รุ่นพี่ผู้จัดประเภทตัวเองอยู่ในฝั่งลิเบอรัล (บางทีก็ถูกจัดประเภทให้เลยรัลไปเป็นร่าน) คนหนึ่ง เล่าให้ฟังด้วยความประหลาดใจว่า แม่ของเธอซึ่งสมัยสาวๆ แลดูเป็นเสรีนิยมลิเบอรัลตัวเบ้อเริ่มอยู่ดีๆ ไฉนเลยพออายุถึงหกสิบปี จู่ๆ ก็กลายร่างมาเป็นสิ่งที่รุ่นพี่เรียกว่า ‘คอนเซอร์เวทีฟ’ ด้วยการออกไปเป่านกหวีดและทุกวันนี้ก็สนับสนุน ‘ฝั่งโน้น’ ไม่เสื่อมคลาย
“ทำไมเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้”
รุ่นพี่ยังตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ระดับ ‘แม่’ ของรุ่นพี่เท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ แต่ระดับอายุที่อ่อนย่อมลงมาหน่อย ประมาณรุ่นพี่ของรุ่นพี่ (คืออายุราวๆ ห้าสิบปี) ก็มีหลายคนที่เข้าข่ายนี้ คือสมัยก่อนเป็นลิเบอรัลตัวเอ้ แต่พออายุมากขึ้นก็กลับกลายเป็นคอนเซอร์เวทีฟ เธอเห็นคนที่เป็นอย่างนี้ในแวดวงเดียวกันหลายต่อหลายคน
ผมเลยเย้าเธอไปว่า เอ๊ะ! หรือจะเป็นที่วัย อีกหน่อยถ้ารุ่นพี่อายุสักหกสิบปี ก็อาจกลายเป็นคอนเซอร์เวทีฟได้เหมือนกันนะ
รุ่นพี่ทำหน้าเครียดจริงจัง
“ถ้าพี่คอนเซอร์เวทีฟอย่างนั้นนะ ช่วยถีบพี่แรงๆด้วย บอกไว้ก่อนเลย!” เธอว่า
ฟังดูขำๆ แต่คำปรารภของรุ่นพี่ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของใครก็ไม่รู้ (คือไม่รู้จริงๆ เพราะมีคนหยิบยกมาแล้วบอกว่าคนพูดคือจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ บ้าง, วินสตัน เชอร์ชิล บ้าง, วิคเตอร์ อูโก้ บ้าง คนโน้นคนนี้บ้าง เลยไม่รู้จริงๆว่าใครพูด) เนื้อหาของคำพูดนั้นก็คือ
“Any man who is under 30, and is not a liberal, has no heart; and any man who is over 30, and is not a conservative, has no brains.”
“คนอายุน้อยกว่า 30 ถ้าไม่เป็นลิเบอรัล ถือว่าไม่มีหัวใจ ส่วนคนอายุเลย 30 ไปแล้ว ถ้าไม่เป็นคอนเซอร์เวทีฟ ก็จัดว่าไม่มีสมอง”
ช่างเป็นคำพูดที่ ‘แร็งส์’ เหลือเกินนะครับ แต่มันก็ทำให้เราเห็นว่า เอ๊ะ! หรือจะเป็นไปได้ที่เมื่ออายุมากขึ้น คนเราจะ ‘คอนเซอร์ฯ’ หรือเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
เคยมีบทความในเดอะการ์เดียน เขาทำกราฟเปรียบเทียบคนเอาไว้น่าสนใจดีนะครับ เป็นกราฟการเลือกตั้งของอังกฤษตั้งแต่ปี 1964 ถึง 2010 โดยจำแนกตามอายุ (คล้ายๆ กับที่มีคนทำกับ Brexit นั่นแหละครับ)
กราฟนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นคนอายุน้อยๆ เปอร์เซ็นต์ที่จะเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟมีต่ำ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนอายุมากๆ ก็จะเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟมากตามไปด้วย
จากกราฟ จะเห็นได้ชัดเจนนะครับว่าถ้าเป็นคนที่มีอายุมากขึ้น จะหันมาเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟกันมากขึ้น เช่นคนที่เคยอายุน้อยในปี 1964 พอถึงปี 2010 ก็จะกลายเป็นคนอายุมาก แม้เป็นคนกลุ่มเดิม แต่จะเห็นได้ชัดเลยว่าเปอร์เซ็นต์ที่เลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟสูงขึ้น เพราะฉะนั้นแม้จะมีข้อโต้แย้งว่า แพทเทิร์นแบบนี้ไม่เกี่ยวกับอายุของคน แต่เกี่ยวกับเจนเนอเรชั่นที่สังกัดอยู่ ทว่าก็ไม่สามารถปัดทิ้งสมมติฐานเรื่องความคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุได้ทั้งหมด
คำถามคือ-แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
