‘อนุรักษนิยม’ เชื่อว่าเมื่อได้ยินคำๆ นี้ เราแต่ละคนมีภาพจำของมันแตกต่างกันออกไป
ตลอดเวลาของการถกเถียงประเด็นการเมืองคำอย่าง ‘เผด็จการ’ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ‘ขวา’ ‘ซ้าย’ ฯลฯ โผล่ขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ว่าบ่อยครั้งแก่นของหลายแนวคิดจมหายไปในเสียงของการพูดคุยถกเถียง บางครั้งในระดับที่อาจมีการแปะป้ายว่าแนวคิดใดสักแนวคิด ‘ดี’ หรือ ‘ชั่ว’ ซึ่งอาจนำไปสู่การถกเถียงที่คุยกันแบบ ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ ได้ และแนวคิดที่น่าจะตกอยู่ในจุดนั้นบ่อยที่สุดจะเป็นอะไรไปไม่ได้เลยนอกจาก ‘อนุรักษนิยม’
แก่นของอนุรักษ์นิยมคืออะไร? รัฐบาลของเราคืออนุรักษ์นิยมรึเปล่า? และแนวคิดต่างกันจะเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้หรือไม่ และเดินยังไง? อาจารย์ธีรภัทร รื่นศิริ หรืออาจารย์วิน อาจารย์วิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบคำถามเหล่านี้
แก่นของความเป็นอนุรักษนิยม
ในมุมมองอาจารย์ธีรภัทร การแบ่งซ้ายและขวาในความนิยมของไทยนั้นไม่ได้แบ่งกันตามหลักคิดดั้งเดิม ในขณะที่เขาไม่ได้เชื่อว่าเราจำเป็นต้องยึดติดกับหลักการเหล่านั้นเสมอในทุกๆ ครั้ง ความแตกต่างในการตีความนั้นมีผลต่อการถกเรื่องการเมืองได้
“อนุรักษนิยมคือการที่เรารีบทดลองเพื่อไม่ต้องรีบตัดสินใจ มันไม่เชื่อในการที่ว่าอยู่ดีๆ คุณจะสามารถเปลี่ยนอะไรกะทันหัน ไม่เชื่อในการรื้อของเก่าทิ้งทั้งหมด แต่เชื่อในการปฏิรูปของเก่า แก้ไขสถาบัน องค์กร หรือวิธีการเก่าๆ ให้มันตอบโจทย์กับปัจจุบันมากขึ้น ยกเว้นหากมันหนักหนามากจริงๆ ก็อาจจะยุบทิ้ง” เขาตอบ
“เขาไม่เชื่อในการใช้เหตุผลที่ไม่ผ่านประสบการณ์ เช่นการนั่งคิดในเชิงทฤษฎีหรือดูตัวเลขเฉยๆ แต่ต้องเข้าไปอ้างอิงและพูดคุย ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่เจอปัญหาเหล่านั้นจริงๆ” เขาพูดต่อ
โดยในการคุยกันอาจารย์พูดถึงคำหนึ่งที่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของอนุรักษนิยม นั่นคือ ‘ประสบการณ์ท้องถิ่น’ ที่เขาอธิบายโดยตัวอย่างว่า “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มาเกือบทั้งชีวิต ผมไม่เข้าใจปัญหาของคนยะลาหรอก ผมไม่เข้าใจปัญหาของคนมหาสารคาม และผมไม่ควรไปนั่งอ่านข่าวหนังสือพิมพ์และดูสถิติแล้วตัดสินใจแทนเขา เวลามีปัญหาที่ต้องแก้ในยะลา คนยะลาควรจะเป็นผู้นำ”
“สถานการณ์แต่งแต้มสีให้หลักการทางการเมือง’ เขายกคำพูดโดย อัลเฟรด ค็อบบาน (Alfred Cobban) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษแล้วขยายความว่า “คุณไม่สามารถใช้หลักการหลักการหนึ่งไปในทุกสถานการณ์แล้วหวังให้ผลของมันออกมาเหมือนกันได้ เพราะสถานการณ์จะเข้าไปแต่งแต้มสีให้แก่หลักการนั้นๆ คุณใช้วิธีการว่า ให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในทุกสถานการณ์ไม่ได้ หรือคุณจะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในทุกสถานการณ์ไม่ได้”
