บ่ายๆ ของวันที่ 22 พ.ค. 2557—วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมนั่งอยู่ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี เผื่อทำข่าวการประชุมร่วมกันระหว่างกองทัพ รัฐบาล ฝ่ายค้าน กปปส. นปช. และ กกต. ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นแมตช์ประวัติศาสตร์ ที่กองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในการ ‘หาทางออก’ จากวิกฤตการเมืองไทย
หากใครจำได้ ช่วงเวลานั้น ประเทศไทย ถูกผลักให้อยู่ในจุดที่ ‘โคม่า’ ที่สุด เพราะรัฐบาลรักษาการของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เพราะไปมีมติย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อนหน้านั้น ส่วนรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ ก็ถูกกลุ่ม กปปส. ไล่ให้ลาออก เพื่อเปิดทางให้เกิด ‘สภาประชาชน’
เมื่อจะเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ก็ทำไม่ได้ เพราะมวลมหาประชาชน ต้องการให้ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ทำให้บรรดาองค์กรที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ต้องมาเปิดเวทีพิเศษหาทางออกในพื้นที่ทหาร
อันที่จริง ผมเห็นว่าวิกฤตที่สุดในขณะนั้น ไม่ใช่ความ ‘ไม่สงบ’ แต่คือการที่กระบวนการทางการเมือง และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐไม่สามารถ ‘ฟังก์ชั่น’ ได้ เพราะทุกอย่างถูกบีบให้ตีบตัน ด้วยระบบกฎหมาย และด้วยการเมืองภายในที่พยายามสร้างความขัดแย้งที่หนักหนาอยู่แล้ว เหตุการณ์จึงเข้าขั้นวิกฤตมากกว่าเดิม และมีความพยายามจะบอกว่าทางออกมีอยู่ไม่กี่ทาง
ก่อนหน้านั้น 2 วัน มีการประกาศกฎอัยการศึก มีผู้บัญชาการเหล่าทัพมานั่งแถลงข่าว ผมเองไม่เคยเห็นบรรยากาศแบบนี้มาก่อน แต่ทั้งหัวหน้า และกองบรรณาธิการที่ทำงาน เห็นตรงกันว่า เรากำลังเข้าสู่สถานการณ์ ‘รัฐประหาร’
ผมเองอยู่ในสถานะยากที่จะเชื่อ เพราะในฐานะนักข่าว เราเห็นแล้วว่า การยึดอำนาจและการรักษาอำนาจหลังจากนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก แต่ช่วงเวลา 4 โมงเย็นของวันนี้ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมก็ได้เข้าไป ‘มีส่วนร่วม’ กับการรัฐประหารอย่างแท้จริง ทหารกักบริเวณพวกเราไว้ไม่ให้ออกไปไหน พร้อมกับกั้นพื้นที่นักข่าวมากขึ้นเรื่อยๆ เอารถยนต์เอ็มซีมาปิดหน้า-หลัง พร้อมกับบอกว่า อาจมีการยิง M79 ลงมาจากโทลล์เวย์โดยผู้ ‘ไม่หวังดี’
5 โมงเศษๆ เราก็รู้ว่ามีการแถลงการณ์โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกว่าได้ ‘ยึดอำนาจ’ เรียบร้อยแล้ว เริ่มมีการเปิดเพลงพวก “ไทยรวมพลัง” “ต้นตระกูลไทย” ตามสูตรสำเร็จ หากใครจำกันได้ กว่าทีวีจะฉายรายการตามปกติ ก็ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน คือวันที่ 24 พ.ค. 2557 ตามที่ ‘กองทัพ’ เป็นผู้อนุญาต พร้อมๆ กับการเริ่มต้นเปิดเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ตามคลื่นวิทยุ และทีวีทั่วประเทศ ซึ่งถ้าจำไม่ผิด น่าจะเปิดต่อเนื่องกันเกิน 2 ปี จนกระทั่งผู้ประพันธ์เพลงรู้ตัวว่า ใช้เวลานานเกินไปแล้ว จึงได้เปลี่ยนเพลงใหม่
