1
ในละครเวทีที่ผมไปร่วมเล่น มีอยู่ตอนหนึ่งที่ตัวละครทั้งเรื่องต้องมา ‘สุมหัว’ กันตัดสินใจเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง
ตัวละครที่รับหน้าที่เป็นเหมือนผู้ดำเนินรายการบอกว่า ในการตัดสินใจครั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญก็คือ อยากให้ทุกคนได้ตัดสินใจโดยมี ‘เจตจำนงเสรี’ คือใครจะเลือกอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น
ซึ่งก็ฟังดูดี
แต่เงื่อนไขที่สองที่เข้ามากำกับการตัดสินใจ ว่ามันจะเกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้หรือเปล่า ก็คือว่า – ผลของการ ‘เลือก’ โดยใช้เจตจำนงเสรีนั้น ต้องออกมาเป็น ‘เอกฉันท์’ ด้วย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องเป็น ‘ผลการออกเสียง’ ที่เริ่มต้นด้วยเสรีนิยมสุดขั้ว แต่ต้องออกมาเหมือนกันทั้งหมด
แล้วมันจะเป็นไปได้ยังไงกัน!
2
นักทฤษฎีการเมืองชาวเบลเยียม คือ Chantal Mouffe เคยบอกไว้ว่า เรื่องหนึ่งที่ปรมาจารย์นักทฤษฎีสังคมการเมืองสองคน คือ จอห์น รอวล์ส (John Rawls) และ เยอร์เกน ฮาเบอร์มาส (JÜrgen Habermas) คิดเหมือนกัน (แม้เรื่องอื่นๆ จะแตกต่างกัน) ก็คือทั้งคู่เห็นว่า ‘เป้าหมาย’ ของสังคมประชาธิปไตย ก็คือการบรรลุถึง ‘เสียงที่เป็นเอกฉันท์’ (หรือ consensus) นี่แหละครับ
ทั้งคู่เห็นเหมือนกันว่า สังคมจะบรรลุถึงเสียงที่เป็นเอกฉันท์ได้ ต้องวางผลประโยชน์เฉพาะตัวลงก่อน แล้วหันมา ‘คิด’ โดยใช้เหตุผล หรือทำตัวเป็น ‘สิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล’ (Rational Beings) ซึ่งในที่สุด เมื่อเถียงกันไปเรื่อยๆ ก็จะบรรรลุถึงความเห็นที่พ้องต้องกันไปเอง
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แม้เราจะต้องการให้ ‘ความขัดแย้ง’ ทั้งหลายแหล่มันยุติปลาสนาการหายวับไปจากสังคม แต่ถ้าในเวลาเดียวกัน คนต้อง ‘เป็นอิสระ’ หรือมีเสรีภาพในการคิดด้วย ผลลัพธ์ก็จะวนกลับมาหาความแตกต่างทางความคิด – ที่ก็ย่อมก่อให้เกิด ‘ความขัดแย้ง’ ขึ้นมาอยู่ดีนั่นแหละ
คุณ Chantal Mouffe เลยตั้งคำถามสำคัญขึ้นมาว่า ในกระบวนการประชาธิปไตยนั้น อะไรสำคัญกว่ากันแน่ ระหว่าง ‘ผลลัพธ์’ ที่เป็นเอกฉันท์ หรือ ‘ความขัดแย้งอันเป็นนิรันดร์’ ที่จะไม่มีวันสิ้นสุด
เธอได้ข้อสรุปว่า เราควรจะพาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม ‘เข้าสู่สนาม’ (arena) แล้วทำให้ความแตกต่างทั้งหลายได้ ‘เผชิญหน้า’ กัน โดยกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหลายแหล่ในสังคมนั้นๆ พึงต้องเป็นไปเพื่อ ‘เกื้อหนุน’ (Supply) การดำรงอยู่ของ arena นั้นๆ ให้ได้
พูดง่ายๆ ก็คือ ‘กระบวนการประชาธิปไตย’ ควรเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับ ‘ความขัดแย้ง’ ต่างๆ มากกว่าจะพยายามหา ‘มติเอกฉันท์’ เพื่อให้เกิด ‘ตอนจบอันแสนสุข’ แต่เพียงถ่ายเดียว
3
เมื่อทอดตามองสังคมไทย เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยนะครับว่า สังคมไทยนั้นแบ่งตัวออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ เราอาจเรียกฝ่ายหนึ่งว่า ‘ฝ่ายคนดี’ ก็ได้ ฝ่ายนี้มักใช้โมเดล ‘ธรรมาธรรมะสงคราม’ มาต่อสู้ คือคิดว่าตัวเอง (ที่เป็นฝ่ายธรรมะ) จะต้องเป็นผู้ชนะฝ่ายอธรรมในตอนจบแน่ๆ โดยมากจึงยึดมั่นอยู่กับศีลธรรมจริยธรรมและความสุขสงบสันติ
