เรื่องของ ‘คำหยาบ’ เป็นเรื่องที่โดนบ่นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาโดยตลอด และโดนในทุกคนทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่ดารา นักร้อง ยันนักวิชาการ หรือนักการเมือง เป็นเรื่องที่ก่อดราม่าได้เป็นประจำ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ดราม่าที่ใหญ่โตมาก แต่เป็นดราม่าตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ เอาเข้าจริงๆ เรื่องคำหยาบนี้ก็เป็นที่รู้กันดีว่า ‘ปกติก็ใช้กันอยู่ตลอดเวลา’ ผมจึงอยากลองมาดูกันหน่อยว่าทำไมเราจะต้องปฏิเสธคำหยาบกัน? และสุดท้ายแล้วอะไรคือคำหยาบ หรือขนาดไหนคือคำหยาบ?
ว่าง่ายๆ วันนี้อยากจะพูดเรื่อง ‘กระบวนการทำให้คำหยาบกลายไปเป็นมวลบนหัว’ ของใครหลายๆ คน และเอาเข้าจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ตัดสินง่าย คอมมอนเซนส์แบบนั้นเลยหรือ หรือเราแค่คิดไปเองว่าคอมมอนเซนส์ในการจะใช้หรือไม่ใช้คำเหล่านี้? หรือจะบอกว่าไม่ต้องใช้เลย เพราะใช้แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร?
คำหยาบ หรือความไม่สุภาพต่างๆ ในภาษาอังกฤษอาจจะมีหลายคำ ที่คุ้นๆ หูก็เช่น Rude, Impolite, Curse, Swear Words, Bad Words ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เรียกรวมๆ ว่า Profanity ครับ มีคนแปลไทยว่า ‘คำหยาบ’ แต่ผมคิดว่าคำนี้กินความมากกว่านั้นอยู่ แต่เราก็ถือตามความเข้าใจกระแสหลักว่าคือสิ่งเดียวปันไปแล้วกัน
หากเราดูที่รากศัพท์ของคำว่า Profanity แล้วเราจะพบว่ามันมีจุดกำเนิดที่น่าสนใจทีเดียว คือ มันถูกใช้มาตั้งแต่ ทศวรรษ 1450s แล้ว (นานทีเดียว) และมาจากรากศัพท์คำว่า ‘Profanus’ ซึ่งเป็นภาษาละติน[1] เวลาได้ยินว่าภาษาละติน ให้เดาๆ ไว้ก่อนได้ว่าน่าจะเกี่ยวกับศาสนา แต่ถ้าเป็นกรีกโบราณมักจะเกี่ยวกับปรัชญาหรือองค์ความรู้สักอย่าง ครั้งนี้ก็เหมือนกันครับ เมื่อเป็นคำละติน มันก็โยงกับศาสนานั่นแหละ คือถ้าแปลตรงตัว คำๆ นี้จะแปลว่า ‘outside the temple’ หรือ ‘ข้างนอกศาสนสถาน’ แต่ความหมายในการใช้งานจริงๆ ของคำๆ นี้มันหมายถึง ‘การละเมิดสิ่งศักด์สิทธิ์ หรือละเมิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ (desecrating what is holy) หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ ‘ด้วยจุดมุ่งหมายทางโลกย์’ (with secular purpose) ครับ[2]
ว่ากันง่ายๆ ก็คือ ในทางจุดเริ่มต้นแล้ว ‘คำหยาบ’ อยู่ในสถานะของสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โลกของพระเจ้า เป็นสิ่งซึ่งสะท้อนความเป็น ‘มนุษย์ทางโลกียะ’ แบบหนึ่งนั่นเอง (ซึ่งในช่วงหนึ่งเคยถูกมองในฐานะ ‘ความผิดฐานดูหมิ่นศาสนา’ (Blasphemy) ด้วย บางทีเรียกว่า Blasphemous Profanity สรุปก็คือ ในทางการรับรู้ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว Profanity หรือคำหยาบมันถูกผลักให้อยู่ใน ‘พื้นที่ต้องห้าม’ (Taboo) ไปพร้อมๆ กับการเป็นเครื่องแสดงออกถึงโลกโลกียะด้วย
