯลฯ” เหล่านั้น เช่น ต้องตลกโปกฮา เล่นมุกล่อเพศไปวันๆ เป็นต้น[4]
#3 ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออภิสิทธิ์ของคนขาว หรือ White Supremacist Movement
อีกหนึ่งกระแสความเคลื่อนไหวที่แสนจะโด่งดัง โดยเฉพาะระหว่างที่ประธานาธิบดีทรัมพ์หาเสียงอยู่ และหลังจากที่ลุงแกดำรงตำแหน่งแล้ว อย่างคนในรูปที่ใส่ชุด Ku Klux Klan (KKK) นี้ก็เพิ่งเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมานี้เอง คือ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2016 ว่าง่ายๆ ก็คือ เรื่องรากฐานทางความคิดรวมถึงเครื่องแต่งกายนั้นดูจะ copy + paste มาจาก KKK รุ่นบุกเบิกที่ไล่ฆ่าคนดำทั่วแผ่นดินอเมริกากันเลยทีเดียว หรือหากอยากย้อนไปอีกก็โน่นเลยจร้า ฮิตเลอร์กับสงครามโลกครั้งที่สอง หรือยุคล่าอาณานิคมกับแนวคิดเรื่องภาระของคนขาว หรือ White man’s burden กันเลยทีเดียว ที่มองว่าคนขาวหรือเชื้อชาติคอเคซอยด์ อารยันนั้นสูงส่งเหนือกว่าเชื้อชาติแบบอื่นๆ ฉะนั้นชนชาติอื่นๆ ควรได้รับการปกครอง และอบรมดูแลโดยคนขาว คนขาวจึงพึงมีอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าให้เหมาะสมกับสถานะอันเหนือกว่าของตน[5]…จร้าอีแม่อีพ่อทั้งหลาย Social movement สวยงาม ดีเหลือ ประเสริฐเลิศล้ำไปหมดเลยจร้า
#2 ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านประชาธิปไตย หรือ Anti-Democratic Movement
ขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยแน่นอนว่าไม่ได้มีขึ้นแต่เฉพาะที่ไทย แต่ที่ไทยก็เกิด ฉะนั้นก็เอารูปผู้นำ กปปส. นี่แหละ เหมาะดีแล้ว คือตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องมาตราฐานความดีความแย่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น ผมมองจากฐานของหลักสิทธิมนุษยชน, มนุษยนิยม และประชาธิปไตยนะครับ (ก็บอกแล้วนี่มันลิสต์ของผม) ฉะนั้นจากจุดยืนแบบประชาธิปไตยที่ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวที่ ‘ต้านประชาธิปไตย’ มันก็ต้องถึงว่าเลวร้ายโดยตัวมันเองอยู่แล้ว มันนำไปสู่ข้อเรียกร้องที่ลดทอนความเท่าเทียมของมนุษย์ ทำลายระบบกฎหมายและการเลือกตั้ง เรียกร้องให้เกิดการรัฐประหาร และการฉีกรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการปฏิบัติอย่างรุนแรงกับพลเมืองมากมาย (ใครบอกไม่จริง ลองไปอยู่ในคุกนานเท่าไผ่ก่อนนะครับแล้วค่อยบอกผมว่า “อุ๊ย นี่คือความนุ่มนวล ไม่รุนแรงเลยจ๊ะหนู”) สำหรับผมแล้วนี่ไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ ‘นำไปสู่สิ่งที่ดี’ แน่นอนครับ
#1 กลุ่มอัลกออิดะห์และเหตุการณ์ 9/11 หรือ Al-Qaeda and 9/11
ไม่ใช่แค่อันดับ 1 ในสายดาร์ก แต่สำหรับผม หากถามว่าอะไรคือ Social movement ที่สำคัญที่สุดของยุคเรา อย่างที่มารีญาโดนถาม ผมคงจะตอบว่าเหตุการณ์นี้นี่แหละครับ เพราะ ‘สำคัญที่สุด’ ไม่ได้แปลว่ามันต้องดีที่สุด ผมไม่คิดว่ามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนซึ่งมีการจัดการหรือ organized ในระดับหนึ่ง มีความต่อเนื่องยาวนาน มีเป้าหมายในการเรียกร้องหรือท้าทายรัฐให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และใช้วิธีการนอกเหนือจากเชิงสถาบัน ที่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างรุนแรง ทั่วถ้วนและยาวนานมากไปกว่าเหตุการณ์นี้อีกแล้ว ฉะนั้นโดยส่วนตัวแล้ว เหตุการณ์นี้และกลุ่มก่อการร้าย หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนี้นี่แหละครับ สร้างอิมแพคมากสุดแล้ว
