ว่ากันแบบตรงๆ ไม่ลีลาอะไร จริงๆ แล้วผมจะเขียนเรื่อง ‘การเสือก หรือ ความขี้เสือก’ ของสังคมไทยนี่แหละครับ แต่จะจั่วหัวว่า ‘เสือก’ ไปเลย ก็ดูจะรุนแรงหยาบคาย ผิดวิสัยคน cuteๆ อย่างผมไปสักนิด เลยปรับเป็น ‘การยุ่งเรื่องชาวบ้าน’ ลดความล่อ teen ลงสักเล็กน้อย ที่อยากเขียนเรื่องนี้ก็เพราะผมเห็นข่าวๆ หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับ “การจับผิดเห็นเงาสะท้อนหน้าสงกรานต์ ที่สะท้อนอยู่บนมีด (ทานอาหาร) ในรูปที่ลงบนไอจีของกวาง”[1] ผมก็ได้แต่คิดในใจว่า โอ้โห ความเสือกของคนเหล่านี้อะไรมันจะรุนแรงทะลุเพดานอะไรปานนี้ แล้วก็ดันพาลคิดไปถึง ‘ความแปลก’ ในวิถีการเสือกนี้ได้ต่อ เลยอยากเขียนมาแลกเปลี่ยนกันดูครับ
คือ ผมเขียนเรื่องความเสือกกับสังคมไทยนี่ ก็ออกตัวไว้ก่อนเลยว่า ไม่ได้แปลว่าประเทศอื่นเขาไม่เสือกกัน ความเสือกมันมีกันทั้งโลกนั่นแหละครับ แม้ผมจะนึกคำภาษาอังกฤษที่ตรงตัวเป๊ะๆ ในทางอารมณ์ไม่ได้ แต่คำที่ใกล้เคียงก็มี เช่น Butt in, Prying, Meddling อะไรกลุ่มนี้ หรือแม้แต่การเสือกแบบลับๆ และเกือบๆ จะเป็นอาชญากรรม (หรือเป็นไปแล้ว) อย่างกลุ่มปาปารัสซี่ดาราคนดังทั้งหลาย ก็อาจจะพอจะใช้คำว่า sneaky ในฐานะความเสือกรูปแบบหนึ่งได้ แต่ผมคิดว่าการเสือกของไทยมันมีความผิดที่ผิดทางที่น่าสนใจแตกต่างจาก ‘ประเทศอื่นๆ’ อยู่บ้างครับ หากมองจากมุมมองทางการเมือง
ความเสือกนี่ หากเราพูดหรือแปลอย่างสุภาพๆ แล้ว มันก็คงจะประมาณ “ความสนใจใคร่รู้และช่างสังเกตสังกาในสิ่งรอบตัวเราโดยไม่สน hee สน tadd อะไร” น่ะนะครับ ทีนี้ที่ประเทศไทยเนี่ย มันดันเป็นประเทศที่ประชากรจำนวนมากมีความสามารถในการ ‘แกะรอย’ เรื่องส่วนตัวดาราได้ราวกับนักสืบมืออาชีพ มากล้นประสบการณ์ แสนจะช่างสังเกตสังกา แต่กลับไม่มีความสามารถใดๆ เลย ในการสังเกตเห็นถึงความผิดปกติขนาดใหญ่มากๆ ของประเทศตัวเองกัน ผมคิดว่าเป็นอะไรที่ตลกดี แต่ก็น่าคิดต่อ ผมพาลไปคิดถึงคำพูดหนึ่งของ Noam Chomsky นักภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ชื่อดังที่ว่า :
“The general population doesn’t know what’s happening, and it doesn’t even know that it doesn’t know.”
(ประชากรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น และพวกเขาไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าตนเองนั้นไม่รู้)
ผมคิดว่า ‘ความไม่รู้’ นี้คือกุญแจสำคัญในการอธิบายเรื่องนี้อย่างหนึ่งเลยทีเดียวครับ เพราะสุดท้ายแล้วการเสือกนั้นมันถูกตั้งต้นจาก ‘ความไม่รู้’ หรือให้ชัดขึ้นไปก็คือ ‘การรับรู้ตัวเองว่ายังไม่รู้เรื่องนั้นๆ’ (แต่ ‘ความไม่รู้’ นี้ ไม่ได้มีค่าเท่ากับ ‘ความจำเป็นต้องรู้’ นะครับ) ว่าง่ายๆ ก็คือ เราต้องรู้ตัวก่อนว่าเรายังไม่รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ เราถึงจะ “อยากรู้ อยากเข้าไปขุดคุ้ย แกะรอย หรือตามเสือกได้” ฉะนั้นหากมันเป็น “ความไม่รู้ที่ตัวเราเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าไม่รู้” ความคิดที่จะเสือกมันก็จะไม่เกิดขึ้น
ฉะนั้นในแง่หนึ่งการเสือกเรื่องชาวบ้าน หรือเสือกเรื่องดาราและคนดังต่างๆ นั้นจึงเป็นเรื่องที่ ‘เกิดขึ้นได้ เสมอ (ไม่ได้แปลว่า ‘ควรจะเกิดขึ้น’) เพราะเราย่อมรู้ตัวเสมอในเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับ ‘ชาวบ้าน’ (คือ คนรอบๆ ตัวเราที่เรารู้จัก) หรือ ‘คนดัง’ เช่น ดารา A เป็นแฟนกับนักร้อง B มั้ย หรือผู้กำกับ C อ่อยดาราเด็กในสังกัดตัวเองไหม หรือดาราวัยรุ่น D ไปทำศัลยกรรมอะไรมาหรือเปล่าทำไมรูปคางเปลี่ยนไป หรือนาย F เป็นเกย์มั้ยนะ เพราะไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตนสักที หรือเงาใครอยู่ในช้อนส้อมมีดใคร เขานัดกันไปเจออะไรทำไมอย่างไร ฯลฯ เผลอๆ ความไม่รู้และอยากจะเสือกอยากจะรู้นี้ ก็อาจจะลามไปถึงทรวดทรงห้องเครื่อง อวัยวะ หรือกิจกรรมส่วนตัวมากๆ ของ ‘คนดัง’ หรือชาวบ้านไปด้วย ที่ทำให้คลิปหลุด หรือรูปหลุดต่างๆ ที่เหล่าปาปารัสซี่ที่หากินกับความเสือกหรือความไม่สนใจห่านอะไรขอเพียงให้ได้รู้นี้นำมาหากินได้ (แน่นอนในกรณี ‘ของหลุด’ นี้ ความหื่นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่ง) เพื่อมาสนองความเสือกของเหล่าประชากรผู้กระหายในข้อมูลที่ตนไม่รู้ว่า “ของของคนนี้จะชมพูมั้ยนะ จะใหญ่มั้ยนะ จะเอามันไหมนะ ฯลฯ”
ประเด็นคือ เรื่องทั้งหมดนี้ ‘ไม่ใช่เรื่องที่มันหนักหัวใครไง’ การไม่รู้เรื่องพวกนี้ไม่ทำให้ชีวิตของคุณแร้นแค้นชิบหายวอดวายไปแน่ๆ ถ้ามันไม่มีอะไรจะให้เสือกแล้ว ก็อาจจะยังพอจะเข้าใจได้ แน่นอนว่าก็จะมีหลายคนแย้งว่าเสือกได้เพราะคนเหล่านี้เป็นคนดัง เป็นบุคคลสาธารณะ (Public Figure) ที่ต้องเป็นตัวอย่างให้สังคม อะไรแบบนั้นไป ซึ่งผมจะพูดถึงประเด็นนี้ต่อในตอนท้าย กลับเข้าเรื่องที่กำลังพูดอยู่ก่อนคือ ‘ความวิปริตในการปฏิบัติต่อความไม่รู้’ อันนำมาซึ่งการเสือกในสังคมไทย รวมไปถึง ‘ความไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้’ นี้
