เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัน Earth Day วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนชื่อดังสองรางวัลซีไรต์ของไทยได้โพสต์รูปในเพจสาธารณะของเขาซึ่งประกอบไปด้วยข้อความซึ่งสร้างกระแสให้วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกโซเชียล โดยเนื้อหาหลักๆ ก็คือ COVID-19 ได้ช่วย(ชำระ)ให้โลกสะอาดขึ้น
แน่นอนว่าผมเองเป็นอีกคนหนึ่งที่รังเกียจเนื้อหาที่วินทร์ได้นำเสนอนี้ ต่อให้มันเป็นเพียงแค่ ‘โจ๊กขำๆ’ อย่างที่เขาพยายามจะอ้างในเวลาถัดมาหลังจากที่มีดราม่าถล่มมากมายแล้วก็ตาม เพราะแม้แต่ในฐานะของโจ๊ก มันก็เป็นโจ๊กที่ไม่ขำ เป็นโจ๊กที่โหดร้าย และขาดไร้ซึ้งมนุษยธรรมเป็นอย่างมาก หากใช้คำในภาษาอังกฤษคงต้องเรียกว่า completely lack of human decency นั่นเอง ในจุดนี้ผมจึงเห็นด้วยกับที่ พี่แขก—คำ ผกา ได้ประณามวินทร์ออกทีวีอย่างตรงไปตรงมาเสียเหลือเกิน และผมเห็นด้วยอีกว่าความคิดเห็นเช่นนี้ แม้ไม่ควรจะให้ราคา แต่ก็ไม่ควรประเมินมันต่ำไป เพราะคำพูดสวยหรูแบบนี้นี่แหละที่อันตรายเสียเหลือเกิน มันฝังใจ มันฟังดูดี มันกระตุ้นให้เกิดโวหารทางการเมืองที่ถูกนำไปใช้เป็นพลังทางการเมืองในการนำฝูงชนไปในทิศทางที่อันตรายได้โดยง่ายและเป็นทิศทางแห่งหายนะเสียด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ผมจะเห็นว่าข้อคิดเห็นของวินทร์นั้นน่าเกลียดและอันตราย แต่พร้อมๆ กันไป หากกล่าวอย่างตรงไปมา จริงๆ แล้วประเทศไทยเรานั้นคุ้นชินกับตรรกะวิธีคิดดังกล่าวมากๆ
และขณะที่ในเวลานี้คนจำนวนมากต่างมองเห็นความน่ารังเกียจของข้อเสนอจากวินทร์แล้ว หากกล่าวเพิ่มขึ้นไปอีก อาจจะต้องกล่าวกระทั่งว่าพวกข้อคิดลักษณะเดียวกันนี้ที่เคยและยังคงป้วนเปี้ยนอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอดนั้น ควรจะต้องนับว่าน่ารังเกียจและผิดเสียยิ่งกว่าที่วินทร์ว่ามาเสียอีก เพราะในระดับขั้นต่ำที่สุดก็อาจจะพอจะบอกได้วางในเชิงผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ โดยไม่สนใจความเป็นมนุษย์ใดๆ เลยนั้น สิ่งที่วินทร์กล่าวมาก็ยังถือว่าพอจะมีมูลความจริงได้บ้าง แต่ชุดคิดแบบเดียวกันที่ครอบสังคมไทยมาโดยตลอดนั้น นอกจากจะ ‘ผิดในทุกระดับ’ แล้ว มันยังได้รับการยอมรับขนาดที่เป็นมาตรฐานหลักของสังคมไทยมาโดยตลอดเลยเสียด้วยซ้ำ บางส่วนถึงขนาดกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวบทกฎหมายและกรอบวิธีการพิจารณาคดีในกระบวนยุติธรรมอีกด้วย อย่างคำพูดของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่กล่าวไว้ในระหว่างงานรับรางวัลนาฏราชประจำปี 2552 ที่นำมาซึ่งการล่าแม่มด คนเดือดร้อน กระทั่งต้องลี้ภัยทางการเมืองมากมายจากโวหารที่แท้จริงแล้ว “ผิดในทุกระดับ” นี้ เพราะรัฐธรรมนูญก็ระบุอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยนั้นเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน เป็นต้น
