ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) คืออาชีพที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่ามีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เงินเดือนค่อนข้างสูง แต่แลกมากับตัวงาน และความรับผิดชอบที่สูงตามไปด้วย แต่ในมุมของคนทำ (หรือเคยทำ) สายอาชีพนี้จะมองอย่างไรบ้าง ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้
Ari, 33 ปี
ก่อนหน้านี้ Ari เคยทำอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชีในบริษัทใหญ่มาประมาณ 7 ปี จนรู้สึกอิ่มตัวแล้วตัดสินใจออกมาทำอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระซึ่งสามารถบริหารจัดการเวลาได้มากกว่า Ari เล่าถึงช่วงที่ทำงานบริษัทว่า
“career path มันจะเติบโตค่อนข้างเร็ว แต่หน้าที่รับผิดชอบก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย สำหรับเรา เรารู้สึกว่ามัน challengeตลอดเวลา ได้เรียนรู้ตลอดเวลา ส่วนตัวเราเลยสนุกกับบางจ๊อบที่ได้ทำ”
“แต่ปัญหาคืองานออดิทมันมีเดดไลน์ตายตัวอยู่แล้วว่าต้องเสร็จวันนี้นะ เพื่อให้ลูกค้าเอางบการเงินไปส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่มันก็จะมีปัจจัยที่ควบคุมยากมาก เช่น บางทีลูกค้าไม่สามารถให้เข้าไปตรวจในวันนั้นได้ แพลนทุกอย่างเลยเลื่อน และงานไปอัดกันช่วงท้ายๆ จนช่วงหนึ่งรู้สึกว่า work life balance ในชีวิตหายไป แต่แค่ช่วงหนึ่งนะ ไม่ได้ตลอดทั้งปี”
“ส่วนอัตราการลาออกของอาชีพนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3-5 ปี แต่ละบริษัทเขาจะทำยังไงให้ดึงคนใหม่เข้ามาได้ สิ่งหนึ่งก็คือค่าตอบแทน เลยอาจจะทำให้เงินเดือนสูง”
นอกจากนี้ Ari ยังเล่าว่าอาชีพที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ขณะที่อายุยังไม่ได้มากนัก ทำให้บางคนรู้สึกกดดันที่ต้องเติบโตและสร้างความน่าเชื่อถือของตัวเองให้ทันกับตำแหน่งหรือความรับผิดชอบ กลายเป็นความกดดันนอกเหนือไปจากตัวงานด้วยเช่นกัน
ปลุ๊ก, 30 ปี
ปลุ๊กทำสายผู้ตรวจสอบบัญชีประมาณ 4 ปีกว่า จนถึงระดับ senior ปลุ๊กเล่าว่า
“เนื้องานของสายอาชีพนี้ คือการได้เข้าไปตรวจสอบบัญชีของแต่ละบริษัทที่เป็นลูกค้า เราเลยมองว่ามันเป็นข้อดี เป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นภาพของธุรกิจหลายรูปแบบซึ่งเอาไปต่อยอดได้”
“แต่ด้วยความที่บริษัทค่อนข้างใหญ่ เนื้อหาที่เราต้องตรวจสอบก็เยอะตามไปด้วย ขณะที่ไทม์ไลน์ค่อนข้างจำกัด เรามองว่าถ้าแต่ละคนจัดการเวลาที่มีได้ก็คงจะดี แต่ก็เข้าใจว่าตลาดแรงงานตอนนี้ยังขาดคนอยู่ เพราะนอกจากคนจะน้อยอยู่แล้ว พอถึงจุดหนึ่งบางคนอาจจะออกไปเติบโตในสายอื่นๆ เลยทำให้คนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ต้องรับช่วงต่องานเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมงานมันค่อนข้างหนัก ทำไมคน suffer แล้วก็คนอยากจะลาออกเยอะ แม้เงินเดือนจะสูงมากก็ตาม”
ศรีสมร, 26 ปี
ศรีสมรเคยทำอาชีพ Audit assistant ในช่วงที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ เธอเล่าว่าอาชีพนี้มีอัตราการลาออกสูงมาก โดยช่วงที่ศรีสมรทำงานก็มักจะมีคนลาออกในทุกๆ เดือน
“ถ้าเราทำงานออดิท มันจะมีการเก็บชั่วโมงตอนทำงาน ถ้าเก็บชั่วโมงได้เท่านี้ แล้วเราสอบครบทั้งหมดกี่วิชา เราก็จะได้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีที่สามารถเซ็นงบให้บริษัทต่างๆ เราเลยต้องทำเพื่อเก็บชั่วโมงให้ครบ แลกกับสิ่งที่จะได้มาในอนาคต”
ศรีสมรกล่าว พร้อมเล่าว่า แต่ละบริษัทที่เข้าไปตรวจสอบบัญชีต้องแข่งขันกันตัดราคา เพื่อให้ลูกค้าเลือกบริษัทตนเอง เลยทำให้ชั่วโมงการทำงานถูกตัดไปพร้อมราคานั้นด้วย ขณะที่ปริมาณงานยังคงเท่าเดิม บวกกับอัตราการลาออกที่สูง ทำให้จำนวนคนค่อนข้างน้อย
“เลยเกิดความตึงเครียดว่างานต้องเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เสาร์อาทิตย์ก็ทำ เที่ยงคืนก็โทร จะวนอยู่อย่างนั้น จนยอมรับว่าบางครั้งเราก็แอบหลอนๆ เหมือนกันว่าเดี๋ยวพี่จะโทรมาตอนเที่ยงคืนแน่เลย บางทีก็เก็บเอาไปฝันว่ามีโทรศัพท์เข้า”
“ในจุดที่เราทำงานมาสักพัก เรารู้สึกว่าปัญหานี้ไม่ใช่แค่สายออดิท เราว่ามันแอบฉายภาพของบางองค์กรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิต เรื่องคนทำงาน เราจะเน้นว่าเธอต้องรีบทำงานให้เสร็จนะ แต่เราไม่รู้เลยว่าเขามีที่มาที่ไปยังไง เขาอาจจะกระเตงลูกอยู่บ้าน แต่งานก็ต้องทำให้เสร็จก็ได้ เราว่าพอรวมหลายๆ อย่าง ทั้งสุขภาพจิตไม่ไหว ไม่มีใคร support คนก็เลยลาออกดีกว่า”
“เราเป็นคนหนึ่งที่ออกมาด้วยเหตุผลที่ว่า เราทำงานขนาดที่แบบ…เหมือนเราแลกชีวิต ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่ามีอาชีพอื่นที่เราไม่ต้องทำเกินเวลา แต่มีรายได้โอเค มีเวลาพักผ่อน และเราไม่ได้อยากเติบโตไปถึงจุดสูงสุด ประสบความสำเร็จมากมาย หรือไม่ใช่สาย working woman แต่เรายังทำงานเต็มที่นะ แค่ไม่ได้คาดหวังแบบนั้น เราเลยตัดสินใจออกมา”
ลูกกวาด, 25 ปี
“มันแค่ตัวเลขจริงๆ” ลูกกวาดตอบเมื่อเราถามถึงค่าตอบแทนว่าสูงอย่างที่หลายคนบอกหรือไม่
“เป็นสายอาชีพที่โตไวก็จริง แต่ก็แลกมาด้วยหน้าที่รับผิดชอบสูง ส่วนเรื่องโอที บริษัทเราเขาจะมีนโยบายว่า แต่ละจ๊อบให้ budget เท่านี้ บริษัทออดิทก็ต้องมา manage คนว่าให้กี่คน กี่ชั่วโมง แล้วเหมือนเขาไม่อยากให้เกินตัวเลขนั้น เวลาขอโอทีก็เลยค่อนข้างยาก”
“ส่วนตัวงานปีแรกๆ อาจจะยาก แต่ปีที่สองจะเริ่มคล่องตัวขึ้น เพราะเข้าใจบริษัทลูกค้า แต่ปัญหาคือหน้างานจริง ไม่ได้เป็นคนเดิม เพราะอัตราการลาออกสูงมาก ออดิทส่วนใหญ่จะอยากทำให้ครบ 3 ปี แล้วค่อยออกไปทำอย่างอื่น เลยทำให้คนน้อยกว่าปริมาณงาน แถมคนใหม่เข้ามาทำงานที่ดีลไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เขาก็จะไม่ชิน”