ที่ผมคิดว่าสังคมไทยแปลกกับเรื่องการเสือกก็แยกได้เป็น 2 จุดหลักๆ นี่แหละครับ คือ
1. ความวิปริตในการปฏิบัติต่อความไม่รู้ นั่นคือ ในกรณีที่เรารู้ตัวอยู่แล้วว่า ‘เราไม่รู้ข้อมูลของมันแน่ๆ’ ในเรื่อง 2 เรื่อง ผมเองไม่ค่อยจะเข้าใจนักว่าทำไม บ่อยครั้งในสังคมนี้ถึงเลือกที่จะ ‘เสือก’ กับเรื่องที่ ‘แม้จะไม่รู้แต่ก็ไม่ได้หนักหัวใคร’ อย่างเรื่องใต้เตียงดารา มากไปกว่าการที่จะอยากเสือกในเรื่องที่ ‘ถ้าไม่รู้แล้วหนักหัวทุกคน’ แน่ๆ
ตัวอย่างง่ายๆ เลยครับ อย่างเรื่อง ‘งบลับ’ ต่างๆ ในนามการทหารและความมั่นคงในประเทศนี้ ซึ่งแทบทุกบาททุกสตางค์มาจากเงินในกระเป๋าพวกเรานั้น ถูกเอาไปทำอะไร และทำไมมันจะต้องลับ ลับเพราะอะไร ไปอยู่ในกระเป๋าใครแทนไหม ถูกใช้อย่างถูกต้องหรือเปล่า? แทบจะไม่เห็นใครในประเทศนี้พยายามจะ ‘เสือก’ จะช่างสังเกตสังกา ช่างขุดคุ้ยค้นหาอย่างที่เกิดกับ ‘เงาหน้าสงกรานต์ที่สะท้อนอยู่บนมีด’ เลยครับ และอย่าบอกด้วยนะครับว่าเป็น ‘เรื่องไม่รู้ที่ตนเองไม่รู้ตัวว่าไม่รู้’ ก็ในเมื่อชื่อมันบอกอยู่โต้งๆ ว่า ‘งบลับ’ แปลว่ามันตั้งใจให้เราไม่รู้อยู่แล้ว โดยบอกให้เรารู้ตัวเลยว่า ‘พวกมึงจงไม่รู้เรื่องนี้นะ’ แล้วเราก็ทำตัวเป็นเด็กดีไปเสือกเรื่องเหง้าหน้าดาราบนช้อนส้อมมีดต่อไป
หรือหากเรื่องความมั่นคงและทหารมัน ‘พูดถึงได้ยาก’ ในยุคที่ทหารครองเมืองแบบนี้ เรื่องการศึกษาเล่า?
เราใช้งบประมาณราวๆ 4.1% ของ GDP มาเป็นงบเพื่อการศึกษา ซึ่งเทียบเป็น % ต่อ GDP แล้วมากกว่าบางประเทศในระดับกลุ่มนำของโลกเสียด้วยซ้ำ (เช่น เอสโตเนีย, ฮ่องกง, ลิกเทนสไตน์, ญี่ปุ่น, ฯลฯ) แต่ทำไมระดับการศึกษาไทยถึงยังเป็นแบบนี้อยู่[2] เราเคยสงสัยเหมือนกับที่สงสัยไหมว่าทำไมดาราคนนั้นคางงอกยาวขึ้นมาไปศัลยกรรมมาหรือเปล่า ว่าเราใช้งบการศึกษาคุ้มแค่ไหน? การบังคับให้ยืนตากแดดหน้าเสาธงทุกเช้าโดยเฉพาะอากาศร้อนแดดเปรี้ยงอย่างมากนี้ มันมีประโยชน์อะไรไหม นอกจากการการเร่งให้เกิดมะเร็งผิวหนังเร็วขึ้น (ซึ่งนั่นไม่ใช่ประโยชน์ใดๆ อยู่ดี) ฯลฯ