ส่วนแนวคิดของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนิยมนั้นมีแนวโน้มที่จะ ‘เอนขวา’ โดยมากแต่ต้นอยู่แล้วด้วย ฉะนั้นแม้มันจะเป็นแนวคิดที่ควรค่าแก่การสนับสนุนแต่พร้อมๆ กันไปก็ต้องคอยระวังและสำรวจตัวเองอย่างเสมอด้วย เพราะระบบตรรกะของแนวคิดนี้เองมันมีหลุมพรางที่ต้องระวังอยู่เยอะมาก ทั้งยังควรมองหาช่องทางที่หลุดจากกรอบวิธีคิดที่อิงกับรัฐชาติและการแบ่งแยกทางกายภาพในปัจจุบันมาเป็นแกนหลักแทนให้ได้ด้วย (ซึ่งผมเคยเขียนอภิปรายถึงโดยละเอียดแล้ว สามารถอ่านได้ใน เอนขวาเพื่อรักษ์โลก)
ฉะนั้นท่าทีขวาๆ ของวินทร์กับการทำทีเป็นเล่นโจ๊กนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเขานั้นกลับไม่ใช่ท่าทีที่ผมประหลาดใจอะไรมากมายนักเสียด้วยซ้ำ
สำหรับผมมันจึงเป็นเรื่องน่าแปลกประหลาดในความปากว่าตาขยิบไม่น้อยสำหรับคนบางกลุ่มที่ประณามวินทร์ แต่ไม่แม้แต่จะเห็นความปกติที่หนักหนากว่าเหล่านี้ บ้างกระทั่งยังคงสนับสนุนมันอยู่อย่างขะมักเขม้นด้วย นั่นคือ ตรรกะของความเป็นคนดี ความบริสุทธิ์ สะอาด และแนวคิดเรื่องการชำระล้างเพื่อไปสู่จุดที่ดีขึ้น สูงขึ้น ซึ่งเป็นอิทธิพลอย่างมากจากแนวคิดแบบศาสนนิยมล้นเกินที่ผสมร่างอยู่ในคติของโลกการเมืองสมัยใหม่นั่นเอง
แนวคิดเรื่องการชำระล้างและความบริสุทธิ์นั้นเรียกได้ว่าอยู่คู่กับแทบทุกศาสนามาโดยตลอดไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู หรืออื่นๆ แม้ว่าสิ่งที่นับว่าเป็น ‘ความบริสุทธิ์’ นั้นมันจะต่างกันบ้างก็ตามที และคุณค่าเหล่านี้ก็ยังคงแฝงกายอยู่ในทุกสังคม ในระดับที่มากน้อยต่างกันไป แนวคิดหลักของความบริสุทธิ์และการชำระล้างของศาสนาต่างๆ เหล่านี้ดูจะวางรากฐานอยู่บนฐานที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ การทำให้ตัวตนหรือจิตวิญญาณของแต่ละปัจเจกนั้นบริสุทธิ์มากขึ้น (ตามนิยามความบริสุทธิ์ของแต่ละศาสนา) และยิ่งบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งสูงค่ามากขึ้นตามกรอบคิดที่กำกับไว้ การบำเพ็ญเพียร การเข้ารีตและวัตรปฏิบัติต่างๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้เข้าใกล้สู่สภาวะของความบริสุทธิ์สูงสุด และแน่นอนว่าในช่วงเวลาแห่งกลียุค ที่สังคมละเลยการชำระล้างเหล่านี้ ศาสดาหรือพระเจ้าตามแต่ละรูปแบบความเชื่อก็จะเข้ามาช่วยทำการชำระล้างความสกปรกออกไปให้ พระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ชะล้างปีศาจอสุรกายต่างๆ หรือแนวคิดเรื่องพระศรีอาริย์ของพุทธศาสนาเองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีคิดการชำระล้างนี้ รวมไปถึงเมสไซอาห์ในศาสนาคริสต์และอิสลาม หรือพระศิวะของฮินดูด้วย
