1
ครั้งแรกที่รับรู้ถึงความผิดปกติในกรุงเตหะราน คือเมื่อเราไปถึงจัตุรัสอาซาดี (Azadi Square) ใจกลางเมืองหลวงของประเทศอิหร่านแห่งนี้
แมทเธียส – ไกด์ของเราบอกว่า อาซาดีคือจัตุรัสที่คนอิหร่านจะมาชุมนุมรวมตัวกันเพื่อประท้วงรัฐบาล เขาบอกอย่างนั้นโดยไม่รู้เลยว่า ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า คำพูดของเขาจะเป็นจริง
และเราจะไม่ได้ถ่ายรูปคู่กับหอคอยอาซาดี
2
ผมไปถึงอิหร่านในวันที่ 28 ธันวาคม 2017 และใช่, มันคือวันแรกที่เกิดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศ เริ่มจากเมืองชื่อมาชาด (Mashhad) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของอิหร่าน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศก่อน
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า มาชาดจะเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการประท้วงที่เกิดขึ้น
และไม่ใช่กระทั่งอาซาดีในเตหะราน – ที่ที่เคยเป็นจุดประท้วงหลักตลอดมา
แปดปีที่แล้ว ในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2009 และ 2010 ก่อนอาหรับสปริง อิหร่านเคยมีประท้วงใหญ่เกิดขึ้น เป็นการประท้วงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผู้ชนะคือประธานาธิบดี มาห์มุด อัลมาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) การประท้วงครั้งนั้นได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Twitter Revolution เพราะผู้ประท้วงใช้ทวิตเตอร์ในการติดต่อสื่อสารกันเป็นหลัก
นั่นคือการประท้วงคนในระดับประธานาธิบดี
แต่ในรอยต่อของปี 2017 ถึง 2018 หรือการประท้วงที่ผมกำลังพบเผชิญ – คือการประท้วงที่ใหญ่กว่านั้น
เพราะนี่คือการประท้วง ‘ผู้นำสูงสุด’ หรือ Supreme Leader อย่างอาลี คามีนี (Ali Khamenei) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
3
สองวันถัดจากนั้น เมื่อเดินทางไปถึงมหาอาณาจักรโบราณที่หลงเหลือแต่ซากอย่างเพอร์ซีโพลิส (Persepolis) ผมได้แต่บอกตัวเองว่า – อิหร่านมีประวัติความเป็นมาที่ซับซ้อนมากจนเกินกว่าจะทำความเข้าใจความขัดแย้งทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น
เพอร์ซีโพลิส คือศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิที่มั่งคั่งร่ำรวยและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกโบราณ หลายคนรู้จักอิหร่านแห่งอดีตในฐานะจักรวรรดิเปอร์เซีย หรือที่จริงคือจักรวรรดิอาคีเมนิด (Achaemenid Empire) ที่มีอายุอยู่ในช่วงสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว
อิหร่านคือ ‘บ้าน’ ของอารยธรรมใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นับย้อนกลับไปได้ถึงเก้าพันปีที่แล้ว จักรวรรดิอาคีเมนิดเป็นจักรวรรดิที่ก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) ทรงทำให้จักรวรรดิแห่งนี้ยิ่งใหญ่กินอาณาเขตกว้างขวาง ทางเหนือไปถึงบอลข่าน ทางตะวันตกไปถึงแอฟริกาตอนเหนือ ส่วนทางตะวันออกก็ไปถึงอินเดีย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพาร์ซาหรือเพอร์ซิส (Parsa หรือ Persis) หรือเพอร์ซีโพลิสที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
จักรวรรดิเปอร์เซียแห่งนี้เชื่อมโยงอารยธรรมเก่าแก่ต่างๆ ของโลก ประมาณกันว่าน่าจะเป็นจักรวรรดิเดียวในประวัติศาสตร์ ที่เคยเชื่อมโยงประชากรโลกได้มากถึง 40% ซึ่งเท่ากับประชากรเกือบ 50 ล้านคน ของโลกในยุค 500 ปีก่อนคริสตกาล
เพอร์ซีโพลิสเริ่มสร้างในสมัยของพระเจ้าดาริอุส (Darius) กษัตริย์องค์ที่สาม แต่มาเสร็จสิ้นและรุ่งเรืองจริงๆ ในยุคของพระเจ้าเซอร์เซสที่หนึ่ง (XerxesI) และอาร์ทาเซอร์เซสที่สาม (Artaxersex III)
แมทเธียส – ไกด์ของเราบอกว่า วิธีคิดในการปกครองของจักรวรรดิเปอร์เซียโบราณนั้นน่าสนใจยิ่ง มันคือวิธีคิดที่ศิวิไลซ์มาก เปอร์เซียไม่ได้ปกครองอาณาจักรอื่นๆ ที่อยู่ในอาณัติด้วยการควบคุม หรือกระทั่งบีบบังคับให้อาณาจักรเหล่านั้นต้องมีวัตรปฏิบัติเดียวและนับถือพระเจ้าเดียวกับตน แม้ว่าเปอร์เซียจะเป็นอาณาจักรที่นับถือพระเจ้าแบบเอกเทวนิยมก็ตามที
“ที่นี่คือสหรัฐ หรือ United States แห่งแรกของโลก” แมทเธียสว่าด้วยความภูมิใจ เขาหมายความว่า แต่ละ ‘รัฐ’ ที่รวมกันอยู่ในจักรวรรดิเปอร์เซีย สามารถมีกฎหมาย ความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่างๆ ของตัวเองได้ โดยในแต่ละปี แต่ละรัฐจะส่งตัวแทนมายังเพอร์ซีโพลิส เพื่อร่วมประชุมใหญ่ประจำปีในฤดูร้อนเพียงปีละครั้งเท่านั้น จักรวรรดิเปอร์เซียจึงไม่เหมือนจักรวรรดิจีน ที่มีแนวคิดรวบรวมผู้คนให้มาอยู่ใน ‘ใต้หล้า’ เดียวกัน แต่เป็นจักรวรรดิที่เต็มไปด้วยความหลากหลายแตกต่าง โดยเพอร์ซีโพลิสเป็นเมืองที่ ‘แกะสลัก’ ออกมาจากภูเขาหินปูนที่ชื่อ Khu-e Rahmet (แปลว่าภูเขาแห่งความเมตตา) ตัวแทนรัฐต่างๆ ที่มาที่นี่ จึงมาด้วยความเป็นมิตร ดังที่เห็นเป็นหลักฐานอยู่ในรูปสลักนูนต่ำที่ยังหลงเหลืออยู่
แต่กระนั้น ก็เป็นความร่ำรวยรุ่งเรืองของเพอร์ซีโพลิสนี่เอง ที่ทำให้อเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีกบุกเข้ามาปล้นปล้นชิงทรัพย์สมบัติที่เก็บไว้ในคลังของเพอร์ซีโพลิส พลูทาร์ช – นักบันทึกพงศาวดารบอกว่า อเล็กซานเดอร์พักอยู่ที่เพอร์ซีโพลิสนานเพียงห้าเดือน แต่ระหว่างนั้นทั้งปล้นและเผาเมืองไปด้วย จนเพอร์ซีโพลิสส่วนวอดวายถูกกลบฝังอยู่ใต้เถ้า ในขณะที่พระเจ้าดาริอุสที่สามที่ปกครองเปอร์เซียในขณะนั้นก็ถูกไล่ล่าจนสิ้นพระชนม์ในที่สุด
