‘Absent without Leave’ สารคดีตามหาเรื่องราวคุณปู่อดีตสมาชิกคอมมิวนิสต์มลายาของผู้กำกับ เลา เก็กฮวด ทำให้เราเห็นเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของประเทศมาเลเซีย และคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) พร้อมร่วมตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกควบคุมโดยรัฐผ่านหนังสือเรียนที่กล่าวถึง พคม. ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
เมื่อ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) ได้จัดงาน ‘ภาพยนตร์สนทนา : Absent without Leave ขอคืนพื้นที่ให้ปู่ของผม’ ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ภายในงานได้เปิดให้บุคคลทั่วไป และคอภาพยนตร์ชาวไทยได้เข้าร่วมชมภาพยนตร์สารคดี เรื่อง ‘Absent without Leave’ โดยครั้งนี้นับเป็นการโคจรมาฉายที่ไทยเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกนั้น Absent without Leave ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ครั้งที่ 7 หรือ Salaya Doc เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และชนะเลิศรางวัลสารคดียอดเยี่ยมอาเซียนจากเทศกาลดังกล่าว
Absent without Leave (2016) สารคดีจากประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย กำกับโดยผู้กำกับชาวมาเลย์เชื้อสายจีน ‘เลา เก็กฮวด’ (Lau Kek-huat) สารคดีใช้เวลา 83 นาที พาผู้ชมเดินทางไปพร้อมกับผู้กำกับ ตามหาเรื่องราวปู่ของเขา ซึ่งเหลือเพียงรูปวาดใบหน้าปู่ไว้ให้ดูต่างหน้าเพียงรูปเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ เลามาทราบภายหลังว่า ปู่ของเขาเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) เพื่อให้เข้าใจปู่มากขึ้น
เลาจึงเริ่มต้นเดินทางตามหาเรื่องราวของครอบครัว ความเป็นมาของชาวมาเลย์เชื้อสายจีน และพคม. ซึ่งในท้ายที่สุด การเดินทางครั้งนี้ได้เปิดเผยให้เห็นประวัติศาสตร์มาเลเซีย และพคม. ที่ไม่ได้ถูกบอกเล่าในประวัติศาสตร์กระแสหลักของดินแดนเสือเหลือง
สารคดีนำเสนอตั้งแต่จุดเริ่มต้นการตามหาปู่ พร้อมกับเรื่องราวของชาวมาเลย์เชื้อสายจีนบนคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่ดินแดนเสือเหลืองยังอยู่ภายใต้เงาอาณานิคมอังกฤษ การทำสงครามกองโจรต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ตลอดจนทำสงครามปลดแอกคาบสมุทรมลายูจากอังกฤษช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และชีวิตของพวกเขาในปัจจุบัน โดยมีการใช้ฟุตเทจเก่าบางส่วนจากตากล้องที่ถูกจ้างวานโดยอังกฤษ ให้บันทึกภาพเพื่อทำภาพยนตร์ชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตัดสลับกับการสัมภาษณ์ครอบครัวเลา และคนเฒ่าคนแก่ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย อดีตนักรบในสงครามทั้งในจีน ฮ่องกง และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในไทย
นอกจากประเด็นตั้งต้นจากการตามหาปู่ สารคดียังเผยให้เห็นประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมของชาวมาเลย์เชื้อสายจีน ได้เห็นว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิตผ่านยุคสงครามมาอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาในปัจจุบัน สภาพจิตใจ และพวกเขามีมุมมองอย่างไรกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำ
อย่างไรตาม ผู้กำกับชาวมาเลย์เชื้อสายจีน ผู้มีบ้านเกิดอยู่ในเมืองซิเทียวัน รัฐเประก์ ประเทศมาเลเซีย อธิบายถึงแรงบันดาลใจที่อยากจะทำภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเรียบง่ายว่า เค้าแค่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวปู่ของเขามากขึ้นเท่านั้น
“ผมอยากจะเรียนรู้เรื่องราวของปู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อยากรู้ว่าท่านรู้สึกยังไง ทำอะไรบ้างตอนยังมีชีวิต และอยากจะเข้าใจท่านมากขึ้น… ผมอยากจะโฟกัสที่ปู่ในฐานะมนุษย์ มากกว่าเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์มลายา”
แนวคิดการมองทุกคนในฐานะ ‘มนุษย์’ อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นในงานสารคดีของผู้กำกับเลา แนวคิดนี้ถูกใช้ตั้งแต่ภาพยนตร์สั้น ‘Nia’s Door’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของหญิงชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องเดินทางมาทำงานในไต้หวัน
“…พวกเรามักจะมองผู้คนที่อัตลักษณ์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่พวกเราเอาไปใส่ไว้ให้พวกเขาเอง แต่ที่ผมพยายามมอง คือ ความเป็นมนุษย์ในทุกๆ คน ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากที่ไหน อยู่ในชนชั้น หรืออัตลักษณ์แบบไหนก็ตาม…”
“เพราะว่า ผมหมายถึงใน ‘Nia’s Door’ ถ้าเราเจาะจงตัวเธอในฐานะแรงงานต่างชาติ ในฐานะชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวัน บางทีเนื้อเรื่องอาจจะเน้นเรื่องคู่ขัดแย้งระหว่างชนชั้นแรงงาน กับชนชั้นนายจ้าง คนรวยกับคนจน และระหว่างคนไต้หวันกับคนฟิลิปปินส์ไปซะหมด แต่แทนที่เราจะมองแบบนั้น ผมอยากจะมองบางอย่างในฐานะที่เธอเป็นมนุษย์ ความรู้สึกของเธอเมื่อต้องมาอยู่ไต้หวัน เธอต้องการอะไร เธอตัดสินใจยังไง เพราะอะไร… ถ้าคุณลองมองเธอในฐานะมนุษย์ ทุกๆ คนก็คือ มนุษย์ … เราก็เห็นว่าเราเหมือนกับเธอ… หรือคุณเห็นอะไรบางอย่างในตัวเธอเหมือนกับตัวคุณ…”
“ในสารคดีนี้ (Absent without Leave) ผมอยากให้ผู้คนมองพวกเขา (นักรบ และอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้าร่วมสงครามต่อต้านอาณานิคม) ในฐานะมนุษย์ปัจเจกชน ‘人’ (ตัวอักษรจีน อ่านว่า ‘เหริน’ แปลว่า คน) เป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นปู่ มากกว่ามองพวกเขาในฐานะทหาร …และที่สำคัญ คือ วิธีการใช้ชีวิตของพวกเขาที่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มภาคภูมิ และสวยงามในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ‘人’ ชีวิตที่พวกเขาผลักดันความเป็นไปได้จนถึงขีดจำกัด…”
ผู้ก่อการร้ายในหนังสือเรียน ?
ฉากหนึ่งในสารคดีเผยให้เห็นหนังสือเรียนประวัติศาสตร์มาเลเซีย อธิบายถึงพรรคอมมิวนิสต์มลายาว่า ‘เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย’ นั้น ผู้กำกับเลา อธิบายว่า “ผมต้องการให้ผู้ชมนั้น สงสัยกับสิ่งที่ได้เรียน และได้ยินมา”