เอาเข้าจริง ผมและเพื่อนๆ นักข่าวจำนวนหนึ่ง ต่างก็เสียใจที่ไม่สามารถรักษา ‘ระบอบประชาธิปไตย’ และพยายามหาทางออกจากวิกฤตด้วยวิธีอื่น ทั้งที่ความจริงน่าจะมีอีกร้อยแปดวิธี แทนที่จะเลือกใช้วิธีนี้แต่สิ่งที่ ‘เซอร์ไพรส์’ เมื่อมองย้อนกลับไปก็คือ ไม่มีใครคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ จะรักษาระบอบนี้ได้นานถึง 5 ปี เพราะหากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ไม่มีใครอยู่ด้วย ‘ระบอบเผด็จการ’ ได้นานนักนับตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งอยู่ระหว่างปี 2501-2507 จนเสียชีวิตคาตำแหน่ง
อาจจะมีจอมพลถนอม กิตติขจร ที่พยายามจะตามรอยจอมพลสฤษดิ์ แต่ถนอมก็เอาไม่อยู่ ปล่อยให้มีการเลือกตั้งในปี 2512 จนทนกับบรรดา ส.ส. ที่ต่อรองขอตำแหน่งต่างๆ ไม่ไหว ต้องปฏิวัติตัวเองในปี 2514 และจบลงด้วยประชาชนทนไม่ไหวบ้าง นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516
เสน่ห์ของ พล.อ.ประยุทธ์ หนีไม่พ้นกับการที่แต่ละองคาพยพ แต่ละกลุ่มซึ่งประกอบสร้างเงื่อนไขการยึดอำนาจได้ทำให้คนไทยได้เห็นว่า worst case scenario เป็นอย่างไร ตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา จนมาจบเอาในช่วงการชุมนุมหลายเดือนของ กปปส. เพื่อพยายามจะทำให้เห็นว่า ระบบกฎหมาย ระบบการเมืองมีปัญหา
เมื่อถึงที่สุดแล้ว หากเกิดการ uprising แบบในประเทศอาหรับแล้ว กฎหมายจะเอาไม่อยู่ แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่ากันว่าดีเลิศ และถูกร่างด้วยพวก ‘คนดี’ ทางเดียวที่จะจัดการกับพวก ‘นักการเมือง’ หรือ ‘ระบอบทักษิณ’ ก็คือการยึดอำนาจ ซึ่งมาคู่กับระบอบเผด็จการเด็ดขาดเท่านั้น
มีเรื่องเล่ามากมายและทฤษฎีมากมายว่า พล.อ.ประยุทธ์ วางแผนการรัฐประหารเมื่อไหร่
เรื่องเล่าแรกๆ บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาเพียง 1-2 วันก่อนตัดสินใจ โดยตั้งใจฟังผลการเจรจาเป็นหลัก เรื่องเล่าที่สองมาจากสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ว่าใช้เวลาคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ มาหลายปี และเรื่องเล่าสุดท้าย ก็มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ 2 ก.ค. 2561 (ซึ่งห้ามจำหน่ายในประเทศไทย) ว่าวางแผนการยึดอำนาจมาแล้ว 6 เดือน นับตั้งแต่ กปปส. เริ่มชุมนุม
แต่จนถึงวันนี้ น่าจะเชื่อได้ว่า การรัฐประหาร 22 พ.ค. เป็นการวางแผนที่นานกว่าที่คิด ไม่ได้เกิดการกระทำแบบหุนหันพลันแล่น และไม่ได้เกิดด้วยเจตนาอย่าง “เมื่อแต่ละฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ผมยึดอำนาจ” แน่ๆ
ที่สำคัญคือหลังการยึดอำนาจ ยังมีความพยายามรักษาระบอบอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นการร่างกฎหมายให้อำนาจผ่านม.44 ไม่เปิดช่องให้มีการเอาผิดย้อนหลัง หรือการส่งคนเข้าไปยังองค์กรอิสระ ที่มีไว้ตรวจสอบอำนาจรัฐเอง ทั้งที่ตัวเองก็ทำหน้าที่เป็นรัฐบาล
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครพูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีใครพูดถึงการแทรกแซงองค์กรอิสระ ทั้งที่เป็นสาเหตุสำคัญของการรัฐประหาร ซ้ำยังสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยการแสวงความร่วมมือกับกลุ่มทุนเอกชน ผ่านโครงการประชารัฐ รวมถึงพยายามลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อซื้อใจ ‘มวลชน’ ผู้แสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะด้วยรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) สำทับด้วยการสร้าง ‘ล็อก’ อีกชั้นด้วย “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
