ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ผมจะเขียนบทความในหลายหัวเรื่อง แต่ผมคิดว่ามีธีมคร่าวๆ ร่วมกันอยู่ นั่นคือ บทบาทและการใช้สิทธิมนุษยชนในมุมต่างๆ โดยผมเขียนถึงมุมที่สิทธิมนุษยชนให้คุณค่ากับสัมคมและปัจเจกชนในฐานะมนุษย์มาโดยตลอด ว่าง่ายๆ คือ ‘ด้านสว่าง’ แต่ผมคิดว่าการจะรักหรือสนับสนุนใครใดๆ หรือคุณค่าค่านิยมไหนก็ตาม ไม่พึงเห็นแต่ด้านที่ดีของมัน เราควรได้มองแล้วเข้าใจด้านที่เป็นปัญหาของมันด้วย และนั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะพูดถึง ‘สิทธิมนุษยชน’ ในรอบนี้ อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะลดทอนคุณค่า หรือบอกว่าสิทธิมนุษยชนไม่จำเป็นอะไรทั้งสิ้น (รีบออกตัวก่อนแต่เนิ่นๆ) ผมยังยืนยันสุดเท้ายันหัวเหยียดอยู่ว่าสิทธิมนุษยชนนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง
เวลาเราพูดถึงความสำคัญสูงสุดของสิทธิมนุษยชนนั้น ผมคิดว่าความสำคัญสูงสุดของมันอยู่ที่บทบาทเชิงโครงสร้างของมันที่มีต่อตัวสังคมมนุษย์โดยองค์รวม คือ การเกิดขึ้นของสิทธิมนุษยชนได้ ‘เปลี่ยนสภาพ’ สถานะมูลฐานของมนุษย์ไป ว่าง่ายๆ ก็คือ คำว่า ‘มนุษย์’ ก่อนจะมีสิทธิมนุษยชน กับ หลังการเกิดขึ้นของสิทธิมนุษยชนนั้น โดยหลักๆ แล้วไม่ได้มีความหมายเดียวกัน
ก่อนการเกิดขึ้นของสิทธิมนุษยชน ‘มนุษย์’ มีความหมายในฐานะ human subject (ไม่ใช่ human being) หรือก็คือ เป็นเพียงปศุสัตว์ทางการเมืองแบบหนึ่ง ที่ขึ้นตรงหรือเป็นเจ้าของโดยเจ้าผู้ปกครองของชุมชนทางการเมืองนั้นๆ ชีวิตเราไม่ใช่ของเรา หรือก็คือเราไม่มีความเป็นเจ้าของเหนือชีวิตตนเอง เราเป็นเพียง “ร่างเนื้อที่ขยับได้ ที่ได้รับการอนุญาตให้มีชีวิตอยู่ได้ และทำหน้าที่ของเราไปตามที่เจ้าผู้ปกครองเห็นสมควร” เท่านั้น
ฉะนั้น ‘มนุษย์’ (human being) แบบที่เข้าใจกันในปัจจุบันนั้นจึงประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ ที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือ ‘ตัวตน/ร่างกายอันมีชีวิตในฐานะมนุษย์’ กับ ‘คุณค่าทางสังคมในฐานะมนุษย์ ที่เรียกว่า สิทธิมนุษยชน’ เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นทำให้เราเป็นเจ้าของชีวิตของตนเองได้ มีสิทธิที่จะมีชีวิตและทางเลือกแบบที่ตนเองต้องการ (จะได้ดังหวังมั้ย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง) ฉะนั้นในแง่นี้บทบาทที่สำคัญที่สุดของสิทธิมนุษยชนจึงดูจะเป็น ‘การทำคนให้เป็นคน’ นั่นเอง…ซึ่งผมเห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงที่น่ารับฟังมากของ Judith Butler นักวิชาการชื่อดังด้าน Gender Studies, Political Philosophy, Literary Theory และอื่นๆ อีกมากมาย (นางดำรงตำแหน่งเป็น Maxine Elliot Professor ที่ University of California, Berkeley และตำแหน่ง Hannah Arendt Chair ที่ European Graduate School) ที่แม้จะไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของสิทธิมนุษยชน (เอาจริงๆ คือ นางสนับสนุนสิทธิมนุษยชนมากๆ คนนึงเลยแหละ โดยเฉพาะสิทธิเรื่องเพศ) แต่ก็ตั้งคำถามอย่างถึงแกนกลางของ ‘กลไกหลัก’ เชิงโครงสร้างของสิทธิมนุษยชนทีเดียวว่า
พร้อมๆ กันไปกับที่สิทธิมนุษยชนทำให้ ‘คนเป็นคน’ อย่างที่ว่าไปนั้น สิทธิมนุษยชนอย่างที่กำลังใช้กันอยู่ตอนนี้เอง ก็ได้กลายเป็นกลไกที่ทำให้ ‘คนไม่เป็นคน’ หรือเปล่า?
คำถามนี้มาจากฐานคิดอะไร?
คือ เมื่อเรามองสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็น ‘เกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ’ (Universal minimum standard of human) และการจะเป็น ‘คน/มนุษย์’ ได้นั้นคือการมี ‘ร่างกายในฐานะมนุษย์ + สิทธิมนุษยชน’ (และมีแนวโน้มจะเหลือเพียงแค่ ‘สิทธิมนุษยชน’ ล้วนๆ แล้ว เมื่อหุ่นยนต์และ AI เองเริ่มได้รับการรับรองในฐานะมนุษย์ด้วย) นั่นแปลว่า การจะเป็นคนได้ ‘ต้องมีสิทธิมนุษยชน หรือต้องมีเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับดังกล่าว’ นั่นเอง
แต่เพราะเรา “เพิ่ม/ลด/ถกเถียงความจำเป็นรากฐานหรือสิทธิต่างๆ เข้าไปในสิทธิมนุษยชนตลอดเวลา” มันทำให้เรา ‘ก้าวไปไม่ถึงความเป็นมนุษย์เสียที’ หรือที่บัตเลอร์ใช้คำว่า
“I think…that we have not yet become human. Or, I might say, in a different way, that the category of the human is in the process of becoming. What constitutes the human is the site of contestation. There are clashing cultural interpretations about what human ought to be, and that every time you assert human rights, you are also adding to the meaning of what human is.”[1]
ผมขอแปลข้อถกเถียงที่สำคัญนี้ของบัตเลอร์อย่างลวกๆ ตรงนี้ว่า : “ฉันคิดว่าเรายังคงไม่ได้กลายเป็นคน หรือถ้าจะให้พูดในอีกทางหนึ่งก็คือความเป็นมนุษย์โดยรวมนั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนของการ ‘กำลังจะ (กลาย) เป็น (มนุษย์)’ นั่นเพราะสิ่งที่สร้างมนุษย์ขึ้นมานั้นมันเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ถกเถียงกัน มันมีการปะทะกันของการตีความว่ามนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร และทุกๆ ครั้งที่คุณเพิ่มอะไรลงไปในสิทธิมนุษยชน คุณกำลังเพิ่มความหมายว่ามนุษย์คืออะไรลงไปด้วย”
จะเห็นได้ว่าข้อถกเถียง/ข้อเสนอของบัตเลอร์นั้นไม่ได้ยืนพื้นอยู่ที่การปฏิเสธสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการจี้ถามถึงวิธีการนำสิทธิมนุษยชนมาใช้งานอย่างที่กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงขอบเขตของสิทธิมนุษยชนโดยรวมด้วย
ว่า เราจะขยายกันไปถึงจุดไหน? เราจะอยู่ใน process of becoming จากการ assert human rights กันถึงจุดใด? เพราะหากเราใช้งานสิทธิมนุษยชน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ให้ดีแล้ว สิทธิมนุษยชนที่ ‘ทำให้คนเป็นคน’ นี่แหละ ที่จะกลายเป็นกลไกที่ทำให้ ‘เราไม่ได้กลายเป็นคนกันเสียที’
การขยายพรมแดนของสิทธิมนุษยชนนั้น ถูกมองเป็นเรื่องที่ดีเสมอมา และในทางหนึ่งการ ‘อ้างพื้นฐานของสิทธิ’ กลายเป็นถูกใช้อย่างฟุ้งเฟ้อได้ บางทีเราเรียกว่า (Human) Rights Inflation หรือสิทธิเฟ้อ ส่วนหนึ่งนั้นมันก็อย่างที่บัตเลอร์ว่ามา ยิ่งเราขยายพรมแดนของสิทธิมนุษยชน อย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมหรือหน้ากวนอูอะไรที่ไหน มันยิ่งทำให้เราไปไม่ได้เป็นมนุษย์เสียที
