ถ้าไม่นับงานชิ้นที่เขียนถึง The Mask Singer แล้ว งานเขียนของผมแทบทั้งหมดที่เขียนลงใน The MATTER นี้มักมาจากข่าวที่ผมอ่านแล้วเกิดอาการละเหี่ยใจ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมอยากพูดถึงเรื่องของน้องชัยภูมิ ป่าแส เด็กชายชาวลาหู่สักหน่อย แต่ผมคงไม่ไปเล่าประวัติ หรือไล่เรียงดีเบต หรือแม้แต่เขียนสดุดีอาลัยน้องเขา (แม้จะอยากเขียนก็ตามที) เพราะได้มีการเขียนถึงไปแล้ว
ทางทีมงาน The MATTER เองก็ทำสรุปข้อถกเถียงของข้อมูลสองฝั่ง (คนที่รู้จักน้องเขา กับฝั่งทหาร) โดยละเอียดถี่ถ้วนไว้แล้ว[1] เมื่อจะไม่พูดถึงเรื่องที่ว่ามา ผมก็เลยอยากจะขอพูดเรื่องภาพรวมของสังคมที่เราอยู่กันหน่อย ว่าเราอยู่กันในโลกแบบไหน กรณีแบบที่เกิดกับน้องชัยภูมิถึงเกิดขึ้นมาได้
เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้องชัยภูมินั้นยังอยู่ในดีเบตที่ร้อนแรงอยู่ (ไม่ว่าข้อมูลของฝั่งหนึ่งจะไม่น่าเชื่อถือปานใดก็ตามที[2]) ฉะนั้นผมจะพยายามเขียนถึงเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ว่าคุณวางตัวอยู่บนฝั่งไหนของดีเบตนี้ก็ควรจะยอมรับได้ นั่นก็คือ “น้องชัยภูมิเสียชีวิตจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารไทย” ไม่ว่าจะเกิดจากการที่เขาหนีเอาตัวรอด หรือเกิดจากการที่เขาค้ายาเสพติด มีการต่อสู้ด้วยมีดและระเบิดอะไรตามที่อ้างกันจากฝ่ายทหารก็ตามที แต่ข้อเท็จจริงร่วมก็คือ ทหารยิงน้องชัยภูมิ และเขาเสียชีวิตจากการโดนยิงนี้
และที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้ความตายของน้อง คือ การที่แม่ทัพภาคที่สามออกมาพูดว่า “ถ้าเป็นผม ผมอาจกดออโต้ไปแล้วก็ได้ นี่เขายิงไปนัดเดียว อีกคนขว้างระเบิด ผมว่าสมเหตุผลในการป้องกันตนเอง เพราะทหารก็ยิงแขน แต่พลาดโดนจุดสำคัญ บุญของน้องมีแค่นั้น”[3]
หากผมพอจะพูดอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของกฎหมายกับสังคมหรือชุมชนโดยย่นย่อตะมุตะมิ และลดทอนความซับซ้อนอย่างสุดขีดได้บ้าง ผมคิดว่ากฎหมายนั้นเขียนขึ้นบนความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ในขณะที่สังคมสร้างขึ้นบนกรอบของความเชื่อใจกันและกัน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในการจะเขียนกฎหมายหมายออกมา ผู้เขียนต้องมองสังคมรอบข้างตนด้วยสายตาว่าจะต้องมีคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหรือข้อตกลงร่วมของสังคมเกิดขึ้นและ (ในระดับหนึ่ง) ใช้กำลังและการลงโทษเพื่อกำหนดทิศทางของประชากร รวมถึงจัดการกับผู้ซึ่งละเมิดข้อตกลงร่วม ในทางตรงกันข้าม สังคมนั้นวางอยู่บนฐานของความเชื่อใจกัน ที่สมาชิกแต่ละคนของชุมชน อย่างน้อยต้องเชื่อว่าคนอื่นจะไม่ละเมิดข้อตกลงร่วม แล้วจู่ๆ วิ่งมาฆ่าเรา หรือทุบหัวเราขณะเราเดินไปมา
ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความไม่เชื่อ-เชื่อ’ นี้เองที่กลายเป็นรูปแบบของสังคมการเมืองสมัยใหม่ ที่ความไม่เชื่อในการเขียนกฎหมายทำหน้าที่เป็นกรอบในการสร้าง ‘ฐาน’ ให้เราสามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ และความเชื่อของชุมชนเองก็เป็นฐานให้กลไกของกฎหมายทำงานได้