ผมคิดว่าการเลือกในการ ‘จะใคร่รู้ จะเสือก’ ของสังคมนี้ ในเรื่องที่ตัวเองรู้ตัวอยู่แล้วว่า ‘ไม่รู้’ นั้นมันค่อนข้างจะแปลก อนึ่งผมไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องมาสนใจในเรื่องการเมืองอย่างที่ผมสนใจ การสนใจเรื่องดาราเป็นเรื่องที่ผิดเสมอ (แต่หลายกรณีผมก็คิดว่าเป็นการเสือกที่ผิด เดี๋ยวค่อยพูดถึง) อะไรแบบนั้นนะครับ แต่ผมคิดว่าการพูดในภาพรวมที่เราเห็นคนสนใจจะ ‘เสือกเรื่องที่เราไม่รู้และไม่ได้หนักหัวเรา’ มากกว่า หรือก่อนการจะ ‘เสือกเรื่องที่เราไม่รู้และหนักหัวเรามากๆ ด้วย’ นี่เป็นส่วนใหญ่ ผมคิดว่ามันพอจะพูดได้ว่า มันมีอะไรที่ ‘ผิดที่ผิดทางมากๆ แล้วกับประเทศนี้’
2. ความไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ ส่วนนี้ค่อนข้างจะตรงกับคำพูดของชอมสกี้ที่ผมยกมาในตอนต้น ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่น่ากลัว อาจจะน่ากลัวยิ่งกว่าปัญหาส่วนแรก เพราะบ่อยๆ ครั้ง ‘สิ่งที่เราไม่รู้’ โดยที่เราเองไม่รู้ตัวเองว่าไม่รู้นั้น มันมักจะเป็นปัญหาอะไรที่ใหญ่มากๆ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเรา ที่เราคุ้นชินเคยชิน จนคิดเสมือนว่ามันคือเรื่อง ‘ปกติ’ ของเราไป เรามักจะมองไม่เห็นความไม่ปกติในความปกติที่เราเคยชินนี้ และบ่อยยิ่งกว่านั้นเราไม่รู้ตัวว่าเรามีเรื่องที่เรา ‘ไม่รู้’ ในเรื่องที่เราคิดไปเองว่า ‘เรารู้จักมัน’ แล้วนั้นด้วย
หลายๆ อย่างในประเทศนี้ ‘ถูกทำให้กลายเป็นความคุ้นชิน’ ที่เมื่อหลายคน ‘ตื่นรู้ถึงความไม่รู้’ ของตนเองแล้ว ก็อาจจะเสือกได้ลำบาก เพราะความปกติของประเทศนี้หลายอย่างนั้นถูกวางระบบกลไกอย่างเป็นทางการไว้ให้ไม่สามารถจะ ‘อยากรู้ อยากสงสัย’ อะไรได้ ซึ่งในจุดนี้อาจจะพอเข้าใจได้ที่จะรังวังไม่งุ่มง่ามเข้าไปเสือกหรือระมัดระวังในการเข้าไปขุดคุ้ยหาสิ่งที่เราไม่รู้เป็นพิเศษ
แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเราสามารถตรวจทานตัวเองได้คือ การสำรวจตัวเองในสิ่งที่เราคิดว่าตัวเราเองรู้ แต่อาจจะไม่ได้รู้จักมันจริงๆ เสมอไป
หลายคนอยู่กับความเข้าใจว่าตนเองรู้ว่า ‘นักการเมือง นักเลือกตั้ง’ นั้นเลว นั้นโกงเสมอ นักการเมืองและการเลือกตั้งกำลังทำให้ประเทศล่มจม (ซึ่งอาจจะจริง หรือผมสมมติให้จริงเลยก็ได้) อย่างไรก็ตามมันไม่ได้ทำให้ ‘คนที่มาทำลายนักการเมืองและระบบการเลือกตั้ง รวมไปถึงระบอบประชาธิปไตย’ กลายเป็นคนดี คนไม่โกง หรือคนซึ่งคุณสมบัติอันตรงกันข้ามกับนักการเมืองที่พวกเขาเข้ามาล้มทำลายลงได้ในทันทีหรือโดยอัตโนมัติ (คุณสมบัติอันตรงกันข้ามหนึ่งเดียวที่ได้มาในทันที คือ ความตรงกันข้ามกับความเป็นประชาธิปไตย) แต่มันน่าสนใจที่ว่าคนซึ่งเข้ามา ‘ทำลายคนเลว คนโกงที่มาจากระบบการเลือกตั้งนี้ (สมมติว่าจริง)’ กลายเป็นว่าถูกมองหรือเชื่อว่าเป็นคนดี เป็นคนที่จะเข้ามาช่วยชาติ ทำเพื่อประเทศได้ในทันที ราวกับเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว หรือเป็นปกติอยู่แล้วที่จะต้องเป็นเช่นนี้