กรอบความคิดแบบศาสนนิยมที่ไม่อาจแยกขาดจากรัฐนี้เอง
กลายมาเป็นกรอบทิศทางในการกำหนดทิศทางของรัฐ
และสังคมโดยรวมต่อมาอีกทอดหนึ่งด้วย
อย่างในยุคล่าอาณานิคมเองนั้น คำอธิบายของประเทศจักรวรรดิทั้งหลายในการเข้ายึดครองและจัดการกับสังคมของรัฐใต้อาณานิคมเองก็ถูกอธิบายผ่านแนวคิด ‘ภาระของคนขาว’ (White man’s burden) ในฐานะผู้สูงส่งกว่า ผู้ซึ่งอารยะกว่า ผู้ซึ่งปราศจากความป่าเถื่อนเลวร้ายมากกว่า จะเข้ามาช่วยชำระล้างเหล่าอารยธรรมที่เถื่อนต่ำให้สูงส่งขึ้น บริสุทธิ์มากขึ้นนั่นเอง และกรอบวิธีคิดเดียวกันนี้ก็คือกรอบวิธีคิดแบบเดียวกันกับที่วินทร์ใช้กับโคโรนาไวรัสเลย เพราะวิถีความคิดลักษณะนี้นั้นมันชื่นชมและเยินยอในตัวฮีโร่ เชื่อในอัศวินขี่ม้าขาวอย่างพระศรีอาริย์หรือเมสไซอาห์ที่จะมาช่วยปลดระวางความโสมมให้หมดไปจากโลกได้ เหมือนกับน้ำและปลา ป่าไม้และสายลมที่ต่าง ‘มีชีวิตที่ดีขึ้น สูงส่งขึ้น’ จากโลกที่บริสุทธิ์สะอาดมากขึ้นด้วยพลังของเชื้อ COVID-19
อย่างไรก็ดีเกณฑ์การแบ่งแยกที่สำคัญก็คือ เมื่อเราทำการแยกศาสนจักรหรือศาสนา ออกจากการปกครองของรัฐ (secularization) แล้ว กรอบวิธีคิดดังกล่าวนี้มันไม่เมกเซนส์อีกต่อไป เพราะคำอธิบายแบบศาสนนิยมนั้น แม้จะไม่อาจเลือนหายไปได้ แต่จะต้องไม่ใช่คำอธิบายที่นับเป็นสารัตถะหลักของสังคมนั้นๆ อีกต่อไป ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของตะวันตกไม่ได้เชื่อในการเฟ้นหาตัวบุคคลซึ่งดีอย่างบริสุทธิ์มาปกครองอีกต่อไป ตรงกันข้ามมันเป็นระบอบซึ่งไม่เชื่อในความดีบริสุทธิ์ที่ตีความผ่านอคติของกรอบความเชื่อนั้นๆ แต่เชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าใครก็ล้วนมีดีมีเลว มีเก่งมีผิดพลาดผสมกันได้หมดในตัวคนคนเดียว เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ได้มองหาคนที่ดีกว่าใครมาปกครอง แต่สร้างระบอบที่พยายามจะมาป้องกันแต่ตรวจสอบข้อผิดพลาดตามมติร่วมของสังคมที่ตกลงกันเอาไว้ให้ได้ และด้วยเหตุนี้ การได้มาทางอำนาจ รวมถึงการตรวจสอบต่างๆ ที่มีต่อผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงต่างจากการได้มาซึ่งตำแหน่งและการตรวจสอบที่มีต่อตำแหน่งอย่างพระสันตะปาปา, พระสังฆราช หรือเทพเทวดาต่างๆ ว่าอีกแบบก็คือ แม้คติของความบริสุทธิ์และการชำระล้างจะไม่มีทางหายไปอย่างเบ็ดเสร็จทุกอณู แต่การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ความคิดในระดับระบอบนั้นต้องเกิดขึ้น ‘ลำดับขั้นของกรอบความคิดความเข้าใจหลักในสังคม’ มันจะต้องเกิดขึ้นก่อนนั่นเอง
อย่างไรก็ตามกรณีของไทยนั้น เราวนเวียนกับโวหารแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะเรียกในภาษาสมัยนี้ว่าเป็น ‘รีตปฏิบัติแบบสลิ่ม’ (salim morality) ก็คงจะพอได้ หรือจะเรียกว่า ‘การเมืองคนดี’ ก็คงไม่ผิดนัก
ซึ่งในจุดนี้อาจจะต้องยกความดีความชอบให้กับ 2 ช่วงเวลาสำคัญ นั่นคือ รัชกาลที่ 4 (ตั้งแต่ช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏ) ที่ประสบความสำเร็จในการ ‘ยกเครื่องพุทธศาสนา’ และทำให้พุทธศาสนากลายเป็นตัวแทนของ ‘ความเป็นเหตุเป็นผล และความเป็นเนื้อเดียวกันกับวิถีคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่’ ขึ้นมาได้ ในแง่นี้มันทำให้เส้นทางการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของไทย โดยเฉพาะในด้านวัตถุ นั้นแตกต่างจากเส้นทางของโลกตะวันตกโดยสิ้นเชิง คือ ฝั่งหนึ่งเป็นเส้นทางของการมีข้อค้นพบและการขัดแย้งกันเองกับคติแบบดั้งเดิม จนนำมาซึ่งการต่อสู้และแยกขาดจากกันในท้ายที่สุด ในขณะที่ฝั่งของไทยนั้นเป็นเส้นทางของการรับเข้าและคัดเลือกองค์ความรู้ชุดใหม่นี้ และนำมาผนวกเข้ากับคติโครงสร้างชุดเดิมจนกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน และเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่เกิดการแยกขาดหรือปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางความคิดระดับระบอบอย่างที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก
กล่าวอีกอย่างก็คือ รัชกาลที่ 4 ประสบความสำเร็จในการทำให้ประเทศไทยอยู่ในเส้นทางที่ไม่สามารถ (หรือยากมากๆ) ที่จะแยกรัฐออกจากศาสนา(พุทธ)ได้ เพราะโลกทางวัตถุ (เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ กรอบความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล ฯลฯ) นั้นถูกผูกโยงเข้ากับพุทธศาสนาในระดับรากเหง้าไปเสียแล้ว กระทั่งว่าตัวแสดงในศาสนาพุทธเองไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ ฆราวาส ตัววัด หรือนิกายที่ไม่ได้วางตัวอยู่ในรีตดังกล่าวนี้ก็จะถูกมองว่าเป็นพุทธปลอมบ้าง เป็นพุทธงมงายบ้าง เป็นพุทธชั้นสองบ้าง ฯลฯ นั่นเอง โดยนี่คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง อย่างไรก็ดีมันได้สร้างเงื่อนไขของความเป็นไปได้นี้ขึ้นมาและค้างคาอย่างเหนียวแน่นจนปัจจุบัน
