“[…] ทางคณะกรรมการอยากจะเน้นย้ำถึงความกังวลในเรื่องที่ว่า สภาพแวดล้อมอันมีการแข่งขันสูงในระบบการศึกษา จะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของพวกเขาได้อย่างเต็มที่”
– Concluding observations: Republic of Korea (2003),
United Nations Committee On The Rights Of The Child
คำเตือน : บทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในสารคดี
สารคดี ‘Reach for the SKY ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า’ นำพาเราไปเห็นสมภูมิการแข่งขันเพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพด้านการศึกษา ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับพวกเขาแล้วการสอบระดับประเทศไม่ใช่เรื่องเล่นๆ พวกเขาจริงจัง คร่ำเคร่ง และพร้อมแลกทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
สารคดีเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ สตีเฟน โดท์ (Steven Dhoedt) และ ชอย อูยัง (Choi Wooyoung) ทั้งคู่เลือกนำเสนอภาพระบบการศึกษาของเกาหลีผ่านการสอบระดับประเทศที่เรียกกันว่า ‘ซูนึง’ (Suneung) การสอบที่จะถูกจัดขึ้นปีละครั้งในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน ในสารคดีเราจะได้เห็นภาพตั้งแต่ช่วงก่อนสอบ วันสอบ และหลังจากการสอบเสร็จสิ้น
ตัวหนังเล่าเรื่องจากการตามถ่าย 4 ตัวละครหลัก เริ่มตั้งแต่ ฮย็อนฮา (Hyunha) เด็กสาวที่เคยเข้าสอบซูนึงแล้ว แต่ผลไม่ได้เป็นดังที่คาดหวัง เธอจึงตัดสินใจลงเรียนกวดวิชาและเลือกที่จะเป็น ‘เด็กรอสอบใหม่’ (repeater) คล้ายกับ มินจุน (Min-Jun) เด็กหนุ่มผู้เลือกเข้าโรงเรียนประจำเอกชนที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อติวเข้มสำหรับสอบซูนึงโดยเฉพาะ
คนต่อมาคือ ฮเยอิน (Hye-In) เด็กสาวม.6 ที่กำลังจะได้สอบซูนึงเป็นครั้งแรก หรือที่เรียกกันว่า ‘gosam’ ผู้หลงทางในการศึกษาจากระบบการสอบอันซับซ้อน และตัวละครคนสุดท้ายคือ คิม คีฮุน (Kim Ki-Hoon) ติวเตอร์ภาษาอังกฤษอันดับหนึ่งของประเทศ ตัวแทนของภาคธุรกิจที่ทำรายได้จากการศึกษา และกำลังต่อสู้กับการควบคุมของภาครัฐ
มีนักเรียนเพียง 1% เท่านั้นที่ไปถึงจุดหมาย
เมื่อการสอบคือทุกอย่าง …คือความฝัน
สำหรับเด็กเกาหลีแล้ว การสอบซูนึงแทบจะเป็นทุกๆ อย่างของพวกเขา เด็กหลายคนเข้าสอบเพื่อหวังจะได้เรียนต่อใน 3 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ คือ Seoul National University (มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล), Korea University (มหาวิทยาลัยโคเรีย หรือโคแด), และ Yonsei University (มหาวิทยาลัยยอนเช) และนี่คือที่มาของคำว่า SKY ในชื่อเรื่อง ให้ความหมายของคำว่าท้องฟ้ากว้างใหญ่ ห่างไกลเกือบเอื้อมถึง และมันก็สะท้อนถึงการสอบซูนึงได้เป็นอย่างดี เพราะในแต่ละปีจะมีผู้ล่าฝันเพียง 1% เท่านั้น จากผู้เข้าสอบทั้งหมด ที่สามารถติดปีกและบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ตัวเองใฝ่ฝัน
และตัวละครทั้ง 4 คน ก็เป็นตัวแทนของผู้ที่จดจ่อคร่ำเคร่งในจุดหมายได้เป็นอย่างดี ฮย็อนฮาเข้าเรียนติวตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ระหว่างเดินทางกลับบ้านก็อ่านหนังสือไปพลาง กลับบ้านไปยังนั่งท่องหนังสือต่อ ส่วนมินจุนก็อาศัยอยู่ในโรงเรียนประจำที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวด ตารางเรียนแน่นเอี้ยด ชนิดที่ว่าขยับไปไหนแทบไม่ได้ ขณะเดียวกันเด็กสาวม.6 ฮเยอิน ก็ต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ตระเวนกวดวิชา และคิม คีฮุน ก็คอยย้ำเตือนกับนักเรียนของเขาเสมอว่า การสอบสำคัญและเป็นหนทางแห่งการประสบความสำเร็จ
การศึกษาคือการเรียนรู้?
ในเมื่อทุกคนมองว่าการสอบคือตัวชี้วัดความสำเร็จในอนาคต การศึกษาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘การเรียนรู้’ เป็นเพียงความอดทดอดกลั้น ขยันหมั่นเพียร ที่ไม่ได้ทำไปเพื่อแสวงหาความรู้อีกต่อไป แต่เป็นไปเพื่อการสอบเท่านั้นเอง ในสารคดีมีบทสนทนาระหว่างมินจุนกับพ่อ ที่ชวนให้เราได้ตั้งคำถามกับทั้งตัวเองและสังคมว่า จริงๆ แล้วเราเรียนไปเพื่ออะไรกันแน่?
พ่อ : แกอยากเข้ามหา’ลัยดีๆ หรืออยากเป็นนักศึกษาที่ดีกันแน่
มินจุน : ผมอยากเข้ามหา’ลัยดีๆ ฮะ ผมว่าการเรียนไม่สำคัญเท่าการได้เข้ามหา’ลัยดี
พ่อ : แล้วทำไมแกถึงอยากเข้ามหา’ลัยดีๆ ล่ะ
มินจุน : ไม่ใช่ว่าผมอยากนะ แต่สังคมกดดันมาตลอดชีวิตว่าต้องเข้ามหา’ลัยดีๆ
ตลอดทั้งเรื่อง เราแทบจะไม่ได้เห็นใครได้พักผ่อนเลย ทุกคนดูจะสนใจกับการสอบเอามากๆ จนไม่เหลือที่ว่างให้กิจกรรมอื่น สิ่งที่เห็นคือ เรียน ติว อ่านหนังสือ กินข้าว อาบน้ำ นอน ทุกกระบวนการวนเวียนอย่างไม่สิ้นสุดจนกว่าวันที่ความฝันจะเป็นจริง ไม่มีภาพพวกเขาวิ่งเล่น ไม่มีภาพพวกเขานั่งเอื่อยเฉื่อย ไม่มีภาพพวกเขาไปเดินเที่ยวห้าง ดูหนัง หรือฟังเพลงใดๆ
เป็นไปได้ว่า การที่พวกเขาไม่มีเวลาเพียงพอที่จะไปทำอย่างอื่น ไม่ได้แสวงหาเส้นทางภายนอกที่ไม่ใช่แค่การเรียน จนอาจทำให้พวกเขาขาดไร้ซึ่งการเชื่อมต่อกับทั้งตัวเองและโลกภายนอก ค้นหาตัวเองไม่เจอ บอกได้ยากว่าตัวเองชอบสิ่งไหน ถนัดทำอะไร และจะมีอาชีพต่อไปยังไง รู้เพียงแต่ว่าตอนนี้มีชีวิตเพื่อสอบเท่านั้น
“ในวันสอบ พวกเธอจะพร้อมเต็มที่ สามารถเพ่งสมาธิกับข้อสอบ และตอบทุกข้อได้อย่างราบรื่น ขณะทำข้อสอบ เธอจะรู้สึกสงบสบาย จิตใจจดจ่อ จดจำทุกสิ่งที่เรียนมาได้…”
ไม่ใช่แค่ระบบ แต่คือทั้งสังคม
ตัวสารคดีไม่ได้ชี้นำหรือบอกออกมาตรงๆ ว่า การสอบซูนึง (หรือถ้าจะให้มองให้กว้างกว่านั้นก็คือ ระบบการศึกษาของเกาหลี)นั้นย่ำแย่หรือส่งผลเสียแต่อย่างใด หนังแค่ถ่ายทอดบุคคล สังคม และบรรยากาศแวดล้อม ที่คอยผลักดันให้ทุกคนมองว่าการสอบระดับประเทศนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
