พักหลังมานี้ ข่าวเกี่ยวกับการพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาลูกตัวน้อยๆ ไปติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนประถม ได้สร้างความสนใจให้กับสังคมพอสมควร มีคำถามมากมายทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
บ้างเชื่อว่ามันคือการเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก และปูทางสู่อนาคตทางการศึกษาที่ดี ขณะเดียวกัน หลายคนก็กังวลว่า มันคือการรีบโยนความกดดันให้กับลูกเร็วเกินไปรึเปล่า
ในเวลาเดียวกันนี้ มันก็เป็นช่วงที่เราได้อ่านเรื่องราวการเป็น ‘คุณแม่มือใหม่’ ของ ‘นิดนก’ พนิตชนก ดำเนินธรรม นักเขียนที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านสเตตัสในโลกออนไลน์ ทั้งเรื่องสนุกบ้าง ตลกบ้าง หรือบางทีก็เป็นประเด็นที่ขำไม่ออกก็มี เราจึงตัดสินใจชวนเธอมาพูดคุยถึงประสบการณ์การเตรียมความพร้อมก่อนที่จะพา ‘ณนญ’ ลูกสาววัย 8 เดือน เข้าสู่โลกแห่งการศึกษา รวมถึงความรู้สึกต่างๆ ที่คนเป็นแม่ยุคนี้ต้องเผชิญ
ตั้งแต่มีลูก ได้เตรียมตัวให้เค้าพร้อมเข้าโรงเรียนอย่างไรบ้าง
สำหรับลูกแล้ว เราไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเค้าเลย แต่จะเป็นเราเองที่หาข้อมูลส่วนใหญ่มากกว่า เราชอบเข้าไปดูข้อมูลพวกนี้ตั้งแต่ก่อนจะมีลูกแล้วเหมือนกัน ชอบดูข้อมูล ดูวิธีการเรียนการสอน พวกแนวคิดแบบ มอนเตสซอรี่, เรกจิโอ เอมิเลีย อะไรแบบนี้ เราจะพยายามศึกษาว่ามันคืออะไร เวลาอ่านเว็บไซต์ของโรงเรียนจะได้เข้าใจ
เกณฑ์ในการคัดเลือกโรงเรียนของเราคืออะไร คิดว่าโรงเรียนแบบไหนที่น่าจะเหมาะกับลูกเรา
ถ้าตอบแบบตลกหน่อยคือ โรงเรียนไหนใส่ชุดครุยตอนอนุบาลสามจะตัดออกเลยเป็นลำดับแรก (หัวเราะ) ถ้าก่อนหน้านี้ ตอนยังไม่มีลูก ตอนที่เรายังใสๆ อยู่ เกณฑ์ของเราคือโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โรงเรียนที่เรารู้จัก โรงเรียนที่เปิดมาแล้วมากกว่าสิบปี อันนี้คือแต่ก่อนเลยนะ แต่พอหลังจากเริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องโรงเรียน เรื่องระบบการศึกษา จนมามีลูก จนมาคุยกับเพื่อนคนโน้นคนนี้ เกณฑ์ของเราคือโรงเรียนอะไรก็ได้ที่ไม่ได้เอาลูกเราไปนั่งเรียนนั่งบวกลบเลขอะไรบ้าบอคอแตก
เล่าให้ฟังหน่อยว่าทำไมแนวคิดเราถึงเปลี่ยนไป
พอเริ่มศึกษามากขึ้น เราพบตำราใหม่ที่มันบอกมาว่า เด็กปฐมวัยไม่ควรเรียน ไม่ควรเอาไปนั่งท่องจำ คือจำได้ก็ดี แต่มันไม่ใช่วัยเค้า วัยของเค้าคือการเล่น การออกกำลังกาย การทำให้ร่างกายของเค้าแข็งแรงที่สุด เค้าจะได้เรียนอยู่ในหัวเค้าแหละ เค้าแค่ถ่ายทอดมันออกมาเป็นคำตอบเหมือนที่เราเห็นเด็กอนุบาลทั่วไปไม่ได้
