โดยพฤติกรรมและภาพลักษณ์ รัฐบาลเผด็จการทหารมักมีลักษณะของผู้ชายที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ตามอำเภอใจ อยู่เหนือกฎหมายการตรวจสอบและการรับผิดทั้งปวง เกรี้ยวกราดกักขฬะไปจนถึงถ่อยทราม และเมื่อเผด็จการเหล่านี้ต้องการลดภาพลักษณ์อำมหิตหยาบคาย พาสเจอร์ไรซ์ตนเองเพื่อแสวงหาประชานิยม แต่ก็ไม่อยากลาออกจากตำแหน่ง ยอมรับผิดตามกฎหมาย แล้วให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพได้ตามครรลองประชาธิปไตย พวกเขาจึงหันมาพึ่งดาราเซเลบละครให้ช่วยโปรโมต ช่วยสร้างคะแนนเสียงให้กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ด้วยความคิดว่าการมีชีวิตต้องป๊อปแล้วจะมี populism รัฐบาลทหารจึงต้อนดารามาออกรายการโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งดาราชาย โป๊ป-ธนวรรธน์, ตุ้ย-เกียรติกมล, วู้ดดี้, ท็อป-จรณ, ณเดชน์, เต้ย-พงศกร, มิว-นิษฐา,โอม-อัชชา (หรือที่หลายคนอาจจำชื่อ โฬม พัชฏะ ได้มากกว่า), บี้-สุกฤษฎิ์, โตโน่, ฟิล์ม-ธนภัทร, ดาราหญิงตั้งแต่รุ่นตั๊ก-มยุรา, บี-น้ำทิพย์, และไปจนถึงที่เป็นประเด็นมากที่สุด เฌอปราง BNK48[1]
เอาเข้าจริงดาราที่แอ่นอกรับงานโฆษณาชวนเชื่อให้คสช. ก็มีค่าไม่ต่างจากดารากปปส. ที่เรียกร้องโหยหาเผด็จการวิ่งเร่เข้าไปอยู่ใต้ท็อปบูต เพราะพวกเขาและเธอกำลังธำรงรักษาเผด็จการอำนาจนิยม รายการเหล่านั้นก็มาจากภาษีประชาชนที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการขูดรีด แม้ว่าดาราเหล่านั้นจะประกาศว่าเป็นจิตอาสาไม่ได้รับตังค์ ก็ย่อมถูกด่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะพวกเขาและเธอหากินกับชื่อเสียง มันก็เลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะโดนด่าพอๆ กับที่จะโดนหลงไหลได้ปลื้ม
และในประเทศที่ ‘ชาติ’ ไม่ได้หมายถึงประชาชน ไม่ให้คุณค่าเสรีประชาธิปไตย คนพวกนี้ก็จะออกมาพูดว่า “รับใช้ชาติ” “ตอบแทนสังคม” “ไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง” เหมือนที่ทหารรัฐประหาร ใช้ความรุนแรงกับประชาชนละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็อ้างว่า “เพื่อชาติ” เช่นกัน แต่จะไม่ค่อยพบเห็นอาชีพ 2 กลุ่มนี้ร่วมรักษาระบอบเสรีประชาธิปไตยหรืออยู่เคียงข้างประชาชน
มันจึงชวนให้คลื่นเหียน อยากจะอวก เวลาคนพวกนี้บอกว่าตัวเอง “เป็นคนของประชาชน”
ดาราจึงมีสถานะเป็นไม้ดอกไม้ประดับเผด็จการ โดยเฉพาะดาราสาวสวย เพราะในโลกปิตาธิปไตยพื้นที่จัดแสดงผลผลิตของผู้ชายหรือเพื่อผู้ชายมักมีพริตตี้สาวสวยมาดึงดูด และในรัฐผู้ชาย (male state) ที่ผู้นำเผด็จการก็มักเป็นเพศชาย ดาราหญิงสาวสวยที่กำลังขึ้นก็มักเข้ามามีส่วนช่วย propaganda ของรัฐบาลเผด็จการชายให้ลดทอนความขึงขังหยาบคาย
คราวรัฐประหารในอาร์เจนตินา ค.ศ. 1943 โดย ‘Grupo de Officiales Unidos’ (GOU) ที่ส่วนใหญ่เป็นทหารฝ่ายขวาและก็ซาบซึ้งในกลุ่มอักษะฮวน เปรอง (Juan Perón) ก็เป็นสมาชิกของคณะนี้ เป็นที่กล่าวกันว่าเขาเป็นผู้ชื่นชอบในระบอบมุสโสลินีและฮิตเลอร์ ภายใต้รัฐบาลเผด็จการเขาเป็นเลขานุการส่วนบุคคลให้รัฐมนตรีกระทรวงการสงคราม เสนาธิการให้กับผู้นำกองทัพหลายนาย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและเป็นรองประธานาธิบดี