นั่นเป็นเสมือนการสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินครั้งแรกของชาวเปอร์เซีย แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ในราวปี ค.ศ. 633-656 หลังเกิดศาสนาอิสลามได้ไม่นานนัก ชาวเปอร์เซียก่อตั้งจักรวรรดิใหม่ขึ้นมา มีชื่อว่าจักรวรรดิซาซาเนียน (Sasanian Empire) จักรวรดินี้กว้างใหญ่กินกินแดนไปจนถึงแอฟริกาเหนือและปากีสถานเช่นเดียวกับจักรวรรดิเปอร์เซียดั้งเดิม แต่แล้วจักรวรรดิแห่งนี้ก็ต้องเผชิญกับการรุกรานครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการที่ชาวมุสลิมบุกยึดเปอร์เซีย (Muslim Conquest of Persia)
“ต้องขอบคุณพระเจ้าอเล็กซานเดอร์” แมทเธียสเล่าด้วยน้ำเสียงประชดประชันขณะชี้ให้ดูภาพแกะสลักนูนต่ำที่ยังเหลืออยู่ “ที่เผาเพอร์ซีโพลิสจนรูปพวกนี้ถูกฝังอยู่ใต้ดิน ชาวมุสลิมที่บุกเข้ามาจึงไม่เห็น ถ้าเห็นก็ต้องทุบทำลายเพราะคิดว่าเป็นรูปเคารพ แล้วเราก็จะไม่เหลือมรดกพวกนี้ให้เห็น”
จักรวรรดิเปอร์เซีย (ในนามของจักรวรรดิซาซาเนียน) จึงล่มสลายสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินไปอีกครั้งหนึ่ง เปอร์เซียมีผู้ปกครองใหม่ที่เป็นชาวมุสลิมผู้มาพร้อมกับกระบวนการที่เรียกว่า Islamization หรือการทำให้เป็นอิสลามในเปอร์เซีย Islamization เป็นกระบวนที่ยาวนาน กินเวลาเป็นร้อยๆ ปี เพราะมีการต่อต้านจากชาวเปอร์เซียดั้งเดิมมากมาย แต่ที่สุด ศาสนาและรัฐแบบอิสลามก็ค่อยๆ แผ่ขยายไปในหมู่ผู้คน จนกระทั่งประสบความสำเร็จ และพูดได้ว่าอิสลามคือศาสนาที่ชาวอิหร่านในปัจจุบันหรือเปอร์เซียในอดีต – นับถือมากที่สุด
ชาวอิหร่านส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ แต่กระนั้น พวกเขาก็ไม่เหมือนชาวมุสลิมอื่น เพราะร่องรอยความเป็นเปอร์เซียก่อนหน้ายังคงอยู่ พวกเขาปรับเอาภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบเดิมผนวกเข้าไปในความเป็นมุสลิมด้วย จนในที่สุดก็ก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่เรียกกันว่า Iranian Islamic Identity หรืออัตลักษณ์แบบมุสลิมอิหร่าน
และผมไม่รู้เลย – ว่าร่องรอยความขัดแย้งชิงชังระหว่างชาวอิหร่านกับชาวอาหรับนั้น, ยังคงฝังลึกอยู่ในภูมิภาคนี้มากขนาดไหน
4
ใครๆ ก็บอกผมว่า อิสฟาฮานเป็นเมืองเก่าแก่ที่แสนงาม เป็นตัวแทนภาพของเปอร์เซียประเภทที่เราจะนั่งจิบชากุหลาบอยู่ในสวนกุหลาบแบบเปอร์เซีย รื่นรมย์ไปกับจัตุรัสกลางเมืองอันกว้างใหญ่ ชื่นชมแสงที่สาดเข้ามาทางลายสลักบนบานหน้าต่างแสนงามของมัสยิดอิหม่าม (Imam Mosque) และสนุกสนานละลานตาไป ‘ตลาดเปอร์เซีย’ รอบจัตุรัสอิหม่าม (Imam Square) จนอดตกหลุมรักเปอร์เซียไม่ได้
แต่คืนนั้นมีเสียงปืนดังก้อง!