การเป็นอนุรักษนิยม ความเป็นท้องถิ่น และสิ่งที่มันเรียกร้อง
“ผมไม่อยากชวนให้คนมาเป็นอนุรักษนิยมในไทย มันไม่มีข้อดี” เขาพูด
“การเป็นอนุรักษนิยมมันเรียกร้องการคิดแต่ละเรื่องภายในชุมชนของคุณ ซึ่งการเป็นคนไทยในปัจจุบันมันคือการถูกขูดรีด การทำงานวันละ 10 ชั่วโมง ทำงานอีก 3 กลับบ้านก็เหนื่อยจนไม่เหลือแรงที่จะนั่งขบคิดว่าปัญหาถนนหน้าบ้านของเราเราจะแก้ยังไงดี? พรุ่งนี้ไปคุยกับเพื่อนบ้านดีกว่า สัปดาห์หน้ามีประชุมอำเภอเอาเรื่องนี้เข้าไปคุยดีกว่า มันไม่มีแรงอะ”
นอกจากนั้นแล้วอาจารย์ยังอธิบายถึงความต้องการอื่นๆ ในการจะเป็นอนุรักษนิยม เช่น อนุรักษนิยมเรียกร้องให้เราต้องมีนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มาคอยเล่าเรื่องราวท้องถิ่นให้ฟังได้ นักภูมิศาสตร์เก่งๆ ที่สามารถอธิบายให้เข้าใจระหว่างความแตกต่างระหว่างสองท้องที่ ครูที่สอนวรรณกรรมที่ไม่ได้สอนให้เด็กแค่ท่องราชาศัพท์หรือท่องจำตัวละครได้ แต่ต้องสามารถมองสถานการณ์เฉพาะของตัวละคร พูดคุย อภิปรายกัน ว่าหากอยู่ในสถานการณ์นั้นฉันจะทำแบบเขารึเปล่า
“มันเรียกร้องการศึกษาที่ทำให้เราเห็นอะไรพวกนี้ เห็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเรา ไม่ใช่ถูกสอนประวัติศาสตร์ ร.1 – 3 แต่ว่าถ้าฉันเป็นคนชัยนาทมันเกี่ยวอะไรกับฉันมากขนาดนั้นเหรอ? ฉันไม่รู้ว่าผู้ว่าชัยนาทมีสัมพันธ์อะไรกัน แต่ฉันรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับสุโขทัย มันช่วยอะไรฉัน?” เขาพูด
และสุดท้ายคือรูปแบบของนักการเมืองที่อนุรักษนิยมเรียกร้อง โดยเขาบอกว่าประเทศขาดนักการเมืองที่ไม่มองว่าตัวเองเป็นผู้นำของประชาชน เพราะในมุมมองของอนุรักษนิยมแล้วนักการเมืองไม่ใช่หัวหน้า แต่เป็นตัวแทน เป็นทนายความ ที่จะเอาเรื่องของประชาชนไปต่อรอง
“ถามว่าที่ไล่มามันมีมั้ย มีนะ เรามีนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเก่งๆ มีนักภูมิศาสตร์ท้องถิ่นเก่ง ครูวรรณกรรมเก่งๆ หลายคน มีนักการเมืองที่เห็นตัวเองเป็นทนายความของคนในประเทศ แต่มันเป็นข้อยกเว้น” เขาตอบ
อนุรักษนิยม ไม่เท่ากับคนชั่ว
อาจารย์ธีรภัทรกล่าวเกี่ยวกับการตีความความเป็นซ้ายและขวาในไทยว่าว่า “ซ้ายไทยขวาไทย คือคนดีคนชั่ว เอาประชาธิปไตยหรือไม่เอา” ซึ่งเขาให้ความเห็นว่ามันอาจมองได้กว้างขวางได้มากกว่านั้น โดยผ่านการยกตัวอย่างคนที่มีแนวคิดฝั่งขวาให้เห็นภาพ เขาเลือก 2 ตัวอย่างที่แสดงถึงมุมมองที่ทำให้อนุรักษนิยมกว้างขวางกว่าที่เราอาจเคยชิน
“คนแรกคืออังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมัน และอาจพูดได้ว่าเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของยุโรปก็ได้ เธอมาจากพรรคอนุรักษนิยมเลย และเธอมักถูกวิพากษวิจารณ์ว่าเป็นอนุรักษนิยมมากไปด้วยนะ ในเยอรมันมีพจนานุกรมหนึ่งบัญญัติคำใหม่ออกมาเลย คือคำว่า ‘Merkel’ ซึ่งมีความหมายว่า คุณน่ะทำตัวอนุรักษนิยมมากเกินไป