สถานะของ ‘คำหยาบ’ ดูเหมือนจะอยู่ในพื้นที่สีดำหรือพื้นที่ต้องห้ามเสมอมา แม้จะค่อยๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้พาสเทลมากขึ้นบ้างก็ตาม จนมาอยู่ในพื้นที่เทาๆ แต่ก็เทาปนดำอยู่ดี เพราะพูด/เขียนคำพวกนี้ในเชิงสาธารณะทีไรเป็นได้มีการออกมากรีดร้องถึงความ ‘ไม่สมควร ความไม่เหมาะสม’ ไปเสียทุกที ฉะนั้นในแง่หนึ่งมันเป็นการยากที่จะปฏิเสธอิทธิพลหรือวิธีคิดแบบคริสตศาสนายุคกลางที่ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะวัฒนธรรมในยุควิคตอเรียน ที่ผนวกเอาความเหมาะสมในทางศาสนา มาเป็นความเหมาะสมในชีวิตประจำวันไปเสียฉิบ (ซึ่งต่อมาก็กระจายตัวไปทั่วโลกและครอบงำวิธีคิดทั่วไปหมดตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม)
แม้มันถูกผลักอยู่ในพื้นที่เทาปนดำ ดำปนเทาอะไรก็ตามแต่ ผมคิดว่าเราควรยืนกรานอย่างหนักแน่นได้แล้วว่า จนถึงปี 2017 กันแล้วนี่ ควรจะรู้ได้แล้วว่าความเป็นอยู่แบบ ‘โลกโลกียะ’ มันไม่ใช่อะไรที่ผิด และภาษาที่สะท้อนวัฒนธรรมของโลกโลกียะก็ไม่ใช่อะไรที่ผิดหรือต้องถูกผลักให้ต้องห้ามอีกต่อไป มันควรจะมีที่ทางที่เสมอกันกับภาษาอันแสนศักดิ์สิทธิ์แบบอื่นๆ ได้แล้ว
ในทางปฏิบัติแล้วผมคิดว่าหลายๆ คนก็เข้าใจในจุดนี้ดีว่า ‘คำหยาบ’ มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามอีกต่อไป เหมือนๆ กับการเป็นเกย์ หรือการมีเซ็กซ์ท่าอื่นนอกเหนือจากท่ามิชชันนารี ซึ่งการรับรู้ที่ว่านี้ถึงที่สุดแล้วมีการทำวิจัยเป็นตัวเลขออกมาด้วย ในงานของ Timothy Jay ที่ชื่อ The Utility and Ubiquity of Taboo Words (2009) มีข้อสรุปออกมาว่า (ในโลกภาษาอังกฤษ) ในวันหนึ่งๆ คนเราจะใช้คำประมาณ 80 – 90 คำ วนๆ ไป ซึ่งในการใช้งานทางภาษาในหนึ่งวันนั้น เป็นคำหยาบ/คำด่า (Swear Words) ประมาณ 0.5 – 0.7 % ของจำนวนคำทั้งหมด และถูกนำมาใช้งาน (คือคำบางคำถูกใช้วนๆ ซ้ำๆ ได้) ในวันหนึ่งๆ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 0% – 3.4% ในขณะที่คำสรรพนามพหุนามแทนบุรุษที่ 1 อย่าง we, us, our นั้นถูกใช้รวมๆ กันแล้วประมาณ 1% ของการใช้งานในหนึ่งวัน
หากพูดถึงภาษาไทย ผมคิดว่าเผลอๆ อาจจะเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะในภาษาอังกฤษพวกสรรพนาม ‘แทนตัว’ ทั้งหลายมันไม่มีคำหยาบโดยตัวมันเอง (I, you, we, the, he, she, it) ในขณะที่ในภาษาไทยนั้นคำสรรภนามแทนตัวต่างๆ ก็ยังมีกลุ่มคำหยาบด้วย เช่น กู มึง อีห่า ไอ้เชี่ย ดอก พวกเวร ฯลฯ ฉะนั้นแนวโน้มที่เปอร์เซ็นต์ของการใช้คำหยาบจะมากกว่าในโลกภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันก็เป็นไปได้สูง (แต่ผมยังหางานศึกษาในภาษาไทยไม่พบ) แต่ต่อให้เรายึดผลการศึกษาในโลกภาษาอังกฤษเป็นฐานก็ตาม เราจะพบว่า การใช้คำหยาบ ดูจะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันทีเดียว แม้เปอร์เซ็นต์การใช้งานจะไม่เกิน 3.4% โดยเฉลี่ย แต่นั่นก็มากกว่าการใช้คำสรรพนามพื้นฐานที่ใช้พูดแทน ‘เรา/พวกเรา’ ไป 2 – 3 เท่าแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งเมื่ออ่านมาถึงจุดนี้และอาจจะรู้สึกเหมือนผมว่า แล้วขนาดไหนนับว่าเป็นคำหยาบกันวะ? ขอบเขตของคำหยาบนั้น ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าลำบากมากในการกำหนดขอบเขต เพราะมันมีความเลื่อนไหลตลอดเวลา เช่น คำว่า เหี้ย หรือ เชี่ย นั้นปัจจุบันก็ถูกใช้อย่างเรี่ยราดเสียจน ‘ระดับความรุนแรง’ (Perceived Severity) ของมันลดต่ำลงจนแทบจะกลายเป็นคำปกติแล้ว ในบางครั้งยังถูกใช้เป็นคำชมเสียด้วยซ้ำ เช่น หนังเรื่องนี้แม่งเหี้ยได้ใจกูจริงๆ ชอบๆๆ เป็นต้น ฉะนั้นภายใต้ความลื่นไหลในการจะนิยามอย่างชัดเจนได้นี้
ผมจึงขอยึดการจัดขอบเขตของคำหยาบตามวิธีการของ Steven Pinker ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า The Stuff of Thought (2007) โดย Pinker ใช้วิธีการแบ่งคำหยาบตาม ‘ฟังก์ชั่น หรือกลไกการทำงาน/จุดประสงค์ของการใช้คำนั้นๆ’ โดยเขาสรุปว่า คำหยาบถูกใช้เพื่อ 5 วัตถุประสงค์หลัก ดังนี้
1. สบถเพื่อดูถูกหรือหมิ่นประมาท (Abusive Swearing) อันเป็นการสบถเพื่อจงใจทำร้ายจิตใจของผู้ถูกด่า (เช่น มึงมันจัณฑาลแย่งเหี้ยมาเกิด อะไรทำนองนี้)
2. สบถเพื่อระบาย (Cathartic Swearing) อันเป็นการสบทเพื่อปลดเปลื้องความรู้สึกภายใน (เช่น สัส ร้อนเชี่ยๆ มันจะร้องอะไรขนาดนี้วะ อีพระอาทิตย์เวร มึงจะขยันไปเอาเกียรตินิยมเลยรึไงวะเนี่ย! เป็นต้น)
3. สบถเพื่อเชิญชวน (Dysphemistic Swearing) อันเป็นการสบถเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้สบถมองสิ่งที่กำลังสบถถึงในแง่ลบ และคาดหวังให้ผู้ฟังเห็นตามหรือทำตามด้วย อนึ่งการใช้งานคำว่า Dysphemistic นี้ของ Pinker ดูจะใช้ในบริบทที่ต่างออกไปจากการเข้าใจหรือใช้งานคำว่า Dysphemism โดยทั่วไปอยู่บ้าง ที่มักจะหมายถึงการลดทอนคำหยาบให้ดูซอฟต์ลง (เป็นสีพาสเทล) เช่น Oh fuck! เป็น Oh fudge! หรือ Shit! เป็น Shoot! เป็นต้น หรือในภาษาไทย เช่น ห่า! เป็น ห่าน! อะไรแบบนี้ ซึ่งเรียกว่า Euphemistic dysphemism หรืออีกแบบก็คือ คำหยาบที่ใช้แสดงความรู้สึกสนิทชิดเชื้อ (อันนี้ Pinker แยกไว้เป็นอีกข้อเลย) ซึ่งเรียกว่า Dysphemistic euphemism (คือชื่อสลับกับแบบแรกนั่นเอง)
อย่างไรก็ดี การใช้งานของคำว่า Dysphemistic ของ Pinker นี้ดูจะมีความหมายในเชิงลบไปเลย มากกว่าความหมายในลักษณะ ‘เป็นคำรุนแรงที่ไม่ถูกนับว่ารุนแรง’ ตามความหมายของ Dysphemism ปกติ ฉะนั้นกลไกในข้อนี้ของ Pinker ก็อาจจะพอยกตัวอย่างได้ เช่น พวกเตะหมาเตะแมวนี่มันอะไรของมันวะ จิตใจต่ำยิ่งกว่าสัตว์เซลล์เดียว ไม่รู้แม่งจะเกิดมาร่วมโลกกับกูทำไม! อะไรทำนองนี้ครับ
