ขณะที่ชาว LGBT จะเฉลิมฉลองสดุดีมหาราชินีแห่งเพลงป๊อป Madonna ที่เป็นตัวแม่ของชาวเก้งกวางมาตั้งแต่ 80’s เนื่องในวันเกิดของนาง 16 สิงหาคมเวียนมาบรรจบ ชาวเกย์และแดรกควีนก็ต้องมาพบกับข่าวเศร้าถึงการจากไปของอีกราชินีหนึ่งของชาวเรา Aretha Franklin เธอได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็น ‘ราชินีแห่งเพลงโซล’ ตั้งแต่ปลาย 60’s เธอจากไปในวัย 76 ปี (1942-2018) วันเดียวกับวันเกิด Madonna เลย
ใช่…Aretha Franklin เธออยู่ยั้งยืนยงมาหลายทศวรรษบนวงการดนตรี เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินมากมายแม้จะไม่ได้อยู่ในgenre เพลงโซล เช่นElton John และ George Michael ทั้ง 2 นางนี้คือนักร้องเก้งตัวแรงมาแต่ไหนแต่ไร
แม้ว่าเธอจะลาโลกนี้ไปแล้ว แต่หลายคนจะจดจำเธอ ไม่ใช่แค่เสียงร้องของเธอที่เริ่มบันทึกเสียงตั้งแต่อายุ 14 ขวบ หรือบทบาทในหนัง หากแต่เป็นพลังงานบางอย่างที่เธอส่งมอบให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ทั้งสิทธิคนผิวดำ สิทธิสตรี และรวมไปถึง LGBTQ
เช่นเดียวกับดนตรีแนวโซลที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทศศวรรษ 1950 โดยคนผิวดำและใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องคนผิวดำ Aretha ใช้งานศิลปะและเสียงร้องของเธอเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม บทเพลงของเธอเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิทธิทางการเมือง แต่ความพิเศษกว่าตรงที่ต่อมาเพลงของเธอหลายเพลงถูกสถาปนาเป็นเพลงชาติเกย์ แดรกควีนหลายนางหยิบเพลงเธอมาโชว์ลิปซิงค์
สำหรับ LGBT ผิวดำแล้ว Aretha Franklin คือดีว่า ‘ตัวแม่’ ที่มีอิทธิพลทางจิตใจในสังคมที่การเหยียดสีผิวและความหลากหลายทางเพศยังคงดำรงอยู่
เพราะเธอคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวสิทธิของคนผิวดำต่อต้านการเหยียดสีผิวในอเมริกา เธอและพ่อมีส่วนร่วมในการจัดตั้งการเดินขบวน ‘Walk to Freedom’ ที่ดีทรอยต์ในปี 1963 ซึ่งเป็นเมืองที่เธอเติบโต ครั้งนั้นมีผู้คนร่วมเดินขบวนมหาศาลประมาณ 125,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเธอยังร่วมเดินทางไปกับการเดินสายทั่วอเมริกาของ Martin Luther King Jr. เพื่อนพ่อเธอในการเรียกร้องสิทธิของคนดำ และเมื่อKing Jr. ถูกลอบสังหาร ในพิธีศพของเขา Aretha รับขันอาสาเป็นผู้ขับร้องเห่กล่อมในงาน
นอกจากนี้เพลงของเธอยังเป็นส่วนหนึ่งของความเสมอภาคทางเพศ บทเพลงของเธอเสมือนเฟมินิสต์ผู้มาก่อนกาล ที่พูดถึงความสัมพันธ์ ตัวตนของผู้หญิง และการเคารพผู้หญิง ยังคงทันสมัยแม้ว่าจะผ่านมาหลายทศวรรษ เหมือนกับว่าเธอรับมรดกจากดิว่าตัวแม่ก่อนหน้านั้น เช่น Billie Holiday และ Dinah Washington ที่ด่วนจากโลกและต่างก็มีปัญหาชีวิตจากชายคนรัก Aretha เองใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เธอแต่งงานเมื่ออายุ 19 กับ Ted White ซึ่งก็เป็นผู้จัดการให้เธอด้วย ชีวิตแต่งงานเต็มไปด้วยความอดทนอดกลั้น เธอเฝ้าทนพฤติกรรมน่าเกลียดของสามี จนทะเลาะกันใหญ่โตหลายครั้ง และทำให้อาชีพนักร้องของเธอวุ่นวายมีปัญหากับผู้ร่วมงาน หากแต่แม่สตรอง แม่ไล่ตะเพิดสามีเต่าถุยขี้เมาออกไปจากชีวิตได้ เช่นเดียวกับเพลงดังของของนาง R-E-S-P-E-C-T
สม… เราไม่เป็นกลาง อยู่ข้างแม่ใหญ่
อันที่จริง เพลง ‘Respect’ เดิมเป็นเพลงที่แต่งและร้องโดย Otis Redding ในปี 1965 ราชาเพลงโซลผู้ซึ่งมีปัญหาชีวิตสมรสเช่นกัน เขาตายลงในปี 1967 และปีนั้นเอง Aretha ได้นำมาคัฟเวอร์ ด้วยการเรียบเรียงและเพิ่มเติมเนื้อเพลงร่วมกับน้องสาวของเธอเอง Carolyn Franklin ซึ่งเป็นหญิงรักหญิง ทำให้เป็นเพลงสำหรับผู้หญิงประกาศกร้าวตอกหน้าชายคนรัก ให้หัดรู้จักเคารพยอมรับตัวตนของเธอซะบ้าง
เพลงแบบนี้แหละที่เก้งกวางทั่วโลกรักนัก จนมักเป็นอีกเพลงที่ถูกใช้ในงานเกย์ไพรด์
เช่นเดียวกับเพลง ‘(You Make Me Feel Like) A Natural Woman’ ปี 1967 แม้จะไม่ใช่เพลงหญิงแกร่งทระนงอย่างที่เฟมินิสต์บางสำนักชอบกัน หากแต่มาจากการล้อแนวคิด ‘Natural Man’ ในปรัชญารัฐศาสตร์ ไม่ว่าของ Thomas Hobbes, John Locke หรือ Jean Jacques Rousseau และได้กลายเป็นเพลงที่ชาวเกย์กะเทยหลงรักเพราะ A Natural Woman ไม่ได้เพียงหมายถึงผู้หญิงเท่านั้น หากแต่ต่อมายังเป็นตัวแทนของเก้งกวางและกลุ่มทรานส์ (transgender) ด้วยเช่นกัน
เหมือนกับที่หลายเพลงของเธอถูกนำมาตีความหมายใหม่ในชุมชน LGBT และสร้างแรงบันดาลใจให้กับ LGBT ผิวดำจำนวนมาก
Craig Washington และเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางเพศ เคยกล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นเกย์แก่ผิวดำและอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ฉันมี Aretha Franklin เป็นไอดอล” และเขาก็ได้นำชื่อเพลง ‘Deeper Love’ ของเธอมาตั้งเป็นชื่อโปรแกรมป้องกัน HIV ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสื่อสารกับเกย์ผิวดำว่า เราควรได้รับการเยียวยารักษาและรวมตัวกันเป็นชุมชนเพื่อเกื้อกูลกัน
‘A Deeper Love’ เป็นเพลงดังของ Clivillés and Cole สองศิลปินคู่หูดูโอที่ Aretha นำมาร้องคัฟเวอร์เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Sister Act 2: Back in the Habit (1993) (ซึ่งก็อีกนั่นแหละ เกย์ยุค 90’s มักหลงรัก Sister Act กัน) และได้ยกระดับเพลงนี้ไม่เพียงทำให้มันโด่งดังมากกว่าเก่ายังกลายเป็นเพลงชาติชาว LGBTQ ที่เปิดกันตามงานไพรด์ เช่นเดียวกับเพลง Think (1968) ที่เธอนำกลับมาร้องบันทึกเสียงอีกครั้ง ในหนังเรื่อง The Blues Brothers (1980) และร่วมแสดงในบท Mrs. Murphy ซึ่งเป็นช่วงขาลงของอาชีพเธอ แต่เพลงนี้ก็ทำให้เธอกลับมาผงาดขึ้นอีกครั้ง และกลายเป็นอีกเพลงที่ชาว LGBT จะขับขานกันในนามเพลงชาติของพวกเขาและเธอ
ปกติตัวแม่เกย์ไอดอล มักจะเซ็กซี่มีความเย้ายวนด้วย หากแต่ Aretha ฉีกกฎเกย์ แดรกควีนที่จำแลงกายเป็นเธอไม่ได้ชนะการประกวดหรอก แต่ก็ทำให้นางแจ้งเกิดในนาม ‘Mr. Aretha’ เช่นในงานประกวดแดรกควีนที่ฟลอริดาปี 1970 มากไปกว่านั้น ด้วยความเป็นนักต่อสู้เพื่อคนดำของ Aretha เธอปฏิเสธ ‘ความสวย’ อย่างที่สังคมส่วนใหญ่กำหนดที่มักจะอ้างอิงถึงผู้หญิงผิวขาว ซึ่งได้กลายเป็นวีรกรรมความสตรองของนางอีกคำรบนึงก็คือ ขณะที่นางกำลังขับร้องเบ่งพลังเสียงบนเวที จู่ๆ นางก็กระชากวิกผมยาวสลวยบนหัวโยนทิ้งพลางร้องเพลงไปด้วยอย่างไม่สะดุด โชว์ผมสั้นหยิกกุดติดหนังหัว กลายเป็นการประกาศความงามเยี่ยงสาวผิวดำอย่างภาคภูมิใจ
แต่นางก็มีโมนเมนต์ดาร์คๆ เหมือนกันนะ นางทั้งจิกทั้งแซะศิลปินรุ่นลูกรุ่นหลานอย่าง Taylor Swift และ Nicki Minaj และเฟียสใส่ Dionne Warwick แต่กลายเป็นว่าบุคลิกนี้แหละเป็นสิ่งที่เก้งกวางรักนางเพิ่มขึ้น
Aretha เองก็รู้ดีว่าเป็นแม่ใหญ่ขวัญใจชองเกย์ หลายครั้งเธอก็แสดงความเป็นมิตรกับชุมชน LGBT ด้วยการรับเชิญไปร้องเพลงอวยพรในงานวิวาห์คู่รักรักเพศเดียวกันเสมอ ในเช่นงานของ Bill White กับ Bryan Eure ในปี 2011 ก่อนที่การแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันจะได้รับการยอมรับทางกฎหมายทั่วสหรัฐอเมริกา
การแสดงครั้งสุดท้ายของเธอคืองานครบรอบ 25 ปี Elton John AIDS Foundation ในปี 2017 ที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในการป้องกันเอดส์ และบริการด้านสุขภาวะให้กับผู้ที่อยู่ร่วมกับ HIV แม้ว่า Aretha จะดูเจ็บป่วยอ่อนโรยและหมดแรงบนเวที แต่ก็ยังเปล่งประกายเจิดจรัสกับโชว์ครั้งสุดท้ายของเธอ
ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ชาว LGBTQ จำนวนมากอาลัยกับการจากไปของเธอ
R.E.S.P.E.C.T และ R.I.P.
อ้างอิงข้อมูลจาก