แต่ผลงานของแมร์เคิลเนี่ยเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นได้ชัดเลยว่า อ๋อ อนุรักษนิยมจริงๆ เนี่ยมันไม่ใช่คนชั่ว เช่น แมร์เคิลยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เธอสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม เธอปรับปรุงกฎหมายการลางานให้ไปดูแลลูกเพิ่งคลอดให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และสนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนั้นเธอก็เป็นคนเก่งมากๆ ในระดับที่ผมทำงานสิบปีคงได้ไม่เท่าเธอทำงานชั่วโมงเดียว เช่นเธอสามารถคงค่าเงินยูโรเอาไว้ได้
แน่นอนว่าหลายๆ นโยบายของเธอมีปัญหา เช่น นโยบายโรงไฟฟ้าที่คนก็ด่ากันเต็ม หรือสิ่งที่เธอทำกับกรีซที่หลายคนบอกว่าเธอเป็นคนฆ่าระบบเศรษฐกิจของกรีซเลย แต่ก็เห็นได้ว่าต่อให้คุณไม่เห็นด้วยหรือเห็นเธอเป็นศัตรูทางการเมือง เราก็จะเห็นว่าเธอไม่ใช่คนเสียสติหรือจอมมารที่จะบอกว่า ฮ่าๆ ฉันจะแช่แข็งประเทศนี้ ไม่ใช่แบบนั้น”
กัปตันอเมริกาในฐานะตัวแทนฮีโร่อนุรักษนิยม ทั้งในข้อดีและข้อด้อย
ตัวอย่างที่สองในขณะที่ในทางเทคนิคแล้วไม่ใช่คน แต่ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจแล้วเห็นภาพชัดคือกัปตันอเมริกา “ใน Captain America: Civil War กัปตันไม่เชื่อใจสภาที่พวกเขาจะมาชี้เป็นชี้ตาย ว่าพวกอเวนเจอร์เนี่ยจะไปสู้ได้มั้ย หรือห้ามสู้ เพราะเขาเชื่อว่าสภาไม่ได้อยู่ในสถานการณ์จริงนี่ มันเป็นใครก็ไม่รู้ไปเซ็นสัญญาแล้วก็ได้รับรายงานอะไรบางอย่าง เขาเลยไม่ยอมเซ็นสัญญาจะอยู่ใต้คนพวกนี้”
อาจารย์ใช้โอกาสที่พูดถึงกัปตันอเมริกาเพื่อเปรียบเทียบระหว่างวิธีการของอนุรักษนิยมและเสรีนิยมว่า “ผมไม่ได้บอกว่าผิดนะ แต่วิธีการหนึ่งที่เสรีนิยมชอบทำคือการหาคณะกรรมการ มาประเมิน มาสั่งงาน มาตรวจสอบ เพื่อมารับประกันคุณภาพ ซึ่งในขณะที่เป็นส่วนที่เสรีนิยมเห็นด้วยกับอนุรักษนิยมว่าเราต้องระวังคน แต่วิธีการของอนุรักษนิยมจะต่างออกไป คือการปล่อยให้คนที่อยู่ตรงนั้นทำไป แต่ให้เขาทำได้แคบมากๆ กัปตันอเมริกาไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการกองทัพ แต่เขาสามารถสั่งการคนได้ไม่กี่คนในทีมของเขาเอง เขาไม่สามารถออกกฎหมาย ออกนโยบาย หรือส่งเงินไปนั่นไปนี่ เขาสามารถตัดสินใจได้แค่โอเคฉันเป็นหัวหน้าทีมกู้ภัยระดับโลก เราจะไปกู้ภัยที่ไหน? ซึ่งก็เป็นวิธีการคิดที่เป็นอนุรักษนิยมมาก”
“ซึ่งมันก็มีปัญหา ผมไม่เชื่อว่าอนุรักษนิยมสมบูรณ์แบบและดีงาม ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เป็นกรณีคลาสสิคคือเมื่อมันกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น หลายๆ ครั้งมันประสานงานไม่ได้ แล้วพอมันเจอเรื่องใหญ่ๆ มันทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งปรากฏชัดเจนใน Infinity War คือกัปตันอเมริกาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ไม่มีใครติดต่อได้ ทำตัวเป็นอิสระมากเกินไปจนธานอสบุกไปนู่นแล้ว อันนี้คือข้อเสียของการเตรียมแก้ปัญหาท้องถิ่น คือมันไม่สามารถแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าท้องถิ่นได้” อาจารย์ปิดท้าย
แล้วถ้าขวาที่เราเข้าใจไม่ใช่อนุรักษนิยม สิ่งนั้นคืออะไร?
