เมื่อพูดถึงธนาคาร ภาพในหัวของเราทุกคนก็คงหนีไม่พ้นธนาคารสีเขียว ม่วง ชมพู ฯลฯ ที่มีสาขาอยู่แถวบ้านหรือในห้างเต็มไปหมด หลักการทำงานของธนาคารนั้นมีความซับซ้อนอยู่ด้านหลัง แต่ถ้าอธิบายอย่างง่ายๆ คือ ธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับการกู้และการฝากเงิน ธนาคารเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ และให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงิน รักษาเงินของผู้ฝากเอาไว้ให้ปลอดภัย นำเงินนั้นไปบริหารความเสี่ยง ลงทุนบ้าง แบ่งให้คนที่ต้องการใช้เงินมากู้ (ซื้อบ้าน รถ ที่ดิน คอนโด อะไรว่าไป) เพื่อรับดอกเบี้ยบ้าง นี่คือหลักการทำงานคร่าวๆ ของธนาคารทั่วโลก
ธนาคารถือเป็นส่วนสำคัญของการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเราอย่างไม่ต้องสงสัย และก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่คู่กับโลกการค้าและการผลิตมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นสถาบันที่แข็งแกร่งมาก
แต่ตอนนี้ธนาคารกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่แล้ว ไม่ใช่เพราะปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรืออะไรพวกนี้ครับ แต่ปัญหาใหญ่นี้มีชื่อว่า ‘Apple’
ใช่แล้วครับ Apple ที่สร้าง iPhone / iPad / MacBook ที่ทุกคนกำลังใช้กันอยู่นี่แหละครับ หลังจากที่ค่อยๆ เผยโฉมออกมาทีละนิด ตอนนี้ Apple ดูจะไม่ได้เป็นเพียงบริษัทเทคโนโลยี (Tech) อีกต่อ พวกเขากำลังจะกลายเป็นธนาคาร และเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) อย่างชัดเจน
(ในบทความนี้แม้บริการทุกอย่างยังจำกัดอยู่แค่ในประเทศอเมริกาแต่เชื่อว่าถ้าทุกอย่างไปได้สวย เดี๋ยวคงเห็นตามมาในประเทศอื่นอย่างแน่นอน)
บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงจาก Apple (Savings Account)
เชื่อว่าบริการอย่างหนึ่งของธนาคารที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีคือ ‘บัญชีออมทรัพย์’ หรือ ‘savings account’ บัญชีที่เราเปิดไว้เพื่อฝากเงินเผื่อถอนเผื่อใช้ ฝากเข้าออกง่ายสะดวกผูกกับบัตร ATM ทั่วไป เมื่อไม่นานมานี้ Apple เพิ่งประกาศเปิดตัว Apple Savings Account เป็นบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ใครก็ตามที่ถือผลิตภัณฑ์ Apple Card (บัตรเครดิตที่สร้างโดย Apple พัฒนาร่วมกับธนาคารเพื่อการลงทุน Goldman Sachs Group Inc) อยู่แล้วสามารถเปิดใช้งานได้เลยทันที โดยฟีเจอร์หลักมีตั้งแต่
- ไม่มีค่าธรรมเนียม
- ไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ
- ไม่มีเงินขั้นต่ำในบัญชี
- เงินคืนจะถูกโอนเข้าบัญชีเงินฝากโดยอัตโนมัติ
- ดอกเบี้ยคาดว่าอยู่ที่ราว ๆ 2.15% ต่อปี
- Daily Cash (เงินคืนบางส่วนจากการใช้ Apple Card) จะเข้าไปในบัญชีนี้ได้เลยทันที
