‘ไม้เรียวสร้างคนมาเท่าไหร่แล้ว?’
แม้จะได้ยินคำถามข้างต้นกันอยู่บ่อยๆ แต่ก็คงจะไม่เคยมีใคร คิดจะตอบออกมาเป็นจำนวนนับ (เพราะไม่รู้จะนับกันยังไง? และจะนับไปทำไม?) และเอาเข้าจริงแล้ว คนถามก็ไม่ได้คิดอยากได้คำตอบ มากไปกว่าที่จะอ้างจำนวนที่มโนกันไปเอง ทั้งฝ่ายคนถาม และคนที่ถูกถามหรอกนะครับ
ดังนั้นที่จริงแล้วจึงไม่มีใครรู้เลยสักคนว่า ไม้เรียวสร้างคนมากี่คนแล้วกันแน่?
แต่ก็มีหลักฐานจำนวนมากเลยทีเดียวแหละ ที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นไทยชอบสร้างคนด้วยไม้เรียวกันอย่างจริงๆ จังๆ ไม่อย่างนั้นเราคงไม่มีสุภาษิตอย่าง ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ อย่างแน่นอน
แถมลูกที่ว่านี้ก็ไม่ใช่มีแต่ลูก ‘ไพร่’ เท่านั้นที่เมื่อต้องโทษ แล้วต้องโดนตี ‘เจ้า’ พระองค์น้อยทั้งหลายเองก็มีบันทึกไว้ว่า ก็ทรงพระโดนหวดเมื่อโดนทำโทษเข้าด้วยเหมือนกัน
นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ (Dr. Malcolm Smith) แพทย์หลวงประจำราชสำนัก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’) พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ขณะประทับเป็นการถาวร ณ พระราชวังพญาไท ได้เขียนหนังสือชื่อ ‘ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ’ ซึ่งมีใจความบางตอนเล่าถึง การลงโทษของบรรดาพระราชโอรส และพระราชธิดา ของสมเด็จพระพันปีหลวง โดยหมอสมิธได้เล่าเอาไว้ว่า
“…สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ (พระนามเดิมของสมเด็จพระพันปีหลวง) มักจะทรงเฆี่ยนตีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยพระองค์เองเสมอ เพราะทรงถือคติที่ว่า หากละเลยไม่ทำโทษก็จะยิ่งทำให้เด็กนิสัยเสีย…”
ก็อย่างคำสุภาษิตว่า ‘รักลูกให้ตี’ นั่นแหละครับ สมเด็จพระพันปีหลวงย่อมทรงรักพระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์มาก และคงจะทรงอยากให้ทุกพระองค์ทรงเติบโตมาเป็นคนดี อย่างที่หมอสมิธอ้างไว้ว่า ทรงถือคติว่าหากไม่ทำโทษก็จะยิ่งทำให้เด็กนิสัยเสีย ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่ พระองค์จะทรงมี ‘ไม้เรียว’ คู่พระหัตถ์ สำหรับไว้ใช้เฆี่ยนตีทำโทษเพื่อไม่ให้เด็กนิสัยเสียเป็นการเฉพาะ
ไม้เรียวที่ว่านี่เหลาขึ้นจากไม้ไผ่เรียบกลมกลึง ขนาดและความยาวเหมาะมือ และทรงเก็บไว้ในตู้ ที่ห้องพระบรรทม เพื่อที่จะสามารถนำมาใช้งานได้ทันที โดยหมอสมิธยังระบุถึงวิธีการใช้ไม้เรียวของสมเด็จพระพันปีหลวงเอาไว้ด้วยว่า
“…เวลาที่ทรงกริ้วก็จะยิ่งทำโทษรุนแรงมากขึ้นไปอีก เวลาที่ถูกทำโทษพวกเด็กๆ จะนั่งหมอบลงกับพื้น ปล่อยให้พระมารดาทรงใช้ไม้เรียวตีที่พระเพลา (หน้าตัก) และพระที่นั่ง (ก้น)…”
พูดง่ายๆ ได้ใจความด้วยภาษาไพร่ว่า ถ้าไม่ถูกเฆี่ยนเอาที่ตัก ก็ถูกตีเอาที่ตูดนั่นเอง
แต่การทำโทษด้วยรัก (และหวังดี) บรรดาเจ้าพระองค์น้อยทั้งหลาย ด้วยการเฆี่ยนเอาด้วยไม้เรียว ก็เป็นสิทธิ์เฉพาะของพระพันปีหลวงเท่านั้น สำหรับโทษเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งพระองค์ทรงอนุญาตให้สมาชิกในพระราชวงศ์ ที่ใกล้ชิด ทรงลงโทษพระราชกุมาร และพระราชกุมารีเหล่านี้ได้คือ ‘การหักนิ้ว’ ซึ่งก็เป็นหมอสมิธคนเดิมที่บรรยายเอาไว้ว่า