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่อาจจะนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่คืนชีพให้กับคุณค่าแบบศาสนนิยมให้กลายมาเป็นที่ยืนหลักของสังคมอีกครั้งก็เห็นจะหนีไม่พ้นกรณีการโกงการเลือกตั้งครั้งสำคัญของพรรคเสรีมนังคศิลา ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ.2500 ที่นำมาซึ่งกระแสและภาพลักษณ์ของนักการเมืองคือผู้โกงกินขึ้นมา และยาวนานจนกระทั่งตอนนี้ พร้อมๆ กับนำมาซึ่งโอกาสให้ฝั่งทหารอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่เลวร้ายยิ่งกว่า) และฝั่งอนุรักษ์นิยมไทยใช้ในการกลายเป็นตัวแทนของฝั่งความดี ความบริสุทธิ์ และมาเป็นฮีโร่ผู้ช่วยขับไล่ ‘ตัวแทนความโสมมและกลียุค’ อย่างนักการเมืองเช่นจอมพล ป. ลงไปได้ กลายเป็นผู้ยืนอยู่ฝั่งประชาชนต่างๆ นานา หมดจากจอมพล ป. ก็เป็นการต้านภัยคอมมิวนิสม์ต่อไป ซึ่งสุดท้ายก็วนมาที่ภัยต่อราชสำนักที่กลายเป็นตัวแทนของค่ายอนุรักษ์นิยมไทยหรือตัวแทนของความบริสุทธิ์ขึ้นมา กล่าวอีกอย่างก็คือ หลังจากการสู้กับภัยคอมมิวนิสม์แล้ว ก็ดูจะเป็นการสร้างและรักษาสถานะฮีโร่พิทักษ์ความบริสุทธิ์ในสังคมของฝั่งกองทัพด้วยการทำลายใครก็ตามที่มาแตะต้องตัวแทนความบริสุทธิ์ของสังคมให้ป่นปี้ลง
เพราะฉะนั้นในช่วงที่กระแสรีตปฏิบัติแบบสลิ่มโหมกระนำในสังคม
เราจึงจะพบเห็นโวหารที่อิงอยู่กับคติของความสกปรกและ
ความต้องการการชำระล้างมากมาย
อย่างนักการเมืองสกปรก, นักเลือกตั้งธิปไตย, ระบอบทักษิณ, เรียกร้องนายกมาตรา 7, ขอให้ทหารทำการรัฐประหารเอาคนพาลออกไป ฯลฯ เหล่านี้คืออดีตนับไม่ถ้วนที่ป้วนเปี้ยนในสังคมไทย และวางกรอบวิธีคิดอยู่ด้วยรากแบบเดียวกันกับสิ่งที่วินทร์เพิ่งพูดไปเลย
ผมจึงบอกว่าเรานั้นคุ้นเคยกับมันมาโดยตลอด แต่หลายคนเพิ่งทำเป็นขยะแขยงกับสิ่งนี้และอาจจะเผลอแกล้งลืมสิ่งที่ตนเองก็ได้ร่วมทำและย่ำยีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากที่วินทร์ทำเลย และอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าด้วย ผมคิดว่านี่คือท่าทีร่วมของเพื่อนเลือดน้ำเงินแท้ของวินทร์จำนวนมากในสังคมบิดๆ เบี้ยวๆ นี้นะครับ
ผมเขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า เราด่าวินทร์ได้ครับและเราควรด่าวินทร์ให้มากๆ ด้วยครับ แต่พร้อมๆ กันไปในระหว่างการด่านั้น เราก็ไม่ควรละเว้นต่อการสำรวจตัวเองว่าเราเองก็เคยหรือกำลังเป็นส่วนหนึ่งของกรอบคิดเดียวกันนี้ไหม เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องระวังให้ดีๆ ผมเขียนอธิบายมายืดยาวนั้นเพื่อจะบอกว่ากรอบคิดนี้มันฝังตัวในสังคมไทยมานานมากแล้ว เป็นร้อยกว่าปี ไม่ใช่แค่การฝังหัวในระดับไม่กี่ทศวรรษ ฉะนั้นมันคือความเคยชินที่เราเผลอที่จะหลงลืมหรือกระทั่งคล้อยตามได้โดยง่ายนั่นเอง
การสำรวจตัวเองอย่างหนักในสังคมที่ภูมิทัศน์ทางความคิดกลับตาลปัตรกับทิศทางของสากลโลกนั้นจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อดำรงชีวิตและอยู่รอดให้ได้ในฐานะมนุษย์ที่มีสิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรม