เชื่อว่าคงไม่มีนักอ่านคนไหนไม่รู้จัก Franz Kafka นะครับ เพราะผลงานของนักเขียนท่านนี้เรียกได้ว่าโดดเด่นอย่างที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งหลายๆ เล่มก็ถือว่าเป็นงานคลาสสิกของโลกวรรณกรรมไปแล้ว
ถ้าพูดถึง Kafka The Methamorphosis น่าจะเป็นงานเขียนเล่มแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงในทันที และซึ่งนวนิยายขนาดสั้น ที่เล่าเรื่องราวของชายหนุ่ม ผู้ที่ตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งและพบว่าตัวเองได้กลายร่างเป็นแมลงไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของนวนิยายแนว Existentialism หรืออัตถิภาวนิยม ที่ชักชวนให้ผู้อ่านหันมาทบทวนชีวิต และการมีอยู่ของตัวเอง ตั้งคำถามต่อสภาพความเป็นจริง การตัดสินใจ และชีวิตที่ดำเนินไปตามผลแห่งการกระทำของเรา
แต่พ้นไปจากความสำคัญในส่วนนี้ ความสำคัญของ The Methamorphosis ที่มีต่อนักเขียนรุ่นหลังหลายๆ คนคือการแสดงความเป็นไปได้ต่อการเล่าเรื่องราวที่แปลกประหลาด และไม่น่าจะเป็นจริงได้ อย่างที่ Gabriel Garcier Marquez เองก็เคยกล่าวไว้ว่า การได้อ่าน The Methamorphosis ของ Kafka ทำให้เขาเห็นหนทางอีกมากมายในการเขียนนวนิยาย
Kafka ถือว่าเป็นนักเขียนที่ส่งอิทธิพลต่อโลกวรรณกรรมอย่างมหาศาล อย่างวิธีการเขียนของเขาเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา แต่หากสรุปโดยคร่าว เราอาจกล่าวได้ว่า กลิ่นอายของงานสไตล์ Kafka คือความแปลกแยก สิ้นหวัง และการกดทับของอำนาจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบราชการ) และซึ่งคำว่า ‘Kafkaesque’ ที่หมายถึง สิ่งพิลึกพิลั่นและน่าหวาดน่ากลัวที่ค่อยๆ สอดแทรกเข้ามาในชีวิตประจำวัน หรือการที่คนธรรมดายอมจำนนต่อโชคชะตาที่ยากเกินจะเข้าใจ ก็มาจากงานเขียนของ Kafka นี่เอง
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอำนาจรัฐคือสิ่งที่พบเห็นได้อยู่บ่อยๆ ในงานของเขา ยิ่งเมื่อพิจารณาต่ออีกว่า เป็นรัฐนี่เองที่คอยกีดกันและผลักประชาชนให้ถดถอยออกจากพื้นที่สาธารณะ การมีปากมีเสียง และสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ จนต้องหดตัวเข้าสู่พื้นที่ภายในตัวเอง สำหรับ Kafka เขามองว่าระบบและกลไกของโลกสมัยใหม่มีแต่จะสร้างความแปลกแยกให้กับมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ หรือนักวิจารณ์เองก็ตีความว่า อารมณ์แปลกแยกที่ปรากฏในงานของ Kafka ในทางหนึ่งคือการโจมตีระบบทุนนิยม ซึ่งคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ในยุคนี้ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว ความทุกข์ยากในชีวิตประจำวัน และอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ
งานเขียนของ Kafka ส่งอิทธิพลต่อนักเขียนมากมาย หนึ่งในนั้นที่นักอ่านไทยย่อมจะรู้จักเป็นอย่างดีคือ Haruki Murakami ผู้ที่ผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างนับไม่ถ้วน เห็นได้จากงานเขียนชิ้นต่างๆ ของเขาที่แสดงถึงอิทธิพลของ Kafka อย่างเช่น Kafka on the Shore ที่ Murakami ไม่เพียงตั้งชื่อตัวละครเอกว่า Kafka แต่บรรยากาศเปล่าเปลี่ยว แปลกแยก และปัญหาด้านความสัมพันธ์ที่ตัวเอกมีกับพ่อก็ชวนให้นึกถึงความสัมพันธ์ของ Kafka กับพ่อของเขาอยู่กลายๆ หรือหนึ่งในเรื่องสั้นของเขา Samsa in Love ก็คือการหยิบ The Methamorphosis ของ Kafka มาเล่าใหม่นั่นเอง