แน่นอนว่าผลประโยชน์เบื้องต้นเหล่านี้จะทำให้ธนาคารที่ให้บริการแบบดั้งเดิมอยู่แล้วร้อนๆ หนาวๆ อย่างน้อยพวกเขาก็ต้องทำได้เทียบเท่าหรือมากกว่าที่ Apple นำเสนอให้ได้ ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่มีข้อแม้ค่อนข้างเยอะ มีทั้งค่าธรรมเนียม มีเงื่อนไขการฝากขั้นต่ำ ดอกเบี้ยก็ต่ำ การใช้งานหรือรับดอกเบี้ยก็เปลี่ยนแปลงได้ยาก
แต่ที่สำคัญและน่ากลัวที่สุดของบัญชีออมทรัพย์จาก Apple ที่ธนาคารต้องกังวลคือบัญชีเหล่านี้สามารถเปิดใช้ได้เลยทันทีผ่าน iPhone ไม่ต้องไปต่อแถวที่ธนาคาร ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่นอะไรสักอย่างเลย ทุกอย่างอยู่ใน iPhone ในมือที่แกะกล่องออกมาก็ใช้ได้แล้ว
หลังจากเปิดบัญชีแล้ว Daily Cash (เครดิตเงินคืนจากการใช้ Apple Card ที่สามารถใช้ได้เหมือนเงินสด) จะถูกโอนเข้ามาในนี้ได้เลย นอกจากนั้นเรายังสามารถโอนเงินเข้า/ออกบัญชีนี้ได้ตลอดเวลาโดยไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งลูกค้าเป้าหมายที่ Apple พยายามจะดึงเข้ามาใช้งานคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบความสะดวกและการแสดงผล (UX/UI) ที่เข้าใจง่ายว่าตอนนี้เงินมีเท่าไหร่ ดอกเบี้ยได้เท่าไหร่ ใช้อะไรไปตรงไหนบ้าง ฯลฯ ซึ่งประสบการณ์ใช้งานของ Apple Savings Account ก็สร้างมาเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ
Gen Z (หรือใครก็ตาม) จะไปธนาคารทำไม เมื่อสามารถเปิดบัญชีออมทรัพย์ได้เลยแค่หยิบ iPhone ที่พวกเขาใช้และเชื่อใจอยู่ทุกวันอยู่แล้วขึ้นมากดสองสามทีก็เสร็จแล้ว
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจจะดูไม่ใหญ่เท่าตอนเปิดตัว Apple Card แต่เชื่อเถอะครับว่าธนาคารทั่วไปกำลังจะเจอปัญหาแล้ว เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่มาเปิดบัญชี จำนวนลูกค้าก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ
แต่นี่ยังไม่จบ เมื่อช่วงต้นปี 2022 Apple ได้ประกาศเปิดตัวสองฟีเจอร์ใหม่ที่ธนาคารทั่วไปก็ไม่ชอบใจสักเท่าไหร่
Apple Tap To Pay : เปลี่ยน iPhone เป็นเครื่องรับบัตรเครดิต
ถ้าใครเป็นร้านค้าหรือธุรกิจจะทราบดีว่าการไปติดต่อขอเครื่องรูดบัตรที่ธนาคารนั้นเป็นความยุ่งยากจุกจิก บางทีเครื่องเสียต้องเรียกช่างมาซ่อม บางครั้งมีอัพเดทซอฟแวร์ใช้ไม่ได้ไปหลายวัน มีค่าติดตั้ง ค่าเช่าเครื่อง ค่านู่นนี่เต็มไปหมด
ด้วยฟีเจอร์ Apple Tap To Pay ตอนนี้ร้านค้าและธุรกิจนับล้านในอเมริกา ตั้งแต่ร้านคาเฟ่เล็กๆ ไปจนร้านค้าขนาดใหญ่ สามารถใช้ iPhone เพื่อรับเงินจาก Apple Pay, บัตรเครดิตและเดบิตที่เป็นแบบ Contactless และกระเป๋าเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่ใช้งานแบบแตะได้เลยทันที
iPhone เป็นเครื่องรับบัตรเครดิตแบบแตะได้แล้ว ธนาคารเจอไม้นี้เข้าไปก็ไปไม่ถูกเหมือนกัน เพราะเมื่อเทคโนโลยี “Tap to Pay” กลายเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกค้าก็จะคุ้นชินกับการใช้งานและถ้า iPhone สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้าในการจ่ายเงิน มอบความสะดวกสบาย แถมยังปลอดภัย ไม่ยุ่งยากกับร้านค้า ทำไมต้องพึ่งพาธนาคารหรือเครื่องรูดบัตรของธนาคารด้วยหล่ะ?