9/11 นำมาสู้การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการเมืองโลกขนานใหญ่, สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงและหันมาสนใจการก่อการร้ายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน, มันนำไปสู่การก่อสงครามที่ต่อเนื่องยาวนาน มีคนตาย 300,000 – 2,000,000 คน (แล้วแต่สำนักที่ประเมิน), ทำให้เกิดแนวร่วมขบวนการก่อการร้ายที่ตามมาอีกมากมาย, ซึ่งส่งผลให้เกิดการต่อสู้ และผู้อพยพลี้ภัย อันนำมาซึ่ง 4 อันดับก่อนหน้า ก็ยังพูดได้ไม่ผิดเลย
และหลายคนอาจจะสะกิดท้วงในใจว่า “ไอ้อ้วน มึงจะเอากลุ่มก่อการร้ายมาเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลยเรอะ?” ตอบเลยครับว่า “ใช่” นอกจากเงื่อนไขจะครบหมดสมบูรณ์แล้ว หากไม่มองด้วยเลนส์ที่ฉาบไปด้วยอคติหรือ preoccupied bias หนักหนาเกินไปแล้ว ต้องหัดยอมรับได้แล้วว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ได้ไร้ซึ่งความรุนแรงในตัวมันเอง หนึ่งในโมเดลแรกเริ่มของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างการปฏิวัติอเมริกา หรือการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น มันก็รุนแรงถึงพริกถึงขิงหมดนั่นแหละครับ ไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มอย่าง IRA หรือ ปาเลสไตน์เอง หลายคนก็ยอมรับโดยทั่วไปในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดไปถึงกลุ่มของเนลสัน แมนเดล่า ที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลคนขาวเหยียดผิวอำนาจนิยม พวกเขาเองก็เคยถูกเรียกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมาก่อน จนล้มรัฐบาลอำนาจนิยมได้ ถึงเปลี่ยนมาเรียก ‘ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม’ และได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไป…การก่อการร้าย มันก็แขนงหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมดีๆ นี่เองครับ
ผมเขียนมานี่ไม่ได้คิดจะทำลายความชอบธรรมหรือจุดยืนของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอะไร มันมีด้านที่ดีของมัน แต่พร้อมๆ กันก็มีด้านแย่ๆ ไม่น้อย การที่เหล่าช่วลจะพากันออกมา ‘สอนมวย’ ด้วยท่าทียิ่งใหญ่ทรงภูมิ เหมือนว่าชั้นรู้มากกว่า แต่กลับพูดแต่ด้านงดงามด้านเดียว เพราะมันคือสิ่งที่ชั้นรักใคร่เอ็นดูอยู่นั้น ผมค่อนข้างคิดว่าโสโครกกันไม่น้อยนะครับ
ผมไม่ได้มีปัญหาที่ช่วลจะเหี้ย ช่วลจะมองเหยียด ช่วลจะด่าอะไรพวกนี้… “ไม่มีปัญหาเลย” นี่ผมพูดในฐานะที่ตัวเองเป็นคนเหี้ยที่ทำทุกสิ่งที่ว่ามา and I’m fucking proud of it! เลย แต่ถ้าจะเหี้ย จะเหยียด จะด่าเค้าแล้ว ก็อย่ามาห่มผ้าเป็นคนดี ลงมาโปรดสัตว์ สอนลูกแกะผู้หลงทางสิวะ! จะเป็นคนเหี้ยทั้งที แค่ยอมรับว่าตัวเองว่าเหี้ยแค่นี้ยังทำไม่ได้กันรึไง? … ช่วลคนดี ช่วลโปรดสัตว์ ช่วล hypocrite!
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.khaosod.co.th
[2] โปรดดู McAdam, Doug, and David A. Snow. 2010. “Social Movements: Conceptual and Theoretical Issues.” Pp. 1-8 in Readings on Social Movements: Origins, Dynamics, and Outcomes, edited by D. McAdam and D. A. Snow. Second Edition. New York, NY: Oxford University Press. อ้างในสเตตัสของ อาจารย์ก้าน จิตเที่ยง
[3] ดูเพิ่มเติมได้จาก www.independent.co.uk
[4] ดูเพิ่มเติมจาก politicsoutdoors.com
[5] ดูเพิ่มเติมจาก www.salon.com