4. สบถเพื่อเน้นความ (Emphatic Swearing) ก็คือการสบถหรือใช้คำหยาบเพื่อเน้นข้อความ หรือชักจูงให้คนหันมาสนใจในเนื้อความที่ผู้สบถคิดว่าสำคัญหรือต้องการเน้นให้สนใจเป็นพิเศษครับ เช่น พวกขี้เสือกนี่ มันก็คือพวกชอบยุ่งเรื่องชาวบ้านโดยไม่สน hee สน tadd อะไรเลยแค่นั้นเอง เป็นต้น
5. สบถเพื่อบ่งความสัมพันธ์ (Idiomatic Swearing) เป็นการใช้คำหยาบหรือการสบถที่ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ แต่ใช้เพียงเพื่อบอกถึงสถานะความสัมพันธ์ของผู้พูดและผู้ฟังที่ไม่จำเป็นต้องทางการนัก หรือสนิทกันพอ เช่น โหยยยย อีดอก ไม่เจอกันนาน สวยขึ้นเยอะเลยนะมึง เสียให้มีดหมอไปเท่าไหร่ล่ะเนี่ย? เป็นต้น
นี่คือลักษณะหรือกลไก 5 ประการของคำหยาบที่สบถออกมาตามการจำแนกของ Pinker ซึ่งไม่ใช่ว่ามันจะ ‘เลวร้ายไปเสียทุกรูปแบบ’ รูปแบบแรกที่มุ่งทำร้ายจิตใจของผู้อื่นหรือบั่นทอนความเป็นคนของคนฟังนั้น ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย อย่างไรก็ตาม อีก 4 รูปแบบที่เหลือนั้นมันมีประโยชน์และข้อดีต่างๆ กันไป โดยเฉพาะการใช้งานในแบบที่ 4 นั้น อย่างน้อยๆ ในทางส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ และฟังก์ชั่นการทำงานของคำหยาบในบริบทนี้ ไม่ได้ต่างจากการกด Ctrl+U เพื่อขีดเส้นใต้ใน Microsoft Word นัก ซึ่งหลายคนก็อาจจะคิดว่าถ้ามันไม่ต่าง ก็กด Ctrl + U/B/I ไปสิวะ (ซึ่งเอาจริงๆ ก็ใช้อยู่)
แต่ในฐานะการเขียนงานแล้ว ผมคิดว่าการมีเครื่องมือให้ใช้งานได้ในหลายๆ รูปแบบ และมันไม่ได้ ‘ทำร้ายใคร’ (แบบรูปแบบแรก) มันย่อมนับเป็นประโยชน์ของมันแน่นอน และเราควรสร้างพื้นที่ให้กับความหลากหลายในเครื่องมือการสื่อสารเหล่านี้ด้วย
ประโยชน์ของการสบถคำหยาบนั้นไม่ได้มีแค่ในทางการใช้งานเชิงการเขียน การสื่อสาร หรือในทางวิชาการที่ผมว่ามาเท่านั้น แต่รูปแบบ 2 – 5 ของ Pinker เองนั้นมันมีประโยชน์ในทาง ‘การบรรเทาความเครียดทางจิตใจและร่างกาย’ ได้ด้วย ในงานของ Frederik Joelving ที่ลงในวารสาร Scientific American (12 July 2009) นั้น ได้สรุปการศึกษาอกมาว่า การถล่มใช้พายุคำหยาบนั้น (ในบทความใช้คำว่า Dropping the F-Bomb กันเลย) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงจะช่วยลดทอนความเครียดในทางจิตใจแล้ว ยังได้รับการทดลองกับอาสาสมัครนักศึกษา 67 คน ในการทดลองจุ่มมือในน้ำเย็นจัด (ซึ่งมันจะเสียดแทงและเจ็บปวดมากครับ ลองดูได้) โดยระหว่างที่จุ่มนั้นให้สบถคำกลางๆ ทั่วๆ ไป กับสบถคำหยาบ ปรากฏว่าในรอบการสบถคำหยาบนั้น นักศึกษาทั้ง 67 คนสามารถทนกับความเจ็บปวดได้มากขึ้น ประมาณ 40 วินาที