ฝ่ายน้ีเห็นว่า ปลายทางของการต่อสู้ในสังคม คือการที่สังคมมี ‘เอกฉันท์ทางความคิด’ ว่าจะทำให้สังคมเป็นสังคมที่ดีงาม แต่ก็ไม่ได้บอกอย่างเป็นรูปธรรมแน่ชัดนักนะครับ ว่าสภาวะอุดมคติแห่งความดีงามเหล่านั้นมี ‘รายละเอียด’ อย่างไร นอกจากที่เห็นร่วมกันว่าต้องกำจัด ‘คนชั่ว’ ออกไปให้พ้นจากสังคม ทั้งหมดจึงเป็นอุดมการณ์ในจินตนากรรมร่วม หรือ Imagined Ideology ที่ใช้ผูกมัดรัดร้อยให้เกิดการรวมกลุ่มกันเท่านั้น ดังนั้น ในที่สุดก็เลยสามารถใช้วิธีอะไรก็ได้เพื่อให้บรรลุถึง ‘ชัยชนะ’ ใน ‘สงคราม’ นั้น
นั่นคือ ‘ฝ่าย’ หนึ่ง
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่มักเรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ เป็นฝ่ายที่พยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง และมีประชาธิปไตยในแบบที่ตัวเองคิด ฝ่ายนี้ซับซ้อนกว่าฝ่ายแรกอยู่มาก หลังผ่านบทเรียนหลายเรื่อง ในระยะหลัง ฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มเรียนรู้ว่า แม้จะเรียกเป้าหมายว่าประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ไม่ได้แปลว่าต้องเหมือนกันไปหมดทุกมิติ แต่กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่า มีกลุ่มที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเมนสตรีมคอยควบคุมวาทกรรมต่างๆ ในการถกเถียงโต้แย้งกับฝ่ายคนดี และแม้จะมีดีกรีอ่อนเข้มไม่เท่ากัน แต่หลายครั้งก็ยังเห็นได้ว่า เป้าหมายปลายทางของอุดมการณ์นี้ก็คือ ‘ท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ’ หรือ ‘ชัยชนะ’ ของฝ่ายประชาธิปไตย ในแบบที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคตุลาคมเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วนั่นเอง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็มี ‘อุดมการณ์ในจินตนากรรม’ หรือ Imagined Ideology บางอย่างร่วมกันอยู่ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อต่อสู้ต่อรอง โดยมีเป้าหมายคล้ายๆ กับฝ่ายคนดี คือต้องการ ‘ชัยชนะ’ ในที่สุด ด้วยการทำให้สังคมทั้งหมดเกิด ‘เสียงเอกฉันท์’ ขึ้นมาว่า ประชาธิปไตยควรเป็นจุดหมายปลายทางของสังคมอย่างไร
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ มันมี ‘ปลายทางแสนสุข’ (ไม่ว่าจะของ ‘ฝ่าย’ ไหน) รอคอยเราอยู่จริงๆ หรือ
4
เราคงรู้กันอยู่แล้วนะครับ ว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแบบเดียว ประชาธิปไตยแต่ละแบบมีปัญหาของมันทั้งนั้น ประชาธิปไตยที่ใช้กันมาในปัจจุบัน คือประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็มีปัญหาของมัน และเป็นปัญหาที่กลายเป็นช่องว่างรูโหว่ – ทำให้ที่สุดก็เกิดฝ่ายที่ไม่เอาประชาธิปไตยแบบนี้ขึ้นมา
‘ฝักฝ่าย’ ในสังคมการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแบบที่หยาบกร้านที่สุด คือเอากับไม่เอาประชาธิปไตย หรือละเอียดขึ้นกว่านั้น คือการเอาหรือไม่เอาประชาธิปไตย ‘แบบไหน’ หลายครั้งกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมีมิติอื่นๆ เข้ามาผสมด้วย เช่น มิติศีลธรรม มิติศาสนา มิติชนชั้น มิติเศรษฐกิจ จนอาจเกิดเป็น ‘ลัทธิการเมือง’ (Political Cult) บางรูปแบบขึ้นมาได้ ซึ่งก็จะยิ่งไปเสริมความขัดแย้งให้รุนแรงสุดขั้วขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