ก่อนหน้านั้น ตอนไปถึงจัตุรัสอาซาดีในเตหะราน พวกเราลงจากรถในท่ามกลางอากาศหนาวเพื่อจะไปถ่ายรูป แต่ลงไปได้สองสามนาที แมทเธียสก็ส่งสัญญาณให้เรากลับขึ้นรถ
“สถานการณ์ไม่ปลอดภัย” เขาบอก “แต่ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”
ตำรวจทหารรายล้อมรอบจัตุรัสอาซาดี แมทเธียสห้ามเราถ่ายรูปเจ้าหน้าที่เหล่านี้อย่างเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นอาจมีปัญหาร้ายแรงได้ เรากลับขึ้นรถ ผมมองดูจัตุรัสอาซาดีในแสงสุดท้ายและรู้สึกเศร้าขึ้นมาอย่างประหลาด ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่
คำว่า Azadi เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า Freedom หรือเสรีภาพ ชื่อนี้เป็นชื่อใหม่ที่ตั้งให้แก่หอคอยแห่งนี้ ก่อนหน้านี้ อาซาดีมีชื่อเดิมว่าหอคอยชาห์ยัด (Shahyad Tower) ซึ่งหมายถึงหอคอยอันเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงพระเจ้าชาห์
คุณรู้จักพระเจ้าชาห์ไหมครับ?
ผมไม่แน่ใจว่า คุณเคยอ่านหนังสือการ์ตูนเล่มเล็กๆ ที่มีชื่อว่า Persepolis เขียนโดย Marjane Satrapi (แปลโดย ณัฐพัดชา สำนักพิมพ์กำมะหยี่) หรือเปล่า
หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ (อีกครั้งหนึ่ง) ของอิหร่านในปี 1979 กับเหตุการณ์ที่เรียกว่า Iranian Revolution หรือ Islamic Revolution ซึ่งก็คือการทำประเทศให้กลายเป็นมุสลิมอีกครั้งหนึ่ง นี่เป็นความขัดแย้งใหญ่โตระดับประเทศและระดับโลก ที่ส่งผลสะเทือนลงมาถึงเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งผู้ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย ถึงขั้นที่ที่สุดแล้วทั้งครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ต่างประเทศ
ก่อนหน้าการปฏิวัติใหญ่ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทสำคัญในอิหร่าน โดยสหรัฐอเมริกาหนุนหลังพระเจ้าโมฮัมหมัด รีซา ปาลาวี (Mohammad Reza Pahlavi) แห่งราชวงศ์ปาลาวี (Pahlevi) ที่ปกครองอิหร่านอยู่ พูดได้ว่า พระองค์มีอำนาจเพราะเงื่อนไขทางการเมืองระดับโลก โดยพระองค์เป็นผู้ปกครองสูงสุด และทรงพยายามปฏิรูปประเทศให้สมัยใหม่ตามแบบตะวันตกในหลายรูปแบบ ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ
การพยายามทำให้ประเทศมีลักษณะสมัยใหม่ ปลดตัวเองออกจากรัฐศาสนา (Secularisation) และสร้างความสัมพันธ์กับอิสราเอล ทำให้ฝ่ายศาสนา (ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์) ไม่พอใจ แต่นอกจากนี้แล้ว พระเจ้าชาห์ยังเสียแรงสนับสนุนในกลุ่มกรรมกรและนายทุนด้วย เพราะเศรษฐกิจไม่ดี แถมยังมีข่าวเรื่องคอร์รัปชั่นมากมายทั้งกับตัวเอง ราชวงศ์ และคนชั้นสูงที่อยู่รายล้อม ที่สำคัญ พระองค์ใช้วิธีปราบปรามประชาชนด้วยการคุมขัง ประมาณว่าในปี 1978 มีนักโทษการเมืองของอิหร่านอยู่ถึง 2,200 คน โดยมีเหตุการณ์สำคัญคล้ายฟางเส้นสุดท้าย คือการเผาโรงหนังที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน โดยทั้งฝ่ายหัวรุนแรงทางศาสนากับฝ่ายพระเจ้าชาห์ต่างก็โยนบาปไปให้ฝ่ายตรงข้าม
