หากใครทำงานบริษัท แผนกบัญชีอาจเป็นหนึ่งในแผนกที่ดูแสนจะน่าเบื่อหน่ายเพราะเดินผ่านไปทีไร เหล่านักบัญชีชายหญิงก็นั่งเคร่งเครียดอยู่หลังจอคอมพิวเตอร์พร้อมกับกองเอกสารหนาเป็นตั้งๆ แถมการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในแผนกอื่นๆ ก็มักจะวนเวียนอยู่กับบทสนทนาเช่นว่า ‘ช่วยส่งเอกสารก่อนสิ้นเดือนนะจ้ะคนดี’ ‘เอกสารที่ส่งมาใช้ไม่ได้ให้ไปแก้ใหม่’ ‘เอ๊ะ! พี่บอกกี่ครั้งแล้วว่าต้องเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องด้วย เซ็นสดปากกาน้ำเงินนะ ปากกาดำไม่ได้’ ฯลฯ
แม้ผมจะเรียนจบสาขาการบัญชีมา แต่ก็พยายามสุดชีวิตที่จะไม่ไปข้องแวะกับการทำงานสายนี้ สุดท้ายผมก็หนีกรรมไม่ได้เพราะเป็นคนเดียวในครอบครัวที่มีวุฒิการบัญชี ทุกวันนี้ผมจึงต้องนั่งกรอกเอกสาร ยื่นภาษี เดบิตเครดิต และปิดงบการเงินของธุรกิจครอบครัวที่ปัจจุบันแปลงสภาพเป็นบริษัท (ฮือ)
ข่าวการฉ้อโกงของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK อาจทำให้หลายคนมองเหล่านักบัญชีเปลี่ยนแปลงไป เพราะหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการเปิดโปงคือการที่ผู้สอบบัญชีไม่ยอมเซ็นงบการเงินเนื่องจากพบ ‘พฤติการณ์อันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำผิด’ จนบริษัทส่งงบการเงินล่าช้า ถูกสั่งระงับการซื้อขายในตลาด ก่อนจะนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงในที่สุด
ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะมองว่านักบัญชีเปรียบเสมือน ‘ไม้ประดับ’ แห่งตลาดทุน เพราะพวกเขาและเธอมีหน้าที่แปลงธุรกรรมมหาศาลของบริษัทให้อัดแน่นอยู่ในตัวเลขไม่กี่บรรทัดขนาดสองสามหน้ากระดาษที่ชื่อว่า ‘งบการเงิน’ แล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบความถูกต้องก่อนเปิดเผยต่อสาธารณชน หลังจากนั้นเหล่านักวิเคราะห์และนักลงทุนจึงสามารถหยิบข้อมูลในงบการเงินไปใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างมั่นใจ
แต่ความจริงแล้ว นักบัญชีสามารถรับบทเป็นฮีโร่ที่ปกป้องนักลงทุนในตลาดโดยการส่งสัญญาณว่ามีการฉ้อโกงหรือธุรกรรมน่าสงสัยในฐานะผู้สอบบัญชี และในทางกลับกันก็สามารถสวมบทเป็นวายร้ายโดยการแสวงหาช่องทางตกแต่งบัญชี เสกเอกสารที่จำเป็น รวมไปถึงสมรู้ร่วมคิดกับผู้บริหารเพื่อตบตาผู้สอบบัญชีและนักลงทุนได้เช่นกัน
ความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งของผู้สอบบัญชี
หากถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ผมเชื่อว่าไม่มีเด็กคนไหนตอบว่า ‘ผู้สอบบัญชีครับ/ค่ะ’
ถึงแม้จะไม่ใช่อาชีพในฝัน ผู้สอบบัญชี (Auditor) นับเป็นวิชาชีพที่ได้ค่าตอบแทนมหาศาล และอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายการออกงบการเงินของบริษัท หน้าที่ของเขาคือการตรวจ ตรวจ ตรวจ ทุกบรรทัดในงบการเงินไม่ว่าจะเป็น เงินสด รายได้ ค่าใช้จ่าย อุปกรณ์ และสินค้าที่อยู่ในคลังเพื่อให้มั่นใจว่างบการเงินของบริษัทนั้นไม่ผิดพลาดในสาระสำคัญ ยิ่งถ้าเป็นบริษัทมหาชนซึ่งระดมเงินทุนจากสาธารณะแล้วยิ่งต้องเคร่งครัดทั้งในแง่มาตรฐานการบัญชีและความถี่ในการตรวจสอบ
ความยากของงานผู้สอบบัญชีคือการยืนอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ให้บริการและผู้ตรวจสอบ เพราะบริษัทเป็นฝ่ายจ่ายเงินว่าจ้างผู้สอบบัญชีให้เข้ามาสอบทานบัญชี ผู้สอบบัญชีทุกคนจึงต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอให้ยึดมั่นถือมั่นในวิชาชีพและทำงานอย่างเป็นอิสระ ไม่โอนอ่อนผ่อนตามบริษัทผู้ว่าจ้าง เพราะหากผู้สอบบัญชีทำงานไม่ละเอียด ปล่อยปละละเลยความผิดพลาดใหญ่ยักษ์หรือเซ็นรับรองงบการเงินโดยไม่สอบทาน พวกเขาก็เสี่ยงที่จะต้องเดินตามผู้บริหารเข้าคุกไปเช่นกัน
ตัวอย่างคลาสสิคที่นักบัญชีทุกคนต้องเคยเรียนมาคือการล่มสลายของบริษัทสอบบัญชียักษ์ใหญ่ อาร์เธอร์แอนเดอร์เซน (Arthur Andersen) ที่ทำให้ชื่อเล่นเวลาเรียกกลุ่มบริษัทสอบบัญชีข้ามชาติชั้นนำเปลี่ยนจาก ‘บิ๊กไฟว์’ เหลือเพียง ‘บิ๊กโฟว์’ โดยสาเหตุสำคัญมาจากการสวมหมวกสองใบของบริษัทแอนเดอร์เซนซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาด้านการบัญชีและผู้สอบบัญชีให้บริษัทเอ็นรอน (Enron)
เอ็นรอนคือดาวเด่นผู้ให้บริการด้านค้าส่งและบริหารจัดการความเสี่ยงในธุรกิจพลังงาน รวมทั้งมีธุรกิจอย่างโรงไฟฟ้าและท่อส่งแก๊สธรรมชาติ ผลประกอบการของบริษัทถูกตีฟูด้วยเทคนิคการบัญชีตามคำแนะนำของแอนเดอร์เซนทำให้รายได้และผลกำไรพุ่งกระฉูด แต่ไม่ว่านักบัญชีคนไหนมาเห็นการลงบัญชีคงอดไม่ได้ที่จะตะโกนว่า ‘แบบนี้ก็ได้หรอ’ เช่น การติ๊ต่างว่าแก๊สธรรมชาติของลูกค้าที่มาใช้บริการท่อส่งแก๊สเป็นสินทรัพย์ของเอ็นรอนแล้วบันทึกการขายแก๊สธรรมชาตินั้นเป็นรายได้บริษัท หรือหากบริษัทเซ็นสัญญาให้บริการระยะยาวก็จะรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีปัจจุบันเพียงปีเดียว เช่น รายได้จากสัญญาให้บริการ 10 ปีจะปรากฏเป็นรายได้ในงบการเงินปีนี้ปีเดียวโดยคิดกระแสเงินสดในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน
เมื่อข้อเท็จจริงถูกตีแผ่ ทั้งเอ็นรอนและแอนเดอร์เซนก็ตายตกตามกันไป พร้อมกับกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้บริษัทผู้สอบบัญชีจะให้บริการที่ปรึกษาด้านการบัญชีแก่ลูกค้ารายเดียวกันไม่ได้เพราะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
อย่างไรก็ตาม หน้าที่หลักของผู้สอบบัญชีไม่ใช่การตรวจจับหาทุจริต เนื่องจากบริษัทจะต้องเป็นฝ่ายส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ ดังนั้นตราบใดที่เอกสารดูสมเหตุสมผลกับการดำเนินธุรกิจปกติ ผู้สอบบัญชีก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องสงสัยว่าบริษัทพยายามตกแต่งตัวเลขแต่อย่างใด ถ้าผู้สอบบัญชีรู้สึกคาใจในบางประเด็นหรือไม่ได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจนจากบริษัท ผู้สอบบัญชีก็สามารถเขียนความเห็นลงในรายงานผู้สอบบัญชีซึ่งจะปรากฎอยู่ในงบการเงินเช่นกัน
กรณีของ STARK จึงนับว่าเป็นกรณีพิเศษเพราะผู้สอบบัญชีกดปุ่มเบรกงบการเงินด้วยการให้เหตุผลว่าตรวจสอบพบ ‘พฤติการณ์อันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทำผิด’ ซึ่งเปรียบเสมือนการยกธงแดงเตือนให้ทุกคนรู้ตัวว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับบริษัทแห่งนี้
นักบัญชี วายร้ายแห่งโลกการเงิน
นอกจากบทบาทผู้ตรวจสอบที่นักบัญชีจะมีโอกาสเป็นฮีโร่คุ้มครองนักลงทุนแล้ว วิชาชีพที่ดูเหมือนจะน่าเบื่อหน่ายก็อาจสวมบทบาทเป็นมือขวาของเหล่าร้ายที่ชี้ช่องในการเสกสรรปั้นแต่งตัวเลขในงบการเงินเพื่อตบตาทั้งนักลงทุนและผู้สอบบัญชีในเวลาเดียวกัน โดยตัวเลขที่เหล่าบริษัทอยากตกแต่งให้สวยหรูคือ ‘ยอดขาย’ นั่นเอง
สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเงินอาจมองว่าการเสกตัวเลขยอดขายเป็นเรื่องยาก เพราะเข้าใจว่าการบันทึกยอดขายจะเกิดขึ้นได้หลังจากบริษัทได้รับเงินสดโอนเข้าบัญชี แต่ความจริงแล้วการทำบัญชีจะใช้เกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) นั่นหมายความว่าบริษัทสามารถบันทึกยอดขายได้ ‘ทันที’ ที่เกิดการขายแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้เงินก็ตาม เนื่องจากการใช้เกณฑ์ดังกล่าวจะสะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ดีกว่า
