“ฆ่าตัวตายมันบาปนะ”
‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ แม้หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาจะพร่ำบอกว่ามนุษย์ล้วนแต่ต้องเจอสภาวะทั้ง 4 ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ทำไมในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ หลายคนถึงยังมองการตายหรือการฆ่าตัวตายเป็นบาปหนัก? หรือการตายโดยธรรมชาติและอายุขัยเท่านั้น จึงจะเป็นการตายที่ยอมรับได้?
เมื่อใครสักคนบ่นว่า ‘อยากตาย’
คงไม่มีใครที่กำลังมีความสุขดี แล้วจู่ๆ ก็อยากจบชีวิต ทุกคนที่เอื้อมถึงความตาย—ไม่ช้าก็เร็ว ล้วนแล้วแต่เผชิญหน้ากับ ‘ความเจ็บปวด’ มาก่อนทั้งนั้น ซึ่งถ้าอ้างอิงจากไทม์ไลน์ของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา คำว่า เจ็บ ก็เป็นสภาวะที่มาก่อนคำว่า ตาย ด้วยเช่นกัน
และในขณะเดียวกัน คำว่า เจ็บ ของพระพุทธศาสนา ก็เกิดขึ้นมาหลังจากคำว่า ‘แก่’ ซึ่งเสริมให้ความหมายเป็นไปในทางกายภาพ หรือเรียกว่าเป็นความเจ็บ ที่มาจากการดำเนินชีวิตมาถึงอายุขัยที่กำหนด เช่น การล้มป่วย การเป็นโรค จนไม่สามารถประคับประครองชีวิตต่อไปได้
แต่ในปัจจุบัน ความเจ็บไม่เพียงแต่จะปรากฏในทางกายภาพ หรือในช่วงอายุใดอายุหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องมีโรคหรือบาดแผล หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกช่วงวัย โดยเกิดขึ้นภายใน ‘จิตใจ’ ของผู้คน จนถึงจุดหนึ่งที่จิตใจนั้นทนต่อความเจ็บปวดไม่ได้ จึงนำไปสู่สิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘การจากไปก่อนวัยอันควร’ ด้วยสาเหตุที่ไม่ได้มาจากโรคร้าย แต่เป็นการกระทำที่ ‘ตั้งใจ’
“เพราะสำหรับใครบางคน
การมีชีวิตอยู่นั้น
ทรมานมากกว่าการจากไปเสียอีก”
การฆ่าตัวตายหรือการตายที่เกิดจากความตั้งใจ จึงกลายเป็นทางเลือกของคนที่ไม่สามารถมีชีวิตในแบบที่ตัวเองหวังได้ แม้จะเป็นทางเลือกที่ไม่ได้อยากเลือก แต่ด้วยสภาพจิตใจหรือสภาพร่างกายที่แบกรับความเจ็บมานาน อยู่ต่อไปก็คับคล้ายกับการ ‘ตายทั้งเป็น’ การมีอยู่ของชีวิตจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะตายกลับถูกมองว่าเป็นเรื่อง ‘บาป’ และ ‘เห็นแก่ตัว’ เนื่องจากเป็นการทิ้งความโศกเศร้าและปัญหาไว้ให้คนข้างหลัง แต่หลายคนลืมมองว่า ความโศกเศร้าเหล่านั้น อาจเทียบไม่ได้กับความโศกเศร้าของคนที่ต้องฝืนมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุขเลยแม้แต่นิด
เบื้องหลังที่ถูกมองข้าม
หลายคนมีมายาคติเกี่ยวกับความตายในแง่ลบ หรือมองเพียงแค่มิติของบาปกรรม การหนีปัญหา การปัดความรับผิดชอบ หรือการทิ้งภาระไว้ให้คนข้างหลัง ซึ่งนั่นก็ทำให้เราด่วน ‘ตัดสิน’ ทางเลือกของใครบางคนแบบไม่รอบคอบ และ ‘เพิกเฉย’ ต่อปัญหาอันเป็นสาเหตุของทางเลือกที่เกิดขึ้น แต่ถ้าลองออกมามองในอีกมุมหนึ่ง ก็จะรู้ว่าการฆ่าตัวตายไม่ใช่การกระทำบาปหรือการคิดสั้น หากแต่เป็นผลลัพธ์จากสภาพสังคมที่ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่
สีหน้าที่โศกเศร้า น้ำตาที่ควบคุมไม่ได้ เสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่เป็นระยะๆ และการพร่ำบอกว่าอยากตายอยู่บ่อยๆ ล้วนแล้วแต่มีที่ไปที่มาเสมอ โดยเฉพาะในสังคมที่บิดเบี้ยวเช่นนี้ ไม่ว่าจะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จนไม่สามารถประคับประครองชีวิตต่อไปได้ หรือสภาพแวดล้อมที่กดทับให้ผู้คนมีความสุขได้ยาก เหตุเหล่านี้จึงไม่อาจหยุดยั้งสารเคมีในร่างกายให้เปลี่ยนแปลงไป เกิดเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ที่ถูกเปิดรับให้เข้ามาแบบไม่ยินดี
“การฆ่าตัวตายไม่ใช่การกระทำบาป
หากแต่เป็นผลลัพธ์จากสภาพสังคม
ที่ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่”
และฟางเส้นสุดท้ายที่ยื้อไว้มานาน อาจขาดลงเพียงเพราะคำพูดไม่กี่ประโยคที่ไม่ได้ผ่านการไตร่ตรอง เช่น “ไม่คิดถึงคนข้างหลังบ้างหรอ” “คิดสั้นเกินไปมั้ย” “ทำไมไม่อดทน” “ฆ่าตัวตายทำไม มันบาปนะ” “แล้วพ่อแม่จะรู้สึกยังไง” ซึ่งเป็นคำพูดที่ถมความหนักใจและความรู้สึกผิด ทับลงไปในคนที่กำลังแบกรับความเจ็บช้ำจำนวนมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ดังนั้น เมื่อคำว่า ‘อยากตาย’ หลุดออกมาจากปากใครสักคน นั่นแปลว่าการต่อสู้กับสารเคมีในร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาพสังคมของพวกเขาใกล้สิ้นสุดลง สิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นบาปกรรม สำหรับพวกเขาอาจไม่ได้หมายถึงการจบชีวิต แต่เป็นการปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปแบบมีความสุขไม่ได้ต่างหาก