เขาบอกว่า มีคำอธิบายอยู่สองอย่าง อย่างแรกอาจเป็นเพราะกระบวนการแก่ตัว (Aging Process) ทำให้คนเรามีความอนุรักษ์นิยมมากขึ้น คืออยากให้อะไรเป็นเหมือนเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนมากนัก (แก่แล้วตามไม่ทัน-อะไรทำนองนั้น) อีกอย่างก็คือ-คนที่อายุมากขึ้นอาจมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เช่น ต้องการสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมากขึ้น เลยหันมาเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟกันมากขึ้น
แนวโน้มแบบที่ว่านี้เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นก็มีที่น่าสังเกตอยู่นะครับ ว่าถ้าดูตามกราฟนี้ เราจะเห็นว่าแนวโน้มที่คนสูงอายุจะเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้น ค่อยๆ ลดต่ำลงเรื่อยๆ จากราว 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในปี 1964 พอถึงการเลือกตั้งปี 1979 นั้นต่ำลงเล็กน้อย พอถึงปี 1987 ก็ต่ำลงมาอีกเหลือราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งพอถึงปี 1997 (ซึ่งเป็น ‘ยุคเก้าศูนย์’ ที่หลายคนบอกว่าเป็นยุคทองของการเปิดกว้างหลากหลาย) คนเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้นลดลงมาเหลือต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ด้วยซ้ำไป
แต่พอถึงปี 2010 นี่สิครับ น่าสนใจมาก เพราะกราฟคนเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟกลับดีดตัวสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ในกลุ่มของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ดีดตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในทุกกลุ่มอายุด้วย จึงน่าตั้งคำถามนะครับว่า-เป็นไปได้ไหมว่า ตรงนั้นนั่นแหละที่คือจุดเปลี่ยนการ ‘ขวาหัน’ ของอังกฤษ (ซึ่งสะท้อนไปถึงของโลกด้วย) แต่ยังไม่มีใครพูดถึงกันในตอนนั้นเพราะสถิติยังสั้นเกินไป แต่ในระยะหลังก็เริ่มมีการพูดถึงกันแล้วว่า นี่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของพรรคฝ่ายขวา ในอันที่จะ ‘เปลี่ยนสายน้ำประวัติศาสตร์’ (The Tide of History) ซึ่งก็ทำได้สำเร็จเสียด้วย คือแทนที่ความคิดแบบคอนเซอร์เวทีฟจะค่อยๆ ตายลง มันกลับเฟื่องฟูขึ้นจนกระทั่งในที่สุดก็สามารถพูดอย่างหยาบๆ ไร้ความรัดกุมได้ว่า-อังกฤษต้องพบกับ Brexit และอเมริกาต้องพบกับทรัมป์
ทีนี้ก็เกิดคำถามขึ้นมานะครับ ว่าแล้วคอนเซอร์เวทีฟกับลิเบอรัลนี่มันต่างกันยังไงหนอ
เราจะเห็นได้จากหนังสือ The Righteous Mind ของ Jonathan Haidt จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค และงานวิจัยของ John Jost (จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน) ที่บอกว่าเอาเข้าจริงแล้ว ความเป็นขวาหรือซ้าย (คือคอนเซอร์เวทีฟหรือลิเบอรัล) นั้น, เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ‘ลึก’ มาก
มันไม่ใช่แค่การที่คนสองคน ‘เห็น’ สิ่งต่างๆ แตกต่างกันเท่านั้น แต่มันคือการที่คนสองคน ‘เป็น’ ในสิ่งที่ต่างกันด้วย
มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบว่า ขวากับซ้ายนั้นแตกต่างกันอย่างไร เขาพบความแตกต่างหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ในแง่พฤติกรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงขนาดของสมองบางส่วนที่ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างของวิธีคิด และที่สำคัญที่สุดคือความแตกต่างของมุมมองเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม
ถ้าดูในแง่สมอง พบว่าคนที่เป็นคอนเซอร์เวทีฟ (ในกลุ่มตัวอย่าง) จะมีสมองส่วนอะมิกดาลาด้านขวา (right amygdala) ที่ใหญ่กว่า ส่วนลิเบอรัลจะมีสมองส่วน anterior cingulate cortex ใหญ่กว่า ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าอะไรเป็นเหตุของอะไรนะครับ สิ่งเหล่านี้เพียงแต่ ‘สัมพันธ์’ กัน (หรือมี correlation ระหว่างกัน) เท่านั้น โดยสมองส่วนอะมิกดาลานั้นเกี่ยวข้องกับความทรงจำในแบบที่เป็นข้อเท็จจริงและอารมณ์ในแง่ลบ เช่นความกลัว ส่วนสมองส่วน anterior cingulate cortex จะเกี่ยวข้องกับความเข้าใจการตระหนักรู้ในทางอารมณ์ ซึ่งจะเป็นส่งผลให้เกิดความเป็นขวาเป็นซ้ายอย่างไรก็ต้องพูดกันต่ออย่างพิสดาร
เอาเป็นว่า สิ่งที่อยากบอกคุณก็คือ ในโลกตะวันตกนั้น แม้จะยังอธิบายไม่ได้ว่าคนเปลี่ยนจากลิเบอรัลมาเป็นคอนเซอร์เวทีฟได้อย่างไร แต่ความเป็นคอนเซอร์เวทีฟหรือลิเบอรัลเป็นเรื่องที่ชัดเจนอย่างย่ิง ชัดเจนไปถึงการศึกษาระดับสมองโน่นเลย ซึ่งแม้จะบอกไม่ได้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล หรืออธิบายยังไม่ได้ว่าสาเหตุของการมีแนวคิดแบบต่างๆ เป็นเพราะอะไร แต่ก็มีความชัดเจนมากพอที่คนแต่ละคนจะเลือก ‘สังกัด’ แนวคิดแบบไหน แล้วก็ออกมาต่อสู้กันด้วยนโยบาย ด้วยการเลือกตั้ง ด้วยความเสมอภาค และด้วยกฎหมาย พูดอีกอย่างก็คือ มี ‘เส้นแบ่ง’ ที่ขีดเอาไว้ชัดเจนแจ่มแจ้งแดงแจ๋ให้เห็นกันไปเลยกระจะตานั่นแหละ
ทีนี้ถ้าหันมามองสังคมไทย ผมคิดว่าคำถามที่น่าสนใจคำถามหนึ่งก็คือ-อะไรคือ Thai Conservative กันแน่
Thai Conservative มีอยู่จริงไหม แล้วถ้ามี ความหมายมันเหมือนกับคอนเซอร์เวทีฟของโลกตะวันตกหรือเปล่า
เราจะได้ยินอยู่บ่อยๆ นะครับ กับคำอธิบายที่ว่า พวกคอนเซอร์เวทีฟไทยน่ะเหรอ ก็พวกนกหวีดกับพวกสลิ่มนั่นไง คนพวกนี้น่ะไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก สอดคล้องกับคำว่า ‘อนุรักษ์นิยม’ จะตายไป ดังนั้น คนที่เป็นนกหวีดและคนที่ถูกขนานนามว่าเป็นสลิ่ม จึงมักถูก ‘จับยัด’ เข้าไปอยู่ในกรอบของคอนเซอร์เวทีฟไปโดยปริยาย
แต่ถ้าเราพิจารณากันให้ดี เราจะเห็นว่าที่คนจำนวนมากที่อยู่ในขบวนการเป่านกหวีดของไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มสนับสนุนรัฐบาลทหารนั้น-ไม่ได้พิจารณาว่าตัวเองเป็นพวกคอนเซอร์เวทีฟนะครับ
คนอย่างแม่หรือ ‘รุ่นพี่ของรุ่นพี่’ ที่สมัยก่อนเคยแลดู ‘หัวก้าวหน้า’ ออกมาประท้วงเรื่องโน้นเรื่องนี้ เป็นหัวหอกนำกลุ่มคนออกมาต้านนโยบายโน่นนั่นนี่ของรัฐบาลหลายๆ ยุค พวกเขาไม่ได้เห็นว่าการออกมาเป่านกหวีดเป็นเรื่องคอนเซอร์เวทีฟหรือ ‘ล้าหลัง’ แต่อย่างใด หลายคนที่ผมเคยคุยด้วยคิดว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ คือความ ‘ก้าวหน้าทางการเมือง’ อย่างหนึ่งด้วยซ้ำ คือพาประเทศออกจากปลักตมแห่งการฉ้อฉลของนักการเมือง คือการก้าวไปข้างหน้า แม้จะต้องอาศัย ‘อำนาจพิเศษ’ บ้าง ก็ถือว่าเป็น lesser evil ที่พวกเขายอมแลก และบางคนก็ยอมแลกมาจนกระทั่งบัดนี้ ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องบอกว่าพวกเขาไม่เห็นว่าตัวเองเป็นคอนเซอร์เวทีฟในความหมายเดียวกับคนตะวันตก
ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่คิดว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มักถูกเรียกแบบเหมารวมว่า ‘สลิ่ม’ (ซึ่งมักมีนัยหมายถึงคนที่ไม่สนอกสนใจอะไรในโลกหล้า ไม่มีความคิดทางการเมือง วันๆ เอาแต่เสพสุขสนุกสบายอยู่กับเรื่องของตัวเอง ฯลฯ) จะคิดว่าตัวองเป็นคอนเซอร์เวทีฟด้วยนะครับ เพราะ (ถ้าพูดแบบเหมารวมกันต่อไป) คนเหล่านี้จำนวนมากคิดว่าตัวเองก้าวหน้าในทางไลฟ์สไตล์ เช่นเป็นกลุ่มที่นำวัฒนธรรมฮิสปเตอร์เข้ามา นำแฟชั่นในเรื่องการแต่งตัว รู้ดีว่าเทรนด์โลกกำลังจะไปทางไหนแล้วก็ก้าวเดินตามไปอย่างรวดเร็ว หรือกระทั่ง ‘นำ’ เทรนด์โลกในบางเรื่องด้วยซ้ำ
แล้วคนเหล่านี้จะเป็นคอนเซอร์เวทีฟได้อย่างไรกัน?