พออาร์เจนตินามีการเลือกตั้งใน ค.ศ. 1946 ฮวน เปรอง ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งคะแนนเสียงส่วนหนึ่งก็มาจากแรงสนับสนุนของแฟนสาวที่เป็นนักแสดงละครวิทยุ มาเรีย เอวา ดูอาร์เต (Maria Eva Duarte) หรือภายหลังที่เรารู้จักเธอว่า ‘เอวิต้า’ (‘Evita’) เธอช่วยแฟนหนุ่มตัวเองหาเสียง ก่อนหน้านั้นขณะที่เปรองทำงานให้รัฐบาลทหาร เอวาเธอก็ทำรายการวิทยุรายวันโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาล ใช้วาทศิลป์กล่าวอวยเปรองเสมอๆ[2]
กลับมาที่ประเทศไทย แต่ระบอบเผด็จการเดียวกัน ดาราสาวสวยมักถูกตกเป็นข่าวพัวพันกับทหารชั้นผู้ใหญ่อยู่หลายครั้ง
สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีเมียน้อยเต็มบ้านเต็มเมือง จนได้คำขวัญว่า “ชื่อเหมือนปลา หน้าเหมือน___เมียเป็นร้อย” ทั้งดารา ผู้ประกาศข่าว นักร้อง นางแบบ นางงาม เกือบร้อยคน
ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็เช่นไปรมา นุตเกษม ดาวสังคมอายุ 18 ปี ภาพของเธอปรากฏตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารบ่อยครั้งสฤษดิ์อยากได้เธอซะจนแกล้งสร้างข่าวขึ้นมาว่ากองทัพบกต้องการสร้างหนัง แต่ยังขาดนางเอก แสร้งทำทีทาบทามเธอเพื่อที่จะให้สฤษดิ์ได้พูดคุยกับเธอและชวนมาเป็นเมียน้อย,[3]จิตรา ไวถนอมสัตว์ นางงามวชิราวุธานุสรณ์ ปี 2505 และนางเอกเรื่อง ‘จอมจงอาง’ (2505),[4]จันทร์ฉาย พูลสวัสดิ์ นางงามตุ๊กตาทองปี 2502 โฆษกทีวีและดาราหนัง[5]นงคราญ โกลสุต นางงามวชิราวุธานุสรณ์ ปี 2504 อายุ 18 ปี,[6] ช่อชบา ชลายลนาวิน นักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์,[7] บุศรา นฤมิต และนัยนา ถนอมทรัพย์ ดาราสาวสวย[8] ซึ่งบรรดาเมียน้อยทั้งหลายต่างได้รับบ้าน เงินเดือน เครื่องประดับ และทรัพย์สินจำนวนมาก
ความสวยของพวกเธอเป็นช่องทางพิเศษในการเข้าถึงทรัพยากรของชาติ มาครอบครองเป็นสมบัติส่วนบุคคล
เมื่อสฤษดิ์ตายคาตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ถนอม กิตติขจร ก็สืบทอดอำนาจต่อราวกับคายกลืนตะขาบให้กัน ใต้อุ้งท็อปบูต ของถนอมนั้น เมื่อปลายเดือนเมษายน ปี 2516 นายทหารตำรวจชั้นผู้ใหญ่และพ่อค้าประมาณ 60 คนรวมทั้งณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม ไปฉลองวันเกิดด้วยการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีปาร์ตี้สังสรรค์และใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ ขณะที่คณะล่าสัตว์กลับกรุงเทพฯ ด้วยเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกปรากฏว่า ฮ. หมายเลข ทบ.6102 ที่ใช้เดินทางเกิดตกที่บางเลน จังหวัดนครปฐม ทำให้พบซากสัตว์ป่าแช่แข็งจำนวนมากโดยเฉพาะกระทิง กลายเป็น ‘กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร’ ที่สะท้อนความเสื่อมทรามของเผด็จการทหาร
ถนอมออกมาแก้ตัวว่าลูกชายหัวแก้วหัวแหวนไปเพื่อปฏิบัติราชการลับ เนื้อสัตว์จำนวนมากที่พบมีคนฝากมา ซ้ำรัฐบาลยังข่มขู่สื่อมวลชนสำนักพิมพ์ไม่ให้เผยแพร่ข่าว ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมาก นิสิตนักศึกษาจึงร่วมมือกันตีแผ่เหตุการณ์ในครั้งนี้[9]
จากภาพถ่ายที่นักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติได้นำมาลงหนังสือพิมพ์พบว่า เมตตา รุ่งรัตน์ ดาราสาวชื่อดังสวยสะพรั่งอายุ 31 ปีเคยเล่นหนัง แม่ศรีไพร (2514) ธารรักไทรโยค (2514) ทโมนไพร (2514)หัวใจป่า (2515)ไม้ป่า (2516)ได้ร่วมปาร์ตี้วันเกิดกลางพงไพรกับคณะล่าสัตว์ ที่จัดขึ้นอย่างหรูหรา ในเต็นท์ผ้าสีสันสวยงาม ในภาพถ่ายเธอกำลังป้อนอาหารหยอกล้อกับลูกนกป่าที่จับมาได้[10]