ถ้าเรามีเด็ก 2 คนมานั่งอยู่ด้วยกันแล้วพ่อแม่ถามว่า 15+17 ได้เท่าไหร่ พอเด็กตอบได้เราก็จะรู้สึกว่าเด็กคนนี้ฉลาด ในขณะที่เด็กอีกคนเค้าอาจกำลังเล่นนู่นเล่นนี้ เค้าอาจจะมีคำตอบอยู่ในหัวนะ เค้ารู้วิธีการบวกเลขแหละ แต่ว่าเค้ายังนึกการตอบโจทย์นั้นไม่ได้ ซึ่งวันนึงเค้าจะตอบได้ แต่กระบวนการมันอยู่ในหัวเค้าอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าเด็กคนนั้นไม่ฉลาด เราแค่ชอบผลลัพธ์เฉยๆ ผู้ใหญ่ชอบผลลัพธ์ ชอบได้ยินสิ่งที่ได้รู้ว่าเด็กฉลาดจังเลย
หรือเป็นเพราะผลลัพธ์มันเห็นได้ชัดมากกว่า กระบวนการคิดในหัว
ใช่ พอผู้ใหญ่เห็นเด็กท่อง A-Z ได้ก็รู้สึกว่า โอ้โห ลูกเราเก่งจังเลย แต่จริงแล้ว เด็กที่กำลังจับใบไม้ขึ้นมาได้ เค้าก็เก่งนะ เค้าใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับสิ่งนึงออกมาได้ นี่ก็คือความเก่งของวัยเค้าเหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันไม่ได้แปลกใหม่สำหรับผู้ใหญ่
ถ้าเป็นอย่างนั้น แปลว่าเราก็ไม่ควรนิยามความเก่งว่าต้องเป็นเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว
เรารู้สึกแบบนั้นนะ ส่วนนึงที่ทำให้แนวคิดเราเปลี่ยนไปเรื่องโรงเรียนลูก คือมันจะมีคำพูดของผู้ใหญ่ที่ชอบบอกว่า “ฉันก็เลี้ยงแกมาแบบนี้ ตอนเด็กๆ แกเรียนโรงเรียนแบบนี้ แกก็ประสบความสำเร็จได้ แกก็เรียนจบปริญญามีงานทำได้” แต่เรากลับรู้สึกว่าโลกในยุคของพ่อแม่เรา กับโลกในยุคของเรามันไม่เหมือนกัน
พ่อแม่เราโตมาในยุคที่แบบยังส่งแฟกซ์คุยกันอยู่เลย ส่วนเราโตมาในยุคที่ส่ง MSN, Blackberry คุยกัน แต่โลกในยุคของลูกเรามันเปลี่ยนทุกปีเลยนะ เทรนด์ทุกอย่างมันเปลี่ยนทุกปี ดังนั้น ความรู้หรือค่านิยมเดิมมันใช้กับลูกเราไม่ได้แล้ว
มันก็ดูยากเหมือนกันนะ กับการเตรียมพร้อมลูกเพื่ออนาคตที่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร
มันเป็นสิ่งที่เราโคตรกลัวเลย คือในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า โลกมันจะเปลี่ยนไปขนาดไหน เพราะเราไม่รู้ว่าความรู้ในอนาคตมันจะมีหน้าตาเป็นยังอย่างไร เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องให้ลูกมีความรู้ เราต้องให้ลูกรู้วิธีการที่จะหาความรู้ดีกว่า เพราะความรู้มันมีอยู่ในอินเทอร์เน็ต เราเสิร์จ google เราก็เจอข้อมูลที่ต้องการได้แล้ว
แต่สิ่งที่ลูกต้องมีคือวิจารณญาณ เหมือนเวลาเราอยากรู้เราก็ google หา ถ้าเราไม่มีวิจารณญาณ เราก็จะเชื่อทุกอย่างในวิกิพีเดีย
