1
แรกทีเดียว คิดว่าคำถาม 6 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ แต่พอคุณวิษณุ เครืองาม บอกว่านายกฯ คงอยากให้ประชาชนได้ลองแสดงความคิดเห็นบ้าง ไม่ใช่ให้ฝ่ายการเมืองออกมาให้ความเห็นเพียงฝ่ายเดียว ก็เลยคิดว่าลองตอบสั้นๆ ดูก็ได้ครับ
การที่นายกฯ ออกมาตั้งคำถามทั้ง 6 ข้อ นี้ บางคนค่อนแคะว่าเป็นการโยนหินถามทางเพื่อจะตั้ง ‘พรรคทหาร’ แต่ผมว่าเรามองนายกฯ ในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะเอาเข้าจริง นี่อาจเป็นคำถามที่เผยให้เห็นถึง ‘ความเปราะบาง’ ในหัวใจนายทหารผู้อาสาเข้ามาแบกความรับผิดชอบมหาศาลก็ได้นะครับ ประมาณว่าอุตส่าห์ตั้งใจดีมาเต็มร้อย พอถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักๆ ก็ย่อมน้อยอกน้อยใจเป็นธรรมดา ผลพวงของความน้อยใจก็เลยหลุดหล่นออกมาเป็นคำถามทั้ง 6 นี้
คำถามที่ 1 : (ขอย่นย่อคำถาม) เราจำเป็นต้องมีการพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไหม ถ้ามีแต่หน้าเดิมๆ จะทำให้เกิดการปฏิรูปได้และทำงานต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติได้หรือไม่
คำตอบ : ผมคิดว่าเราต้องการนักการเมืองใหม่ๆ แน่อยู่แล้วครับ แต่เราไม่ได้ต้องการแค่นักการเมือง ‘หน้า’ ใหม่เท่านั้นนะครับ เพราะใต้ใบหน้าที่ ‘ใหม่’ นั้นต้องมี Mentality และชุดความคิดความเชื่อความรู้ความงามความจริงที่ ‘ใหม่’ จริงๆ ด้วย ไม่ใช่เป็นบูมเมอร์หัวโบราณที่อ้างว่าตัวเองไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อนทั้งที่เล่นการเมืองมาตลอด แต่พอได้เข้ามาเป็นนักการเมืองอย่างเป็นทางการแล้วก็บอกว่าตัวเอง ‘หน้าใหม่’ แบบนั้นไม่เอานะครับ ความใหม่จะทำให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริงขึ้นมาได้ แล้วเมื่อมีการปฏิรูปที่แท้จริง ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ก็จะเกิดตามมาเอง
คำถามที่ 2 : คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองไหน ก็เป็นสิทธิของ คสช. ใช่ไหม
คำตอบ : คำถามนี้ตอบยากมากนะครับ คิดว่าต้องกลับไปถาม คสช. ก่อน ว่าเข้าใจคำว่า ‘สิทธิ’ ตรงกันและตรงกับสากลโลกหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการถามตอบแบบไปไหนมาสามวาสองศอกน่ะครับ
คำถามที่ 3 : สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลได้ทำ ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่ (คำถามนี้มีคำถามย่อยอีกสามคำถาม ต้องไปหาอ่านกันเอาเองนะครับ เพราะเป็นคำถามที่มีความรู้สึกเปราะบางระหว่างบรรทัดให้เห็นเยอะทีเดียว น่าสงสารมากๆ)
คำตอบ : เรื่องการทำงานนี่น่าเห็นใจจริงๆ นะครับ เพราะคนที่ทำงานหนักคลุกอยู่กับวงใน มักมองไม่ค่อยเห็นหรอกว่า ผลกระทบจากการทำงานของตัวเองมันกระเพื่อมไปทางไหนบ้าง บวกหรือลบ ยิ่งถ้าเป็นการทำงานหนักด้วยความหวังดี อาจยิ่งมองไม่เห็นว่าความทุ่มเทของตัวเองมันจะเกิดผลร้ายไปได้อย่างไร เขาบอกว่า การ Work Hard กับ Work Smart นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ไปด้วยกันได้เสมอไปนะครับ คนที่ Work Smart มักรู้ว่าอะไรคือ Work Hard แต่คนที่ Work Hard มักขาดความสามารถที่จะมองให้เห็นว่า Work Smart คืออะไร ข้อบกพร่องจึงอาจเกิดขึ้นได้หลายระดับ ทั้งบกพร่องแบบที่มองเห็นได้ง่าย และบกพร่องเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมที่มองเห็นได้ยากมากๆ
แต่คำถามที่สำคัญและอาจน่าเบื่อน่าหาวเรอกว่าสำหรับคนตอบก็คือ – การอาสาเข้ามาทำงานนั้นมีฐานที่มาทางอำนาจอย่างไร
คำถามที่ 4 : การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตมาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ สถานการณ์ก่อนหน้านี้มีความขัดแย้งรุนแรงใช่หรือไม่
ตอบ : การเปรียบเทียบรัฐบาลสองแบบนี้ เอาเข้าจริงไม่น่าจะถูกต้องเท่าไหร่นะครับ ออกไปในทางผิดฝาผิดตัวมากกว่า เพราะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ย่อมเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้อยู่แล้ว – ไม่ว่าในมิติไหน, พวกที่ชอบเปรียบเทียบย่อมไม่หวังดีแน่ๆ เลยทีเดียวเชียว
คำถามที่ 5 : รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาล และการพัฒนาที่ต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่