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญนั่นก็คือ เรามักจะมองเห็นการขยายพรมแดนของสิทธิมนุษยชนในฐานะของ ‘การขยายขอบเขตของมนุษย์’ เสมอ แต่พร้อมๆ กันไป ในหลายๆ ครั้ง ‘การขยาย’ ที่ว่านี้เอง มันก็ไป ‘จำกัด’ ความเป็นคนในอีกหลายๆ ส่วนด้วย และเราจะต้องระวังอย่างมากๆ อย่างกรณีล่าสุด ที่ทางซาอุดิอาระเบียรับรองฐานะมนุษย์ให้กับ Sophia AI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (และออกมาตบกับ Elon Musk แล้วด้วยอีกต่างหาก)[2] นั้น ในแง่หนึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสามารถมองได้ว่าเป็นความก้าวหน้าหรือการขยายพรมแดนของสิทธิมนุษยชน
แต่พร้อมๆ กันไป โดยที่ยังไม่ต้องพูดเรื่องความปาหี่ ตลกแดกกับข้อเท็จจริงที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเองนั้นนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระดับสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดในโลก ที่ยังคงมีกระทั่งการตัดหัวคนกลางพื้นที่สาธารณะอยู่ (และเพิ่มขึ้นด้วย)[3] แต่ทำมาเป็นให้ความเป็นคนกับหุ่นยนต์ (โถ) เราก็จะพบปัญหาที่ต้องมานั่งขบคิดมากมายว่า ‘ถ้าหุ่นยนต์สามารถนับเป็นคนได้’ มันจะกระทบหรือจำกัดหรืออาจจะนำไปสู่การใช้สิทธิเฟ้อแผลงๆ แบบไหนอีกไหม? เช่น การสมมติมีการงานระบบ VR ประกอบกับ ‘จิ๋มกระป๋อง’ เข้ากับ AI ที่แสดงภาพเป็นอะนิเมะ แบบนี้ เราจะมองมันในฐานะ ‘สิทธิ’ อย่างไร? มันคือการช่วยตัวเอง? มันคือการมี sex? มันคือการข่มขืน? แล้วถ้าตัวละครคาแรคเตอร์เหล่านั้นเป็นตัวละครที่เดินอยู่บนพรมแดนของพื้นที่ต้องห้ามเล่า เช่น เป็นภาพอะนิเมะของเด็กนักเรียน…เลยไปจนถึงที่เกิดขึ้นกับหุ่นยนต์ที่มีรูปลักษณ์แบบที่ว่าจริงๆ? หรือการมีหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงที่เหมือนหมาเหมือนแมวจริงๆ มากๆ แล้วเผลอเมา เตะหุ่นหมาหุ่นแมวพัง ต่อไปจะโดนเรียกร้องจาก PETA หรือเปล่า? ถ้านับสิ่งเหล่านี้เป็นคน ต่อไปสวัสดิการจากรัฐก็ต้องแบ่งไปดูแลสิ่งเหล่านี้ด้วยใช้ไหม ทั้งๆ ที่ยังมีคนจริงๆ ทางชีวภาพที่ยังคงนอนตายจากความจนและความไร้สวัสดิการอยู่ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
มีอีกเป็นล้านเรื่องที่เราต้องมานั่งมองให้รอบด้านก่อน คุณอาจจะมองว่าที่ว่ามานี้มันบ้า มันโรคจิต …แต่นั่นมันเรื่องของคุณ มุมมองของคุณไงครับ เราต้องไม่ลืมว่ามีคนที่เขาใช้สิทธิของเขาในฐานะมนุษย์ในพื้นที่เหล่านี้อยู่ ที่เราอาจจะมองว่าเหี้ย มองว่าโรคจิต วิตถารอะไรก็แล้วแต่ แต่ตราบเท่าที่เขาไม่ได้ไปข่มขืนใคร หรือล่วงละเมิดเด็กจริงๆ ไม่ได้ไปทึ้งขาน้องหมา แต่ต่อยตุ๊กตากระต่ายระบายความเครียด ฯลฯ มันคือเรื่องของเขา และอิสระของเขาที่เขาทำได้
และนั่นเอง การขยายพรมแดนของสิทธิมนุษยชนในแง่นี้ มันกลับไปลดทอนพื้นที่ความเป็นคนไปด้วยพร้อมๆ กัน และมันมักจะถูกละเลย ไม่ถูกคิดถึงใดๆ ก่อนจะเกิดการอ้างสิทธิแบบเฟ้อไปมา (และโดยส่วนตัว ผมคิดว่ามันรวมถึงการใช้ PC แบบล้นเกินด้วย)