เราอยากให้ลูกเรามีวิจารณญาณเพียงพอในการหาความรู้ เช่น ถ้าเค้าอยากรู้เรื่องวิธีการตกปลาช่อนในน้ำจืด เค้าพิมพ์เข้าไปต้องหากี่เว็บ กี่ข้อมูล เพื่อเอามาเรียบเรียบใหม่เพื่อทำรายงานส่งคุณครู แต่สุดท้ายแล้ว ลูกไม่ต้องรู้ว่าปลาช่อนในน้ำจืดมีกี่พันธุ์ เพราะในอินเทอร์เน็ตมันมี ถ้าลืมไปเสิร์จใหม่ได้ไม่เป็นไร มันเป็นธรรมชาติของโลกในอนาคตอยู่แล้ว
ช่วยเล่าประสบการณ์สรรหาโรงเรียนให้ฟังหน่อย รู้มาว่าก็เจอเรื่องที่ยากลำบากเหมือนกัน
เราจะไม่พูดชื่อโรงเรียนนะ (หัวเราะ) เราเริ่มต้นดูโรงเรียนเอาไว้บ้าง 2-3 ที่ ก็มันจะมีโรงเรียนอินเตอร์ คือตอนนี้เราไปดูโรงเรียนอินเตอร์เป็นทางเลือกเอาไว้อันนึง ซึ่งเค้าก็จะมี play group แบบสังคมฝรั่ง เพื่อให้เด็กๆ ไปรวมตัวกันแล้วก็เล่นอะไรที่มันบางทีไม่ได้เป็น pattern อะไรมาก แค่เอาเด็กไปวางกองรวมกัน เอาของเล่นวาง แล้วให้เค้าได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
ทีนี้ เราก็พาลูกเข้าไปลองเล่นใน play group ซึ่งเราโอเคมากเลยนะ เรารู้สึกว่าโรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนที่ค่าเทอมแพงๆ facility ของเล่น สื่อการเรียนการสอนมันดีจริงๆ คือมันดี มันสวยงาม มันครบถ้วนทุกอย่างที่มันจะทำให้ลูกเราสนุก เรียนรู้อย่างสนุกได้ แล้วก็บุคลากรดี คุณครูก็โอเคซึ่งเราต้องจ่ายเงินแพงเพื่อแลกมัน
แต่เรารู้สึกว่า ในการไปเล่นแต่ละครั้งของเรา เราได้รับการปฏิบัติบางอย่างที่มันไม่เหมือนกับที่เค้าคุยกับคนอื่น บางทีเค้าจะมีท่าทางที่อยากจะคุยกับคนอื่น มากกว่าที่จะคุยกับเรา มันก็มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เราเจอว่า สุดท้ายแล้วคือ เกณฑ์อันนึงในการคัดคนเข้าโรงเรียนก็คือเรื่องฐานะ หรือว่าเรื่องหน้าตาทางสังคมและนามสกุลด้วย
ซึ่งเราเข้าใจนะ เพราะสุดท้ายแล้วโรงเรียนเอกชนมันก็คือธุรกิจแหละ เราก็ต้องรับเงื่อนไขของแต่ละโรงเรียนให้ได้ว่า เขามีเกณฑ์ในการเข้าแบบไหน มันไม่ใช่โรงเรียนรัฐบาลที่เราเรียนกันมา
พอได้มาเจอเหตุการณ์นี้ มันก็นำพาให้เราไปได้คุยกับคนที่เจอเคสคล้ายๆ นี้ด้วยเหมือนกัน เลยทำให้รู้ว่าเรื่องแบบนี้มันมีจริงๆ แต่ก่อนเรานึกภาพไม่ออกว่า แค่มีเงินแล้วเข้าเรียนได้ แต่พอมาเจอเหตุกาณณ์นี้จากหลายๆ คนที่เจอประสบการณ์มา เออ แค่เงินไม่พอ ประเทศเรามันยังมีชนชั้นอยู่
คิดว่าความเป็นชนชั้นนี่ด้วยรึเปล่าที่ทำให้อะไรๆ มันยากไปหมด
ในมุมของชนชั้นกลางแบบเรา มันยากนะ ชนชั้นกลางที่อยากจะได้สิ่งที่ดีกว่าที่เราเคยได้มา แต่ว่าเราก็ยังไปไม่ถึงสิ่งที่ดีที่สุด พวกชนชั้นกลางแบบเรารู้สึกประมาณว่า กูจะเอายังไงดีวะ เราก็ไม่อยากให้ลูกเราไปเรียนรัฐบาล ก็อยากได้ดีกว่านิดนึง แต่พออยากได้ดีกว่านั้น ก็ไปไม่ได้ เค้าไม่รับเรา เค้ากีดกันเราอะไรแบบนี้ พ่อแม่เลเวลาเราก็จะลำบากแบบนี้แหละ