หนึ่งในเทคนิคยอดนิยมในการเสกยอดขายจากอากาศคือการสร้างลูกค้าที่ไม่มีตัวตน ตัวอย่างเช่น บริษัทสิงห์ พาราเทค จำกัด (มหาชน) ที่บันทึกยอดขาย 543.3 ล้านบาทในปี 2550 จากการขายสินค้าให้ลูกค้ารายใหม่ 9 รายทำให้ในปีนั้นพลิกจากขาดทุนเป็นกำไร 63.7 ล้านบาท แต่เนื่องจากธุรกรรมดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริง ปีต่อมาบริษัทสิงห์จึงตัดหนี้สูญมูลค่าสูงถึง 320.8 ล้านบาทกลายเป็นผลขาดทุนรวมร่วมหนึ่งพันล้านบาทในปี 2551
อีกหนึ่งกรณีฉ้อฉลที่เหล่าวัยรุ่นยุค Y2K อาจคุ้นเคยกันดีคือบริษัทปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์เตาแก๊สปิคนิคที่ปรับแต่งสัญญาการให้เช่าถังแก๊สกับบริษัทคู่ค้าซึ่งผู้บริหารมีอำนาจควบคุมให้เสมือนหนึ่งว่าเป็นการขายถังแก๊ส บริษัทจึงมีรายได้ในปี 2547 มากขึ้นถึง 180 ล้านบาท
นอกจากการตกแต่งงบการเงินเพื่อหลอกลวงนักลงทุนแล้ว อีกหลายกรณีอื้อฉาวก็เป็นการสร้างเอกสารทางบัญชีเพื่อยักยอกเงินในบริษัทเข้ากระเป๋าตัวเอง เช่น บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ผู้บริหารและนักบัญชีสมรู้ร่วมคิดกันเสกเอกสารซื้อรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้รถยนต์มูลค่า 1,400 ล้านบาทที่ปรากฏอยู่ในบัญชีของบริษัทเป็นเพียงอากาศธาตุ พร้อมทั้งพบหลักฐานกว่ามีการจ่ายเงินซื้อรถยนต์ล่องหนมูลค่ากว่า 600 ล้านบาทเข้ากระเป๋าผู้บริหาร
ส่วนในกรณีของ STARK นักวิเคราะห์ต่างก็เพ่งเล็งว่าอาจมีการตกแต่งบัญชีเพื่อตีฟูรายได้และผลกำไรให้ดีเกินจริง เพื่อปูทางไปสู่การออกหุ้นกู้มูลค่านับหมื่นล้านบาทจำหน่ายให้กับนักลงทุนทั้งรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน สิ่งที่ชวนให้เอะใจคือต่อให้ผลประกอบการจะดีเยี่ยม แต่ STARK กลับไม่เคยจ่ายเงินปันผลสักครั้ง อีกทั้งยังมาผิดนัดชำระหนี้เสมือนหนึ่งว่าขาดสภาพคล่องทั้งที่น่าจะมีเงินสดล้นเหลือ นับเป็นสัญญาณว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลในงบการเงิน
กระนั้นการจับนักบัญชีฉ้อฉลไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนักบัญชีรู้ดีว่าผู้สอบบัญชีอยากเห็นเอกสารอะไร จึงปั้นแต่งเส้นทางเอกสารเหล่านั้นเตรียมพร้อมไว้ให้ตรวจสอบ แต่ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วสิ่งที่ซุกไว้ใต้พรมก็จะถูกเปิดโปงเสมอเพราะนักบัญชีเสกได้เพียง ‘ตัวเลข’ แต่ไม่อาจเสกสิ่งที่จับต้องได้อย่างเงินสดหรือสินค้าคงคลัง
ถึงเราจะทราบดีว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง’ แต่ความเสี่ยงจากการฉ้อฉลในบริษัทก็ไม่ควรอยู่ในขอบข่ายที่นักลงทุนควรจะต้องกังวล เพราะเป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ ผู้สอบบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในการสร้างความมั่นใจว่าบริษัทที่ระดมทุนจากสาธารณะคือบริษัทที่คัดสรรและคัดกรองมาแล้วว่ามีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ฉ้อโกงในตลาดทุนไทยครั้งแล้วครั้งเล่าก็ทำให้เราต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอให้ระวังบริษัทที่มีงบการเงิน ‘ดีเกินจริง’ พร้อมทั้งให้พิจารณากลไกด้านธรรมาภิบาล เช่น คะแนนการกำกับดูแลกิจการ (CG Score) เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
อ้างอิงจาก
การทุจริตโดยการตกแต่งงบการเงิน