ไม่เพียงเท่านี้ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นเรื่องสิทธิมนุษยชนของหุ่นยนต์ในซาอุดิอาระเบียนั้น ทำให้ผมคิดว่าเราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นพิเศษด้วย เพราะซาอุดิอาระเบียนั้นเป็นประเทศอย่างที่ว่าไป ไม่เคยแคร์สิทธิมนุษยชนอะไรอยู่แล้ว ฉะนั้นนอกจากการให้สิทธิมนุษยชนกับ Sophia AI จะเป็นปาหี่ทางการเมืองแบบหนึ่งแล้ว ผมคิดว่ามันอาจมีบทบาทสำคัญในอีกแง่หนึ่งกับการ ‘ทำให้คนไม่เป็นคน’ ในซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้นได้ด้วย นั่นเพราะการรับรองสิทธิมนุษยชนให้กับ Sophia AI คือการทำให้เรื่องความเป็นมนุษย์นั้น ‘แยกขาดอย่างชัดเจนจากตัวตนทางชีววิทยาในฐานะมนุษย์’ นั่นหมายความว่า ไม่จำเป็นต้องมีร่างกายในฐานะมนุษย์อีกต่อไปในการเป็นมนุษย์ มีเพียงแค่สิทธิมนุษยชนที่รัฐรับรองก็พอ
ความหมายของสิ่งที่กล่าวข้างต้นนั้น มันมีความหมายเชิงซ้อนอยู่ (อย่างน้อยๆ ในกรณีของซาอุดิอาระเบีย) นั่นคือ ‘การมีร่างกายในฐานะมนุษย์ไม่ได้จำเป็นว่าจะได้รับการรับรองในฐานะมนุษย์เสมอไปด้วยเช่นกัน’ เพราะ Body doesn’t matter. แล้ว คนที่มีร่างกายในฐานะมนุษย์ในทางชีววิทยา แต่รัฐไม่ได้มองหรือรับรองในฐานะมนุษย์ ‘ก็ไม่ต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน’ ผมคิดว่านี่คือความน่ากลัวของการใช้งานในกรณีของซาอุดิอะระเบีย ที่เราต้องระวังว่า ‘สิทธิมนุษยชนจะกลับมาฆ่าเราเอง’ เพราะผมไม่คิดว่าพื้นฐานทางความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนของซาอุดิอาระเบียจะอยู่บนฐานว่ามนุษย์ทุกคนคือมนุษย์เป็นพื้นฐานก่อน และจะเพิ่มอะไรเข้าไปก็ค่อยเพิ่ม …กับประเทศที่ไม่เห็นหัวมนุษย์ที่ไม่ใช่เจ้าผู้ปกครองนั้น เรายิ่งต้องคิดให้มากกับการใช้คอนเซ็ปต์ต่างๆ เหล่านี้
เอาจริงๆ ผมอยากพูดถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ‘ในมุมมืด’ แบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้หยิบมาพูดถึงสักที ด้วยเงื่อนไขในประเทศไทยที่แม้แต่สิทธิมนุษยชนพื้นฐานสุด ยังไม่เก็ต ยังไม่เข้าใจ และยังไม่มีกันเลย การจะมาพูดในประเด็นที่ไกลไปกว่าจุดที่เป็นไพร่ทาสของมาตรา 44 และรถถังกับปืนอยู่ก็ดูจะน่าเวทนากับตัวเองเกินไป มิหนำซ้ำอาจจะโดนเอาไปอ้างแบบหูดับตาบอดได้อีกในฐานะเครื่องมือที่ใช้อ้างในการทำลายสิทธิมนุษยชน (เพราะสิทธิมนุษยชนมันเลว นู่นนี่) แต่พอเห็นข่าวที่ซาอุดิอาระเบียแล้วก็อดนึกอยากเขียนไม่ได้ ก็เลยได้แต่พึงย้ำรอบที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ว่า
“นี่คือบทความสนับสนุนสิทธิมนุษยชน แต่ตั้งคำถามถึงการใช้งานของสิทธิมนุษยชนที่รอบคอบรัดกุมภายใต้เงื่อนไขของชุมชนการเมืองที่สิทธิมนุษยชนหลุดรอดออกไปจากอุ้งตีนเผด็จการได้แล้ว” …ว่าง่ายๆ ไม่ได้เขียนเรื่องของไทยแม้แต่น้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] braungardt.trialectics.com
[2] โปรดดู www.facebook.com/thematterco
[3] โปรดดู www.theguardian.com