เมื่อเราอยู่ในสังคมการเมืองของความสัมพันธ์แบบขั้วตรงข้ามที่ความย้อนแย้งทำงานเอื้อกันและกันอย่างนี้แล้ว ‘ความหวัง’ ที่ตั้งเป้าว่าจะเติมเต็มความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์, ‘ความหวัง’ ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีอนาคตและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน, และ ‘ความหวัง’ ที่ตั้งเป้าในการสร้างพื้นที่สำหรับปัญหาเหนือความคาดหมายต่างๆ ที่ต้องแก้ไขได้ด้วยความสามารถของคนในชุมชนนั้นเอง จึงจำเป็นที่จะต้องมีอยู่เสมอในฐานะอุดมการณ์ในการเขียนกฎหมาย ไม่เช่นนั้นแล้ว หากขาดซึ่ง ‘ความหวัง’ พื้นฐานเหล่านี้ กฎหมายแห่งความไม่เชื่อใจก็จะเป็นได้เพียงกลไกในการควบคุมและเข่นฆ่าประชาชน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องชัยภูมิเองก็เช่นกัน การใช้อาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่ในการตอบโต้ (อันนำไปสู่ความตาย) เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้วอาจจะไม่แตกต่างจากการรับมือวิกฤติในที่ต่างๆ ทั่วโลกนัก และเอาจริงๆ ผมไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการที่อนุญาตให้มีการวิสามัญได้ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลกก็ตาม แต่ผมคิดว่าในกรณีของไทยอย่างที่เกิดกับน้องชัยภูมินั้น ในระดับพื้นฐานทางกฎหมายแล้วมันมีความต่างกันอยู่ ว่าง่ายๆ ก็คือ การอนุญาตให้วิสามัญได้ในต่างประเทศที่ผมว่าแย่แล้ว ในกรณีไทยผมยังคิดว่าแย่กว่าไปอีกทีหนึ่ง เพราะอะไร? นั่นก็เพราะอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการใช้อำนาจของกฎหมายที่เกริ่นไปแต่ต้น
อย่างที่ว่าไว้ กฎหมายมันเขียนขึ้นด้วยสายตาที่ไม่เชื่อใจ และจัดการกับคนด้วยกำลังและการลงโทษ ฉะนั้นหากต้นตอของกฎหมายมันมาจากแนวคิดที่ไม่ได้เกื้อหนุนอำนาจและสิทธิของประชาชนเองในฐานะรากฐานของข้อบังคับ มันก็เป็นเพียงกลไกเพื่อใช้อำนาจตามใจผู้เขียนกฎหมายหรือพรรคพวกของผู้เขียนกฎหมายไป เพราะฉะนั้นแล้วอุดมการณ์เบื้องหลังการเขียนกฎหมายที่มองคนด้วยสายตาไม่เชื่อใจนั้นจึงสำคัญอย่างมาก และในกรณีของไทย การมีอยู่ของกฎหมายอย่างมาตรา 44 นี้เอง ที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายอยู่ในสถานะที่เลวร้ายลงไปจากการวิสามัญในส่วนอื่นของโลกอีกศกหนึ่ง
มาตรา 44 ทำหน้าที่อะไรในเหตุการณ์แบบนี้? แน่นอน ‘ลุงตู่’ ของพวกเรายังไม่ได้ประกาศใช้มาตรา 44 อะไรกับเรื่องนี้ (จนถึงนาทีที่เขียนบทความนี้) แต่การมีอยู่ของมาตรา 44 นั้นเองที่ ‘ทำงานอย่างตลอดเวลา’ อยู่แล้วในฐานะแบ็คอัพในการใช้อำนาจ ที่ต่อให้ทำพลาดทำผิดอะไรขึ้นมาจริงๆ ก็ยังได้รับการประกันว่าจะหลุดพ้นจากบ่วงกรรมไปได้ ด้วยบารมีของกฎหมายมาตราดังกล่าว ตราบเท่าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นยังคงมีผู้ใช้มาตรา 44 เป็นพวกอยู่
หากรูปแบบการคงอยู่ของรัฐหรือสังคมสมัยใหม่วางอยู่บนฐานของความสัมพันธ์แบบ ‘เชื่อใจ-ไม่เชื่อใจ’ ที่กล่าวไว้แต่แรก มาตรา 44 นี้เองที่ได้เข้าไปทำลายรูปแบบความสัมพันธ์แบบที่ว่า