“อาจจะฟังดูประหลาด แต่จริงๆ แล้วอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมนี่ไม่ค่อยได้กัดกันเท่าไหร่นะ” เขาพูด และมันก็อาจฟังดูประหลาดจริงๆ เมื่อเรามองภาพการถกเถียงทางการเมืองที่เกิดขึ้นทุกวัน แล้วที่ตีๆ กันอยู่มันคืออะไร?
เมื่อถามถึงความเข้าใจผิดที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับอนุรักษนิยมในไทย เขาตอบว่ามันคือ “ความสับสนระหว่างความเป็นอนุรักษนิยม และการเป็นปฏิกิริยานิยม หรือ reactionary” และเขาเสนอว่านี่คือคู่กัดตัวจริงของอนุรักษนิยมตั้งแต่การเกิดขึ้นมาของหลักคิด โดยอาจารย์ให้ความแตกต่างระหว่างทั้งสองเป็น 3 ข้อใหญ่ๆ
“อย่างแรกคือ ปฏิกิริยานิยม (reactionary) เชื่อในอำนาจนิยม เขาเชื่อว่าปัจจุบันคือยุคทองบางอย่างที่ต้องหวงแหนเอาไว้ หรือไม่ก็มันมียุคทองในอดีตที่เราต้องพยายามย้อนกลับไปให้ได้ และเชื่อว่ามีเพียงเผด็จการรวมศูนย์เท่านั้นที่จะสามารถรักษายุคทองหรือพาเราไปสู่ยุคทองในอดีตนั้นได้ แต่อนุรักษนิยมเชื่อว่าเราต้องไม่แช่แข็ง ประโยคสำคัญของอนุรักษนิยมที่เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) ว่าไว้คือ ชาติที่ขาดการปฏิรูปตัวเองคือชาติที่ขาดการปกปักรักษาตัวเอง
อนุรักษนิยมเชื่อว่าสังคมคือสิ่งมีชีวิต อยู่ๆ คุณจะบอกให้หยุดโตไม่ได้ ไม่ใช่ไม่ควรทำ แต่ทำไม่ได้ ทางเดียวที่จะหยุดไม่ให้สังคมเปลี่ยนแปลงคือเราต้องฆ่าสังคมโดยให้มันคาอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ ทีนี้เราต้องดูแลรักษาสังคมนี้ไว้เพราะอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารับมาจากบรรพชน และมีหน้าที่ส่งต่อสังคมนี้ต่อให้ลูกหลานของเรา”
อย่างที่ 2 อนุรักษนิยมไม่เชื่อในเผด็จการรวมศูนย์ อย่างที่เราบอกว่าสถานการณ์มันแต่งแต้มสีให้การเมือง คุณรวมศูนย์แล้วคุณในฐานะข้าราชการในกรุงเทพฯ เข้าใจเรื่องของมหาสารคามเหรอ? ไม่รู้ใช่มั้ย? ดังนั้นเราต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ต้องส่งทรัพยากรให้เขาไปแก้ปัญหาท้องถิ่นของเขา ให้เขาดูแลกันเอง แต่ปฏิกิริยานิยมจะอยากรวมอำนาจไว้ที่คนดีในศูนย์กลางมากๆ เลย เขามักมองว่าต่างจังหวัดมันมีแต่คนไม่ดี คนชั่ว เราต้องให้ท่านคนดีในส่วนกลางตัดสินใจ
และนั่นนำสู่ข้อ 3 คืออนุรักษนิยมไม่เชื่อใจคนดี ความเชื่อที่เป็นแก่นของอนุรักษนิยมมากๆ เลยคือเชื่อว่ามนุษย์นั้นเปราะบาง และคับแคบ ความเปราะบางคือเป็นคนดียังไงสถานการณ์มันยั่วยวนให้ทำชั่วได้ง่าย เอาเงินมาวาง โดนข่มขู่ได้ โดนพวกมากลากไปก็ได้ และมันคับแคบคือเราแคร์เรื่องสิทธิของ sex worker และเราจริงจังกับเรื่องนี้มาก แต่เราจะสามารถจริงจังกับ sex worker ที่อเมริกาเท่าอเมริกาหรือเปล่า? ก็ไม่ เราแคร์เรื่องที่อยู่ตรงหน้าเรามากกว่าแน่นอน