ผมคิดว่านี่แหละครับคือความอันตราย เพราะนี่คือ Assumed knowledge หรือ Assumed fact ล้วนๆ คือ ‘มโนไปเองว่ารู้แล้ว’ ทั้งๆ ที่อาจจะยังไม่ได้รู้อะไรเลย เมื่อสองสัปดาห์ก่อนผมเขียนบทความเรื่อง ‘Kakistocracy: เมื่อประเทศถูกปกครองด้วยคนโง่’[3] ก็จะเห็นได้ชัดว่ามีหลายคนมาคอมเมนต์ (ทั้งที่แชร์ไปต่อด้วย) ว่า “โง่ก็ยังดีกว่าโกง” นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของ ‘การมโนไปเองว่ารู้’ ไงครับ คือ รู้ได้อย่างไรว่า “โง่แล้วไม่โกง (แถมมักจะโกงแบบโง่ๆ ด้วยไหม?)”
เมื่อเราคิดไปเองแต่ต้นว่า ‘เรารู้จักมันดีแล้ว’ (ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะไม่รู้จักมันเลย หรือก็คือ ไม่รู้ตัวว่าตัวเองไม่รู้) มันจึงกลายเป็นกลไกอัตโนมัติที่ ‘ยับยั้งการเสือกหรือเข้าไปยุ่ง’ ของเรา โดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายใดๆ มาช่วยเลย เพราะสุดท้ายแล้วการเสือกนั้นมันเป็น ‘ตัวแปรตามของความไม่รู้’ คือ ไม่รู้แล้วถึงจะเสือก (แต่ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างที่ ‘ไม่รู้’ จะต้องได้รับการเสือก หากงงโปรดกลับไปดูข้อ 1) แต่เมื่อเราคิดว่าเรารู้แล้ว เราเชื่อเช่นนั้นแล้ว มันเป็นความจริงแล้ว… เราก็ไม่ไปขุดคุ้ยหาความจริงอะไรอีก ทั้งๆ ที่หากเราสำรวจตัวเองให้ดีว่าสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้นั้น เรารู้จริงๆ หรือไม่ อาจจะค้นพบกับสารพัดเรื่องที่เราไม่รู้ และอาจจะเป็นปัญหาใหญ่มากๆ หรืออาจจะเป็นปัญหาที่หนักหัวหนักกบาลเป็นเรื่องของเราโดยตรงก็เป็นได้
พูดมาถึงขนาดนี้แล้ว ผมอยากจะอภิปรายต่อไปเป็นพิเศษถึง ลักษณะเฉพาะของระบอบการปกครองด้วยครับ คือ ในทุกระบอบการปกครอง สภาวะของความไม่รู้มันย่อมมีอยู่เสมอ แต่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มันเป็นระบอบที่จะพยายามชี้ชวนให้เราเข้าไปเสือกในเรื่องที่เป็นประเด็นทางสาธารณะ ประเด็นที่เกี่ยวโยงกับการใช้อำนาจซึ่งส่งผลกับทุกคน เพราะนโยบายถูกกำหนดออกมาโดยคนที่มาจากฐานเสียงของประชาชน และดำเนินการโดยเงินซึ่งมาจากกระเป๋าของประชาชนที่เรียกว่าภาษี ตรงกันข้ามในระบอบเผด็จการ ลักษณะเฉพาะอันสำคัญประการหนึ่งของมันก็คือ การสร้างเงื่อนไขที่ “ห้ามไม่ให้ประชาชนเข้ามาเสือกในเรื่องสาธารณะ ทำให้ประชาชนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเสือกเรื่องเชิงนโยบาย และหนักที่สุดคือทำให้ประชาชนเห็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องเป็นฝ่ายเข้าไปเสือกเรื่องส่วนตัวของประชาชนแทนเสียเอง”
ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยพยายามสร้างระบบการตรวจสอบอำนาจ แม้อาจจะไม่สมบูรณ์แต่มันก็มีพื้นที่ที่อนุญาตให้เกิดการขุดคุ้ยได้ เข้าไปเสือกเพื่อหาความจริงในเรื่องที่มัน ‘หนักหัวเรา และเกี่ยวกับเราได้’ แต่ในระบอบเผด็จการ ไม่เพียงจะทำแบบนั้นไม่ได้ มันยังเป็นระบอบที่พยายามทำให้ “การเสือกเรื่องสาธารณะกลายเป็นเรื่องผิดปกติ การไม่เสือกแต่รับรู้โดยศิโรราบตามคำพูดของผู้ปกครองว่าคือความจริงนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ รวมไปถึงการสอดเสือกเรื่องส่วนตัวของประชากรโดยรัฐเป็นเรื่องจำเป็นแทนไปเสีย” (โดยเฉพาะในนามความมั่นคง อย่าง ‘พรบ. คอมพิวเตอร์’ เป็นต้น ที่ไม่รู้ว่า “เพื่อความมั่นคงของใคร?”)
ถึงท้ายที่สุดแล้ว ผมคิดว่าที่ทางและทางเลือกของการเสือก รวมไปถึงการงมหาข้อมูลที่เราไม่รู้นั้น มันมีความสัมพันธ์กับระบอบการเมืองการปกครองที่เราอยู่ๆ กันอย่างที่ว่าไป เพราะนอกจากมันจะกำหนดความ ‘รู้และไม่รู้’ ของเราแล้ว มันยังกำหนดขอบเขตของสิ่งที่อยากให้เราไปเสือกและสิ่งที่ไม่อยากจะให้เราเสือกด้วย
ซึ่งในจุดนี้ผมคิดว่า ยิ่งรัฐพยายามไม่อยากให้เรามาเสือกในเรื่องของรัฐมากเท่าไหร่ มันยิ่งเป็นความผิดปกติที่เรายิ่งจำเป็นจะต้องเข้าไปยุ่งกับมันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่รัฐทำมัน matters มันมีผลกับชีวิตเราโดยตรง ไม่ใช่ว่ารัฐซื้อเรือดำน้ำแล้วจะไม่ส่งผลกับเราซะที่ไหน เงินจากกระเป๋าเราทั้งนั้น มัน matters กับชีวิตเรามากกว่าชีวิตส่วนตัวของดาราชนิดไม่รู้จะเปรียบเทียบเป็นเท่าอย่างไร (จงใจใช้คำว่า ‘matters’ โดยไม่ได้ค่าโฆษณาเพิ่มเติมอะไรจากทาง บก. แต่อย่างใดนะครับ แฮ่ๆ)
คือ ต่อให้เราจะอ้างว่าดารา หรือคนดังเป็น ‘บุคคลสาธารณะ’ เป็นแบบอย่างให้กับสังคมยังไงก็ตามแต่ แต่สุดท้ายที่เราอ้างๆ กันนั้นมันก็เป็นโวหารเพื่อจะปูทางให้เราได้เสือกในเรื่องที่เราไม่พึงไปมีสิทธิเสือกแต่แรกแล้วเท่านั้นครับ คือ เวลาเราใช้คำว่าบุคคลาสาธารณะเนี่ย เราไม่เคยมีเกณฑ์ชัดๆ หรอกครับว่าขนาดไหนจึงนับว่าสาธารณะแล้ว? ไม่ต้องนับว่าความเสือกมันมีมาก่อนแนวคิดเรื่องบุคคลสาธารณะนานมาก คือ ไอเดียเรื่องนี้มาชัดเจน (ซึ่งก็ไม่ได้ชัดมากด้วยซ้ำ) เอาประมาณปี ค.ศ. 1964 ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาได้มีคำตัดสินในกรณีของ New York Times กับคุณซุลลิแวน โดยอิงกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา[4] ซึ่งความเสือกของเรานั้นมันมีมาก่อนหน้านั้นแน่ๆ ครับ…คุณแค่ใช้คำนี้เพื่อจะป้ายความชอบธรรมให้ฉาบหน้าการเสือกในเรื่องที่ไม่มีสิทธิจะเสือกและผิดที่ผิดทางของคุณได้เท่านั้นเอง