“…นิ้วมือทั้งห้าจะถูกหักไปทางด้านหลังมากที่สุด เท่าที่จะมากได้ แรกๆ เด็กๆ อาจจะรู้สึกเจ็บ แต่ไม่นานก็จะเคยชิน เพราะข้อต่อของนิ้วเด็กยังอ่อนอยู่มาก…”
เรียกได้ว่าการลงโทษมีหลายแบบ ไม่ใช่เอะอะก็เฆี่ยน เอะอะก็ฟาดกันด้วยไม้เรียวเพียงอย่างเดียว ที่น่าสนใจก็คือ การสงวนสิทธิ์การเฆี่ยนตีเอาไว้เฉพาะให้สมเด็จพระพันปีหลวง เป็นผู้ลงโทษแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น
ก็ลูกเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน จะให้ใครมาเฆี่ยนเอาง่ายๆ ได้ยังไงล่ะครับ? และเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่ใคร่จะมีใครกล้าทำโทษบรรดาเจ้าพระองค์น้อยๆ เหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะบรรดาคุณครูที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด
สมเด็จพระพันปีหลวงก็ทรงทราบเป็นอย่างดี และถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงขอร้องให้ ครูผู้สอน ‘ข่มขี่เขี้ยวเข็ญ’ ลูกท่านหลานเธอทั้งหลาย แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะครูบางคนก็ไม่กล้าแม้กระทั่งจะส่งเสียงเอ็ดออกมาดังๆ เสียด้วยซ้ำไป
แต่นี่ก็เรากำลังพูดถึงเจ้าพระองค์น้อยนะครับ ไม่ได้หมายถึงนักเรียนที่เป็น ‘ไพร่’
จากตัวอย่างของสมเด็จพระพันปีหลวงจะเห็นได้ว่า ‘การทำโทษ’ นั้น ผูกอยู่กับช่วงชั้นทางสังคม แบบต่อให้ฟ้าผ่าลงมาก็แยกกันไม่ขาด ดังนั้นหากเปลี่ยนนักเรียนกระจอกงอกง่อย ไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์ที่ไหน อย่าว่าแต่เอ็ด หรือเฆี่ยนด้วยไม้เรียวเลยนะครับ จะโซ่ แส้ กุญแจมือ แถมเทียนไข และอะไรต่อมิอะไรสารพัดออปชั่นใช้ทำโทษ ก็ถูกนำมาใช้ได้ในนามของ ความรัก และความหวังดี ที่คุณครูมีให้กับลูกศิษย์
เพราะก็เรื่องที่น่าอนิจจังของความเป็นไทยอีกเหมือนกัน ที่กดเด็กๆ เอาไว้ ไม่ให้หือ ให้อือ กับคุณครู เช่นเดียวกับที่ได้มอบ ‘อาชญาสิทธิ์ของความรุนแรง’ ในนามของความรักให้กับคุณครู สำหรับเฆี่ยน ฟาด โบย หรือจะขว้างเอาด้วยถ้วยกาแฟใส่เด็กๆ ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องผิด
เอาเข้าจริงแล้ว ไม้เรียว จึงเฆี่ยนใส่เฉพาะคนที่ถูกนับว่า มีสถานภาพทางสังคมด้อยกว่าคุณครูเท่านั้นแหละนะครับ ไม้เรียวด้ามเดียวกันนี้ไม่เคยจะฟาดใส่ตัวใหญ่ๆ ของใครก็ตามที่มีสถานภาพ หรือช่วงชั้นทางสังคมสูงกว่าคนที่เอามือกำไม้เรียวด้ามนั้นเอาไว้เลย
ปัญหาจริงๆ จึงไม่ใช่ว่า ไม่เคยมีใครนับว่าไม้เรียวสร้างคนมาเท่าไหร่? แต่ทำไมเราจึงไม่คิดจะสร้างคนขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้ไม้เรียวบ้าง?
เอาเข้าจริงสิ่งที่เฆี่ยนโบยทั้งที่ตัก และที่ตูดของเด็กๆ จึงไม่ใช่ตัวของไม้เรียวเองหรอกนะครับ แต่เป็นสิ่งที่ชวนอนิจจังในช่วงชั้นของความเป็นไทยเสียมากกว่า
และผมก็ยิ่งไม่แน่ใจว่า ความเป็นไทยสร้างคนมาเท่าไหร่แล้ว?