มีภาษิตจาเมกากล่าวไว้ว่า ‘if it’s not go, it go near so.’ ซึ่งแปลได้ว่า ‘ต่อให้มันไม่จริง มันก็เกือบๆ แหละ’
A Brief History of Seven Killings คืองานวรรณกรรมเล่มสำคัญของนักเขียนจาเมกันนาม Marlon James ที่แม้จะเคยมีงานเขียนเล่มอื่นๆ มาแล้วก่อนหน้า อย่าง John Crow’s Devil ที่เล่าเรื่องการปะทะกันระหว่างนักเทศน์สองคนในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในจาเมกาในช่วงปี 1957 หรือ The Book of Night Women ซึ่งฉายภาพของระบบทาสในจาเมกาได้อย่างโหดร้าย สมจริง และรบกวนจิตใจ จนได้รับคำชื่นชมไปทั่ว แต่เป็นนวนิยายเล่มที่สามของเขานี่เองครับที่ส่งให้ชื่อของเจมส์กลายเป็นที่กล่าวถึงทั่วโลก เมื่อ The Brief History of Seven Killings ได้คว้ารางวัล Man Booker Prize ประจำปี 2015 มาครอง สามารถเอาชนะตัวเต็งอย่าง A Little Life ของ Hanya Yanagihara มาได้อย่างน่าประหลาดใจ
ตามชื่อที่ตั้งไว้ A Brief History of Seven Killings คือเรื่องราวของการฆ่าครับ ไม่สิ พูดให้ถูกคือการลอบสังหาร (Assassination) ต่างหาก ส่วนเป้าหมายก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือราชาเพลงเร็กเก้ในตำนานอย่าง Bob Marley นั่นเองครับ เหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นจริงในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1976 เมื่อมือปืนปริศนา 7 คนบุกเข้าไปยังบ้านพักของมาร์เลย์ขณะที่เขากำลังซ้อมเพื่อขึ้นคอนเสิร์ต Smile Jamaica ที่จะจัดขึ้นในอีกสองวันข้างหน้า แต่ก็อย่างที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ มาร์เลย์รอดชีวิตจากการพยายามพรากชีวิตเขาในครั้งนั้น ทั้งยังคงขึ้นเล่นบนเวทีคอนเสิร์ตหลังจากนั้น
ส่วนมือปืนปริศนาก็หนีหาย และไม่เคยถูกจับกุมได้
แม้ว่านิยายเล่มนี้จะจัดวางตัวเองอยู่บนเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ แต่เจมส์กลับเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านข่าวลือ เสียงกระซิบ และเรื่องเล่าปากต่อปาก ซึ่งในทางหนึ่งคือการจดจำประวัติศาสตร์อย่างที่เจมส์คุ้นเคยในฐานะนักเขียนที่เติบโตมาในสภาพสังคมที่แวดล้อมด้วยมุขปาฐะ เขาคว้าจับเอาเอกลักษณ์อันคุ้นชินต่อบ้านเกิดของเขามาถ่ายทอดเป็นรูปแบบการเล่าเรื่อง (narrative) ของเล่ม ใช้คำพูดและความคิดของตัวละครต่างๆ ในการบอกเล่าเรื่องราว หรืออย่างที่ภาษาวรรณกรรมเรียกว่า ‘กระแสสำนึก’ (stream of consciousness) นั่นเองครับ
ขอนอกเรื่องสักเล็กน้อย ผลงานของนักเขียนชื่อดังที่ใช้การเล่าแบบกระแสสำนึกก็อย่างเช่น Virginia Woolf ในงานเขียนอย่าง สู่ประภาคาร (To The Lighthouse) James Joyce ใน Ulysses และ A Portrait of The Artist as a Young Man หรือ William Falkner ใน ความเดือดดาลในกระแสเสียง ( The Sound and The Fury) ครับ แต่แม้จะมีนักเขียนหลายคนเลือกจะเล่านวนิยายของเขาผ่านกลวิธีนี้ ทว่าสำหรับนักอ่านเอง หลายๆ คนมักลงความเห็นกันว่าการอ่านงานในลักษณะกระแสสำนึกนั้นไม่ง่าย ลองนึกภาพคุณกำลังสวมร่างตัวละครหนึ่งๆ และรับรู้ถึงความคิด ทัศนคติ และจินตนาการของเขาซึ่งหลั่งไหลไปเรื่อยๆ ดังสายน้ำดูสิครับ แถมบางครั้งความสนใจของตัวละครนั้นๆ ยังเปลี่ยนไปในทันทีเหมือนมนุษย์ทั่วไป ขณะที่กำลังเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ครั้นจู่ๆ มีอีกเรื่องมาหันเหความสนใจพวกเขาก็พร้อมจะเพ่งจ้องไปยังสิ่งนั้นในทันที หรือบางทีบริบทแวดล้อมตัวละครหนึ่งๆ ก็ไม่ถูกอธิบายอย่างตรงๆ แต่ผู้อ่านจำต้องคาดเดา