และต่อให้สมมติว่าเราอ้างว่า คำว่า ‘บุคคลสาธารณะ’ นั้น มันสามารถใช้เป็นเหตุผลในการ “สร้างความชอบธรรมในการเสือกเรื่องส่วนตัวที่ไม่มีสิทธิไปเสือก ไม่ถูกที่ถูกทางที่จะเสือกแต่ต้น” ได้แล้วเนี่ย ก็ต้องมาสู่คำถามล่ะครับว่า สุดท้ายแล้วขนาดไหน หรือใครบ้างที่ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ และสถานะของการเป็นบุคคลสาธารณะมันอยู่ถาวรตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเลยหรือ? อย่างหลายคนบอกว่า ‘ดารา’ เป็นบุคคลสาธารณะ (สมมติว่าสมมติฐานนี้จริง คือ เป็นดาราปุ๊บ สาธารณะเลย) แล้วขนาดไหนจึงเรียกว่าเป็นดาราได้? ผมไม่คิดว่าก่อนเราจะไปคิดเสือกเรื่องดาราคนไหนเรามานั่งคิดอะไรแบบนี้หรอก มันถึงได้เกิดการไปเสือกในเรื่องที่ไม่มีสิทธิจะเสือกกันตลอดเวลาอย่างที่เป็นอยู่นี่ไงครับ
คนที่มีรายได้หลักจากการแสดงงั้นหรือถือเป็นดารา? อาจจะเป็นนิยามที่โอเค แต่หากนิยามแบบนี้ คนในภาคชนบทไทยจำนวนมากคงไม่สามารถนับเป็นชาวนาได้แล้ว เพราะมีงานวิจัยหลังๆ มานี้เริ่มบ่งชี้ว่ารายได้หลักของคนในชนบทมาจาก ‘การทำอย่างอื่น’ แล้ว เช่น โรงงาน หรือรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าด้วยฐานนิยามนี้มันจะใช้ได้ครอบคลุมตาม ‘สำนึก’ ที่ชอบมโนกันไหม รวมไปถึง ที่แน่ๆ ผมมั่นใจว่าก่อนจะเสือกเรื่องใคร ไม่น่าจะมีคนไปเช็กรายได้เค้าก่อนจะเสือกแน่ๆ ครับ (อย่างคุณสงกรานต์นี่ ผมคิดว่ารายได้ทางอื่นมากกว่าจากการแสดงแน่ๆ) นี่คือเรื่องที่ว่าด้วยขอบเขตว่าสุดท้ายแล้ว เราจะนับใครว่าเป็นหรือไม่เป็นบุคคลสาธารณะได้?
ไม่เพียงเท่านั้น (อย่างที่บอกไป สมมติว่าสมมติฐานว่า งเป็นดารา/คนดัง = บุคคลสาธารณะง เลย นั้นถูกต้อง) แม้เราจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าขนาดไหนนับเป็นดาราหรือคนดังแล้ว แต่สมมติว่าเข้าใจตรงกันหมดแล้วกัน (สมมติซ้อนตั้งไม่รู้กี่ชั้นเห็นมั้ยครับ กว่าจะมาถึงสภาพที่อนุญาตให้คุณทำการเสือกได้) การเป็นบุคคลสาธารณะของดาราหรือคนดัง มันควรจะมีอยู่เฉพาะตอนที่พวกเขา/เธอทำงานแสดงในฐานะดารา นักร้อง ฯลฯ และเวลาอื่นๆ ที่เป็นเวลาส่วนตัวของเขา/เธอ พวกเค้าก็เป็นคนธรรมดา ‘ไม่สาธารณะ’ เหมือนกับผมหรือคุณ หรือว่า “ความเป็นบุคคลสาธารณะมันถาวรตลอดกาล ทั้งเวลาจะขี้ จะกิน จะนอน จะสารพัด” ด้วยครับ?