หรืออย่างในงานเขียนของ Orhan Pamuk นักเขียนชาวตุรกีเจ้าของรางวัลโนเบล ก็ปรากฏกลิ่นอายของ Kafka อย่างชัดเจน เช่น ในเรื่อง Snow ที่เห็นได้ถึงความเชื่อมโยงกับนวนิยาย The Kastle ของ Kafka เพราะนอกจากตัวละครจะชื่อ K และ Ka หรือปรากฏสัญญะที่พอจะเชื่อมโยงกันได้ระหว่างนวนิยายทั้งสองเรื่อง (ปราสาทใน The Kastle และห้องสมุดแฟรงก์เฟิร์ต) แล้ว นวนิยายทั้งสองเรื่องต่างตั้งคำถามต่ออำนาจ ชนชั้น และความแปลกแยกในสังคม
ถ้าเทียบกับผลงานชิ้นอื่นๆ ของ Kafka Amerika อาจไม่ใช่นวนิยายเล่มที่โด่งดัง อย่างที่ Michael Hoffman ผู้ที่แปลนวนิยายเรื่องนี้ได้กล่าวไว้ว่า ในบรรดานวนิยายทั้งสามเรื่องของ Kafka Amerika คือเรื่องที่มีคนอ่านน้อย เขียนถึงน้อย และมีความเป็นคาฟคาน้อยที่สุด
Amerika ซึ่งเดิมชื่อว่า The Man Who Disappeared บอกเล่าเรื่องราวของ Karl Rossman เด็กหนุ่มผู้เดินทางจากยุโรปมายังมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เพราะไปทำให้หญิงคนรับใช้ที่บ้านท้อง พ่อแม่ของเขาจึงตัดสินใจส่งเขามาอีกทวีปหนึ่งเพื่อจัดการกับปัญหานี้ แน่นอน การเดินทางมายังอีกทวีปหนึ่งซึ่งไม่เพียงจะพูดกันคนละภาษา แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมเองก็ต่างกันโดยสิ้นเชิงย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับเด็กอายุ 16 ด้วยเหตุนี้ ชีวิตของ Rossman ในนิวยอร์กจึงไม่มีอะไรชวนให้ฝันหวาน หรืออิจฉา แต่กลับเป็นการต้องดิ้นรนอยู่กับความแปลกแยกและเปล่าเปลี่ยวในสังคมแปลกหน้าที่คอยแต่จะโบยตีเขาอยู่เรื่อยไป
ผู้คนในอเมริกาต่างใช้ชีวิตอยู่บนความเพิกเฉย และไม่เคยจะแยแสอะไรใดๆ จนอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้เมืองอันพลุกพล่าน ที่อัดแน่นไปด้วยมนุษย์นับล้านและความวุ่นวายที่ไม่เคยจะหยุดนิ่งนี้เอง สำหรับ Kafka แล้ว แทบจะไม่ต่างอะไรกับความโดดเดี่ยวสมบูรณ์แบบ ที่คอยแต่จะสร้างความแปลกแยกให้กับมนุษย์ด้วยกัน ผ่านการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมชาติ และอำนาจต่างๆ ที่คอยแต่จะกำกับชีวิตของคนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Rossman ที่อพยพมาจากยุโรป
ผ่านนวนิยายเรื่องนี้ Kafka ได้แสดงให้เห็นถึงสภาวะจำยอมและไร้ทางสู้อย่างที่สุด ที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถจะประสบได้ โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่ได้คุ้นเคยแต่อย่างใด เป็นคนนอกและพลเมืองชั้นสองโดยสมบูรณ์ พูดอีกอย่างได้ว่า Amerika คือนวนิยายที่ฉายให้เห็นความผิดปกติของโลกสมัยใหม่ ที่อำนาจรัฐไม่เพียงจะเข้ามาแทรกแซงชีวิตของปัจเจก ควบคุมและจัดระเบียบ จนความเป็นมนุษย์ได้ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นอะไรอื่นที่ยากเกินจะเข้าใจ ไม่แปลกที่ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ตัวละครของ Kafka จึงมักจะตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของตัวเอง และว่าชีวิตที่ต้องทนอยู่ใต้ร่มเงาของอำนาจที่คอยกดขี่ชั่วนิรันดร์นี้ ถึงที่สุดแล้วคือชีวิตที่ควรค่าต่อการดำรงค์อยู่สักแค่ไหน