เพราะความสัมพันธ์แบบ ‘เชื่อใจ-ไม่เชื่อใจ’ นั้นเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของชุมชนการเมืองในแบบระนาบเดี่ยวในแนวราบ ที่ทุกคนมีอำนาจพอๆ กัน จึงต้องไว้เนื้อเชื่อใจกัน ในขณะที่กฎหมายก็ต้องเฝ้าระวังคนที่คิดจะแหกกรอบความสัมพันธ์หมู่นี้ แต่ด้วยมาตรา 44 ความสัมพันธ์เชิงราบซึ่งมีอยู่น้อยนิดในสังคมไทยก็สูญสิ้นลง เหลือแต่เพียงสังคมในระนาบดิ่ง ที่มีอำนาจเหนือกว่าในนามผู้ใช้กฎหมาย และอำนาจในระนาบที่ต่ำกว่าในฐานะ ‘ประชากร’ กฎหมายในระนาบดิ่งแบบที่มาตรา 44 สร้างขึ้นนี้ จึงไม่ได้มองประชากรด้วยสายตาระแวดระวังแบบ ‘ไม่เชื่อใจ’ อีกต่อไป แต่มองประชากรว่า ‘มีค่าหรือไม่มีค่า’ ในขณะที่ตัวสังคมเอง ก็ไม่ได้อยู่บนฐานของความเชื่ออะไรกันอีกต่อไป แต่อยู่ๆ กันไปบนฐานของความกลัวในฐานะที่ตัวเองอาจจะเป็น ‘เหยื่อ’ จากการคัดเลือกพันธุ์ประชากรคนต่อไปได้ หากวางตัวเป็นคนละฝ่ายกับผู้ใช้อำนาจกฎหมาย
ซ้ำร้ายในสังคมแห่งความกลัวของกฎหมายที่กดประชากรด้วยเงื่อนไขการคัดเลือกพันธุ์ตามใจชอบนี้ เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดชะตากรรมของประชากรในฐานะปศุสัตว์ทางการเมืองย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหวาดกลัวกับความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนแต่อย่างใด และจุดนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นมันเลวร้ายกว่ากรณีการวิสามัญในพื้นที่ชุมชนอื่นของโลกมาก เพราะการใช้อำนาจในพื้นที่อื่น มันมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่ออำนาจนั้นด้วย แต่ในไทยสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องสนความรับผิดชอบอะไร ทำให้การพูดด้วยความสะใจแบบแม่ทัพภาคที่ 3 ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับน้องชัยภูมิสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมานี้ และน้องชัยภูมิเองก็ไม่ใช่กรณีแรก และอาจจะไม่ใช่กรณีสุดท้ายด้วย
การจากไปที่น่าเศร้าของน้องชัยภูมิ ที่ไม่ว่าความจริงจะเป็นดังที่ฝ่ายไหนอ้างก็ตาม หรือไม่ถูกต้องสักฝ่ายก็ตามที อย่างน้อยได้เป็นเครื่องตอกย้ำให้กับสภาพความเป็นอยู่ของสังคมเราว่า เราถูกทำให้ชีวิตไม่ได้เป็นของเราเอง กฎหมายในมือผู้ใช้ที่ไม่ต้องกังวลกับความรับผิดชอบได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่พร้อมจะหยิบยื่นความตายให้เราได้ และความตายของน้องชัยภูมินั้นยิ่งถูกผลักไสให้หนักขึ้นไปอีก ในฐาะบุคคลไร้สัญชาติ ที่ไม่ได้รับสิทธิ การดูแล หรือการคุ้มครองใดๆ เลย
การตายของเขาจึงทำให้รัฐหัวร่อได้อย่างลอยนวล เย้ยหยันได้ ซ้ำเติมได้ว่าดีแล้วที่ไม่ยิงด้วยออโต้ เพราะชีวิตของเขานับแต่เริ่มต้น จนถึงวันที่จบลง อยู่ในสถานะที่จอร์จิโอ้ อะแกมเบ้น เรียกว่า “ชีวิตที่กลวงเปล่า” (Bare life) อันเป็นชีวิตที่จะทำลายเมื่อใดก็ได้ แต่ความตายนั้นไม่ได้นำมาซึ่งคุณค่าอะไรเลย
…นี่คือสิ่งที่ดูจะเกิดขึ้นกับน้องเขา เมื่อกฎหมายและสังคมในวันนี้ มันลดทอนชีวิตน้องจนเหลือแค่นี้ ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครเลย ไม่ว่าน้องจะเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อคนไร้สัญชาติ หรือน้องจะเป็นคนค้ายาเสพติด ไม่มีใครสมควรจะถูกทำแบบนี้ทั้งนั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] อ่านโดยละเอียดได้ที่ www.facebook.com/thematterco
[2] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ prachatai.org
[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ news.voicetv.co.th