นึกถึงวาระสุดท้ายให้กลายเป็นเรื่องปกติ
เมื่อก่อนความตายเคยเป็นเรื่องที่ผู้คนไม่กล้าพูดถึง เพราะมันอาจบ่งบอกว่าสภาพจิตใจของคนคนนั้นไม่ปกติ คนทั่วไปใครเขาคิดถึงเรื่องความตายกัน แต่เมื่อมองแบบนี้ มันยิ่งเป็นการผลิตซ้ำความคิดที่ว่าความตายไม่ใช่ปรากฏการณ์หนึ่งในชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ ทั้งๆ โลกนี้เต็มไปด้วยปรัชญามากมายที่มองความตายเป็นสภาวะปกติของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นหมุดหมายที่ทุกคนต้องเดินทางไปถึง ไปจนถึงไม่มองว่าเป็นสภาวะใดเลย เช่น อีพิคิวรัส (Epicurus) นักปรัชญาชาวกรีกที่กล่าวว่าความตายไม่ใช่สิ่งใดเลย เนื่องจากไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่เรามีชีวิตอยู่หรือสัมผัสได้ ความตายจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว
“การดำรงอยู่ของมนุษย์
คือ การมุ่งหน้าสู่ความตาย”
– มาร์ติน ไฮเดกเกอร์
นอกจากนี้ นักปราชญาชาวเยอรมัน มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มองว่าการตายคือสภาวะทั่วไปที่แฝงอยู่ในมนุษย์ทุกคน ซึ่งการมีชีวิตในแต่ละวินาที ก็คือการมุ่งหน้าไปสู่สภาวะดังกล่าว อาจจะช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน แต่ปลายทางเดียวกัน การตายจึงเป็นเรื่องที่ควรนำมาขบคิดเพื่อ ‘เตรียมตัว’ รับมือ
ซึ่งในยุคนี้ เราอาจจะเห็นว่าการตายกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องการเลือกเส้นทางก่อนจากไปด้วยตัวเอง ผ่านความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือ physician-assisted death แต่บริการเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในด้านความเชื่อของคนในสังคมก่อน
งานเสวนา ‘เพื่อนตาย : Living and Leaving Companion’ จัดโดยบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับ สสส. พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน ผู้ชำนาญการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวในงานว่า ตอนที่มี พ.ร.บ สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลสามารถ ‘แสดงเจตนาล่วงหน้า’ ว่า เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ‘ขอจากไปตามวิถีธรรมชาติ’ โดยไม่ประสงค์ใช้เครื่องมือใดๆ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยืดความตายออกไป ขณะนั้นมีอุปสรรคอย่างมากในการร่างกฎหมาย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจสักเท่าไหร่ คิดว่าเป็นการการุณยฆาต หรือเป็นการส่งเสริมให้คนฆ่าตัวตายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องอยู่หลายครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายพึงมี เพื่อที่จะได้จากไปอย่างสงบ ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นว่า ระบบความคิดของคนในสังคม ยังไม่พร้อมเปิดรับเรื่องวาระสุดท้ายของชีวิตเท่าที่ควร ทำให้การบริการคุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายดำเนินไปอย่างยากลำบาก
จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่า หากสังคมเปลี่ยนระบบความคิดในเรื่องการตาย ก็อาจขับเคลื่อนให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ในชีวิตมากขึ้น ซึ่งก็ดูเหมือนสมัยนี้ ความเชื่อในเรื่องการตายของผู้คนก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว อาจเพราะการตายถูกนำมาเชื่อมโยงกับ ‘ป็อปคัลเจอร์’ เช่น ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่พระเอกออกแบบงานศพของตัวเอง คาเฟ่ที่ถูกสร้างโดยใช้ความตายเป็นคอนเซ็ปต์ หรือบางคนที่จัดเพลย์ลิสต์ ‘Play this at my funeral’ เอาไว้ และเพิ่มเพลงโปรดของตัวเองเข้าไป เพื่อแสดงเจตจำนงให้เพลงเหล่านี้ถูกเปิดในงานศพ
ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนมองการตายเป็นเรื่องใกล้ตัวและทั่วไปมากขึ้น หรือมองว่าเป็นเพียงอีเวนต์หนึ่งในชีวิตที่ทุกคนต้องเข้าร่วม ซึ่งฟังก์ชันของการตายผ่านป็อปคัลเจอร์ ไม่ว่าภาพยนตร์ ศิลปะ หรือบทเพลง ก็ทำให้หลายคนกลับมาทำความเข้าใจการดำรงชีวิตอยู่ของตัวเองว่า ขณะนี้เรามีชีวิตแบบไหน และก่อนตายเราอยากจะมีชีวิตแบบไหน