การใช้ฉากหนังสือเรียนประวัติศาสตร์มาเลเซียดังกล่าว ทำให้ในแง่หนึ่ง สารคดีนี้กำลังนำเสนอประวัติศาสตร์ของผู้ก่อการร้าย ฉะนั้น การตามหาเรื่องราวคนกลุ่มนี้กระตุ้นให้สารคดีน่าสนใจว่า คนเหล่านี้จริงๆ คือใคร และเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ขณะเดียวกัน ผู้กำกับเลาก็เหมือนส่งสัญญาณว่า เราจะค้นหาประวัติศาสตร์ตรงนี้ในแบบของตัวเอง ทำให้วิธีการตามหาปู่ มีความหมายมากกว่าการตามหาปู่ แต่ยังเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของชาวมาเลย์เชื้อสายจีนอีกด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์มาเลเซีย ทำให้เราเข้าใจมาเลเซียในอีกมิติหนึ่ง ผ่านการสัมภาษณ์สมาชิกครอบครัวของผู้กำกับเลา และอดีตสมาชิกคอมมิวนิสต์มลายา มันท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกของคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์จริง และคนดูจะได้เข้าใจเหตุผลการตัดสินใจมากขึ้นว่า ทำไมบางคนถึงเลือกลุกขึ้นมาสู้กับญี่ปุ่น และอังกฤษในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความรู้สึกเหล่านี้ไม่ซับซ้อน และทุกคนเองก็สามารถเข้าใจได้ เหมือนนั่งลงฟังเรื่องราวการผจญภัยของคนรุ่นเก่า
ผู้กำกับเลา ใช้เวลา 5 ปี เพื่อค้นคว้าข้อมูล วิจัย และเดินสายสัมภาษณ์ ปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมด ขั้นตอนการค้นคว้านั้นไม่ง่ายเลย เพราะต้องใช้หลักฐาน และงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ทั้งในมาเลเซีย และต่างประเทศ รวมถึงต้องดูว่าแต่ละที่เขียนประวัติศาสตร์มาเลเซียเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง พยายามใช้หลักฐานจากหลายๆ ด้าน หลายๆ แง่มุม
ช่วงเวลาที่ได้สัมภาษณ์ และสัมผัสกับนักสู้รุ่นปู่เหล่านี้ ทำให้เลามองว่าเหตุผลที่บางคนเข้าร่วมกองทัพนั้น ไม่ได้เป็นเพราะเข้าใจ และศรัทธาในทฤษฎีของมากซ์ หรือคอมมิวนิสต์ แต่เป็นเหตุผลของความเป็นมนุษย์ (human reason) เช่น บางคนก็ต้องการหาจุดเปลี่ยนของชีวิต บางส่วนเข้าร่วมกองทัพเพราะอยากได้รับโอกาสในการเรียนหนังสือก็มี หรือบางคนนั้นไม่พอใจสิ่งที่ผู้บุกรุกและกลุ่มผู้ปกครองอาณานิคมกระทำ หรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ๆ
“ผมคิดว่า ในระดับผู้นำ ผมหมายถึงระดับผู้นำกองทัพ (ต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นและอาณานิคมอังกฤษ) น่าจะต้องคิดถึงเรื่องอำนาจทางการเมือง เรื่องปกครองประเทศกันบ้างละ แต่ในระดับทหารธรรมดามันกลับกลายเป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ … แค่ต้องการช่วยเหลือผู้คน อยากมีชีวิตที่อยู่อย่างมีเกียรติ และใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”
“ผมจำได้ว่า หนึ่งในทหารคนที่แก่มากๆ ที่อาศัยในไทยเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยอาณานิคมอังกฤษ เค้ารู้สึกเหมือนเป็นสุนัขสำหรับคนขาว สมัยที่ญี่ปุ่นบุกเข้ามา (สงครามโลกครั้งที่ 2) คุณรู้สึกเหมือนเป็นสุนัขสำหรับกองทัพญี่ปุ่น เมื่อคุณมองพวกเขา คุณรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่ามากเหมือนกับทาส หรือเหมือนคนไร้ค่า… ความมีอิสรเสรีในฐานะมนุษย์ คือสิ่งที่พวกเขามองหา แม้ว่าพวกเขาจะต้องตาย แต่พวกเขายัง…อยากที่จะทำมัน ผมคิดว่ามันเป็นที่สวยงามนะ…”
กลุ่มนักสู้ที่เข้าร่วมกองทัพต่อต้านญี่ปุ่นและอังกฤษนั้น เต็มไปด้วยคนจากหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งอินเดีย มาเลย์ และจีน แต่หลังจากตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม หลายคนทิ้งชีวิตไว้ในสมรภูมิรบกลางป่า สูญเสียเพื่อนและบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง ต้องแยกจากคนในครอบครัว หลายคนถูกจับ และถูกส่งกลับไปจีนโดยที่ไม่ได้กลับมาที่ดินแดนมาเลเซียอีกเลย
ขณะที่การทำสารคดีเรื่องนี้ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมของมาเลเซียในปัจจุบันโดยเฉพาะปัญหาความกลมเกลียวทางชาติพันธุ์ โดยฉากหนึ่งในภาพยนตร์นั้น เป็นการฉายภาพงานพบปะเพื่อนเก่า และสหายร่วมรบในสงคราม ภายในงานเต็มไปด้วยผู้คนจากหลายกลุ่ม อาทิ คนมาเลย์ และคนจีน
“…ผมทั้งค่อนข้างแปลกใจ และประหลาดใจมาก ผมช็อกจริงๆ เพราะว่าผมได้เห็นคนที่อายุแปดสิบ เก้าสิบปี คนมาเลย์ คนจีน กอดและจูบกันเหมือนว่าได้เจอเพื่อนเก่า เจอเพื่อนที่ดีต่อกัน เหมือนกลับมาเจอพี่น้องกันอีกครั้ง แต่ในคนรุ่นเดียวกับผมนั้น ผมไม่เคยมีเพื่อนสนิทชาวมาเลย์ หรืออินเดียเลย ผมได้แต่เฝ้าถามว่าทำไม มันเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบัน”
“…รัฐบาล (มาเลเซีย) ของผมเคยบอกว่า คอมมิวนิสต์ คือ ผู้ก่อการร้ายทางชาติพันธุ์ พวกเขาฆ่าคนมาเลย์ ทำให้มาเลเซียวุ่นวาย และเป็นผู้ก่อการร้ายที่ทำให้เกิดปัญหาความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์ สำหรับผม ในความเป็นจริง พวกเขาเป็นเหมือนคนที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์กลมเกลียวอยู่ได้ด้วยกันมากกว่า…ผมตั้งใจตั้งคำถามกับผู้ชม และกระตุ้นให้พวกเขาคิดอย่างรอบคอบว่า ทำไมคนเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวกับชาติพันธุ์อื่นๆ ได้ แต่ปัจจุบัน พวกเราไม่ได้เห็นอะไรแบบนั้นเลย”
ท่าทีของสารคดีนั้นดูเหมือนจะวิจารณ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์ผ่านแบบเรียนของภาครัฐ รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหล่านักสู้คอมมิวนิสต์มลายา แต่เลายืนยันว่า ภาพยนตร์ตามหาปู่ของเขานั้น ไม่ได้มีเจตนาต่อว่ารัฐบาล หรือใครก็ตาม เขาอยากให้ผู้ชมของเขาสัมผัสกับความสวยงามของนักสู้เหล่านี้เท่านั้น
“ผมไม่เคยพยายามกล่าวหารัฐบาลหรือใครก็ตาม จริงๆ ผมพยายามจะถ่ายทอดความสวยงามของผู้คนเหล่านี้ (นักสู้ในสงครามปลดแอกอาณานิคม) ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่สำคัญกว่า เมื่อพวกเราในฐานะผู้ชมสามารถรู้สึกถึงความสวยงาม หรือความมีเกียรติของคนเหล่านี้ ฉะนั้นเราอาจจะรู้สึกได้ว่า บางทีเราอาจจะคิดผิดเกี่ยวกับพวกเขาในอดีต…”
“ตลอดมานั้น ผมอยากให้ภาพยนตร์ของผมให้ความรู้สึกสวยงาม และสงบแก่ผู้ชม ปล่อยให้พวกเขาได้รู้สึกสงสัย และได้ขบคิดว่า บางที พวกเขาอาจจะคิดผิด ทำไมกลุ่มคนที่เราเคยถูกสอนมาว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ เราถึงเห็นแต่ความสวยงามของเขาบนหน้าจอโรงภาพยนตร์”
หลังจบงานกำกับ ดูเหมือนว่าการตามหาเรื่องราวของปู่ไม่เพียงทำให้เลาเข้าใจปู่และครอบครัวของเขามากขึ้นเท่านั้น แต่ทำให้เขาเข้าใจว่า ตัวเขามาจากไหน รู้สึกว่าตัวเองเชื่อมโยงกับแผ่นดินบ้านเกิดมากขึ้น ทั้งที่เมื่อก่อนเค้าแทบไม่รู้สึกอะไรกับประเทศมาเลเซียเลย เลาแสดงความเห็นว่า ประวัติศาสตร์ควรทำให้เราเข้าใจตัวตนของเรามากขึ้น
