Hedwig and the Angry Inch (2001), Christmas In August (1998), City of God (2002) คุณเคยดูหนังเหล่านี้ในโรงหนังบ้านเราหรือไม่ ถ้าใช่ คุณคงจำได้ดีถึงโครงการ Little Big Film Project อันเป็นการนำหนังอินดี้เข้าโรงโดยค่ายสหมงคล หลังจากหายหน้าไปสิบปี โปรเจกต์นี้กำลังจะกลับมาอีกครั้ง ประเดิมด้วยหนังญี่ปุ่นเรื่อง After the Storm (2016)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Hirokazu Koreeda ถือเป็นผู้กำกับคนสำคัญของญี่ปุ่น เป็นเรื่องน่ายินดีว่าผลงานของเขาได้ฉายบ้านเราเสมอ แต่โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนมีปัญหากับงานระยะหลังของเขาในเรื่องความ ‘มากเกินไป’ ไม่ว่าจะความปรุงแต่งล้นมือใน Air Doll (2009), การเร้าอารมณ์ในบางฉากของ Like Father, Like Son (2014) และความสวยงามฟุ้งฝันจาก Our Little Sister (2015)
น่ายินดีว่าผลงานล่าสุดอย่าง After the Storm กลับมาในโหมด ‘สงบนิ่ง’ อีกครั้ง มันว่าด้วยสามี อดีตภรรยา ลูกชาย และแม่สามี ที่ต้องมาติดอยู่ในห้องเล็กๆ เพราะไต้ฝุ่นพัดถล่ม เรื่องราวกว่า 60% ของหนังเกิดขึ้นในห้องแห่งนี้ แทบทั้งเรื่องเป็นการสนทนาเรื่อยเปื่อยของเหล่าตัวละคร แม้จะเอื้อต่อการรีดเร้นน้ำตาอยู่หลายครั้ง แต่ผู้กำกับก็เลี่ยงที่จะทำ ราวกับว่าต้องการให้ทุกอย่างเจือจาง
ตลอดการทำหนังกว่ายี่สิบปี สิ่งที่ Koreeda สำรวจมาตลอดคือระบบครอบครัว ซึ่งครอบครัวในหนังของเขามักเว้าแหว่งหรือมีความผิดฝาผิดตัว อาทิ พี่น้องสี่คนที่ต้องดูแลกันเองเพราะแม่หายไป—Nobody Knows (2004) หรือพ่อที่รู้ความจริงว่าลูกของตนไม่ใช่ลูกแท้ๆ—Like Father, Like Son) ส่วนใน After the Storm เล่าถึงคู่สามีภรรยาที่หย่าร้างกันไป แต่ฝ่ายชายยังมีเยื่อใยอยู่
ข้อดีของ After the Storm คือการที่มันไม่ได้พยายามเชิดชูคุณค่าของระบบครอบครัว หนังเสนอมิติที่ต่างออกไปว่าแม้เราจะมีความสัมพันธ์ในเชิงครอบครัว แต่สุดท้ายสิ่งที่เรายึดโยงด้วยก็คือความเป็นปัจเจกของตัวเอง จนบางครั้งเราอาจตัดสินใจอะไรแบบเห็นแก่ตัว หรือบางครั้งก็ต้องเรียนรู้ว่าแม้เราจะรักหรือผูกพันกับคนในครอบครัวแค่ไหน แต่สุดท้ายเราต้องปล่อยวางกับบางคนหรือบางสิ่ง แม้ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
ความเป็นปัจเจกใน After the Storm ถูกย้ำด้วยประเด็น ‘คนที่เราอยากเป็น’ เมื่อชีวิตมนุษย์ต้องเผชิญคำสาปว่าเราไม่อาจเป็นคนที่อยากเป็น และสุดท้ายก็กลายเป็นคนที่เราเคยเกลียด พล็อตส่วนนี้ถูกผูกเข้ากับเรื่องครอบครัวด้วยความสัมพันธ์ของพ่อพระเอก พระเอก และลูกชายของพระเอก ทุกคนมีจุดร่วมกันว่าภาพที่เขาวาดหวังไว้ดูจะไกลห่างจากชีวิตจริง
โดยไม่ต้องสังเกตมากนัก หนังมีประโยคทำนอง ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ ปรากฏอยู่บ่อยครั้ง ในแวบแรกอาจดูเป็นถ้อยคำสามัญธรรมดา แต่เมื่อหนังดำเนินจนจบผู้ชมก็ได้พบว่ามันคือความเจ็บปวดอย่างยิ่งของหนังเรื่องนี้ รวมถึงชีวิตของเรา
เนื้อหาจากคอลัมน์ Movie ใน giraffe magazine Issue 46 โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง