ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเขียน ‘เล่าเรื่อง’ หรือเขียนมา ‘ถาม’ คนอ่านดี และมันอาจจะดูเหมือนจงใจแกล้งป่วนในสายตาหลายคนนะครับ แต่บอกตรงๆ ว่านี่ถามจริงๆ เพราะงงกับสภาวะที่เป็นอยู่ของประเทศไทยมาพักนึงแล้ว ก่อนจะไปสู่คำถาม ก็ขอเกริ่นด้วยการเล่า (หรือถาม?) อะไรสักนิดก่อน อยากรู้เหมือนกันว่าทุกวันนี้เคยลองตั้งคำถามกันมั้ยว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ (Human Being) อย่างผม หรือท่านทั้งหลายเนี่ย มันคืออะไร? หรือให้ฟังดูขลังหน่อยก็อาจถามว่า “อะไรคือเงื่อนไขในการเป็นมนุษย์” กันแน่?
การมีแขน มีขา มีปากพูดได้ มีสมองคิดอ่านออก มีระยางค์งอกจากตัวหรือเปล่า ที่ทำให้เรากลายเป็นคน? ไม่หรอกครับ ไม่งั้นโลมา หรือชิมแปนซี ก็คงเป็นคนไปแล้ว ว่ากันแบบกว้างๆ แล้ว การเป็นคนนั้น มันมี 2 องค์ประกอบใหญ่ๆ คือ ร่างกายของมนุษย์ (human biological body) และคุณค่าในฐานะมนุษย์ (human value) ซึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ 2 อย่างนี้มารวมกันจึงเป็นมนุษย์อย่างทุกวันนี้ นั่นแปลว่าอะไร? นั่นแปลว่าการเป็น ‘คน’ อย่างที่เราเป็นกันอยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่สภาพธรรมชาติ แต่มันคือการประดิษฐ์สร้างทางสังคมเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง
หากนับการกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการของสิทธิมนุษยชน ก็ต้องเริ่มนับจาก Bill of Rights ของอังกฤษ และ Claim of Right ของสก็อตแลนด์ในปี ค.ศ. 1689 (ประมาณ 328 ปีก่อน) จากนั้นก็ไล่มาเป็น United States Declaration of Independence (1776) ของสหรัฐอเมริกา แล้วก็ Declaration of the Rights of Man and the Citizens (1789) ของฝรั่งเศส จนสุดท้ายก็มาจบที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ในปี ค.ศ. 1948 หรือประมาณ 68 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมานี่เอง
พวกคุณค่าในฐานะมนุษย์ ในรูปแบบของปฏิญญาต่างๆ พวกนี้มันมีขึ้นมาทำไม? มันมีขึ้นมาก็เพราะสภาพของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์อย่างผมหรือคุณนั้น เมื่อก่อนมันแย่มากไงครับ
ก่อนหน้า 328 ปีที่แล้วนั้น เรามีร่างกายในฐานะมนุษย์แบบตอนนี้แหละ แต่เราดันไม่ได้เป็นเจ้าของเหนือชีวิตและร่างกายของเราเองไง ร่างกายและชีวิตของเรากลับเป็นสมบัติของคนอื่น บ้างก็เรียกคนเหล่านั้นว่า เจ้าผู้ปกครอง, เจ้าชีวิต, ลอร์ด, กษัตริย์, จักรพรรดิ, เจ้านาย, ฯลฯ แล้วแต่ระบอบการปกครองของแต่ละดินแดนแต่ละพื้นที่ ว่าง่ายๆ ก็คือ ก่อนที่จะมี ‘คุณค่าในฐานะมนุษย์’ ที่ว่านั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ เป็นเพียงแค่ ‘มวลชีวิต’ (living mass) เท่านั้น คือ มีหัวใจที่เต้นอยู่ มีแขนมีขาที่ทำงานได้ มีสมองที่สั่งการร่างกายให้ขยับ แต่คุณไม่ใช่เจ้าของชีวิตของคุณเอง เจ้านายจะสั่งให้คุณไปทำอะไร ก็ต้องทำตามนั้น หากคุณไม่ทำตามที่เค้าสั่ง คุณก็ต้องโดนลงโทษ หากคุณพยายามจะแสดงจุดยืนของคุณว่า “ตัวคุณเองคือเจ้าของชีวิตของตนเอง” คุณก็จะโดนลงโทษอยู่ดี ผมถึงบอกว่ามันคือชีวิตแย่ๆ แดนเถื่อนดีๆ นี่เอง
เมื่อสังคมมนุษย์เติบโตขึ้น พัฒนาขึ้น เรียนรู้มากขึ้น ก็พบว่าการฝากชีวิต และทุกสิ่งทุกอย่างเหนือชีวิตของตนเองไว้กับคนเพียงคนเดียว หรืออำนาจของใครอื่นนั้น มันเป็นเรื่องที่ผิด การเรียกร้องให้ได้สิทธิในฐานะมนุษย์จึงเกิดขึ้น และสุดท้ายได้รับรองในทางกฏหมาย เป็นปฏิญญาบ้าง เป็นคำประกาศบ้าง เป็นร่างพระราชบัญญัติบ้าง เพื่อยุติสภาพแย่ๆ เมื่อกาลก่อน และบอกว่า “เห้ย! มนุษย์ทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตตนเองนะ มนุษย์ทุกคนคิดอ่านเองได้นะ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีอย่างเสมอกันในทางกฎหมายนะ” ใครจะมา “ล่วงละเมิด, ริดรอน หรือพรากเอาสิทธิเหล่านี้ไปไม่ได้”