“พวกเขา (รัฐบาล) ตัดสินใจว่าจะเขียนประวัติศาสตร์แบบไหน ก่อนที่จะส่งต่อลงมาให้เราได้อ่าน ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์ควรถูกเขียนจากล่างขึ้นมาด้านบน…เมื่อคุณเรียนประวัติศาสตร์จากโรงเรียน คุณไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงอะไรถึงตัวคุณ มันดูห่างไกลมาก เพราะว่าคุณไม่เห็นความเกี่ยวข้องกับตัวคุณ ถ้าคุณเริ่มจากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ครอบครัวของคุณ คุณจะเห็นเหตุผลว่า ทำไมคุณถึงต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ เพราะคุณปู่ เพื่อนบ้าน หรือพ่อแม่ หรือครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านี้ จากนั้น คุณถึงจะเริ่มเข้าใจว่า ทำไมคุณถึงต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้”
การถูกแบนจากรัฐมาเลเซีย
แม้ว่าชาวสยามหน้าใสบางคนจะได้ยลโฉมภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการตามหาคุณปู่คอมมิวนิสต์มลายากันไปบ้างแล้ว แต่ชาวมาเลย์บางคนกลับยังไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับภาพยนตร์เรื่องนี้เลย เพราะสารคดีถูกแบนจากกองเซ็นเซอร์ของรัฐบาลมาเลเซีย นั่นหมายความว่าคุณจะไม่สามารถจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เลยไม่ว่ากรณีใดๆ และไม่มีการให้เหตุผลว่าทำไมถึงถูกแบน แต่คาดการณ์ว่าอาจเป็นเพราะเนื้อเรื่องมีการพูดถึงคอมมิวนิสต์มลายานั่นเอง
ทางบริษัท ฮัมมิงเบิร์ด โปรดักชัน (Hummingbird Production Co Ltd) โปรดักชันสัญชาติไต้หวัน เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงตอบโต้มาตรการดังกล่าวโดยการเผยแพร่บนโลกออนไลน์ให้ผู้ชมชาวมาเลเซียได้รับชมฟรี ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับในแง่บวกจากผู้ชมชาวมาเลย์ และต่างประเทศ
“มียอดวิวมากกว่า 100,000 วิวเข้ามาเพียงแค่ในสัปดาห์เดียว… มีหลายคนที่สมาชิกในครอบครัวผ่านประสบการณ์แบบเดียวกับในหนังส่งอีเมลและข้อความมาหาผมทางหลังไมค์ พวกเขาเล่าว่า ผมมาจากครอบครัวชาวอินเดีย ผมมีครอบครัวที่เข้าไปร่วมกองทัพในป่า ผมมาจากครอบครัวชาวมาเลย์… ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากที่ภาพยนตร์ของผมสามารถเข้าถึงคนได้ หรือแม้แต่คนอังกฤษก็มีการเขียนจดหมายมาให้ผมเหมือนกัน”
ปัจจุบัน ผู้กำกับเลาพยายามขออุทธรณ์ยกเลิกการแบนภาพยนตร์เพื่อให้ได้ฉายในมาเลเซีย แต่กระบวนการเพิ่งอยู่ในขั้นแรกเท่านั้น ทั้งนี้เลายอมรับว่า เค้าอยากให้หนังได้ฉายบนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์มาเลเซีย เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของความฝันของเขา
“แน่นอน ผมอยากฉายครับ มันเป็นส่วนหนึ่งของความฝันของผมมาโดยตลอด ผมจินตนาการว่า ชาวมาเลเซียรุ่นใหม่ และรุ่นเก่า จะไปโรงหนัง และมานั่งชมมันบนจอใหญ่ในโรงหนังด้วยกัน และคนรุ่นเก่าก็จะได้เล่าให้ลูกหลานของพวกเขาฟังว่า ‘นี่คือช่วงเวลาที่เขาได้เลือกที่จะทำ’… และจากนั้น ผู้ชมจะปรบมือให้กับคนมาเลเซียรุ่นเก่าเหล่านั้นในโรงภาพยนตร์…”
เลา อธิบายเพิ่มเติมว่า การฉายภาพยนตร์ หรือเปิดเผยเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดซ่อนไว้ การยอมรับเรื่องราวเหล่านี้จะทำให้ประเทศมาเลเซียมีความเข้าใจกันมากขึ้น และแข็งแกร่งขึ้นได้