จากการทดลองนี้เอง Richard Stephens แห่ง Keele University สหราชอาณาจักรจึงได้อธิบายต่อว่า เอาจริงๆ แล้วการสบถและใช้คำหยาบนั้นมันเป็น “ปฏิกิริยาทั่วไปของมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่พอใจหรือเจ็บปวด” ฉะนั้นเขาจึงสนับสนุนให้ทุกคน ‘สบถคำหยาบ’ ออกมาเพื่อลดทอนสภาวะความตึงเครียดดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้นตอนนี้นักวิชาการและนักวิจัยจำนวนมากทั่วโลกก็เริ่มจะตั้งคำถามกับการทำให้ ‘คำหยาบ’ กลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามในทางสาธารณะแล้ว เพราะมันดูจะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ และเอาจริงๆ สุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติที่ใช้กันอย่างเป็นประจำมากๆ ด้วย’
ผมคิดว่าสุดท้ายแล้ว เรากำลังจำกัดพื้นที่ความเป็นมนุษย์อย่างการใช้คำหยาบ ด้วยอิทธิพลหรือวิธีคิดที่ไม่เป็นมนุษย์มากๆ อย่างการปฏิบัติด้วยผิดวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า (ซึ่งต่อมากลายมาเป็นข้อกำหนดของสิ่งที่เรียกว่า ‘มารยาท และความเหมาะสม’) เรากำลังผลักให้ธรรมชาติของความเป็นคนถูกผูกติดอย่างล้นเกินในพื้นที่ของการนำจริตมา ‘ดัด ดัด แล้วก็ดัดอีก’ เพื่อจะบอกว่า “มนุษย์หลังจากดัดและผูกลักษณะที่มนุษย์เป็นจริงๆ ไว้แล้วจึงเหมาะสม”
ผมคิดว่าถึงเวลานี้เราควรเปิดพื้นที่ให้กับคำหยาบได้แล้ว โดยเฉพาะเมื่อคำหยาบมันไม่ได้ทำหน้าที่ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ แต่อย่างเดียวแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นมันยังมีความเลื่อนไหลอย่างมาก ขนาดที่เดี๋ยวนี้การสบถคำที่ถูกมองว่าหยาบออกมาเลย อาจจะฟังดูซอฟต์ใสกว่าการนำคำที่ถือว่าสุภาพมาเรียกต่อกันก็ได้ เช่น ด่าว่า ‘ควยเถอะมึง’ กับการพูดว่า “หน้าคุณเหมือนหนังหุ้มปลายองคชาติเลยนะครับ” สุดท้ายแล้วคำหยาบที่ถูก Generalized หรือใช้อย่างเป็นปกติไปเรื่อยๆ มันก็จะค่อยๆ กลายสภาพเป็นไม่หยาบไปเองด้วย (เดี๋ยวนี้โดนด่าว่า ‘สารเลว’ นี่เจ็บกว่าโดนด่าว่า ‘เหี้ย’ มากนักนะครับ) ฉะนั้นผมคิดว่าเราควรจะเลิกยึดติดกับคุณค่าของ ‘ความเหมาะสมหนึ่งเดียว วิถีอันควรจะเป็นหนึ่งเดียว’ ได้แล้ว
มันน่าตลกนะคุณ ที่ศตวรรษนี้แล้ว ยังจะเอาวัฒนธรรมแห่งการกดขี่ที่ผูกสาแหรกอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของเทพ มาอยู่เหนือคุณค่า ธรรมชาติ และลักษณะที่สะท้อนความเป็นมนุษย์แห่งโลกโลกียะอยู่… เลิกเถอะ การบ่นอะไรแบบนี้ เดี๋ยวนี้นักวิชาการหัวก้าวหน้าชั้นนำของโลกหลายคนมันก็ยังพ่นคำหยาบกันเป็นว่าเล่นเลย (ลองอ่านงานชิเช็กดูก็ได้ครับ) แต่ในโลกคอนเซอร์เวทีฟ ก็ยังมานั่งคัดคำกันอยู่… “อุ๊ยเธอ คำนี้มันแรงไปมั้ยนะ คำนี้มันหยาบไปหรือเปล่า” ปานว่ากำลังเขากำลังด่าคุณอยู่ หากเขาไม่ได้ใช้คำด่านั้นมาด่าคุณ แต่ใช้ในฐานะกลไกอื่นๆ ดังเสนอไป ก็อย่าไปนำเอาคำหยาบมาเป็นมวลวางไว้บนหัวตัวเราเองกันเลยครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] จาก Oxford English Dictionary Online
[2] โปรดดู www.openbible.info