ตอบ : น่าเสียดายที่กระบวนการประชาธิปไตยไทยในอดีต ไม่เคย ‘ต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอ’ เลยครับ เพราะถูกขัดด้วยรัฐประหารไปเสียทุกทีสิน่า เลยทำให้ตอบคำถามนี้ยากอยู่สักหน่อย ขอไม่ตอบแล้วกันนะครับ
คำถามที่ 6 : พรรคการเมือง นักการเมือง ออกมาเคลื่อนไหวด้อยค่า คสช. รัฐบาล นายกฯ และบิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานอย่างมากผิดปกติ ฝากถามพี่น้องประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร
ตอบ : ที่จริง คำถามข้อ 4, 5 และ 6 นี่ มีน้ำเสียงที่แลดูน้อยอกน้อยใจมากนะครับ อ่านคำถามแล้วรู้สึกเห็นใจผู้ถามจริงๆ เหมือนถูกรังแกจนต้องมาฟ้องประชาชนว่าถูกพวกนิสัยไม่ดีมาบิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานเลย ก็เลยไม่รู้จะตอบอะไรจริงๆ ต้องขอโทษด้วยนะครับ มอบให้ได้เพียงความเห็นใจและกำลังใจเท่านั้นเอง
2
แม้ไม่คิดเลยว่า คำถามของนายกฯ ทั้ง 6 ข้อ คือการโยนหินถามเพื่อตั้งพรรคทหาร แต่พอได้ยินคำว่า ‘พรรคทหาร’ ขึ้นมา ก็เลยอดนึกไปถึงตำนานพรรคการเมืองไทยไม่ได้
เรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกันมาตลอดก็คือ พรรคไหนกันแน่ที่เป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของไทย
บางคนบอกว่า ก่อนหน้าท่ีจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เราเคยมี ‘พรรคการเมือง’ อยู่ก่อนแล้ว คือพรรคแพรแถบสีน้ำเงิน โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระนามแฝง ‘ท่านราม ณ กรุงเทพ’ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคแพรแถบสีแดงที่มีพระยามรามราฆพเป็นหัวหน้าพรรค แต่ที่จริงทั้งสองพรรคเป็นพรรคการเมืองจำลองในเมืองจำลองอย่างดุสิตธานี จึงไม่น่าจะนับเป็นพรรคการเมืองในความหมายนี้
หลายคนอาจคิดว่า เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกปุ๊บ ก็ต้องมีพรรคการเมืองปั๊บ แต่ที่จริงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แล้ว แม้เราได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีการกำหนดเรื่องของพรรคการเมืองไว้ แม้จะมีการแก้ไขต่อมาอีกสามครั้ง แต่ก็ยังไม่มีเรื่องพรรคการเมืองอยู่ดี
จนมาถึงปี 2489 ถึงได้มีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือรัฐธรรนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับที่สาม และเป็นฉบับแรกที่ให้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง จึงเกิดพรรคการเมืองขึ้นมามากมายหลายพรรค เช่น พรรคก้าวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสหชีพ พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย โดยพรรคแรกสุดที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นพรรคที่มีชื่อเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง คือ ‘พรรคก้าวหน้า’ ก่อตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งในตอนนั้นกำลัง ‘ก้าวหน้า’ มาจากอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้รวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองได้แล้ว แต่ปัญหาก็คือยังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมารองรับ ต้องใช้เวลาอีกเก้าปี คือในปี 2498 ซึ่งเป็นยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงได้มีการตรากฎหมายพรรคการเมืองขึ้นมา คือพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 พรรคการเมืองท่ีตั้งๆ กันมาก่อนหน้านั้นถึงได้มีโอกาส ‘จดทะเบียน’ เป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการสมบูรณ์แบบ
แต่แม้พรรคก้าวหน้าจะก่อตั้งขึ้นมาเป็นพรรคแรก ทว่าพรรคที่ได้จดทะเบียนก่อนความก้าวหน้าของพรรคก้าวหน้า – ก็คือพรรคเสรีมนังคศิลา, ซึ่งถือได้ว่าเป็น ‘พรรคทหาร’ หรือพรรคการเมืองที่เกิดจากทหาร เพราะหัวหน้าพรรคไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือนายกรัฐมนตรีอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงครามนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เวลามีคนถามว่า พรรคการเมืองไหนเป็นพรรคการเมืองแรก คนที่ตอบว่าพรรคก้าวหน้าก็ถูก ส่วนคนที่ตอบว่าพรรคเสรีมนังคศิลาก็ถูกด้วยเหมือนกัน แต่ที่อยากชวนให้สังเกต เพราะน่าจะ ‘ล้อ’ ไปกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยในแบบขำขื่นดีก็คือ เราจะเห็นได้เลยว่าประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแล้วมัน ‘ย้อนแย้ง’ มาตั้งแต่ต้น