ความขัดแย้งในสังคมการเมืองที่มีความคิดความเชื่อต่างๆ หลากหลายเหล่านี้ มีคนเรียกว่าเป็น Antagonistic Pluralism หรือเป็น ‘พหุนิยม’ ที่เป็น ‘ปรปักษ์’ กัน
เมื่อเป็นปรปักษ์หรือเป็นศัตรูกันแล้ว วิธีการพื้นฐานที่สุด ที่ ‘ติดตั้ง’ อยู่ในสมองของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ก็คือโหมด ‘สู้หรือหนี’ (Fight or Flight) แบบที่เอาไว้ใช้รับมือกับสัตว์ป่าหรือภัยธรรมชาติ แต่วิธีคิดพื้นฐานอย่างนี้นำมาใช้กับเรื่องที่ซับซ้อนกว่ามากอย่างความขัดแย้งทางการเมืองได้ยาก เพราะเราไม่มีทางสู้หรือหนีสิ่งเหล่านี้แล้วเข้าสู่สภาวะสงบเรียบร้อย หรือเกิด ‘เสียงเอกฉันท์’ (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า General Agreement หรือข้อตกลงร่วม) ขึ้นมาอย่างถาวรโดยมีเจตจำนงเสรีได้ ดังนั้น ในสายตาของนักปรัชญาการเมืองหลายคน (คนหนึ่งก็คือ Chantal Mouffe นี่แหละครับ) จึงเห็นว่า เมื่อไปถึงที่สุดแล้ว อุดมคติของประชาธิปไตยเอง (ที่ต้องการผลลัพธ์ร่วมในแบบที่เรียกว่า ‘เอกฉันท์’) จึงขัดแย้งกับเสรีนิยม แม้จะมีประชาธิปไตยแบบใหม่ๆ เช่น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อเนื่องมาหลายสิบปี ว่ามัน ‘ใช้การได้’ จริงหรือ
ข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ไหนๆ สังคมการเมืองทุกหนแห่งในโลก ต่างก็วางตัวอยู่บนความขัดแย้งไม่แบบใดก็แบบหนึ่งในแบบที่ไม่อาจหนีไปจากความขัดแย้งได้ ก็แล้วทำไมเราถึงจะต้องอยู่ในสภาพ Antagonistic Pluralism หรือมีความหลากหลายแบบที่เป็นปฏิปักษ์กันด้วยเล่า
มันมีวิธีอื่นอีกไหม ที่จะ ‘ฟูมฟักความขัดแย้ง’ ให้ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ต่อไป (เพราะความขัดแย้งเหล่านี้ได้ผนวกรวมเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของกลุ่มสังคมการเมืองต่างๆ ไปแล้ว) แทนที่จะต้องไปพยายาม ‘กำจัด’ ความขัดแย้งทิ้ง (ตามแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม) หรือปล่อยให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์ไปจนสุดขั้ว (ตามแนวคิดเสรีนิยม) แต่ฟูมฟักความขัดแย้งเหล่านี้เอาไว้ เข้าใจมัน มองเห็นมัน แล้วทำให้ความขัดแย้งเหล่านี้อยู่ร่วมและเกิดผลลัพธ์ในแง่บวกขึ้นมา
Chantal Mouffe เรียกสิ่งนี้ว่า Agonistic Pluralism
รากศัพท์คำนี้ ต้องย้อนกลับไปหาต้นธารในทางการแพทย์ กล่าวคือในขณะที่ Antagonism คือภาวะที่อวัยวะต่างๆ ทำงานในแบบตรงข้ามและขัดแย้งกัน (อย่างเช่น ระบบประสาทซิมพาเทติก จะหลั่งฮอร์โมนทำให้หัวใจเต้นเร็ว แต่ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก จะหลั่งฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งออกมาทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือในทางยาก็เป็นยาที่ออกฤทธิ์หักล้างกัน) Agonism จะเป็นการทำงานของอวัยวะที่ดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน หรือถ้าเป็นยาก็เป็นยาที่ออกฤทธิ์เสริมกัน