ถ้าดูจากตอนนี้เตรียมเงินเท่าไหร่สำหรับการเข้าเรียนอนุบาล
ถ้าเป็นโรงเรียนที่อยากได้แล้วเข้าได้จริงๆ ในปีแรกน่าจะประมาณ 2 แสน ถือว่าเยอะแต่ก็มันเยอะกว่านี้ได้อีกสำหรับโรงเรียนอื่น
แล้วคิดว่าแค่ไหนถึงเยอะเกินไป
ตอนนี้คือเกินปีละ 3 แสนรู้สึกว่าไม่โอเคแล้ว แต่จริงๆ ระหว่าง 2 ถึง 3 ก็ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่แล้วแหละ แต่ใจเราก็รู้สึกถ้าดีจริงก็ยอมเอานะ
ช่วงหลังมีข่าวเรื่องการพาเด็กๆ เข้าติวสอบอนุบาลเยอะมาก คิดอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้
เราเคยอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ไม่ก็สาธิต เพราะเราชอบโรงเรียนสาธิตไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม คือเชื่อว่ามันคงจะมีนวัตกรรมทางการศึกษา เพราะมันเป็นโรงเรียนผลิตครูเนอะ คุณครูก็อยากทดลองอะไรกับเด็ก ซึ่งเราชอบ
แต่ปัญหาเดียวของสาธิตคือมันเข้ายากมาก เพราะว่าต้องสอบ แล้วก็จะมีโรงเรียนบางแห่งที่เหมือนกับเด็กมีเปอร์เซ็นต์สอบติดสาธิตได้เยอะ เราเคยคุยกับแฟนเหมือนกันว่า หรือว่าเราส่งลูกเข้าอนุบาลที่นี่ดีไหม เผื่อว่าลูกจะได้สอบติดสาธิต เราก็สบายไปเลยทั้งชาติ
แต่อีกใจนึงคือ ถ้าลูกสอบไม่ติด วัยเด็กสามปีของเค้าในโรงเรียนอนุบาลจะหายไปเลยนะ เพราะว่าเค้าต้องไปติว โดยที่พอถึงเวลาสอบแล้วชีวิตเปลี่ยน ทั้งที่ใจเราอยากจะให้เค้าเป็นเด็กเล่น คือเราไม่รู้ว่าสำหรับเด็กแล้ว เพราะลูกเรายังตัวแค่นี้ เรายังไม่นึกภาพไม่ออกว่า ตอนเค้าอายุ 5-6 ขวบในวันที่เค้าไปสอบ คำว่าผิดหวังสำหรับเด็กมันหน้าตาเป็นยังไง เรายังนึกภาพไม่ออก
แล้วต้องทำอย่างไรเพื่อไม่พาลูกไปเสี่ยงในสถานการณ์แบบนั้น
เราต้องว่ากันที่จุดตั้งต้นก่อน ถ้าคุณพ่อคุณแม่พูดทุกวัน ตั้งแต่เข้าอนุบาลยันเริ่มเรียนว่า ลูกไปเข้าสาธิตกัน เข้าโรงเรียนนั้นกัน โรงเรียนนี้กัน แล้ววันนึงที่เข้าไม่ได้ เราว่าเฟลหนัก
ได้คุยกับพ่อแม่ในกรุ๊ปไลน์ สัมผัสได้ถึงความรู้สึกกดดันของการพาลูกไปติว หรือพาไปเตรียมความพร้อมไหม
มีหลายกลุ่มนะ มีกลุ่มที่ตอนนี้เค้าก็เริ่มติวกันแล้ว ถ้าถามว่าเค้ากดดันไหม คือเค้าคงไม่ได้พูดออกมามากนัก แต่คิดว่ามีแหละ