งานคลาสสิคหนึ่งชิ้นของอนุรักษนิยมคือนิยาย The Lord of The Rings ที่นักเขียน เจอาร์อาร์ โทลคีน (J.R.R Tolkien) ผู้ขึ้นชื่อความเป็นอนุรักษ์นิยมของเขา เขียนชัดเจนเลยว่าไอ้การที่เราจะเอาอำนาจไปไว้ในมือของคนดีคนหนึ่งเนี่ย มันเสียสติ โฟรโดก็เป็นคนดีแหละ แต่การเอาอำนาจไว้ในมือคนคนหนึ่งนานขนาดนั้นมันไม่ได้ คุณต้องไม่เชื่อใจในมนุษย์ขนาดนั้น” อาจารย์ต่อท้ายว่า “พูดมาถึงตรงนี้เราเชื่อมากๆ ว่าคนน่าจะอ๋อว่าที่เราเข้าใจมาว่ามันคืออนุรักษนิยมนะ แต่มันคือปฏิกิริยานิยม”
เราอยู่ใต้รัฐบาลอนุรักษนิยมรึเปล่า?
“ไม่ครับ ไม่เลย” เขาตอบขึ้นมาก่อนเอ่ยปากถามคำถามหมด
“เราคุยกันไปแล้วใช่มั้ยที่เบิร์กบอกว่า สังคมจะอยู่รอดได้มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง อะไรคือช่องทางที่รัฐบาลนี้เปิดให้คนเปลี่ยนแปลงสังคม? รัฐสภา? ไม่ได้ ประท้วงลงถนน? ไม่ได้ ประท้วงบนอินเทอร์เน็ตได้มั้ย? ไม่ได้ มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าไทยถูกรัฐบาลแช่แข็ง นี่ไม่ใช่แนวความคิดอนุรักษนิยมเลย”
“อำนาจรวมศูนย์มั้ย? โคตรจะรวม” เขายกตัวอย่างการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า ในขณะที่ประเทศอื่นแต่ละมหาวิทยาลัยจะตัดสินกันเองเลื่อนขั้นกันเอง แต่รัฐบาลไทยอาศัยการใช้เกณฑ์กลางของรัฐบาลที่ลงรายละเอียดเยอะมาก แล้วยังต้องส่งเข้าไปหารัฐบาล โดยบางกรณีต้องติดอยู่ในขั้นตอนดังกล่าวถึง 4 ปี เพราะรัฐบาลต้องการจะคุมทุกอย่างไว้ในส่วนกลาง
“เชื่อในคนดีมั้ย? ที่สุดเลยใช่มั้ย เขาพยายามโฆษณา ต่อให้ผมไม่เก่งผมก็เป็นคนดีนะครับ แต่การมีอำนาจชี้เป้นชี้ตายคนได้มันต้องไม่ใช่หน้าตาแบบนี้ ต้องถ่อมตนว่าฉันเองก็ถูกล่อลวงและพลาดพลั้งได้ ผมไม่เห็นคุณสมบัติของอนุรักษนิยมในรัฐบาลไทยเลย ผมเลยไม่สามารถบอกได้ว่าพวกเขาเป็นอนุรักษนิยม ไม่ใกล้เคียงด้วยซ้ำ” เขาตอบ
ซ้าย ขวา และการเดินร่วมกัน
เมื่อถามเรื่องการแบ่งซ้ายขวาในประเทศไทย เขาพูดว่า ‘เวลาเราพูดถึงการเมืองในประเทศมันคือการทำงานกลุ่มร่วมกัน แล้วถ้าเราไปเรียกคนกลุ่มหนึ่งว่าไอ้ชั่ว เป็นปัญหาแต่แรก’ เขาเสนอว่าการแบ่งซ้ายและขวาในไทยนั้นอาจมีความซับซ้อนเพราะบริบทของสังคมและการเมือง คนที่มีความคิดเอนเอียงไปทางอนุรักษนิยมจึงต้องอยู่ร่วมกับฝั่งเสรีนิยมที่อาจมีนโยบายที่ทำให้พวกเขาคับข้องใจกันบ้าง