ในบางมิติ คนที่เป็นนกหวีดกับคนที่ถูกเรียกว่าเป็นสลิ่มอาจเป็นคนคนเดียวกัน คือเห็นว่าตัวเองก้าวหน้าทั้งในทางการเมืองและก้าวหน้าในทางไลฟ์สไตล์ไปพร้อมๆ กัน คนเหล่านี้ไม่มีใครประกาศกับโลกว่าตัวเองเป็นพวกอนุรักษ์นิยมหรือเป็นคอนเซอร์เวทีฟหรอกนะครับ พวกเขาเห็นเฉพาะมิติที่ก้าวหน้าในตัวเองเสมอ
นานมาแล้ว รุ่นน้องคนหนึ่งเคยจัดฉายหนังในมหาวิทยาลัย เป็นหนังฝรั่งเศสที่มีปรัชญาต่างๆ ซ่อนอยู่เยอะ แต่หนังก็มีความรุนแรงและฉากโป๊แทรกอยู่ด้วย รุ่นน้องถูกอาจารย์ลงโทษ แน่นอน-หลายคนย่อมมองว่ารุ่นน้องเป็นลิเบอรัลหัวก้าวหน้า และอาจารย์ย่อมเป็นคอนเซอร์เวทีฟ แต่ปรากฏว่าอาจารย์กลับบอกว่า-โอ๊ย! ไปดูทำไมหนังฝรั่งเศสพวกนี้น่ะ ผมดูมาเยอะแล้ว ก้าวหน้ากว่าพวกคุณอีก มันไม่มีอะไรหรอก มีแต่เซ็กซ์กับความรุนแรง ไม่ควรต้องไปดูหรอก แล้วก็สั่งทำทัณฑ์บนรุ่นน้องคนนั้น
ผมคิดว่าคำพูดของอาจารย์สะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของคอนเซอร์เวทีฟไทยได้ดีนะครับ เพราะคอนเซอร์เวทีฟไทยไม่เคยเห็นว่าตัวเองคอนเซอร์เวทีฟ (พอๆ กับที่สังคมไทยไม่เคยยอมรับว่าตัวเองเป็นสังคมที่มีชนชั้น) เหนือไปกว่านั้น คอนเซอร์เวทีฟไทยยังรู้สึกด้วยซ้ำว่าตัวเอง ‘ก้าวหน้า’ กว่า ‘อ้ายพวกลิเบอรัล’ ที่กำลังจะตกยุค (เพราะโลกเขาหันไปเป็นขวากันหมดแล้ว!) ด้วย
ดังนั้น ความเป็นคอนเซอร์เวทีฟไทยจึงเป็น ‘สภาวะเหนือจริง’ มองเห็นได้ยาก แต่ตกหลุมพรางของ so-called progressiveness ได้ง่าย มีความคลุมเครือ มองเห็นได้ไม่ชัด เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปมาได้ตลอดเวลาตามชุดของอุดมการณ์ที่เข้ามาประกบในแต่ละยุค คอนเซอร์เวทีฟไทยจึงเป็นคอนเซอร์เวทีฟที่โพสต์โมเดิร์น ไม่ตายตัวอยู่กับแบบและเบ้าบางอย่างเหมือนคอนเซอร์เวทีฟตะวันตก บางทีคอนเซอร์เวทีฟไทยอาจเป็น ‘อนุพันธ์ที่ก้าวหน้า’ ของ Conservatism ที่เกิดจากความคลุมเครือและหลักคิดแบบ compromise ทุกสิ่งเข้าด้วยกันก็ได้
ถ้าเรามีดนตรีสากลแบบไทยๆ มีอาหารฟิวชั่นแบบไทยๆ และมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้, ก็แล้วทำไมเราถึงจะมีคอนเซอร์เวทีฟแบบไทยๆ ไม่ได้เล่า
คอนเซอร์เวทีฟที่คิดว่าตัวเองเป็นคอนเซอร์เวทีฟที่ก้าวหน้านี่แหละ!