มันมีเหตุการณ์นึงที่ทำให้เราออกจากกรุ๊ปไลน์ คือเราไปเจอข้อความอันนึงประมาณว่า วิธีการเตรียมลูกก่อนเข้าในวันที่จะไปสอบ คืนก่อนหน้านั้นให้กินอาหารที่เซฟที่สุด เพื่อป้องกันการขี้แตกในวันรุ่งขึ้น ตอนเช้าห้ามนัดกัน ให้ต่างคนต่างไปแล้วก็ไปเข้าห้องสอบเลย เพราะว่าถ้านัดกันแล้ว เด็กๆ จะมาเล่นกัน เสียสมาธิ คือเราอ่านแล้วรู้สึก โอ้โห ต้องขนาดนี้เลยหรอ
แล้วมีประโยคที่เค้าพูดประมาณว่า ตอนนี้กระแสข้างนอกแรงมาก คุณพ่อคุณแม่ต้องใจนิ่งนะ ในกรุ๊ปก็จะมีคนที่เป็นตัวจริงด้านการสอบพูดว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องมุ่งมั่น ห้ามหวั่นไหว ใจห้ามสั่น กับกระแสข้างนอกนะ เพราะลูกจะได้มีเราเป็นหลักยึด
ตอนแรกเราเข้าใจแค่ว่า ไม่ต้องติวไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วค่อยไปสอบแบบขำๆ ก็เลยอยากรู้ว่าแนวข้อสอบเป็นประมาณไหน แต่พอเห็นแบบนี้ก็รู้สึกว่าคนอื่นจริงจัง กูคงดูเป็นคนเลวถ้าไม่ได้เตรียมอะไรเลย แล้วไปสอบ ดูเป็นพวก loser มากๆ ก็เลยคิดว่าไม่ต้องสอบแล้วล่ะลูก
คิดว่ามันเป็นจิตวิทยากลุ่มไหม คือเห็นคนอื่นไปติวมันเลยทำให้เรารู้สึกว่าต้องไปทำบ้าง
เป็นไปได้ มันก็อาจมีความรู้สึกทำนองว่า ลูกของบ้านอื่นอ่านไปถึงนั่นแล้ว ทำไมลูกเราทำไม่ได้ มันคงเป็นการทำตามกันทอดๆ ไป เราว่ามันก็มีส่วนนะ
คิดว่าจะพาลูกไปติวสอบไหม
คงไม่ เพราะไม่มีเวลาด้วยหนึ่ง ไม่รู้จะติวไปทำไม เอาเค้าเล่นไว้ดีกว่า ด้วยโรงเรียนด้วยแนวทางที่เราจะไป มันก็ไม่ใช่สายที่เราจะติวอยู่แล้ว
ถ้าให้เดาใจพ่อแม่ที่พาไปติว คิดว่าพวกเค้าจะมีความรู้สึกเครียดและกดดันอย่างไรบ้าง
ในวงการพ่อแม่ตอนนี้ มีกระแสเรื่องการให้ลูกเล่นในวัยอนุบาลมันเริ่มมาแรงขึ้น มีเพจพวกเลี้ยงลูกแนวใหม่ มันกำลังมาที่ว่า เราควรให้เด็กวัยนี้ได้เล่นเยอะๆ การเรียนการสอบไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เราว่าพ่อแม่ที่อยู่ในแวดวงเราเข้าใจหมด แล้วก็อยากให้ลูกเป็นแบบนั้น แต่ว่าการศึกษาประเทศเรามันยังไม่มีหลักประกัน มันยังมีค่านิยมเก่าบางอย่างด้วยว่า ถ้าให้ลูกเล่นตอนอนุบาลแล้ว ลูกเราจะมีอนาคต ทำงานมีเงินเดือนใช่ไหม หรือแบบ สังคมจะยอมรับนับถือไหม ถ้าลูกเราไปเรียนโรงเรียนที่ได้ยินชื่อแล้วแบบอะไรวะ คือมันมีค่านิยมเก่าอยู่
นอกจากนี้ เราอยากให้ลูกเล่น แต่มันไม่มีที่ให้ลูกเราเล่น ไม่มีโรงเรียนที่เป็นทางเลือกมากเพียงพอสำหรับเด็ก แล้วก็ตอนนี้มันยังมีแต่โรงเรียนกระแสหลัก หรือถ้ามันเป็นโรงเรียนทางเลือก ค่าใช้จ่ายมันก็แพงและต้องใช้เงินเยอะมากเพื่อให้ลูกไปเล่น มันเลยทำให้พ่อแม่รู้สึกว่า งั้นดูทางเลือกที่เป็นสาธิตซึ่งมันก็เป็นโรงเรียนที่ดี หรือโรงเรียนที่ชื่อดังที่เราโตกันมา