เงินก็เงินของเค้าเอง หน้าก็หน้าเค้าเอง นมก็นมเค้าเอง หรือจะหาคู่ก็คู่ของเค้าเอง มันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลที่เราไม่ได้มีสิทธิจะไปเสือกครับ แต่พร้อมๆ กันไปผมก็อยากจะประณามเหล่าคนดังที่มาทำหน้าหงอยร้องไห้ขอกระแสความสงสารจากสังคม ราวกับที่ตัวเองทำมันผิดไปด้วยนะครับ “พวกคุณไม่ผิด ไม่ต้องมาร้องไห้ขอโทษขอโพยครับ ถ้าจะมีคนต้องขอโทษคือคนที่ไปเสือกแต่แรกต่างหาก” ฉะนั้นผมอยากจะเรียกร้องให้ดาราและคนดังทั้งหลายที่โดนเสือกแบบผิดที่ผิดทางนี้ ‘ฟ้องแบบไม่ยอมความให้ถึงที่สุดครับ’ แน่นอน เป็นเพียงข้อเสนอของผม และผมเข้าใจว่าด้วยอาชีพของคุณก็มีข้อจำกัดเยอะที่อาจจะทำแบบที่ว่าได้ยาก แต่หากมีใครทำ ผมจะเคารพมากๆ ทีเดียว
ผมอยากจะบอกให้ชัดเจนตรงนี้นะครับว่า หากมันจะมีใครสักคนที่นับว่าเป็นบุคคลสาธารณะได้อย่างชัดเจน มันก็คือคนที่กำลังบริหาร, ออกนโยบาย รวมถึงใช้เงินของ ‘สาธารณะ’ นี่แหละครับ ทั้งรัฐบาล องค์กรอิสระ ศาล กองทัพ มหาวิทยาลัย ราชการ ฯลฯ คนหรือองค์กรเหล่านี้ คือ ‘(นิติ)บุคคลสาธารณะ’ ที่ท่านเสือกได้เต็มที่ ไม่ผิดที่ผิดทางครับ เพราะมันคือเงินของท่าน มันคือเรื่องของท่าน มันคือเรื่องที่ท่านมีสิทธิที่จะเสือก จะอยากรู้ จะกระหายที่จะขุดคุ้ยได้อย่างเต็มที่
ก่อนที่จะอ้างซ้ายอ้างขวาว่าดาราเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับสังคม เราควรกลับไปดูรัฐบาล, ศาล, กองทัพ, องค์กรอิสระ, ฯลฯ ก่อนไหมว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมแล้วหรือยัง หากจะอ้างเรื่องนี้เป็นมูลเหตุในการเสือก เพราะก่อนหน้าดาราหรือคนดังไหนๆ ก็ตาม คนหรือองค์กรเหล่านี้แหละครับที่คือ ‘บุคคลสาธารณะตัวจริง’
แทนที่จะไปเสือกกับคนที่ทำศัลยกรรมหน้าด้วยเงินที่หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานตัวเอง ผมคิดว่ามันน่าจะถูกที่ถูกทางกว่าหากเราจะเอาพลังความเสือกอันล้นเหลือที่เรามีให้กับดาราหรือคนดังต่างๆ มาแบ่งให้ความผิดปกติ วิปริตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ในมือของ ‘บุคคลสาธารณะ’ ที่หน้าหนาขึ้นได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องพึ่งศัลยกรรมใดๆ เลยก็จะเป็นการดีนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.khaosod.co.th
[2] โปรดดู hdr.undp.org
[3] โปรดดู thematter.co/thinkers/kakistocracy
[4] โปรดดู Aaron Larson, Defamation, Libel and Slander Law