“คือฝั่งที่เราเรียกว่าขวาในไทยมันมีปัญหามากๆ เรียกว่าแย่ที่สุดในความเป็นไปได้ของขวา แต่อนุรักษนิยมในสายตาผมมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น ซึ่งผมไม่อยากให้มองว่าซ้ายและขวาเป็นดีไม่ดี แต่ผมมองว่าหลายๆ ครั้งซ้ายบางซ้าย และขวาบางขวา มันทำงานร่วมกันได้ดีกว่าซ้ายร่วมกันเอง’ เขาพูดพร้อมยกตัวอย่างเรื่องการขึ้นภาษีที่ฝั่งซ้าย เช่น เสรีนิยมกับประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) เห็นด้วยกับฝั่งขวาอย่างอนุรักษ์นิยม ในขณะที่หนึ่งในหลักคิดฝั่งซ้ายอย่างอิสรภาพนิยม (libertarianism) ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีแต่ต้น ‘ผมเลยไม่ค่อยอยากให้คุยกันเรื่องซ้ายและขวามากนัก แต่อยากให้คุยเป็นเรื่องๆ”
“ผมเป็นนักปรัชญา ผมเชื่อว่าวิธีการคิดมันคือตัวสำคัญที่บอกว่าคุณเป็นใคร ไม่ใช่คำตอบเสียทีเดียว และถ้าเรามีคำตอบเดียวๆ กันแต่มีวิธีการที่เราคิดต่างกันก็ไม่เป็นไร ให้ทนายความของเราเขาไปคุยกันในสภา” เขาพูดเมื่อเราถามถึงการเดินไปด้วยกันของซ้ายและขวา โดยเขายกตัวอย่างของการคิดของเสรีนิยมและอนุรักษนิยมในประเด็นสมรสเท่าเทียม ว่าในขณะที่เสรีนิยมบางส่วนจะสนับสนุนสมรสเท่าเทียมด้วยการยกหลักสิทธิมนุษยชน อนุรักษนิยมจะสนับสนุนด้วยอีกวิธีคิด
“รัฐควรเข้าไปยุ่งกับเรื่องของประชาชนให้น้อยที่สุด เข้าไปยุ่งก็ต่อเมื่อรัฐสภาตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ออกกฎหมายว่าต้องเข้าไปยุ่ง ไม่ใช่เข้าไปยุ่งของรัฐเอง ตามหลักการประชาชนสามารถทำอะไรก็ได้ที่รัฐไม่ออกกฎหมายห้าม และรัฐห้ามทำอะไรก็ตามที่ไม่มีกฎหมายอนุญาต” เขาตอบ ชี้ความต่างของสองแนวคิด “แต่เนี่ย เราก็ออกกฎหมายร่วมกันได้นะ และถ้าไม่เห็นด้วยในเชิงหลักการก็มานั่งเถียงกันในคลาสปรัชญาได้ครับ”
และท้ายที่สุดแล้ว หลักคิดทางการเมืองสามารถถูกตีความและนำไปใช้ได้หลากหลาย “ผมพูดหลายครั้งว่ามันต้องปฏิรูป มันต้องค่อยเป็นค่อยไป มันต้องเป็นท้องถิ่น แต่หลายๆ ครั้งวิธีการคิดแบบอนุรักษ์นิยมมันอาจนำไปสู่คำตอบว่า ต้องรีบมากๆ แล้ว ต้องทำตอนนี้เลย” อาจารย์พูด
โดยตัวอย่างที่เขาทิ้งท้ายไว้คือ “ถ้ามันมีคนที่ติดคุกด้วยเหตุผลที่ไม่ชอบธรรมเยอะๆ มันมีคนที่ต้องการใช้ชีวิตคู่กับคนคนนี้แต่มันไม่ได้รับอนุญาต ถ้ามีเรื่องคนอยากมายึดอำนาจประเทศ เรื่องเหล่านี้เราสามารถคิดอย่างอนุรักษนิยมได้นะ ว่าช้าๆ ไม่ได้ ปฏิรูปไม่ได้แล้ว เพราะอะไร เพราะพื้นฐานของการเป็นอนุรักษนิยมคือความไม่อยากเสี่ยง ความต้องการความปลอดภัย และมันเสี่ยงเกินไปที่เราจะปล่อยคนเหล่านั้นไว้ในคุก มันไม่มีอะไรในสิ่งที่เราต้องไปวางเดิมพันที่มีค่ามากไปกว่าการเรียกร้องความยุติธรรมให้คนเหล่านี้”