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือการปฏิวัติครั้งใหญ่ในอิหร่าน พระเจ้าชาห์ต้องออกนอกประเทศ และอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศก็ถ่ายโอนมาอยู่ในมือของผู้นำสูงสุดหรือ Supreme Leader อย่างอยาตุลลาห์ โคไมนี ผู้เปลี่ยนแปลงอิหร่านให้กลับไปเป็นรัฐศาสนาอีกครั้ง และทำให้ผู้หญิงต้องคลุมศีรษะมาจนถึงทุกวันนี้
5
ซาเดก ซิบาคาลาม (Sadek Zibakalam) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ (ดูที่นี่ www.alarabiya.net) ว่าลึกๆ แล้ว ชาวอิหร่าน ‘เกลียด’ ชาวอาหรับ
“ผมคิดว่าชาวอิหร่านส่วนใหญ่ทุกชนชั้นเกลียดอาหรับ ปรากฏการณ์เกลียดชังอาหรับเป็นเรื่องปกติของปัญญาชนในอิหร่าน” เขาบอกอย่างนั้น และเสริมว่า “ชาวเปอร์เซียจะไม่มีวันลืมความพ่ายแพ้ในน้ำมือของชาวอาหรับเมื่อ 1,400 ปีก่อน มันเหมือนกับไฟที่สุมอยู่ข้างใต้ รอวันที่จะปะทุขึ้นมา”
ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของอิหร่านตั้งแต่จักรวรรดิเปอร์เซีย เราจะเห็นได้เลยว่า ชาวอิหร่านหรือเปอร์เซียต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มาตลอด ตั้งแต่อเล็กซานเดอร์มหาราชบุก ชาวมุสลิมบุก กระทั่งชาวมองโกล (โดยกุบไลข่าน) ก็เคยบุกมาถึงที่นี่ แล้วยังต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในยุคใหม่อีกหลายครั้ง จากพระเจ้าชาห์ที่ชอบความร่ำรวยหรูหรา ใช้เงินงบประมาณไปกับความอลังการในงานฉลอง สร้างวัง และวิบวับกับอาภรณ์เครื่องประดับ กับกองเครื่องเพชรมหึมา ทว่าปล่อยให้ประชาชนยากจน จนเกิดความเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกลายมาเป็นรัฐศาสนา ทว่าที่สุดก็เข้าสู่วัฏจักรเดิม นั่นคือประชาชนทั่วไปกลับมายากลำบากอีกครั้งด้วยเงินเฟ้อ และรัฐศาสนาตัดสินใจใช้เงินมหาศาลไปกับการสนับสนุนรัฐศาสนาด้วยกันในต่างประเทศอย่างซีเรียและเลบานอน
ผู้คนจึงลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ในวันที่รัฐบาลอิหร่านประกาศปิดสื่อออนไลน์อย่าง Telegram ผมถามแมทเธียสว่ามันจะได้ผลหรือ เขาหัวเราะ และบอกว่าเราก็แค่ย้ายไปคุยกันที่อื่นก็เท่านั้น
ตอนอยู่ที่คาชาน คนขายกาแฟบอกให้ผมเข้าไปดูร้านของเขาในเฟซบุ๊ก เมื่อผมถามเขาว่าใช้เฟซบุ๊กได้ด้วยหรือ เขาก็หัวเราะ และบอกว่าเขาใช้ VPN
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลสำคัญ ที่จู่ๆ การประท้วงต่อต้านก็เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศในแทบจะในเวลาเดียวกัน
จัตุรัสอาซาดีอาจเป็นจัตุรัสใหญ่ที่ผู้คนเคยมาชุมนุมประท้วงกันเป็นแสนๆ คน แต่ทุกวันนี้ผู้คนไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นอีกแล้ว พวกเขาเพียงแต่ติดต่อกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก นัดหมายกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วกระจายตัวกันแสดงความไม่พอใจต่อผู้นำสูงสุด (ซึ่งในกรณีของอิหร่านคือผู้นำทางศาสนา) ในประเทศของตัวเอง
เลิกยุ่งกับซีเรียได้แล้ว หันมาดูพวกเราบ้างเถิด พวกเรากำลังจะจมน้ำตายไปกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือข่าวที่บอกว่า ชาวอิหร่านส่วนหนึ่งเรียกร้องให้คืนอำนาจให้แก่ลูกหลานของพระเจ้าชาห์ เรียกร้องให้พวกเขากลับมาปกครองประเทศใหม่อีกครั้ง
คล้ายว่าเราลืมบทเรียนแห่งอำนาจที่เคยเกิดขึ้น, ง่ายดายเหลือเกิน
6
‘ราก’ ของความเป็นเปอร์เซียนั้นฝังลึกมากเสียยิ่งกว่าความเป็นมุสลิม แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นมุสลิมคือฐานรากสำคัญที่ทำให้ชาวอิหร่านปลดแอกตัวเองจากการปกครองของพระเจ้าชาห์ แต่ ณ วันนี้ เมื่อพวกเขาอยากปลดแอกตัวเองออกจากรัฐศาสนา พวกเขากลับเรียกร้องหาพระเจ้าชาห์อีกครั้ง
ในวันสุดท้ายที่อิหร่าน ตำรวจขึ้นมาตรวจค้นบนรถก่อนเข้าสนามบิน แมทเธียสบอกให้เราคาดเข็มขัดทั้งที่ตลอดทั้งทริป – เขาไม่เคยบอกให้ใครทำอย่างนั้นเลย, ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่ควรทำ
“มันเป็นกฎหมาย” เขาบอก “มันเป็นจารีต ก่อนนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องทำ แต่ตอนนี้เราต้องทำ”
สำหรับผม การคาดเข็มขัดบนรถเป็นเรื่องที่ถูกต้องและปลอดภัยดีแล้ว แต่อะไรบางอย่างในคำพูดของแมทเธียสทำให้ผมนึกถึงดอร์ซา เดราคชานี (Dorsa Derakhshani) นักกีฬาหมากรุกทีมชาติอิหร่านที่เคยได้แชมป์หลายสมัย ก่อนหน้านี้เล็กน้อย ผมเพิ่งเสิร์ชพบว่า เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ทางการดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับผ้าคลุมผมของเธอมากกว่าสมอง และนั่นทำให้เธอทนไม่ได้ ต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ เพราะไม่อาจทนทานต่อการบังคับให้ผู้หญิงต้องทำตาม ‘จารีต’ อย่างเคร่งครัด
ผ้าคลุมผมกับการรัดเข็มขัดอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และไม่ควรนำมาเปรียบกัน แต่บางสิ่งในสองอย่างนี้ก็เกี่ยวกระหวัดกันอยู่ในความคิดของผม
ก่อนลงจากรถที่สนามบิน แมทเธียสพูดประโยคเดิมที่เขาพูดมาตลอดทริป – เขาบอกเราทุกคนว่า, ให้กลับมาอีกครั้งในปีหน้า
“ผมเชื่อว่าฝั่งปฏิวัติจะชนะ และถ้าเป็นอย่างนั้น คุณจะได้นั่งดื่มเบียร์จริงๆ ริมถนน ได้นั่งมองดูผู้หญิงเดินไปเดินมาโดยไม่ต้องคลุมผมอีกต่อไป”
ในแสงยามเย็น ผมมองรอยยิ้มของเขา – และเห็นความหวังอยู่ในนั้น
แม้ความหวังน้ันจะมีเรื่องราวย้อนแย้งซ้อนทับไปมาอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อันยาวนานและโหดร้ายของชาติพันธุ์หนึ่ง และอาจถึงขั้นเป็นความหวังที่ไม่เดียงสาต่อความโหดเหี้ยมของโลก,
แต่กระนั้นมันก็ยังเป็นความหวัง
ไม่ใช่หรือ?

โตมร ศุขปรีชา