ถ้าย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราจะพบว่าเหตุการณ์ที่บ่มเพาะก่อนจะเดินทางไปสู่การรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจระหว่าง ‘ทหาร’ และ ‘นักการเมือง’ นั้น มีเส้นทางเฉพาะที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก รูปแบบยังคงเดิมแม้เวลาจะเปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนคือ ‘ตัวละคร’ ที่เข้ามาใหม่
ย้อนกลับไปช่วงปี 2533 น้าชาติ-พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ราว 2 ปี หลังจากยุค ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่จบลงด้วยคำว่า “ผมพอแล้ว” ซึ่งถือเป็นฉากที่เซอร์ไพร์สคนไทยมาก เพราะก่อนหน้านั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนชนะการเลือกตั้ง ก็มีอันว่าต้องไปเชิญ ‘ป๋า’ มาเป็นนายกฯ
สุดท้าย น้าชาติเลยได้ขึ้นเป็นนายกฯ ที่มาจากพรรคการเมือง มาจากการเลือกตั้งจริงจังครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2519 และถือเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ นับตั้งแต่ระบบถูกสั่นคลอนไปครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นต้นมา
ในยุคน้าชาติที่มีคำพูดติดปากว่าโนพร็อบเบล็ม นั้น ถือเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลัง ‘บูม’ ได้ที่ ราคาอสังหาริมทรัพย์กำลังพุ่งสูงถึงขีดสุด กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ยุคฟองสบู่’ ซึ่งทำให้ พล.อ.ชาติชาย ได้รับคะแนนนิยมเป็นอย่างมาก
ถึงขนาด 30 ปีให้หลัง ยังคงมีคน ‘ปลุกผี’ พล.อ.ชาติชาย กลับมาหาเสียง
แต่ในทางการเมือง พล.อ.ชาติชาย ที่แม้จะมียศนำหน้าเป็นนายพลเช่นเดียวกัน ซ้ำยังมีบิดาเป็นบุคคลสำคัญระดับ ‘จอมพล’ ก็ยังต้องอาศัยบารมีของทหารในการค้ำบัลลังก์ เพราะ ‘กองทัพ’ ยังต้องการมีบทบาทนำในทางการเมือง
ยุคนั้นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกองทัพ ได้แก่ บิ๊กสุ-พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งขึ้นมารับตำแหน่งเร็วกว่ากำหนด เพราะ ‘ลูกป๋า’ อย่าง บิ๊กจิ๋ว-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งก่อนเกษียณอายุเพื่อมาเล่นการเมือง โดยบิ๊กสุในสมัยนั้น ได้รับยกย่องเป็นนายทหารหัวก้าวหน้า จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา พูดจาไพเราะ รูปหล่อ คารมดี
ส่วนอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทไม่แพ้กันคือ นายพลเสื้อคับ บิ๊กจ๊อด-พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายทหารอดีตนักบินเฮลิคอปเตอร์แห่งกองทัพบก ผู้ยึดวลี “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน”
ทุกเช้าวันพุธ ที่บ้านซอยราชครูของนายกรัฐมนตรีจะมีวงกินอาหารเช้าร่วมกัน ระหว่าง พล.อ.ชาติชาย และบรรดา ‘บิ๊กๆ’ ของทั้งกองทัพ-กระทรวงกลาโหม แต่อยู่ดีๆ กลางปี 2533 ก็เกิด ‘รอยร้าว’ ขนาดใหญ่ ระหว่างรัฐบาลน้าชาติ และบรรดาผู้นำเหล่าทัพ
เรื่องมันเริ่มต้นขึ้น เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคมวลชน ซึ่งมี ส.ส. เพียง 5 คน เริ่มบริภาษ ‘บิ๊กจิ๋ว’ ซึ่งในขณะนั้นมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พาดพิงว่า คุณหญิงพันเครือ ยงใจยุทธ ภริยาของ พล.อ.ชวลิต ในขณะนั้นเป็น ‘ตู้เพชรเคลื่อนที่’ ซ้ำยังวิจารณ์บทบาทของบิ๊กจิ๋วซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วม ครม. อยู่บ่อยครั้ง และในตอนนั้น พล.อ.ชาติชาย เองก็ไม่ได้ไม่ตัดสินใจปลดเฉลิมออกจากตำแหน่ง แต่ ‘บิ๊กจิ๋ว’ กลับลาออกไปตั้งพรรคความหวังใหม่เอง ทำให้เวลานั้นผู้นำเหล่าทัพเริ่มจะไม่พอใจบทบาทของ พล.อ.ชาติชาย ที่ปล่อยให้รัฐมนตรี ‘ซ่า’ ไปวิจารณ์นายเก่าอย่าง พล.อ.ชวลิต และออกมาให้สัมภาษณ์ไม่พอใจรัฐบาลอยู่หลายครั้ง
ขณะเดียวกัน เฉลิม ยังมี ‘ก๊อกสอง’ เมื่ออยู่ดีๆ กองทัพไปยึดรถถ่ายทอดสดของช่อง 9 อสมท. ที่จอดอยู่บริเวณหนองแขม ใกล้เคียงกับหน่วยทหาร จนกลายเป็นข่าวดังว่าเฉลิมและรัฐบาลถูกสั่งให้นำรถโมบายล์ไปจอดเพื่อ ‘ดักฟัง’ ทหาร