เรื่องของ Antagonism กับ Agonism ในทางการเมืองก็เป็นเช่นเดียวกัน โดย Agonism ในทางการเมืองไม่ได้แปลว่าเป็นการที่แต่ละฝ่ายต้องมาเสริมกันและกันโดย ‘กำจัด’ ความขัดแย้งทั้งปวงทิ้งไป แต่คือการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของความขัดแย้ง ยอมรับว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไงก็ต้องมีอยู่ ยังไงก็ต้องดำรงอยู่ ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม เมื่อเห็นสิ่งนี้แล้ว จึงค่อยหากระบวนการอะไรบางอย่างที่จะทำให้เกิด ‘ประโยชน์’ ของสังคม ขึ้นจากความขัดแย้งที่มีอยู่เหล่านั้น ไม่ใช่ใช้ความขัดแย้งทำให้เกิด ‘ปัญหา’ และในเวลาเดียวกันก็ไม่ใช่การปฏิเสธหรือพยายามกำจัดความขัดแย้งเหล่านั้นทิ้งไปด้วย
คำถามก็คือ – แล้วจะทำอย่างไร?
4
ทุกวันนี้ เกิดแนวคิดประชาธิปไตยแบบใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อไม่ให้ประชาธิปไตย (ที่ก็ต้องยอมรับว่ามันมี paradox อยู่ในตัวของมันหลายเรื่อง) กลายเป็นการปกครองที่ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงเสียเอง ตัวอย่างเช่น ประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจ (Economic Democracy) ที่บอกว่าการตัดสินใจต่างๆ ในการบริหารธุรกิจ ไม่ควรเป็นสิ่งที่มาจากยอดสุดหรือผู้บริหารแต่เพียงอย่างเดียว เพราะนั่นคือการเลียนแบบวิธีการแบบสังคมโบราณ แต่ควรเป็นการตัดสินใจร่วมที่มาจากทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ รวมไปถึงคนที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ (เช่นประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ ธุรกิจนั้นๆ) หรือกระทั่งสาธารณชนที่กว้างออกไป
ประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมาก ก็คือประชาธิปไตยเชิงนิเวศ (Ecological Democracy) ซึ่งก็คือประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสังคมมากกว่าระบบเศรษฐกิจตลาดอย่างที่เป็นอยู่
ในสภาวะอุดมคติที่มีฐานมาจาก Agonism และประชาธิปไตยแบบใหม่ๆ เหล่านี้ นักทฤษฎีการเมืองชาวกรีซอีกคนหนึ่ง คือ Takis Fotopoulos ได้เสนอเอาไว้ว่า โลกควรจะก้าวไปสู่ประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เรียกว่า Inclusive Democracy หรือประชาธิปไตยแบบนับรวม ซึ่งไม่ได้แปลแค่ว่าจะต้อง ‘นับรวมฝ่ายตรงข้าม’ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรวมเอาประชาธิปไตยหลายๆ แบบเข้ามาอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยเชิงนิเวศที่ว่าด้วย
Takis Fotopoulos เขียนหนังสือว่าด้วยประชาธิปไตยแบบนับรวมมาตั้งแต่ปี 1997 แต่เพิ่งมาระยะหลังนี้เอง ที่เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะโลกกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะความรุนแรงทางการเมืองที่มีรากลงลึกไปถึงศรัทธาและความเชื่อในทางศาสนา
สำหรับสังคมไทยของเรา ต้องบอกว่าเป็นเรื่องล้นพ้นเกินสติปัญญาของผม ที่จะบอกได้ว่า Agonism หรือ Inclusive Democracy จะเป็นทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยได้อย่างไรหรือเปล่า แต่กระนั้นก็อยากนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเล่นๆ ว่าการถกเถียงเกี่ยวกับประชาธิปไตยในโลกนี้มันไปถึงไหนบ้างแล้ว
เราจะอยู่กับความขัดแย้งเพื่อสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น หรืออยู่กับความขัดแย้งเพื่อรักษาความขัดแย้งนั้นและสร้างคุณค่าขึ้นมาจากความขัดแย้ง,
นี่คือคำถามสำคัญ