มีคุณแม่ที่พาลูกไปติว แล้วพูดเสมอว่า ที่โรงเรียนนี้ติวผ่านการเล่น ติวผ่านของเล่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าเราไม่ได้กำลังทรมานลูกเรา ด้วยการนั่งคัดลายมือ หรือไปนั่งบวกเลข ซึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะติดสินได้ว่า การไปติวผ่านของเล่นมันถูกหรือผิด เราไม่ใช่คุณหมอ ไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่ถ้าเป็นการเล่นแล้วเด็กได้เรียนรู้ มันก็คงโอเคมั้ง แค่พ่อแม่ต้องเสียเงินเท่านั้นเอง แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็เป็นการเล่นที่เราไปบังคับเค้า คือในเวลาสี่ถึงห้าโมง ลูกต้องไปเล่นที่โรงเรียนนี้นะ มีคุณครูนำแล้วก็มีของให้เล่น มันไม่ใช่การที่เอาลูกลงไปในบ่อทราย แล้วก็เปิดโอกาสให้เค้าได้เล่นเองตามใจชอบจริงๆ
การให้ลูกได้เล่นมันสำคัญกับการเติบโตของเค้าอย่างไรบ้าง
คือถ้ามตามหนังสือที่อ่านมา เด็กในวัยนี้ เค้ายังเติบโตไม่เต็มที่ คือเราเห็นเค้าเดินได้ก็จริง เราเห็นเค้านั่งได้ วิ่งได้ แต่ว่ามันยังมีดีเทลในร่างกายเค้าที่มันยังต้องไปได้อีก บางทีเราเห็นลูกเดินได้ก็ดีใจว่าลูกโตแล้ว แต่จริงๆ แล้วการเดินก็มีดีเทลของมัน เช่น เดินยังไงให้ตรงขึ้น ซึ่งถ้าเค้าได้เล่น โอกาสที่เค้าจะได้ใช้สกิลที่เหลือในร่างกายมันจะพัฒนาได้เร็วกว่า
เราเคยหนังเรื่องนึงของ Documentary club เรื่อง Childhood เค้าพาไปดูโรงเรียนแนววอลดอร์ฟในประเทศนอร์เวย์ ทั้งเรื่องมันเป็นหนึ่งปีการศึกษาของเด็กอนุบาลสาม ไม่มีการเรียนเลย สิ่งที่เราเห็นในหนังสือเด็กอยู่ในป่า เค้าไปเก็บไม้มาทำเป็นของเล่น แล้วก็ตอนจบสุดท้ายคือคุณครูบอกว่า โอเค หนูเรียนจบแล้วนะ ต่อไปหนูจะได้เป็นนักเรียนแล้ว ซึ่งแสดงว่าที่ผ่านมา ที่เค้าอยู่ในโรงเรียนอนุบาล เค้าไม่ใช่นักเรียนนะ เค้าคือนักเล่น ส่วนคุณครูมีหน้าที่ในการเฝ้ามองแล้วก็ไกด์ให้ว่า ควรจะตอบคำถามเค้าโดยที่ไม่ไปปิดกั้นจินตนาการ เราว่าพอดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าแบบฟันธงให้เราไปเลยว่า โอเค เราจะให้ลูกเป็นนักเล่น
อะไรคือความกดดันมากที่สุดในช่วงการเตรียมพร้อมลูกเข้าโรงเรียน
ถ้าช่วงนี้ กดดันเรื่องเงินมากกว่าทั้ง อาจจะมีบางอย่างเช่น คนนู้นคนนี้เค้าเริ่มไปดูโรงเรียน เริ่มไปหาโรงเรียน แล้วเรายังไม่ได้ไปดู เราช้าไปรึเปล่า สองคือเรื่องเงินก็เป็นปัจจัยใหญ่เหมือนกันว่า การที่เรารู้ข้อมูลโรงเรียนเร็ว เราก็จะได้รู้ว่าจะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ
มันยังมีปัจจัยอื่นด้วยว่า ถ้าเรารู้โรงเรียนที่เราอยากให้เข้าแล้ว ทำเลบ้าน หรือว่าการเดินทางก็สำคัญ สรุปคือมันกดดันในหลายอย่างเลย