สิ้นปี 2533 รอยร้าวระหว่างรัฐบาล และกองทัพก็มากขึ้นเรื่อยๆ
พล.อ.สุนทร ถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า “การปรับ ครม.ไม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้ การแก้ปัญหาที่ดีต้องแก้ปัญหาของประชาชนจะดีกว่า เพราะในขณะนี้ปัญหาของประชาชนถึงขั้นวิกฤตแล้วทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม”
นอกจากจะมีเฉลิมเป็นสายล่อฟ้าแล้ว ในมุมมืดด้านหลัง รัฐบาลน้าชาติ ยัง ‘โปรโมต’ ให้บุคคลสำคัญอีกหนึ่งคนอย่าง พ.อ.มนูญ รูปขจร เข้ามาเป็น ‘ใหญ่’ ในรัฐบาลแบบลับๆ ด้วยการให้ดำรงตำแหน่ง ‘พลตรี’ ในตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
แล้วมนูญเป็นใคร? ในยุคนั้น มนูญถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญยิ่ง เพราะเป็นนายทหารหนุ่มยศพันเอกซึ่งเป็น ‘มันสมอง’ ดึงนายทหารผู้ใหญ่มาทำรัฐประหาร พล.อ.เปรม ถึง 2 ครั้ง แม้การรัฐประหารจะไม่สำเร็จ แต่มนูญก็ไม่เคยต้องรับโทษอะไร การเอามนูญกลับมาจึงทำให้กองทัพไม่พอใจอีกครั้ง
กองทัพจึงไปเดินเกมนำคดีค้างเก่าอย่างคดี ‘ลอบสังหาร’ พล.อ.เปรม และคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง ซึ่งเชื่อกันว่า ‘มนูญ’ มีส่วนสำคัญ กลับมาเริ่มใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลน้าชาติ มีทัศนคติไม่ดีทั้งต่อสถาบันทหาร ทั้งต่อสถาบันเบื้องสูง…
ทว่าในขณะนั้น ทั้งตัว พล.อ.ชาติชาย เอง ทั้งที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ซึ่งอุดมไปด้วยคนหนุ่มอย่าง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ต่างก็เห็นตรงกันว่า ในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรต้องไปสนใจเสียงจากทหาร หรือใส่ใจว่ากองทัพจะกดดันอย่างไร
ขณะเดียวกัน ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ก็ยืนกรานว่าจะถอนตัวจากรัฐบาล หากน้าชาติยินยอมปรับ ‘เฉลิม’ ออก ตามที่กองทัพเรียกร้อง “พรรคประชาธิปัตย์อาจจะถอนตัว เพราะจะอยู่ร่วมรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจแท้จริงไม่ได้” พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคให้สัมภาษณ์
แต่จนแล้วจนรอด ต้นเดือนธันวาคม ปี 2533 น้าชาติก็ตัดสินใจปรับทั้งเฉลิม ทั้งประชาธิปัตย์ออกจาก ครม. ซ้ำยังให้ที่ปรึกษากลุ่มบ้านพิษณุโลกลดบทบาทในการทำงานลง เพื่อรักษาสัมพันธภาพกับ ‘กองทัพ’ สุดท้าย วันปีใหม่ 2534 พล.อ.ชาติชาย ก็ง้อทหารไม่สำเร็จ เพราะแทนที่ผู้นำเหล่าทัพจะมาสวัสดีปีใหม่ที่บ้านราชครู ทั้ง พล.อ.สุนทรและ พล.อ.สุจินดา กลับเดินทางไปที่บ้าน พล.อ.ชวลิต และบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ ‘ป๋า’ แทน
ขณะเดียวกัน ‘มนูญ’ ก็ยังมีบทบาทอยู่เบื้องหลังรัฐบาล และคดี ‘ลอบสังหาร’ ที่เงียบไปตั้งแต่ปี 2527 ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อย่างมีนัยสำคัญ จนสุดท้ายกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2534 คดีลอบสังหารก็ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้ไม่ได้จำกัดวงแค่ พล.ต.มนูญ หากแต่มีใบปลิวใส่ร้าย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก และลูกชายนายกฯ ด้วย
ไกรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ในขณะนั้นว่ามีคำสั่ง ‘ลึกลับ’ ในกรมตำรวจ พยายามให้รื้อฟื้นคดีนี้อย่างไม่มีสาเหตุเพื่อขยายผลทางการเมือง เช่นเดียวกับท่าทีแปลกๆ ของ พล.อ.สุนทร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ออกมาพูดเรื่องการปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มากขึ้น พร้อมๆ กันนั้น ข่าวลือการ ‘ปลด’ ผู้บัญชาการเหล่าทัพก็เริ่มหนาหู…
11.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 กองทัพก็จัดการ ‘รัฐประหาร’ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย เสร็จสรรพ ระหว่างที่ขึ้นเครื่องบินจากสนามบิน บน.6 พา พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรีไปเข้าเฝ้าฯ ที่เชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ’ หรือ รสช.
การรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 13 ปี มาพร้อม 4 ข้อหาฉกรรจ์ ได้แก่ 1.รัฐบาลฉ้อราษฏร์บังหลวง 2.แทรกแซงข้าราชการ 3.เผด็จการทางรัฐสภา 4.ทำลายสถาบันทหาร และ 5.บิดเบือนคดีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (คดีลอบสังหาร)
จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตามแต่ เหตุผลที่ใช้ในการรัฐประหารปี 2534 ได้กลายเป็นสูตรตายตัว ที่คณะรัฐประหารหลังจากนั้น ทั้งในปี 2549 และในปี 2557 เจริญรอยตาม
พล.อ.ชาติชาย ถูกควบคุมตัวราว 2 อาทิตย์ จนกระทั่งคณะรัฐประหารไปเชิญ อานันท์ ปันยารชุน นักธุรกิจดัง ดีกรีอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้ามาเป็นนายกฯ ตามพิธีรีตอง คือ พล.อ.สุนทร นำคณะ รสช. รวมถึงนายกฯ อานันท์เข้าไปขอขมา และปล่อยตัว พล.อ.ชาติชายออกจากบ้านพักรับรองกองทัพอากาศ พร้อมกับ ‘ดีล’ ให้ พล.อ.ชาติชายและ พล.อ.อาทิตย์ ไปอยู่ต่างประเทศชั่วคราว
หลังยึดอำนาจ ภาพของรัฐบาล รสช. ดีกว่าที่คิด ด้วยความสามารถของ ‘นายกฯ คนกลาง’ อย่างอานันท์นั้นตัดสินใจที่จะทิ้งความขัดแย้งไว้ข้างหลัง ซ้ำอานันท์ยังไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ รสช. เขายืนยันที่จะอยู่แค่ให้ร่างรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้น และตัวนายกฯ จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องความมั่นคง
แต่ในที่สุด สิ้นปี 2534 เรื่องราวดูจะยุ่งวุ่นวายกว่าที่คิด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ที่ประธานกรรมาธิการยกร่างชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ เริ่มที่จะแผลงฤทธิ์ ทั้งการให้อำนาจ รสช. ทั้งการเปิดโอกาสให้มีตำแหน่งนายกฯ คนนอก และการกำหนดให้ ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเชื้อของการ ‘สืบทอดอำนาจ’
หลังจากนั้น ภายใน 1 ปี คนไทย ก็ลืมเหตุผลที่ใช้ในการรัฐประหารไปทั้งหมด เพราะทุก ‘ข้ออ้าง’ ล้วนไม่ได้ถูกคลี่คลาย ขณะเดียวกัน ‘คนดี’ อย่างนายกฯ อานันท์ ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรแล้ว
คณะ รสช. ตัดสินใจสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญที่ ‘ดีไซน์’ มาเพื่อพวกเขา และตัดสินใจใช้การเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง แต่ผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง กลับกลายเป็น ‘ไฟ’ ที่เผากองทัพ จนทำให้ทหารต้องว่างเว้นจากการเมืองไทยไปนานนับสิบปี
ในตอนนั้น ทั้งนักวิชาการไทย ทั้งต่างประเทศเห็นตรงกันว่าหมดเวลาของทหารแล้ว แต่ ณ ปี 2562 เราได้รู้กันแล้วว่านั่นไม่ใช่เรื่องจริง…