และคุณค่าในฐานะมนุษย์ ที่ทำให้เราเปลี่ยนจาก ‘มวลชีวิต’ (living mass/human subject) มาเป็น ‘มนุษย์’ (human being) อย่างเป็นสากลนั้น เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อ 68 ปีที่ผ่านมานี้เอง ด้วยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน…’สากล’ แปลว่าอะไร แปลว่าคุณค่าหรือเงื่อนไขความเป็นมนุษย์เหล่านี้ ไม่สนใจเส้นเขตแดนที่พวกชาตินิยมบ้าคลั่งนักหนา ไม่สนใจว่าจะปกครองด้วยระบอบอะไร ไม่สนใจรัฐบาลไหนจะออกนโยบายอะไร ไม่สนใจเงื่อนไขทางการเมืองใดๆ ที่จะมาสวมอ้าง คุณค่าเหล่านี้ ‘ให้ถือเสมือนว่า’ เป็นคุณค่าตามธรรมชาติที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับที่มนุษย์ทุกคนเกิดมาหัวใจเต้นบนโลกนี้ มันคือการบอกว่า ‘คนทุกคนคือคน’ เพื่อยืนยันว่า มนุษย์จะต้องไม่ตกไปสู่สภาวะอันผิดที่ผิดทางอย่างที่เคยเป็นมาอีก
และการที่บอกว่า ‘คนทุกคนคือคน’ นั้น มันหมายรวมถึงคนที่เราไม่เห็นด้วย คนที่เราเกลียด คนที่เราไม่อยากหายใจอยู่ร่วมโลกกับมัน
ซึ่งการจะรู้สึกเช่นนั้น “เชิญรู้สึกในทางส่วนตัวของคุณไป ตามใจชอบ” แต่เราก็ต้องยืนยันในขั้นพื้นฐานที่สุดว่า เขาเหล่านั้นคือคนเหมือนกับเรา และควรจะได้รับการปฏิบัติทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือหลักการพื้นฐานที่อยากจะเล่าให้ฟัง และลองเก็บไปคิดดู
อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็เริ่มก่อตัวขึ้นในหัวผมอย่างหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ มาพักหนึ่งแล้ว จนกระทั่งหลังๆ นี่ชักจะทนไม่ไหว หลังจากเกิดกรณีของไผ่ ดาวดิน ที่ถูกกระทำในทางกฎหมายอย่างผิดหลักการอย่างโจ่งแจ้ง ไม่มีความยุติธรรม หรือความเป็นมนุษย์อะไรใดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกเนี่ย[1] แต่ก็ยังดันมีคนไทยจำนวนมาก ที่นอกจากจะด่าไผ่ที่พยายามยืนยันสิทธิในฐานะมนุษย์ของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว ยังไล่ด่าคนที่พยายามช่วยยืนยันในสิทธิและคุณค่าฐานะมนุษย์ของไผ่ชนิดไม่รู้จักเกียร์ถอย ถึงขนาดที่ไล่ต้อนจนจะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ก็มี ทำราวกับว่า ‘การเรียกร้องความเป็นคน’ ให้ไผ่ (ซึ่งเอาจริงๆ แล้วเป็นประโยชน์ให้กับทุกๆ คนในสังคมด้วย เพราะมันคือการเรียกร้องบนบรรทัดฐานว่า ไม่มีมนุษย์คนใด ที่ควรจะโดนแบบที่ไผ่โดนอีก) นั้นมันเป็นเรื่องทุเรศเสียเหลือประมาณ ความเป็นคนในประเทศนี้ ดูจะเป็นสถานะที่ต่ำทรามเสียนี่กระไร…การยอมรับการอยู่อย่างไม่เป็นคน การกลับไปเป็น ‘มวลชีวิต’ ต่างหากที่ดูจะถูกต้อง ทรงธรรม จนผมต้องมาเขียนถามอย่างตอนนี้ เพราะที่ผ่านมาแม้ผมจะรังเกียจความคิดเห็นแบบที่ว่า ที่มีต่อไผ่ และอีกหลายๆ กรณีทั่วไปหมด โดยเฉพาะในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค แต่ก็ยังต้องพยายามอย่างมาก (มากจริงๆ) ที่จะยืนยันว่าพวกท่านเหล่านั้น ที่ด่าและรังเกียจความเป็นมนุษย์เหลือเกิน ก็ล้วนแต่เป็นมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกันทั้งนั้น
จนผมเพิ่งมาคิดได้ไม่นานนี้นี่แหละว่า เอ๊ะ! บางทีการที่ผมเพียรพยายามอย่างมากที่จะยืนยันแล้วยืนยันอีกว่า ต่อให้เรารังเกียจความเห็นพวกเขาแค่ไหนก็ตามแต่พวกเค้าคือคนเหมือนกันนั้น จะเป็นการ ‘หมิ่นพวกเขา’ ในสายตาพวกเขาเหล่านั้นเอง เพราะพวกเขาดูจะรังเกียจความเป็นคน รวมไปถึงการยืนยันสิทธิและคุณค่าในฐานะมนุษย์เสียเหลือเกิน ฉะนั้นการที่ผมสู้อุตส่าห์ข่มใจตัวเองยืนยันว่า “พวกเค้าคือคน จะคิดน่ารังเกียจยังไง แต่ก็คือคน” นั้นในสายตาของพวกเขาแล้วอาจเป็นการด่า การต่อว่า การตำหนิพวกเขาอย่างรุนแรงก็ได้ (ซึ่งผมต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้)
[1] อ่านสิ่งที่เกิดขึ้นกับไผ่ ดาวดิน (แบบสรุปแล้ว) ได้จาก www.facebook.com/pg/newdemocracymovement และ www.facebook.com/bow.nuttaa