“แต่ก็มีข้อดีคือเราจะได้เรียนรู้หลายๆ บริษัทว่าเขาบริหารคนหรือองค์กรยังไง และการได้ทำหน้าที่แตกต่างกันทุกปีก็ทำให้เราโตขึ้น ได้รู้วิธีดีลกับคน ดังนั้นถ้าไม่อยากแบกความรับผิดชอบ งาน overload ไปทำเสาร์อาทิตย์ ก็อาจจะไปพิจารณาอย่างอื่นดีกว่า แต่บางคนที่ชอบทำงานแนวนี้อยู่แล้วก็มีนะ”
ลี่, 25 ปี
ลี่ทำงานในตำแหน่ง Senior Auditor เธอกล่าวถึงข้อจำกัดของอาชีพนี้ว่า
“เรามองว่าการเป็น Auditor ปัญหาหลักๆเลยคือ การไม่มีเวลาใช้ชีวิต สำหรับเรา จะมีช่วงที่ว่างแค่ไม่กี่วัน และช่วงที่ยุ่งมากๆ ก็แทบไม่มีเวลาให้ตัวเอง เลิกงานตี 2 ตี 3 ทุกวัน ติดกันเป็นเดือน ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่นๆ แล้วก็มีปัญหาสุขภาพตามมา บางคนอาจจะดาวน์จนต้องพึ่งจิตแพทย์ อัตราการลาออกเลยสูงมาก ซึ่งการลาออกก็ทำให้คนที่ยังทำงานนี้ต้องรับภาระงานที่มากขึ้น”
“จริงๆ เรามองว่าอาชีพนี้ให้อะไรเราหลายอย่าง ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ แทบทุกวัน เราคิดว่าถ้าแต่ละจ๊อบมีเวลาให้ทำงานมากขึ้น โดยไม่ต้องเร่งทำจนต้องเลิกดึกๆ ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระหน้าที่ หลายๆ อย่างก็น่าจะดีขึ้น”
แจ๋ม, 26 ปี
แจ๋มทำงานสายนี้ในตำแหน่ง Senior Auditor เธอมองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ว่าอาชีพนี้มีความก้าวหน้าสูง เติบโตเร็วและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
“เรามีโอกาสพบเจอผู้คนระดับบริหาร ได้ทำความเข้าใจแนวคิด การบริหารของบริษัททั้งในประเทศ และต่างประเทศ มี career path ชัดเจน สามารถวางแผนชีวิตได้ว่าภายในกี่ปีตัวเองจะอยู่ตำแหน่งไหนของบริษัท”
“แต่หลายครั้งก็ต้องทำงานล่วงเวลาจากหลากปัจจัย เช่น ความซับซ้อนของบริษัทสูง ไฟล์ข้อมูลที่ได้รับมาต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจนาน บางทีทำงานเกินเวลาไปถึง 7-8 ชั่วโมง แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม แล้วอุตสาหกรรมการตรวจสอบบัญชีมีการแข่งขันกันสูง ทำให้มีการกดราคาเพื่อแย่งลูกค้ามา budget ในการจัดการทีมงานเพื่อเข้ามาตรวจสอบนั้นน้อยลงด้วยเช่นกัน”
“ถ้าเป็นไปได้ เราคิดว่าควรจะมีการเปิดให้ร้องเรียนสำหรับแรงงานที่ทำงานล่วงเวลา แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทน และควรมีข้อกำหนดในการ bidding ราคา สำหรับการรับงานในทุกๆ สายอาชีพ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการแข่งขันในด้านราคาซึ่งจะส่งผลให้ข้อมูลที่ทำการตรวจสอบด้อยคุณภาพลงไปด้วย”
Illustration by Kodchakorn Thammachart