ระหว่างที่ดู เราจะรับรู้ได้เลยว่าไม่ใช่แค่ตัวระบบอย่างเดียวที่ส่งให้เด็กนักเรียนเกาหลีพุ่งเป้าไปที่การสอบ เพราะนอกจากตัวละครหลักแล้ว เราจะได้เห็นคนที่คอยอยู่เคียงข้างพวกเขา เช่น พ่อแม่ ผู้สนับสนุนหลัก ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการเรียน ค่าหนังสือ พาไปรับไปส่ง รวมถึงสวดมนต์ภาวนากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ลูกๆ สอบติด เราจะได้เห็นแม่ของฮย็อนฮาพาเธอไปหาหมอดูเพื่อทำนายว่าอนาคตเธอจะทำอาชีพอะไร หรือแม่ชาวพุทธของมินจุนที่ขึ้นเขาไปวัดทุกสัปดาห์ ซึ่งก็คงไม่น่าแปลกใจอะไรนักสำหรับคนไทยอย่างเราๆ
แรงสนับสนุนยังไม่หมดแค่นั้น นอกจากที่จะมีการอนุญาตให้สอบซ้ำได้หากไม่พอใจกับผลคะแนนที่ได้แล้ว (เช่น ฮย็อนฮาและมินจุน) ยังมีเหล่าครูบาอาจารย์ และติวเตอร์ ที่ทั้งให้กำลังใจ กระตุ้น เติมไฟ เป็นผู้ช่วยผลักดันนักเรียนเกาหลีในอีกทางหนึ่ง และที่ชัดเจนที่สุด เราจะได้เห็นว่าการสอบซูนึงสำคัญแค่ไหนกับคนเกาหลี ก็เมื่อวันสอบมาถึง ในวันนั้น ตลาดหุ้นและกิจการร้านค้าจะเปิดให้บริการช้ากว่าปกติ 1 ชั่วโมง จะไม่มีเครื่องบินขึ้นในช่วงสอบฟัง จะมีตำรวจคอยดูแลให้นักเรียนทุกคนไปสอบทัน อีกทั้งยังมีผู้คนมารอเชียร์ผู้เข้าสอบถึงหน้าประตูศูนย์สอบ
“ระบบการศึกษาที่สนใจแค่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้เลวร้ายหรอก แต่การต้องท่องหนังสือถึงห้าทุ่มทุกคืนนี่แหละที่ผิด โดยเฉพาะถ้าเรายังเป็นวัยรุ่น
…
ถ้าอีกหน่อยฉันเป็นครู ฉันจะไม่ปล่อยให้นักเรียนต้องเจอวิถีแบบนี้ พวกเขาไม่ควรฝันถึงแค่การได้คะแนนสูงๆ ฉันอยากช่วยพวกเขาค้นหาความฝัน”
– ฮย็อนฮา
หลงทางในการศึกษา
หากเทียบตัวละครทั้ง 4 คน เป็นเหมือน ‘นักแสดง’ ระบบการศึกษาในประเทศเกาหลีก็เปรียบเสมือน ‘โรงละคร’ แห่งหนึ่ง และการสอบซูนึงคือ ‘บทละคร’ ที่พวกเขาต้องเล่น ก็พอจะมองภาพได้ว่า พวกเขาคงเป็นนักแสดงที่เลือกเล่นละครได้เพียงบทเดียว ในโรงละครแห่งนี้ เพราะเชื่อว่าหากเล่นการแสดง (การสอบ) นี้ได้ก็จะทำให้ชีวิตของพวกเขารุ่งโรจน์ แต่เมื่อไม่ผ่าน พวกเขาก็ไม่มองเห็นทางเลือกอื่นนอกจากต้องเล่นบทเดิมซ้ำๆ
ถึงแม้จะได้เห็นความจริงจังอันแน่วแน่ที่ตัวละครหลักในหนังทุ่มเทลงไปเพื่อเป้าหมายสูงสุดสักแค่ไหน เราก็ยังเห็นว่าพวกเขายังมีความสับสนในเส้นทางที่เลือกเดิน ฮย็อนฮาสอบไปทั้งที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองอยากจะเป็นครูอย่างที่แม่หมอบอกหรือไม่ ฮเยอินที่ยังคงงุนงงกับระบบการสอบ เพราะแม้แต่พ่อแม่และครูของเธอก็ยังเข้าใจได้ไม่เพียงพอ หรือติวเตอร์คิม คีฮุนที่กำลังดิ้นรน เพราะรัฐบาลต้องการจะควบคุมการสอนของเอกชน