เพราะแม้พรรคก้าวหน้าจะชื่อว่า ‘ก้าวหน้า’ แต่เอาเข้าจริง หัวหน้าพรรคอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมถึงสมาชิกคนสำคัญๆ อีกหลายคนต่างมีความคิดเห็นตรงข้ามกับคณะราษฎร บางคนเคยร่วมก่อการในกบฏบวรเดชด้วย ดังนั้นคำว่า ‘ก้าวหน้า’ ที่ว่า จึงถูกตั้งคำถามโดยนักประวัติศาสตร์ยุคหลังๆ ว่าหมายถึงความก้าวหน้าในแบบ Progressive หรือแท้จริงเป็นความก้าวหน้าที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแฝงอยู่เบื้องหลัง และ ‘หยิบยืม’ คำว่าก้าวหน้ามาใช้ในความหมายอีกแบบหนึ่งกันแน่
ในเวลาเดียวกัน หัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นก็มีอะไรย้อนแย้งอยู่ในตัวไม่น้อย คือนอกจากจะมีวันเกิดตรงกับวันชาติฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเสรีนิยมแล้ว ยังเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในคณะราษฎรที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการตรากฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ขึ้นมาด้วย ซึ่งถ้ามองจากชีวประวัติในแง่มุมน้ี ก็น่าจะถือว่าเป็นคนที่ ‘ก้าวหน้า’ ในทางความคิดไม่น้อย
แต่ปรากฏว่า จอมพล ป. คือผู้นำทหารที่ไม่ได้เป็นแค่ทหาร ทว่ายังเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ว่าได้ – ที่นำทหารมารวมกับการเมือง และทำให้สังคมไทยมี ‘พรรคทหาร’ เป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการเป็นพรรคแรกในประวัติศาสตร์
ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของพรรคการเมืองไทย ไม่ว่าเราจะนับพรรคก้าวหน้าหรือพรรคเสรีมนังคศิลาเป็นพรรคการเมืองแรก ก็ล้วนแต่มีความย้อนแย้งอยู่ในตัวสูงยิ่งมาตั้งแต่ต้น ทั้งสองพรรคเป็นต้นตำรับพรรคการเมืองที่แอบอิงอยู่กับแนวคิดอำนาจนิยม เพียงแต่เป็นอำนาจนิยมที่เป็นคู่ต่อสู้กันเท่านั้นเอง
การถกเถียงกันว่า พรรคไหนเป็นพรรคการเมืองแรกของไทย (ระหว่างพรรคก้าวหน้า กับพรรคเสรีมนังคศิลา) จึงอาจเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าจะจารึกว่าพรรคไหนเป็นพรรคการเมืองแรกในประวัติศาสตร์ไทยก็ให้ระดับความน่าภูมิใจพอๆ กัน ที่น่าสนใจกว่า คือผลการเลือกตั้งในปี 2500 ที่พรรคเสรีมนังคศิลา (หรือ ‘พรรคทหาร’) ได้ชัยชนะอย่างขาดลอย แต่กลับเป็นการเลือกตั้งที่ได้ฉายาว่าเป็น ‘การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์’ เพราะมีทั้งการเวียนเทียนกันลงคะแนน มีการข่มขู่ มีการใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวประณามพรรคคู่แข่ง ฯลฯ และแม้จะมีรายละเอียดระหว่างทางอีกมาก แต่พูดโดยสรุปก็คือ ในที่สุดผู้นำพรรคทหารอย่างจอมพล ป. ก็ถูกทหารลูกน้องอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารไปตามระเบียบ
ถึงกระนั้น ‘พรรคทหาร’ ก็ไม่เคยตายไปจากสังคมไทย เพราะต่อมายังมีอีกหลายพรรคที่มีกำเนิดลักษณะเดียวกัน คือตัวนายทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นผู้มีอำนาจในขณะนั้นเป็นผู้ตั้งพรรคแล้วมาเป็นหัวหน้าพรรคเองอย่างพรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค หรือพรรคสามัคคีธรรมยุคหลังการยึดอำนาจของคณะ รสช. ในปี 2534 ที่แม้ทหารจะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ถูกมองว่าเป็นพรรคที่สนับสนุนทหารและทหารสนับสนุน พรรคเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น ‘พรรคเฉพาะกิจ’ ที่เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
ความที่พรรคทหารไม่เคยตายไปจากสังคมไทย จึงทำให้คำถาม 6 ข้อ ของนายกฯ ผู้เป็นที่รักของมวลมหาประชาชน ถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นการโยนหินถามทางเพื่อตั้ง ‘พรรคทหาร’ ขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งหรือเปล่า และทำให้หลายคนพิศวงสงสัยว่า – ทำไมวิธีคิดแบบนี้จึงยังดำรงอยู่ได้ไม่เสื่อมคลาย
แต่อันท่ีจริง ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติการก่อกำเนิดของพรรคการเมืองไทย ก็จะเห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไรน่าสงสัยเลย
ต้องบอกว่า As Good As It Gets น่ะครับ