“ผมว่ามันสำคัญมากสำหรับประเทศนี้นะที่จะได้รับการเยียวยาบาดแผลที่ทำให้เราเจ็บปวดตลอดมา ถ้าคุณเลือกที่จะซ่อนมันไว้ตลอดไป บาดแผลพวกนี้จะไม่ได้รับการเยียวยาอีกเลย และสำหรับพวกเรา เราพลาดโอกาสที่จะแข็งแกร่งขึ้นด้วย…”
“ยอมรับอดีตของตัวเองและฝั่งตรงข้าม พยายามฟังคนอื่นๆ ชื่นชมความสวยงามของฝั่งตรงข้ามแทนที่จะมานั่งต่อว่า หรือประณามศัตรูของเรา ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องยากมาก แต่นี่คือสิ่งที่ผมทำในภาพยนตร์…”
การคืนความเป็นคน
โมฮาเหม็ด เดียบ (Mohamed Diab) ผู้กำกับชาวอียิปต์ เจ้าของผลงาน ‘Estabak[1]’ (2016) หรือ Clash คือ หนึ่งในคนที่เคยพูดไว้ว่า ทำไมการคืนความเป็นคน (humanize) ถึงสำคัญ โดยตอนนั้น เดียบ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสัญชาติอังกฤษ บีบีซี (BBC) ผ่าน Podcast เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2016 ถึงแนวคิดของภาพยนตร์ Estabak และมีการกล่าวถึงการ humanize หรือการคืนความเป็นมนุษย์ให้กับศัตรู และทุกๆ คนในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขานั้น มันสำคัญอย่างไร
เดียบ อธิบายว่า เมื่อเรามองคนที่มีความคิดต่างจากตัวคุณ หรือกรณีผู้ก่อการร้ายเอง เรามองพวกเขาว่าเป็นศัตรู
มันคือการลดความเป็นคน (dehumanize) แต่การได้ยินเรื่องราวความคิด และเข้าใจฝ่ายตรงข้าม จะทำให้เรามองคนที่มีความคิดทางการเมืองต่างจากเราเป็นมนุษย์ เป็นคนมากขึ้น แต่คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกอย่าง คุณต้องเข้าใจว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจแบบนั้น อะไรพาเขาไปถึงจุดนั้น เราถึงจะอยู่ด้วยกันได้ เราจึงควรพยายามคืนความเป็นคนให้ทั้งกลุ่มคู่ขัดแย้งหลายๆ ฝ่าย ฟังความคิดของทุกๆ คน
นอกจากนี้ ในดินแดนภารตะ หรืออินเดีย สถานที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นทางสังคม โรงภาพยนตร์ และภาพยนตร์ ก็เป็นดั่งสื่อกลางที่ทำให้คนหลากสถานะทางชนชั้นได้เข้ามานั่งรวมกันโดยไร้ซึ่งกำแพงทางอคติขวางกั้น คนเหล่านี้ได้หัวเราะด้วยกัน ร้องไห้ด้วยกัน ตะโกนโห่ร้องในโรงภาพยนตร์เชียร์ดาราที่ชื่นชอบด้วยกัน
สุดท้ายนี้ เลาเองก็หวังว่า ภาพยนตร์ของเขาจะเป็นสื่อกลาง และพื้นที่ทางศิลปะที่สร้างความเข้าใจระหว่างชาติพันธุ์ และอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีการแบ่งแยกกันในภายในสังคม
“ผมคิดว่าโรงภาพยนตร์สามารถทำแบบนั้นได้นะ มันสามารถเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน มันเป็นสถานที่ที่คุณสามารถร้องไห้ให้คนที่คุณเกลียด …คุณพยายามที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นๆ คนที่คุณไม่เคยรู้จัก หรือตระหนักถึง นั่นคือเวทมนต์ มันคือความสวยงามของโรงภาพยนตร์”
[1] Estabak เล่าเรื่องกลุ่มผู้ต้องสงสัยประท้วงรัฐ ซึ่งมาจากสองขั้วตรงข้ามความคิดทางการเมืองทั้งกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) และกลุ่มนิยมทหาร กลุ่มผู้ต้องสงสัยดังกล่าวถูกตำรวจควบคุมตัว และต้องจับพลัดจับผลูมานั่งอยู่ในรถควบคุมผู้ต้องหาคันเดียวกันอย่างช่วยไม่ได้ ภายใต้ฉากหลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองในดินแดนฟาโรห์ เมื่อปี 2013โดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิม รวมกลุ่มเพื่อชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี มุร์ซี ที่นำโดยกลุ่มทหาร