แต่ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คงจะเป็นมินจุน เด็กหนุ่มที่ดูเหมือนจะหลงทางอยู่ในเขาวงกตการศึกษานี้มากที่สุด มีช่วงนึงที่เขาพูดบอกเล่าความฝันของตัวเอง เขาเล่าถึงตัวเองที่อยากจะประสบความสำเร็จเพื่อที่จะปกป้องคนรอบข้าง คนที่เขารักได้ แต่เขาก็พูดว่าการที่เขาจะไปอยู่ในตำแหน่งนั้นเขาต้องผ่านอะไรบ้าง ระหว่างทางเขาต้องเหยียบย่ำใครก็ตามที่จะกั้นขวางเขาจากเป้าหมายนั้น (ซึ่งก็อาจจะเป็นเพื่อนและคนรอบกาย) … ความย้อนแย้งนี้อาจบ่งบอกว่า เขากำลังติดกับดับ ถูกกลืนกิน ทั้งๆ ที่ไม่รู้ตัวเลยว่า ความเชื่อที่ยึดมั่นนั้น ค่อยๆ สลายหายไปในกาลเวลา
‘Reach for the SKY ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า’ สามารถสื่อภาพของการศึกษาในเกาหลีให้คนดูได้เห็นภายในเวลาเพียงชั่วโมงเศษ การเล่าที่เริ่มตามติดตัวละครตั้งแต่ช่วงก่อนสอบ ค่อยๆ สร้างความรู้สึกจริงจังในการสอบให้คนดู ที่ถึงแม้ว่าจะไม่เคยผ่านประสบการณ์สอบระดับประเทศมาก่อน ก็ยังสัมผัสอารมณ์เครียดเมื่อถึงวันสอบ และโล่งใจ (หรืออาจจะไม่) ในวันที่สอบเสร็จได้
สำหรับใครที่เคยผ่านหรือกำลังเผชิญช่วงเวลาแบบนี้อยู่ คงรู้สึกถูกสะกิดใจอยู่เรื่อยๆ ระหว่างดู เพราะเหตุการณ์ในเรื่องก็ละม้ายคล้ายบ้านเราเอามากๆ และถ้าหากใครเคยได้ดู Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ หนังสารคดีแนวเดียวกันของไทยที่เข้าฉายเมื่อ 10 ปีก่อน ก็คงจะไม่ปฏิเสธว่า การศึกษาสำคัญแค่ไหน และส่งผลกับคนขนาดไหน จนถึงกับต้องมีสารคดีแบบเดียวกันนี้ออกมาให้เราได้ดูถึงสองเรื่อง (โดยยังไม่นับเรื่องอื่นรวมไปด้วย)
ไม่ว่าสารคดีต้องการจะนำเสนอประเด็นเรื่อง ‘การศึกษา’ ในรูปแบบไหน หรือในบริบทอะไรก็ตาม หากคนดูอย่างเราๆ ถูกหนังตั้งคำถามเพื่อเรียกร้องคำตอบบางอย่างแล้วล่ะก็ ประเด็นนี้ก็ควรจะถูกนำมาเป็นที่พูดถึงทั้งสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเป็นไปในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก
hrlibrary.umn.edu/crc/republicofkorea2003