หรือพยายามมองหาคำใบ้ที่จะช่วยให้เห็นภาพเดียวกับตัวละครดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้จึงพูดได้ว่า A Brief History of Seven Killings เองซึ่งก็ใช้การเล่าแบบกระแสสำนึก จึงไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายนัก (สำหรับผม) ยิ่งเมื่อเจมส์ท้าทายผู้อ่านมากขึ้นด้วยการเลือกบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครโดยใช้ภาษาถิ่นจาเมกา (Jamaica Patois) ที่แม้จะมีพื้นฐานจากภาษาอังกฤษก็จริงอยู่ ทว่าการกร่อนคำ การปฏิเสธรูปแบบไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันดี หรือการผนวกเอาภาษาถิ่นเข้ามาในบทสนทนา ก็สามารถพบเห็นได้ในประโยคที่ตัวละครเลือกใช้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การจะอ่านนิยายเล่มนี้อย่างลื่นไหลจำต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวสักเล็กน้อยครับ
ไม่ใช่แค่กลวิธีการเล่าเนื้อหาเท่านั้นที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ท้าทายผู้อ่าน แต่ยังรวมถึงบรรดาตัวละครที่เกี่ยวโยงกับเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ที่รวมๆ แล้วก็ปาไปหลายสิบตัวเลยครับ ซึ่งแต่ละบท เจมส์จะสลับตัวละคร เปลี่ยนพื้นที่และมุมมองไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงภาพกว้างของสภาพสังคมจาเมกา ณ ขณะนั้น โดยตัวละครเหล่านี้ก็มีตั้งแต่เด็กในแก๊ง เอฟบีไอ หญิงที่อ้างว่ามีความเกี่ยวพันกับมาร์เลย์ และสารพัดมากมายซึ่งล้วนแล้วแต่ผูกโยงตัวเองอยู่กับนักร้องเร็กเก้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และซึ่งตัวละครต่างๆ เหล่านี้ต่างก็บอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขารู้ผ่านฉบับของตัวเอง เป็นการเล่าเรื่องเดียวกันในหลายเวอร์ชั่น บางคนอาจยืนอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่เพียงแค่ตำแหน่งแห่งที่แตกต่างกันออกไป ก็ส่งผลให้พวกเขารับรู้ข้อมูลที่ไม่เหมือนกันไปแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้เองครับที่เรื่องราวในเล่มจึงวกกลับไปพ้องกับภาษิตซึ่งผมยกขึ้นมาข้างบนที่ว่า ‘ต่อให้มันไม่จริงๆ มันก็เกือบๆ แหละ’ นั่นเพราะเราไม่อาจเชื่อได้เลยว่าเรื่องเล่าของตัวละครไหนที่จริง เรื่องเล่าของตัวละครไหนที่แต่ง มีคำโกหกปะปนอยู่มากแค่ไหน มีความจริงหลงเหลืออยู่สักเท่าไหร่ และพวกเขาเหล่านั้นก็ราวกับจะไม่สนใจด้วยว่าข้อมูลที่เรากำลังรับรู้อยู่นี้จะส่งผลให้ความจริงคลาดเคลื่อนไปสักแค่ไหนกัน
การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงคล้ายจะมอบประสบการณ์ส่วนบุคคลให้กับนักอ่านแต่ละคน เพราะมันไม่ใช่แค่ว่าไล่ตาผ่านตัวอักษรไปเรื่อยๆ ครั้นพออ่านจบแล้วเราจะลงเอยที่บทสรุปเดียวกันเสมอไป ระหว่างเส้นทางจากจุดเริ่มต้นถึงจุดจบ นับไม่ถ้วนครั้งที่เราติดกับดักซึ่งหลายตัวละครต่างวางรอไว้ เราตกหลุมพราง แต่เราก็อาจถูกฉุดขึ้นมา หากก็เพื่อจะตกลงสู่อีกหลุมหนึ่ง เป็นอย่างนี้เรื่อยไปไม่เคยสิ้นสุดตลอดความหนาเกือบเจ็ดร้อยหน้าของหนังสือเล่มนี้
ใช่ครับ หนังสือเล่มนี้หนากว่าเจ็ดร้อยหน้า แต่รับประกันเลยครับว่าหากผ่านพ้นร้อยหน้าแรกไปได้ คุณจะได้พบกับประสบการณ์การอ่านที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ และลมหายใจจากชีวิตของตัวละครที่น่าเชื่อเสียเหลือเกินว่าพวกเขามีชีวิตอยู่จริง และแน่นอนครับว่าถ้าได้เล่นเพลงของบ๊อบ มาร์เลย์คลอไปด้วยจะอินหนังสือเล่มนี้มากขึ้นอีกแน่นอน
Cover Illustration by Manaporn Srisudthayanon