Apple Pay Later : ซื้อตอนนี้ ได้ตอนนี้ แต่จ่ายทีหลัง
ฟีเจอร์ที่มาพร้อมกับ iOS 16 ที่ให้ผู้ใช้งานในอเมริกาสามารถใช้ซื้อของทุกที่ที่รับ Apple Pay (ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าทั่วไปหรือ Apple Store ก็ได้) แล้วแบ่งยอดออกเป็นสี่งวดเท่ากันกระจายไป 6 สัปดาห์ข้างหน้าโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และไม่มีค่าธรรมเนียมในการใช้ด้วยอีกต่างหาก
ความเป็น Apple คือมันใช้งานได้ง่ายมาก อยู่ใน Apple Wallet อยู่แล้ว เปิดใช้งานได้เลย ไม่ต้องกรอกฟอร์ม ไม่ต้องรออนุมัติ (ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่อันตรายสักหน่อยสำหรับนักช็อปเพราะมันใช้ง่ายจริง ๆ) กดปุ่มแล้วก็ซื้อได้เลย เวลาจ่ายหนี้ก็จ่ายคืนผ่าน Wallet เช่นกัน
นี่คือรูปแบบ Buy Now Pay Later (BNPL) ของ Apple ซึ่งในบ้านเราก็มี SPaylater ของ Shopee หรือ Pay Next ของ True Money Wallet ด้วย
ฟีเจอร์นี้ดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องมีเครดิตการ์ดก็สามารถผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ได้ เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน ยังไม่มีเครดิตหรืออยากทยอยจ่ายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลงด้วย ผลสำรวจเมื่อปี 2021 จากเว็บไซต์ emarketer พบว่า 73.2% ของผู้ใช้ฟีเจอร์ BNPL ชาวสหรัฐฯ เป็นกลุ่มมิลเลนเนียลหรือ Gen Z
แต่ฟีเจอร์นี้ก็มีเสียงต่อต้านเล็กน้อยเหมือนกันเพราะมันสร้างพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ดีให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่บางคนยังไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนได้ บางส่วนกลายเป็นหนี้เสียและทำให้เครดิตเสียไปด้วย
ตอนนี้ Apple จะมีความเป็นธนาคารมากขึ้นเรื่อยๆ ใช้เทคโนโลยีและระบบนิเวศอันแข็งแกร่งเพื่อสร้างลูกค้าใหม่และดึงลูกค้าจากธนาคารแบบดั้งเดิมให้มาใช้งาน ปัญหาของธนาคารแบบดั้งเดิมคือความใหญ่เทอะทะขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงรับมือกับสิ่งที่ Apple ทำได้อย่างเชื่องช้า หรือบางทีอาจจะเห็นว่า Apple เป็นบริษัทเทคโนโลยีก็แค่มีฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของพวกเขา ซึ่งนั่นก็ไม่จริงอีกนั่นแหละ Apple สร้างความสั่นสะเทือนมาแล้วกับสมาร์ทโฟน เครื่องเล่น MP3 นาฬิกาอัจฉริยะ หูฟังไร้สาย เกมมือถือ ฯลฯ ตอนนี้ธนาคารและธุรกิจการเงินกำลังเป็นเป้าหมายต่อไป (ซึ่งนอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจโฆษณาออนไลน์ด้วยที่ Apple กำลังปั้น)
อ้างอิงจาก