ความมั่นใจเหล่านี้จึงถูกแปรเปลี่ยนไปสู่การสนับสนุนเงินทุน เพื่อรักษา ‘สถานะ’ ของบรรดานักธุรกิจ และมวลชนผู้รักความสงบ ที่ต่อมาแปรเปลี่ยนไปสู่คะแนนเสียง เพื่อทำให้คณะรัฐประหารชุดนี้อยู่นานเกิน 5 ปี แน่นอน ในความเชื่อของพวกเขานี่คือระบอบการเมืองที่ ‘มั่นคง’ เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่สามารถทำโครงสร้างพื้นฐานใดๆ ได้สำเร็จ จากวิกฤตการเมืองที่ลากยาว ซึ่งนักทฤษฎีทั้งฝรั่ง เรียกกันว่า The Lost Decade หรือ ทศวรรษที่สูญหายไปกับความขัดแย้งทางการเมือง และความไม่แน่นอน
ในเวลาเดียวกัน ระบบการเมืองที่เกลียดกลัวนักการเมืองก็สร้าง ‘ล็อก’ ทางกฎหมายอีกหลายชั้น ที่ทำให้การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทั้งด้วยมาตรฐานจริยธรรม ทั้งวินัยการคลัง หรือการสร้างภูมิคุ้มกันการทุจริตคอร์รัปชั่น
การรัฐประหาร 22 พ.ค. ลบทุกคำจำกัดความเดิมที่พยายามบอกว่า ‘การยึดอำนาจ’ คือการสร้างระยะเวลาสั้นๆ สำหรับการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ไปสู่ความฝันที่ใหญ่ขึ้น ความฝันที่มองว่าในที่สุดการทำรัฐประหารนี่แหละที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญ มีคุณูปการเหนือกว่านักการเมืองจากระบอบเลือกตั้ง รวมถึงพยายามสร้างภาพผู้นำอุดมคติแบบ ‘สีจิ้นผิง’ หรือ ‘ลีกวนยู’’ ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้เห็นว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ไม่มีทางที่บรรดานักการเมืองไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคประชาธิปัตย์สามารถสร้างความสำเร็จในระดับเดียวกันได้ และเพื่อสร้างชุดความคิดใหม่ว่า เผด็จการจะสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้อย่าง ‘ไร้รอยต่อ’
แต่ในเวลาเดียวกัน จากการจัดอันดับคอร์รัปชั่นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ไทยตกมา 14 อันดับ จาก 85 ลงมาอยู่ที่ 99 จากเมื่อ 4 ปีก่อน ส่วนการจัดอันดับ rule of law หรือหลักนิติธรรม โดย World Justice Project นั้น ไทยล่วงลงมาจากอันดับ 56 ในปี 2558 มาอยู่ที่ 76 ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถีบตัวออกไปเรื่อยๆ
เมื่อไม่สามารถปฏิรูปการเมือง ไม่สร้างระบบนิเวศการเมืองแบบใหม่ที่สามารถ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ได้จริง ระบอบ คสช.หลัง 5 ปีจึงพากัน ‘ถูลู่ถูกัง’ ลากเอาทั้งผู้มีพระคุณ ทั้งผู้สนับสนุนการยึดอำนาจ หรือนักการเมืองที่เคยโดนชี้หน้าว่า ‘โกง’ เข้ามาอยู่ร่วมด้วย พร้อมกับระบบราชการทั้งระบบ เพื่อครองอำนาจต่อไป
ถึงตรงนี้ ผมยังยืนยันคำเดิมว่าเสียใจ ที่ในฐานะนักข่าวไม่สามารถรักษา ‘ประชาธิปไตย’ ไว้ได้ เพราะในปัจจุบัน เวลาที่สูญหายไป 5 ปีหลังการยึดอำนาจในวันนั้น ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งชุดเดิม หายไป และระบบการเมืองที่บอกจะสร้างใหม่ ก็ไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่าจะยั่งยืน
ความเศร้าที่สุดก็คือ 5 ปีของ คสช. นั้น ให้ผลลัพธ์ที่ ‘ไม่เห็น’ ว่าเรากำลังเดินไปสู่อะไร และเป้าหมายจริงนั้นอยู่ที่ไหน ด้วยเหตุนี้ 5 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นอีก 5 ปีแห่งความสูญเปล่า ที่ไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ได้ นอกจากรักษา ‘ความมั่นคง’ ของผู้ที่ยึดอำนาจจากคนอื่นมาไว้กับตัว และผู้สนับสนุนไว้ เท่านั้นเอง….