‘กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร’ นำมาสู่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ ’14 ตุลา’ ซึ่งเมตตา รุ่งรัตน์ก็ยังคงเจิดจรัสบนเส้นทางบันเทิงเรื่อยมา กระทั่งลาออกจากวงการด้วยปัญหาสุขภาพในวัยชรา
กลับมาที่ยุค คสช. ไอดอลสาวสวยอย่าง ‘เฌอปราง’ ช่วยงานโปรโมตรัฐบาลเผด็จการในรายการ ‘เดินหน้าประเทศไทย’ กลายเป็นประเด็นดราม่าหนักกว่าดาราคนอื่นๆ ก็เพราะมีภาพลักษณ์ตามข่าวว่ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาดทางวิชาการมากพอๆ กับความสวยใส ต่างจากดาราศิลปินคนอื่นๆ จึงถูกคาดหวังเป็นพิเศษ (แม้ว่าความฉลาดสติปัญญาทางวิชาการไม่มีความจำเป็นอะไรต้องเกี่ยวกันกับสำนึกเสรีประชาธิปไตย) หลายคนจึงจึงอกหักผิดหวังที่ไอดอลของตนเองไปออกรายการประเภทนั้น นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์
เพราะดาราที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้รัฐบาลเผด็จการ ก็ไม่ต่างอะไรกับดาราที่ออกมารีวิวผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนที่ผิดพรบ.อาหาร มีสารไซบูทรามีน
ขณะเดียวกันเธอเองก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งฝ่ายที่ฝักใฝ่เผด็จการ เห็นดาราดังสนับสนุนฝั่งการเมืองที่ตนเองชอบพอก็สร้างความมั่นว่าตนเองมาถูกทาง พอมีใครออกมาวิพากษ์วิจารณ์จึงสั่นไหวรู้สึกไม่มั่นคงต้องออกมาปกป้อง ทั้งฝ่ายโอตะ โอชิ สายลมแสงแดด ไม่ได้สนสี่สนแปดเหตุบ้านการณ์เมืองใดๆ แค่ต้องการแก้ต่างให้คามิโอชิด้วยความภักดี
บางคนแก้ตัวให้ว่ารัฐบาลเผด็จการเรียกมาใครจะกล้าขัด ก็เป็นการให้คุณค่ารัฐบาลนี้มากเกินจริง
ทว่าน่าเศร้าไปกว่านั้น ในบรรดาทีมองครักษ์พิทักษ์คามิโอชิก็มีฝ่ายโปรเสรีประชาธิปไตย กลุ่มหัวก้าวหน้า รังเกียจเผด็จการ มี critical thinking เคารพสิทธิมนุษยชน แต่พร้อมจะปกป้องนางแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ชนิดที่ว่าแม้แต่เงาก็ห้ามไปเหยียบยอมเททุกอย่างทั้งอุดมการณ์และจริยธรรมโต้กลับด้วย hate speech ตั้งแต่เหยียดเพศ ไปจนถึง homophobic เพียงเพื่อปกป้อง ‘แคปเฌอ’ อันล่วงละเมิดไม่ได้ของพวกเขา
มันจึงไม่ต่างอะไรไปจากลัทธิบูชาบุคคล เพียงแต่บุคคลกลุ่มนี้ได้รับสิทธิคุ้มกันจากความงามกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนที่ได้มาเพราะความสวยใสของเธอ เหมือนกับที่ดาราสาวสวยหลายคนก่อนหน้านั้น ที่แปลงสมบัติของชาติมาเป็นทรัพย์สินของเธอเองด้วยความงาม ความสวยจึงเหมือนเป็นอีกเครื่องมือในการสร้างสิทธิพิเศษเช่นเดียวกับ อาวุธสงคราม กองทัพ หรือชาติกำเนิด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[2] Marysa Navarro. The Case of Eva Perón , Signs,Vol. 3, No. 1, Women and National Development: The Complexities of Change(Autumn, 1977), pp. 229-240.
[3] คณะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์. จอมพลของคุณหนู ๆ. พระนคร : จักรวาลการพิมพ์, 2507, น. 142-143.
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 148, 150.
[5]เรื่องเดียวกัน,น. 161.
[6]เรื่องเดียวกัน,น. 172.
[7]เรื่องเดียวกัน, น. 231.
[8]เรื่องเดียวกัน, น. 249, 262.
[9]ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ. บันทึกลับจากทุ่งใหญ่. กรุงเทพ: ชมรม, 2516.
[10] หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2516 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8088 น. 1.